วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ตาสว่างกราบขอบพระคุณและอนุโมทนาท่านอาจารย์มากครับ สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไป ความสุขเกิดขึ้นจิตไม่หลงระเริง ความทุกข์เกิดขึ้นจิตไม่กลุ้มใจ จิตมันจะเป็นกลาง ต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มันไปรู้เข้า จิตที่มันเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง นี่นะ ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ นี่เป็นคือประตูแห่งการบรรลุมรรคผล พอมันเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะไม่ปรุงแต่งต่อ อย่างถ้ามันไม่เป็นกลาง มันจะปรุงแต่งต่อ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น อยากให้หาย ก็ต้องหาทางทำให้หาย เห็นมั้ยปรุงแต่งต่อล่ะ ความสุขเกิดขึ้นอยากให้อยู่นานๆ ต้องหาทางรักษา นี่ปรุงแต่งต่อ มีการทำงาน แต่ถ้ามันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับๆ ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะพ้นจากความปรุงแต่ง ตามรู้ตามดูจนมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาแก่รอบ จิตใจยอมรับความจริง ยอมรับไตรลักษณ์ ว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ ถึงจุดนี้เนี่ย มันจะเป็นรอยแยก พวกที่หวังพุทธภูมินะ ก็มีโอกาสจะเป็นพระโพธิสัตว์ ที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พยากรณ์จากหมอดูนะ ต้องพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า พวกที่ไม่ได้หวังจะเป็นพระโพธิสัตว์ แต่หวังความพ้นทุกข์นะ จิตมีโอกาสที่จะเกิดมรรคผลได้ เวลาที่จิตจะเกิดมรรคผลนั้น จิตจะรวมเข้าอัปนาสมาธิ เพราะฉะนั้นเวลาท่านพูดถึงองค์มรรคเนี่ย สัมมาสมาธิ ท่านจะพูดด้วยอัปนาสมาธิ ด้วยฌาน ๔ พวกเราตอนที่เจริญสติอยู่นี่เรียกว่า เจริญบุพพภาคมรรค เบื้องต้นแห่งมรรคยังไม่เป็นฌานนะ เราหัดเจริญสติอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ ถึงวันที่อริยมรรคจะเกิด จิตจะรวมเข้าฌานโดยอัตโนมัตินะ จิตเวลาที่เกิดมรรคเกิดผล จะไม่เกิดในจิตของคนธรรมดา นี่เรียกว่ากามาวจรจิต กามาวจรภูมิ ไม่เป็นอย่างนั้น จะต้องเข้าฌานนะ เมื่อมันรวมเข้าไปแล้วมันจะเห็น สภาวะธรรมนี่เกิดดับสองขณะหรือสามขณะ แต่ละคนไม่เท่ากันนะ ถัดจากนั้นจิตจะวางการรู้อารมณ์ ทวนกระแสเข้ามาหาธาตุรู้ สิ่งที่ห่อหุ้มปกคลุมธาตุรู้อยู่นี่ ถูกอริยมรรคแหวกออกไป แล้วก็มันจะไปเห็นนิพพานนะ นิพพานไม่ใช่ว่างเปล่า นิพพานไม่ใช่โลกๆหนึ่ง พวกเรายังไม่เคยเห็น เราก็วาดภาพสุดโต่งไปสองข้าง ข้างหนึ่งก็นิพพานเป็นโลกๆหนึ่ง พวกนี้พวกสัสตะทิฐิ มีของที่เที่ยงคงที่ อีกพวกหนึ่งคิดว่านิพพานสูญไปเลย ขณะนั้นไม่มีอะไรเหลือเลย กระทั่งสติ พวกนี้หลงไปล่ะ คิดว่านิพพานไม่มีอะไรเลย นี่พวกอุจเฉททิฐินะ นิพพานมีนะ นิพพานมีสภาวะรองรับ สภาวะของนิพพานคือสันติ คือความสงบนั่นเอง สงบจากอะไร สงบจากกิเลส สงบจากอะไร สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากอะไร สงบจากการแบกหามขันธ์นะ ดังนั้นเราภาวนานะ สุดท้ายจิตจะรู้เลยว่า มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ความปรุงแต่งทั้งหลายสงบเสียได้ ความพ้นทุกข์ก็เกิดขึ้น เคยได้ยินไหม “อนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโขฯ” สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข สังขารเนี่ยทำงาน ไหว วิ้บๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืนนะ วัฏฏะหมุนอยู่ในใจเราเนี่ย วิ้บๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืนเลย เราเฝ้ารู้เฝ้าดูไป อย่าไปเกลียด อย่าไปหนีไป ถึงหนีมันนะมันก็ยังไหวอยู่อย่างนี้ แต่เราไม่เห็น เราไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ ไม่หนีมัน ไม่น้อมใจไปว่างๆหนีมัน เห็นไหววับๆๆ ไปอย่างนี้ ถ้าทนไม่ไหวก็ทำความสงบเข้ามา มีกำลังใจมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ดูมันอีก สติมันจะอัตโนมัตินะมันจะเห็นเนี่ย ไหวยิบยับๆ เห็นทั้งวัน มันเห็นทั้งวันเห็นทั้งคืนด้วย สมาธิ จิตตั้งมันอยู่ อันนี้เป็นสมาธิชนิดจิตตั้งมั่นถึงเห็นมันไหววิบวับ แล้วเวลาจะพักน่ะ ใช้สมาธิชนิดสงบ คือใช้สมถะ ไม่ใช่พักด้วยจิตที่ตั้งมั่นนะ แต่พักด้วยจิตที่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวเป็นที่พัก งั้นสมถะเอาไว้พักผ่อน พอพักผ่อนพอสมควร มีเรี่ยวมีแรงสดชื่นแล้วก็มีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ดูธาตุดูขันธ์มันทำงาน ฝึกจนมันอัตโนมัติไปหมดเลยนะ สติระลึกถึงความไหวของจิตเนี่ย ทั้งวันทั้งคืนโดยที่ไม่เจตนา จิตก็ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูนะ แถมยังได้รับความชุ่มฉ่ำของสมาธิของสมถะมาช่วยเหลือด้วย ใจไม่แห้งผากเกินไป ถ้าไม่มีสมถะช่วยด้วยจะแห้ง แห้งสุดขีดเลย แห้งผากเลยนะ เนี่ยอาศัยสิ่งเหล่านี้นะ ฝึกไปจนเป็นอัตโนมัติ พอมันอัตโนมัติแล้วคราวนี้เลิกไม่ได้ การปฏิบัตินะหยุดไม่ได้เลิกไม่ได้ แต่พักได้ด้วยสมถะ มีเท่านี้เอง เนี่ยทำมากเข้าๆ ปัญญามันพอนะ จิตมันรู้แจ้งเลยว่า จิตนี้เป็นทุกข์จริงๆ จิตนี้หาสาระแก่นสารไม่ได้ มีแต่ความไม่เที่ยง กระเพื่อมไหวอยู่ตลอดเวลา จิตนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตนี้ทำงานเอง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอะไร ถ้าได้อย่างนี้ มันรวมเข้ามานะ ก่อนที่มันจะเข้าใจเนี่ยจิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเลย ทั้งๆที่ชาตินี้ไม่เคยหัดเข้าฌานเลยนะ เนี่ยหัดเจริญสติอยู่อย่างพวกเราเนี่ย คอยดูไป ถึงเวลาทำในรูปแบบบ้างอะไรบ้างนะ ทุกวันทำไปเพื่อให้มีแรง แล้วก็เจริญสติดูกายดูใจมันทำงานไป พอถึงขั้นละเอียดมันจะถึงความไหว ยิบยับๆในจิตนี่แหละ ก็ดูไปเรื่อยถึงมันพอนะ จิตจะเข้าอัปปนาสมาธิเอง เข้ารวมมาเองเลย แล้วมันจะมาตัดกิเลสข้างในใจเรานี้ ถัดจากนั้นออกจากสมาธิมาแล้ว พ้นจากระบวนการของอริยมรรคอริยผลแล้ว ทบทวนดู กิเลสอะไรล้างแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ล้าง แต่ตอนทบทวนต้องระวังอย่างหนึ่ง บางคนจิตรวมเข้าสมาธิแล้วมีอาการแปลกๆ นึกว่าเกิดมรรคผล ไม่เกิดนะ มันเป็นอาการหลอกต่างๆนานาซึ่งเยอะมากเลยที่จะหลอก พอออกมาแล้วเนี่ย จิตค้างสมาธิออกมาด้วย ออกจากสมาธิแล้วจิตค้างความนิ่งออกมา จิตจะนิ่งๆ อย่างสมมุติว่าจิตนิ่งอยู่อย่างนี้ทั้งวันเลย จะไม่มีกิเลสโผล่เลย แล้วบอกว่าดูแล้วไม่มีกิเลสแล้ว บรรลุแล้ว ที่จริงไม่ใช่หรอก ไปประคองจิตไว้ ไปรักษาจิตไว้ เมื่อเราไปประคองไว้นะ ไม่มีกิเลสนะ แต่พอปล่อยเท่านั้นล่ะ กิเลสจะมาเลย งั้นเวลาจะดูจิตว่าล้างกิเลสหรือยังนะ อย่าประคองจิตให้นิ่ง อย่าประคองจิตนะ ปล่อยจิตให้เป็นธรรมชาติ สมัยที่ยังภาวนาไม่เป็นอย่างนั้นเลย ปล่อยให้จิตมันทำงานปกติ ถ้าเห็นได้อย่างนั้นนะถึงจะดูตัวจริงออกว่ากิเลสนั้นยังมีหรือไม่มี กิเลสตัวไหนล้างแล้ว ตัวไหนยังไม่ล้าง จะเห็นด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าประคองจิตนิ่งๆนะ แล้วก็บอกว่าดูแล้วไม่มี อันนั้นไม่ใช่นะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น