วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธถ้าจิตใจมันตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดูได้นะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้ จะเห็นว่า กายกับใจ เป็นคนละอันกัน แล้วร่างกายเป็นแค่วัตถุ ไม่ใช่ตัวเราอีกต่อไปแล้ว เนี่ย ถ้าเราหัดดู มากเข้าๆนะ สุดท้ายมันก็ล้างความเห็นผิดว่า ร่างกายเป็นตัวเราได้ ถ้าล้างความเห็นผิดได้นะ ขนาดยังไม่ได้มรรคได้ผลอะไรนะ เพราะฉะนั้น เบื้องต้น พวกเราจำนวนมากเลย ทุกวันนี้ คนมหาศาลเลยนะ ที่ได้ฟังธรรมเนี่ย สามารถแยกได้ว่า กายกับจิตเป็นคนละอันกัน ในห้องนี้ก็ทำได้ตั้งหลายคนนะ แยกได้เยอะแยะเลย . ถ้าพอเราแยกได้ว่า กายกับจิตเป็นคนละอันกันแล้วเนี่ย ถ้ากายมันแก่ มันจะไม่ใช่เราแก่ กายมันเจ็บ มันจะไม่ใช่เราเจ็บ กายมันตาย มันจะไม่ใช่เราตายอีกต่อไปแล้ว ก็วัตถุธาตุมันมารวมกันชั่วคราว แล้วธาตุนั้นก็แตกแยกออกไป เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เราอีกต่อไปแล้ว เนี่ย อย่างนี้เรียกว่า หัดเจริญปัญญา มาดูความจริงของกายของใจนะ ของความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย จนเห็นเลยว่า ทุกๆอย่างที่เกิดขึ้น ในกายในใจของเราเนี่ย เป็นของชั่วคราวเท่านั้นเอง เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวรเลย ความสุขเกิดขึ้นในกาย เรามีสติรู้ทัน จิตเราเป็นคนดู เราจะเห็นว่า ความสุขกับร่างกาย เป็นคนละอันกัน ความสุขกับจิตใจ ก็เป็นคนละอันกัน พอเราเห็นอย่างนี้ได้นะ ต่อไป เราก็จะเห็นเลยว่า ความสุขก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง หรือความโกรธที่เกิดขึ้น คนไหนขี้โมโห เราก็ดูจิตที่มันโกรธนะ เราก็จะเห็นอีก ความโกรธไม่ใช่ร่างกาย ความโกรธ ไม่ใช่ความสุข-ความทุกข์ ความโกรธ ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า เพราะฉะนั้นความโกรธ สุดท้ายความโกรธ ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นสิ่งที่ เกิดแล้วก็หายไปๆ ไม่ใช่ตัวเราอีก มาดูจนถึงจิตถึงใจของเรานะ เราจะเห็นว่า จิตเนี่ย เดี๋ยวก็วิ่งไปรับรู้อารมณ์ทางตา เดี๋ยวก็ไปรับรู้อารมณ์ทางหู เดี๋ยวก็รับรู้อารมณ์ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เดี๋ยวก็หนีไปคิด จิตมันไปดู มันก็ดูของมันได้เอง จิตจะไปฟัง มันก็ไปฟังของมันได้เอง จิตมันจะคิด มันก็ไปคิดของมันได้เอง จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา เราสั่งมันไม่ได้ อย่างขณะที่ฟังหลวงพ่อพูดเนี่ย รู้สึกมั้ย บางทีจิตหนีไปคิด คิดเรื่องอื่นเลยก็มี ใช่มั้ย บางทีก็คิดตามที่หลวงพ่อพูด จงใจคิดรึเปล่า ไปดูให้ดี ไม่ได้จงใจนะ มันคิดได้เอง . เนี่ย การที่เรามาคอยรู้คอยดู สุดท้ายเราจะเห็นเลย มันไม่ใช่เราหรอก มันทำงานได้เอง มันโกรธได้เองด้วยนะ มันโลภได้เอง เคยมั้ย ตั้งใจจะไม่โกรธ แล้วก็โกรธ ตั้งใจจะไม่เสียใจ แล้วก็เสียใจ ตั้งใจจะไม่น้อยใจ แล้วก็น้อยใจ ตั้งใจว่าจะไม่กลัว แล้วก็กลัว เพราะอะไร..? เราสั่งมันไม่ได้ เนี่ย การที่เรามาคอยดูของจริงในกายในใจ นี่แหละ เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐานนะ . เราคอยรู้สึกอยู่ที่กาย รู้สึกอยู่ที่ใจ ดูกายมันทำงาน ดูจิตใจมันทำงานไป ความสุข-ความทุกข์ เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป จิตเอง เดี๋ยวก็วิ่งไปดู เดี๋ยวก็วิ่งไปฟัง เดี๋ยวก็วิ่งไปคิด จิตที่ดู อยู่ชั่วคราว แล้วก็หายไป จิตที่ฟัง อยู่ชั่วคราว แล้วก็หายไป จิตที่คิด อยู่ชั่วคราว แล้วก็หายไป เนี่ย เราหัดรู้ หัดดู อย่างนี้เนืองๆนะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราควรจะได้อะไรบ้าง . พวกเราเคยได้ยินคำว่า สติปัฏฐานมั้ย ใครเคยได้ยินสติปัฏฐาน ยกมือให้หลวงพ่อชื่นใจซิ โฮ้..ชื่นใจมาก รู้จักชื่อ ใครเคยเจริญสติปัฏฐาน คราวนี้จะเหลือน้อยแล้ว สติปัฏฐานเนี่ย ถ้าเราทำถูกต้องนะ ถูกต้อง ก็ต้องมีสมาธิ(จิตตั้งมั่น) ขึ้นมาเป็นคนดูก่อนนะ แล้วแยกขันธ์ออกไปเป็นส่วนๆ นั้นแหละ เราถึงจะทำเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี จะต้องได้ผลบ้าง ควรจะได้ผลบ้าง แล้วพระพุทธเจ้าสอนถึงขนาดว่า ถ้าเรายังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ . ตำรารุ่นหลัง ชอบไปแต่งกันว่า รุ่นหลังๆ จะไม่มีพระอรหันต์ อันนั้น ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าบอก ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐาน โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ พระอรหันต์คือพวกไหน พระอรหันต์ คือ ท่านผู้ซึ่งไม่ยึดถือ ในรูปนาม/ขันธ์ ๕ ไม่ยึดถือสิ่งใดอีกแล้ว . ทำไมท่านไม่ยึดถือ เพราะท่านได้เจริญสติปัฏฐาน ท่านมีสติรู้สึกกาย ท่านมีสติรู้สึกจิตใจอยู่เรื่อยนะ จนเห็นความจริงเลย ร่างกายไม่ใช่เรา ความสุข-ความทุกข์ ไม่ใช่เรา กิเลส ไม่ใช่เรา จิตใจ ก็ไม่ใช่เรา อะไรๆ ก็ไม่ใช่เราไปหมด เนี่ยท่านก็ภาวนาไปเรื่อย เบื้องต้นจะเห็นว่า มันไม่ใช่เรานะ ได้พระโสดาบัน เบื้องปลายจะเห็นเลยว่า ตัวที่มันไม่ใชเรา มันเป็นอะไร..? มันเป็นตัวทุกข์ กายนี้ เป็นตัวทุกข์ เวทนา เป็นความสุข-ทุกข์ เป็นตัวทุกข์ สังขาร ก็เช่นกิเลสทั้งหลาย เป็นตัวทุกข์ จิต ที่ไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวทุกข์ ถ้าเห็นได้ถึงขนาดนี้ จิตจะสลัดคืนจิตให้โลก แล้วก็จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง สิ่งที่เรายึดถือเหนียวแน่นที่สุด ก็คือจิตของเรา สิ่งที่เราสำคัญมั่นหมายเหนียวแน่นว่า เป็นตัวเรามากที่สุด ก็คือจิตนี่เอง จิตนี้เป็นที่ตั้งเลย เป็นตัวใหญ่ เป็นตัวหลักเลย ถ้าเราไม่เห็นว่า จิตเป็นตัวเรา ก็จะไม่เห็นว่า สิ่งใดในโลกเป็นตัวเรา ถ้าเห็นความจริงแล้วว่า จิตเป็นตัวทุกข์ ในโลกนี้จะเป็นตัวทุกข์ทั้งหมดเลย แล้วจิตตัวเดียวนี้เอง ถ้าเรารู้แจ่มแจ้ง ความพ้นทุกข์ก็จะเกิดขึ้น สลัดคืนจิตให้โลกได้เมื่อไหร่นะ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นแหละ . มันสลัดได้จริงๆนะ แต่ถ้าพวกเราหัดใหม่ๆ มันยังไม่สลัดคืนจิตให้โลก มันสลัดอารมณ์ได้ ใครเคยเห็นบ้างว่า จิตปล่อยอารมณ์ได้ ยกมือให้หลวงพ่อดูซิ พวกที่ฟังหลวงพ่อมาแล้ว ยกสูงๆหน่อย ก็พอสมควรนะ เห็นมั้ย จิตกับอารมณ์ บางทีมันก็เข้าไปจับ ใช่มั้ย บางทีมันก็ปล่อย บางทีมันก็จับ บางทีมันก็ปล่อย ใครเห็นแบบนี้บ้าง ยกมือซิ มีมั้ย..? ก็เยอะแล้วนะ ไปหัดดูนะ สุดท้ายจะรู้เลย จิตมันจะเข้าไปจับอารมณ์ มันก็จับได้เอง จะปล่อยอารมณ์มันก็ปล่อยได้เอง นี่แค่ปล่อยอารมณ์ สังเกตมั้ย พอจิตปล่อยอารมณ์ได้ มีความสุขเยอะแยะเลย สบายขึ้นเยอะเลย ลองคิดดูสิ ถ้าจิตมันปล่อยขันธ์ได้ มันจะสุขขนาดไหน นี่แค่ปล่อยอารมณ์นะ ถ้าจิตมันปล่อยตัวมันเองได้ มันจะสุขมหาศาลขนาดไหน มันสุข เรียกว่า สุขปางตายเลยนะ ในขณะที่อริยมรรค อริยผลเกิดขึ้นนั้น เป็นความสุขที่มหาศาลจริงๆเลย งั้นพวกเราต้องฝึกนะ . สรุปให้ฟัง เอาง่ายๆ เลยนะ เบื้องต้น ตั้งใจรักษาศีล ๕ ไว้ก่อน ศีล ๕ เป็นมาตรฐานขั้นต่ำของมนุษย์ ถ้าเสียศีล ๕ ไป จิตใจจะฟุ้งซ่าน . อันที่ ๒ พยายามฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ทำกรรมฐานขึ้นสักอย่างหนึ่ง ช่วงไหนที่จิตใจว้าวุ่นมาก ก็ให้จิตไปจับอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน เรียกว่าทำสมถะ ช่วงไหน จิตใจสงบพอสมควรแล้ว ก็ค่อยๆฝึก แยกไปนะ เห็นว่า ร่างกาย ก็เป็นของที่จิตไปรู้เข้า อะไรๆ ก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ค่อยๆฝึกไปเรื่อยนะ จิตใจมันจะเป็นคนดูออกมานะ ค่อยๆ แยกขันธ์ไปเรื่อย ฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ด้วยการรู้ทันว่า จิตมันเคลื่อนไป เคลื่อนไปคิด เคลื่อนไปเพ่งอารมณ์ ถ้ารู้ทันว่า จิตมันเคลื่อนไป จิตจะตั้งมั่น . สรุปนะ อีกที ข้อ ๑. รักษาศีล ๕ ไว้ ข้อ ๒. ฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว ใจลอยไปแล้วรู้ ใจลอยไปแล้วรู้ ฝึกอย่างนี้นะ แต่ถ้าวันไหนจิตมันฟุ้งซ่านมาก ก็เอาจิตเข้าไปจับอารมณ์ให้นิ่งๆไปเลย พักผ่อน (ทำสมถกรรมฐาน) ถ้าวันไหนมีแรง เอาแค่ว่า ใจลอยแล้วรู้ ใจลอยแล้วรู้ไปเรื่อยนะ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งนะ พุทโธไป หายใจไป แล้วใจลอยไป แล้วรู้ ใจเคลื่อนไปเพ่งลมหายใจ ก็รู้ ใจเคลื่อนไปเพ่งท้อง เพ่งเท้า ก็รู้ เนี่ย รู้อย่างนี้เรื่อยๆ ในที่สุดจิตใจจะตั้งมั่น จิตใจจะอยู่กับเนื้อกับตัว . ข้อ ๑. รักษาศีล ๕ ข้อ ๒. ฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว พอจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ข้อ ๓. ดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงาน ดูด้วยจิตที่เป็นคนดูนี่แหละ จิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัวนี่แหละ เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เห็นจิตใจมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย คอยดูความเปลี่ยนแปลงของกายของใจให้มากนะ ดูไป ดูไปจนจิตมันหมดแรงแล้ว ถ้าจิตมันหมดแรงนะ ดูจิตไม่ไหว ให้ดูกาย ดูจิตก็ไม่ไหว ดูกายก็ไม่ไหว ทำสมถะ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ให้จิตได้พักผ่อน มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาใหม่ พอจิตมีแรงขึ้นมาใหม่ กลับมาดูจิตอีก ... ดูจิตได้.. ให้ดูจิต ... ดูจิตไม่ได้.. ให้ดูกาย ... ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ... ก็ทำความสงบไว้ (ทำสมถะ) . เนี่ยฝึกอย่างนี้เรื่อยๆนะ ถ้าเราตั้งใจทำได้จริงๆ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราควรจะได้อะไรบ้าง คนที่เรียนกับหลวงพ่อนะ เดือนสองเดือน แล้วชีวิตก็เปลี่ยนไปตั้งมากมายแล้ว เคยทุกข์มากก็ทุกข์น้อย เคยทุกข์นานก็ทุกข์สั้นๆ . อยู่ที่พวกเรานะว่า เราจะให้โอกาสกับชีวิตตัวเองรึเปล่า หรือเราจะปล่อยชีวิตตามยถากรรม เหมือนที่ผ่านมาแล้วหลายสิบปี สุดท้ายมันก็หมดไป โดยที่ไม่ได้อะไรติดเนื้อติดตัวไป แต่ถ้าเราหัดเจริญสติ ตั้งแต่วันนี้นะ ถ้าบุญกุศลเราพอ บุญบารมีเราสร้างมาพอแล้ว เราอาจจะได้มรรคผลในชีวิตนี้ ชีวิตเราจะไม่ตกต่ำอีกแล้ว ถ้าเกิดเรายังไม่ได้มรรคผลในชีวิตนี้ ชาติต่อๆไป เราจะภาวนาง่าย สติ สมาธิ ปัญญาอะไร มันจะเกิดง่ายเลย เพราะมันเคยฝึก อะไรที่ไม่เคยฝึก ไม่เคยทำ มันยากทั้งนั้นแหละ อะไรที่เคยฝึกแล้ว ทำแล้วนะ มันคุ้นจนชิน มันก็ง่ายไปหมดแหละนะ /|\ /|\ /|\ #หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แสดงธรรม ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 12 มีนาคม 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น