วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560
กิเลสยังเหลืออยู่อีกเพียบเลย ขอพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงอ..รู้สึกมั้ย เราไปหลงคิดทั้งวัน พอตื่นนอนขึ้นมา เราก็คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ขณะที่เราหลง ไปอยู่ในโลกของความคิด เรียกว่าเราหลงอยู่กับสมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัตินะปิดบังปรมัตถ์คือ ปิดบังความจริง ปิดบังตัวรูปตัวนาม ขณะใดใจลอย ขณะนั้นมีร่างกาย ก็เหมือนไม่มี ขณะใดใจลอย ขณะนั้นมีจิตใจอยู่ก็ลืมมันไป มัวแต่สนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น สนใจสิ่งภายนอก ลืมที่จะรู้สึกกายลืมที่จะรู้สึกใจ การที่ลืมรู้สึกกายรู้สึกใจนี่แหละ เรียกว่าขาดสติ งั้นเครื่องมือตัวแรกในการทำวิปัสสนานี่ เรียกว่า สติ สตินั้นสำคัญมาก จิตที่เป็นกุศลทั้งหลาย จะต้องประกอบด้วยสติเสมอ สติมีหลายระดับ สติทั่วๆไปอย่าง อยากฟังธรรมะ จิตเป็นกุศลนะ จิตดวงนี้มีสติ แต่สติอันนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่สติที่จะทำให้เราพ้นโลกได้ มันเป็นแค่สติธรรมดา อย่างอยากทำบุญ อยากใส่บาตร อยากทำสังคมสงเคราะห์ อยากจัดให้คนมาฟังเทศน์เยอะๆ อะไรอย่างนี้มีสตินะ แต่ว่าเป็นสติอย่างโลก จะเกื้อกูลให้เรา อยู่ในโลกอย่างมีความสุขเท่านั้นเอง แต่สติข้ามโลกเนี่ย ต้องสติเรียนรู้กาย สติเรียนรู้ใจ สติรู้กาย สติรู้ใจ เรียกว่า สติปัฏฐาน ถ้าเมื่อไหร่ลืมกาย เมื่อไหร่ลืมใจ เค้าเรียกว่าขาดสติ (ปัฎฐาน) มีสติธรรมดาได้ แต่ว่าขาดสติปัฏฐาน ถ้าไม่ได้ทำสติปัฏฐานเนี่ย ไม่สามารถ บรรลุมรรคผลนิพพานได้นะ เพราะทางสายเอก ทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นเนี่ย คือการเจริญสติปัฏฐาน มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจบ่อยๆ นี่ตัวที่หนึ่งนะ เราต้องมีสตินะ ตัวที่สอง เราต้องมีสัมมาสมาธิคือ มีใจที่ตั้งมั่น สัมมาสมาธิเนี่ย เป็นตัวที่อาภัพมาก คนไม่ค่อยรู้จัก เพราะเราไม่รู้จักสัมมาสมาธินี่เอง เราภาวนากันแทบล้มแทบตาย เราจึงไม่บรรลุมรรคผลจริงๆ อย่างบางคนภาวนาไปนะ เกิดอาการวูบๆวาบๆ ลืมเนื้อลืมตัวอะไร ก็บอกบรรลุมรรคผลแล้ว ไม่ใช่นะ ไม่ใช่มรรคผลอย่างนั้น กลับมาไม่นานกิเลสก็กลับมาอีกนะ มรรคผลถ้าเกิดจริงๆแล้ว ล้างกิเลสไปแล้ว จะไม่กลับอีกเลย ขาดสูญไปเลย งั้นถ้าเราภาวนาวูบๆ วาบๆ ไปแล้ว เราบอกว่าบรรลุแล้วๆ ไม่ใช่ของจริงนะ ของจริงมันต้องล้างกิเลสได้จริง ทำไมพวกเรามีสตินะ เราจะหายใจออกเราก็รู้สึก หายใจเข้าเราก็รู้สึก ท้องพองก็รู้ ท้องยุบก็รู้ เดินจงกรมยกเท้าย่างเท้านะ รู้หมดเลย แต่ทำไมมันขาดอะไร ทำให้ไม่เกิดมรรคผลที่แท้จริง กลายเป็นเกิดสมถะนะ อย่างเรารู้ลมหายใจนะ จิตสงบ จิตสว่าง จิตสบายขึ้นมานะ หรือสว่างจ้าขึ้นมา อยากรู้อยากเห็นอะไรนะส่งจิตไปดู รู้เห็นทั่วโลกธาตุ นี่ออกไปรู้ข้างนอกไม่กลับมารู้กายรู้ใจตัวเอง ใช้ไม่ได้จริง หรือเดินจงกรมอยู่แล้วตัวลอย ตัวเบา บางคนลอยจริงๆนะ ลอยจริงๆ ลอยจากพื้นเลยนะ บางคนตัวเบาๆ บางคนตัวพองๆ ขนลุกขนชัน สิ่งเหล่านี้เป็นปีตินะ ปีตินี้มันมีเกิดจากสมาธินะ เกิดจากการที่เราไปเพ่งอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง อย่างเรารู้ลมหายใจ จิตเราแนบอยู่กับลม รู้ท้องพองยุบ จิตเราไปแนบอยู่ที่ท้อง ไปเดินจงกรมจิตไปแนบอยู่ที่เท้า บางคนเลยเท้าออกไปอีก บางคนจิตไปอยู่ที่พื้น เดินจงกรมแล้ว รู้ว่าพื้นเย็น พื้นร้อน พื้นอ่อน พื้นแข็ง อันนี้ลืมเป้าหมาย ลืมวัตถุประสงค์ของการปฎิบัตละ เราปฎิบัติเพื่อละการเห็นผิด ว่ากายกับใจเป็นเรา กลับไปเรียนเรื่องพื้น พื้นไม่เป็นเราอยู่แล้ว มีใครรู้สึกพื้นเป็นตัวเรา มีมั้ย ก็ไม่มีหรอกนะนอกจากเพี้ยนจริงๆ งั้นอย่าให้เกินกายเกินใจออกไปนะ คอยรู้สึกกาย รู้สึกใจ รู้สึกยังไง รู้สึกตามความเป็นจริงนะ หลักของวิปัสนากรรมฐานไม่ยากหรอก ให้มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริงเท่านี้เอง ให้มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริงนะ มีสติ ตัวนี้บอกแล้วต้องเป็นสติที่รู้กายรู้ใจ สติแปลว่าอะไร สติแปลว่าความระลึกได้ พวกเราอย่าแปลสติว่ากำหนดนะ กำหนดมันมาจากภาษาเขมร แผลงมาจากคำว่ากดเอาไว้ กดเอาไว้ ข่มเอาไว้ บังคับเอาไว้ ควบคุมเอาไว้ หน้าที่ของเราคือระลึกรู้ ทำยังไงสติถึงจะเกิด สติเกิดเพราะถิรสัญญา ถิรสัญญา คือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น ถ้าจิตจำสภาวะได้แม่น พอสภาวะที่จิตจำได้แล้วเกิดขึ้นนะ สติคือความระลึกได้ ก็จะระลึกขึ้นมาเองโดยไม่ได้เจตนาระลึก เราต้องพัฒนาตัวที่หนึ่งนะ มีสติ เพื่อว่าเราจะได้มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง อันนี้คือ วิปัสสนา ความเป็นจริงของกายของใจคือ ไตรลักษณ์ มีสติค่อยๆฝึก หัดรู้สภาวะ ไปทำกรรมฐานอะไรซักอย่างหนึ่งก็ได้แล้วแต่จริตนิสัยนะ อย่างทางยุวพุทธฯ ชอบดูพองยุบ ใช้พองยุบนี่แหละมาพัฒนาให้เกิดสติ ทำได้มั้ย ทำได้ แต่ถ้ามัวแต่เอาจิตไปเพ่งอยู่ที่ท้อง ท้องพองท้องยุบ จะได้สมถะนะ ได้จิตสงบเฉยๆ ไม่มีสติที่แท้จริงที่จะมาระลึกรู้ มันกลายเป็นการเพ่ง เมื่อไหร่เพ่งตัวอารมณ์นะ ภาษาแขกเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน อารัมมณู อารัมม ก็คืออารมณ์นั่นเอง ถ้าไปเพ่งตัวอารมณ์เมื่อไหร่เมื่อนั้นทำสมถะ ถ้าเป็นลักขณูปนิชฌานนะไปรู้ลักษณะ เพ่งลักษณะ ถึงจะเป็นวิปัสสนานะ รู้ไตรลักษณ์นะ ถึงเป็นวิปัสสนา เราต้องมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพ่งกายเพ่งใจ เบื้องต้นทำกรรมฐานซักอันนึง ใครเคยพุทโธ ก็หัดพุทโธไป ใครเคยรู้ลมหายใจก็รู้ไปนะ ใครเคยดูท้องพองยุบก็ดูไป ไม่ผิดนะ เหมือนกันหมดเลย ใช้ได้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นชาวพุทธเรา อย่าโง่ทะเลาะกันเองนะ อย่ามาเถียงกันว่าพุทโธดีหรือว่าหายใจดี หรือว่าพองยุบดี มันดีด้วยกันนั่นแหละนะ จริตนิสัยคนแต่ละคน ไม่เหมือนกัน เราจะมาบังคับทุกคนให้ทำกรรมฐานอย่างเดียวกันนะ มันไม่ได้ผลหรอก กรรมฐานนั้นต้องทำให้พอเหมาะพอควร กับแต่ละคน ทางใครทางมันนะ.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น