วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นิพพานมีจริงๆ นิพพานไม่ใช่โลกอุดมคตินิพพานมีจริงๆ นิพพานไม่ใช่โลกอุดมคติ ไม่ใช่ยูโทเปียนะ ไม่ใช่อะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีจริงแล้วตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกให้เราทำความดี นิพพานเป็นสภาวะซึ่งมีอยู่จริงๆ มีอยู่ต่อหน้าต่อตา ไม่เคยหายไปไหนเลย แต่จิตของเราเองแหละไม่มีคุณภาพพอที่จะสัมผัสพระนิพพาน นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหาสิ้นความอยาก เรียกว่าวิราคะ ใจของเรามีความอยากอยู่ตลอดเวลา อยากเห็นรูป อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสทางกาย อยากคิดนึกที่สนุกสนานทางใจ เพลิดเพลินทางใจ เนี่ยใจเรามีความอยากเกิดขึ้นตลอดเวลา พอใจเรามีความอยากนะ จะไปเป็นสภาวะที่พ้นจากความอยากไม่ได้ ก็ไม่เห็นพระนิพพาน นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นความปรุงแต่ง เรียกว่าวิสังขาร ใจของเราปรุงแต่งตลอดเวลา เดี๋ยวก็ปรุงชั่วเดี๋ยวก็ปรุงดี บางคนนะเมื่อรู้สึกชั่วก็ไม่เอา ดีก็ไม่เอา เลยปรุงความว่างๆ ไปปรุงความว่างขึ้นมา ปรุงชั่ว เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ปรุงดี เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ปรุงความว่างความไม่มีอะไร เรียก อเนญชาภิสังขาร รากเหง้าของมันก็อันเดียวกันคืออวิชชานั่นเอง ไม่รู้ ความไม่รู้จริง ไม่เห็นแจ้งอริยสัจ ความปรุงแต่งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่เห็นนิพพานซึ่งเป็นสภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง นิพพานเป็นวิมุตตินะ หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสที่ห้อหุ้ม จิตของเรามีอาสวะที่ห่อหุ้มอยู่ตลอดเวลา เมื่อวันใดที่อริยมรรคเกิด ทำลายอาสวะไป เมื่อจิตเป็นอิสระไม่มีเปลือกหุ้มนะ จิตเป็นอิสระไป เรียกว่าวิมุตติ งั้นจิตของเราเองแหละที่ทำให้เราไม่เห็นพระนิพพาน เราก็ต้องมาพัฒนาจิตใจของเราให้มีคุณภาพนะ พัฒนายังไงให้สิ้นตัณหา ให้สิ้นความอยาก สิ้นตัณหาได้นะมันก็จะสิ้นความปรุงแต่งได้นะ คือเมื่อไรมีวิราคะ สิ้นตัณหา ก็จะเกิดวิสังขาร ไม่ปรุงแต่ง ก็เกิดวิมุตติ หลุดพ้นออกไป การที่จะมาฝึกจิตฝึกใจให้พ้นจากความอยากเนี่ยไม่ใช่พูดเอาเล่นๆ มีวิธีการปฏิบัติที่ต้องลงมือทำ การลงมือปฏิบัติไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเนี่ยคือการเรียนรู้ความจริงของกายของใจตัวเอง พระพุทธเจ้าสอนธรรมะที่สำคัญที่สุดชื่ออริยสัจ ท่านบอกว่าอริยสัจเป็นธรรมสำคัญนะ ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจแล้วเราจะต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่เห็นพระนิพพานหรอก อริยสัจข้อแรกคือ ทุกข์ พวกเรายังไม่เห็นความจริงว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์ เรียกว่าเราไม่รู้ทุกข์ เมื่อเราไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัยคือเกิดความอยาก อย่างเราไม่รู้ความจริงว่าร่างกายเป็นตัวทุกข์ เราก็อยากให้ร่างกายเป็นสุขถาวร อยากให้มันสวยมันงามถาวร มันหนุ่มมันสาวถาวร อยากให้มันแข็งแรงถาวร อยากให้มันเป็นอมตะไม่รู้จักตาย ความอยากเนี่ยเกิดจากความไร้เดียงสาที่เราไม่รู้ความจริงว่ากายนี้เป็นตัวทุกข์ ถ้าวันใดที่สติปัญญาเราแก่กล้านะ จะเห็นว่ากายนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่เห็นอย่างที่พวกเราเห็น พวกเราเห็นอะไร? เราเห็นว่าร่างกายเนี่ยเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง รู้สึกไหม ร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เมื่อเราเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ความดิ้นรนของจิตก็จะเกิดขึ้น ดิ้นรนยังไง? ดิ้นรนจะให้ร่างกายมีความสุข ดิ้นรนจะให้ร่างกายไม่ทุกข์ เนี่ยเกิดความดิ้นของจิตขึ้นมา ความทุกข์ทางใจมันจะเกิดขึ้น ไม่เห็นพระนิพพานแล้ว นิพพานเป็นสันติ เป็นความสงบสุขของจิตของใจเรานี้เอง ถ้าเมื่อไรเราเห็นความจริงว่ากายเป็นทุกข์ล้วนๆ ความอยากที่จะให้กายเป็นสุขจะไม่เกิด ความอยากให้กายพ้นทุกข์ก็ไม่เกิด ความอยากทั้งหลายไม่ว่าจะมีมากมายแค่ไหนนะ ย่อลงมาประมวลลงมาแล้วก็สรุปได้นิดเดียว เพราะอยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ ลองไปสังเกตดู ความอยากนานาชนิดที่พวกเรามีนะ จุดสุดท้ายเลย จุดที่ลึกที่สุดเลยนะ คือมันอยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ ถ้าปัญญาแก่รอบนะเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ ความอยากให้กายเป็นสุขไม่มี ความอยากให้กายพ้นทุกข์ไม่มี ความอยากไม่มี ถ้าวันใดเห็นว่าจิตนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ ซึ่งพวกเรายังไม่เห็น เราเห็นว่าจิตของเรานี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง รู้สึกไหม จิตใจของเราเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง มันมีทางเลือก เราก็จะดิ้นรนหาความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ดิ้นรนหาความสุขก็มีนานาชนิดตามสติปัญญานะ บางคนก็ดิ้นรนหาความสุขด้วยการสนองความต้องการตลอดเวลา อยากอะไรก็ได้อันนั้นมาเราก็มีความสุข คิดว่าถ้ามีความอยากเกิดขึ้นตอบสนองมันได้แล้วมีความสุข เพราะงั้นอยากมันไม่ได้คงที่ พออยากได้อันนี้ ได้มาปุ๊บ มันอยากอันอื่นต่อไปอีกแล้ว เพราะงั้นใจเลยไม่มีความสุขสักที หิวตลอดเวลาเลย งั้นภาวนาเรื่อยๆไปนะ วันหนึ่งเห็นว่าตัวจิตเป็นทุกข์ล้วนๆ ตรงที่เห็นตัวจิตเป็นทุกข์ล้วนๆเนี่ย ความอยากให้จิตเป็นสุขจะไม่เกิดขึ้น ความอยากให้จิตพ้นทุกข์จะไม่เกิดขึ้น แล้วมันจะไม่ยึดถือจิต ตรงที่ไม่ยึดถือจิตเนี่ยเป็นการปฏิบัติในขั้นสูงสุดนะ ที่หลวงพ่อเล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์ทุกๆองค์นะ ลงท้ายก็มาลงตรงนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น