วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ผู้พ้นจากเครื่องผูกของมารทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา. ผู้ใด จักสำรวมจิตที่ไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำ (คือกาย) เป็นที่อาศัย ผู้นั้น จักพ้นจากเครื่องผูกของมารได้. (พุทฺธ) ขุ. ธ. ๒๕/๑๙,๒๐. คำว่า จิต หมายเอาธรรมชาติที่ทำสิ่งต่างๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตให้วิจิตร หรือหมายเอาธรรมชาติที่เป็นตัวคิด ซึ่งอาศัยหทัยรูปมีอยู่ภายในหัวใจ ทำหน้าที่คิดถึงเรื่องต่างๆ ได้มาก และรวดเร็ววิจิตรพิสดารมีความหมายพอสรุปได้ ๖ ประการ คือ ๑. วิจิตรโดยการกระทำ ๒. ตนเองเป็นสภาวะที่วิจิตร ๓. วิจิตรโดยสั่งสมกรรมและกิเลส ๔. วิจิตรในการรักษาวิบาก อันกรรมกิเลสสั่งสมไว้ ๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานตนเอง ๖. มีอารมณ์อันวิจิตรพิสดาร ดังนั้น พึงเห็นว่า สิ่งมีชีวิตและหาชีวิตมิได้ทั้งมวลที่วิจิตรพิสดารนั้น เป็นเพราะอำนาจของจิตคือมีตนเป็นผู้ทำให้วิจิตร อันได้แก่สัตว์และสิ่งของที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ เป็นต้น ทั้งการไปมาของจิตสู่ทิศและสถานที่ต่างๆ รวดเร็วยิ่งกว่าชั่วขณะลิงหลับ และในขณะเดียวกันก็สามารถรับเอาอารมณ์ ทั้งอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ แม้มีอยู่ที่ไกลมาได้ ทั้งการเกิดและเที่ยวไปก็ปรากฏทีละดวง คือ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นเป็นไปและดับลง จิตดวงอื่นๆ จึงเกิดต่อไป หรือแม้แต่ทรวดทรงแห่งสรีระ หรือสีสันของจิตนั้นก็ไม่มี มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย เพราะเหตุที่จิตเป็นธรรมชาติ เที่ยวไปดวงเดียวแม้ในที่ไกลได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ปรากฏรูปร่างนี่เอง จึงเป็นหนทางเปิดช่องให้กิเลสต่างๆ ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นที่เกิดแล้วย่อมเจริญมากขึ้น เพราะความหลงพร้อมแห่งสติ ฉะนั้น ผู้ใคร่พ้นจากบ่วงมาร จึงจำต้องตั้งสติให้มั่นกำหนดสำรวมทำใจให้เป็นธรรมชาติไม่ฟุ้งซ่าน แล้วจักพ้นจากวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ ที่เรียกว่าเครื่องผูกแห่งมาร เพราะไม่มีกิเลสได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น