วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เข้ามาเถิด สุทัตตะ ตถาคตอยู่ที่นี่ เศรษฐีมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าสีตวัน อันเป็นที่ประทับแห่งพระศาสดา เวลานั้นพระพุทธองค์ตื่นบรรทมแล้ว ทรงแผ่ข่ายพระญาณพิจารณาดูสัตวโลกที่พระองค์ควรจะโปรด เห็นอุปนิสัยของอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า.เป็นผู้ที่ควรแก่การบรรลุธรรม จึงทรงจงกรมคือเดินกลับไปกลับมาอยู่ ณ บริเวณ ที่ประทับ เมื่อเศรษฐีเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ เข้ามาเถิด สุทัตตะ ตถาคตอยู่ที่นี่ ” ดูก่อน..ภราดา ! พระดำรัสตรัสเรียกเศรษฐีโดยชื่อว่า สุทัตตะ โดยถูกต้องนั้น นำความปราโมชมาให้เศรษฐีอย่างล้นเหลือ เขาไม่เคยรู้จักพระศาสดา และพระศาสดาก็ไม่เคยรู้จักเขา แต่พระองค์สามารถเรียกชื่อเขาได้อย่างถูกต้อง เขาซบหน้าลงแทบบาทมูลแห่งพระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลว่า“ ข้าแต่พระศากยมุนี ! เป็นโชคดีของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งแล้วที่ได้มาเฝ้าพระองค์สมปรารถนา พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อคืนนี้ ราตรีช่างยาวเสียเหลือเกิน ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหมือนหนึ่งเดือน เป็นเวลานานเหลือเกิน ที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า พุทโธ พุทโธ “ “ดูก่อนสุทัตตะ ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้ว รู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้ พระสัทธรรมยังยาวกว่านั้น ดูก่อน สุทัตตะ สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อย ๆ การเกิดบ่อย ๆ นั้นตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาด้วย ก็คือความชรา ความเจ็บปวดทรมานและความตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่จากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียน จะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว” ดูก่อนสุทัตตะ ! เมื่อรากยังมั่นคงแม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว มันยังสามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกัน เมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นจากดวงจิต ความทุกข์ย่อมก็เกิดย่อมขึ้นได้บ่อยๆ “ สุทัตตะเอย ! น้ำตาของสัตว์ผู้ร้องไห้เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณนา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านี้เท่านั้น กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีดลเล่า ถ้านำมากองรวมกันมิให้กระจัดกระจาย คงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลยแม้แต่นิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกแห่งสัตว์ผู้ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก เขานอนบนกองกระดูก นั่งบนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น ”ดูก่อนสุทัตตะ ! ไม่ว่าภพไหนๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งนั้น พระศาสดาทรงเทศนาอริยสัจแต่โดยย่อแก่ท่านสุทัตตะ จนเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นเป็นผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย แล้วทรงย้ำในตอนสุดท้ายว่า “ ดูก่อนสุทัตตะ ! การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก การดำรงชีพอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นของยาก การได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นของยาก และการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นของยาก ดูก่อนสุทัตตะ ! เพราะเหตุนั้นการแสดงธรรมของสัตบุรุษก็ตาม การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุนำความสุขความสงบสู่โลก"ดูก่อนผู้สืบอริยวงค์" 'พระธรรมเทศนาของพระศาสดานั้น ไพเราะจับใจและแจ่มแจ้งยิ่งนัก เพราะเหตุนี้เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบลง จึงมักมีผู้ชมเชยเสมอว่า "แจ่มแจ้งจริงพระเจ้าข้าฯ เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด เพื่อให้ผู้มีตาดีได้มองเห็นรูป' ดังนี้ อนาถปิณฑิกเศรษฐี หรืออีกนัยหนึ่งคือสุทัตตคฤหบดี ซึ่งบัดนี้ได้เป็นโสดาบันแล้ว ด้วยการฟังพระธรรมเทศนาครั้งเดียว ได้ทูลอาราธนาพระตถาคตเจ้าเพื่อเสด็จสู่กรุงสาวัตถี ราชธานีแห่งโกศลรัฐ เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับแล้ว เศรษฐีจึงมุ่งหน้ากลับสู่นครตน ล่วงหน้าไปก่อน ตามรายทางเศรษฐีให้คนสร้างที่พักไว้เป็นแห่งๆ และป่าวประกาศให้ประชาชนสร้างที่พัก เพื่อพระสงฆ์สาวก ตามเส้นทางที่พระศาสดาจะเสด็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น