วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
จิตหนึ่งธรรมหนึ่งพระอนาคามีนะ ศีลบริบูรณ์ สมาธิบริบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง ปัญญาในขั้นกลาง คือรู้ว่าถ้าอยากถ้ายึดเมื่อไหร่ ก็ทุกข์เมื่อนั้น รู้ว่าตัณหาหรือสมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทีนี้ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่เมื่อทำมาถึงตรงนี้ จะรัก จะหวงแหนจิตผู้รู้นี้มากที่สุดเลย เพราะรู้ว่าถ้าเราอยู่กับตัวจิตผู้รู้เนี่ย ความทุกข์จะไม่ข้องแวะ เพราะฉะนั้นจิตจะมีอยู่สองชนิด คือจิตผู้รู้กับจิตผู้หลง จิตผู้รู้นี้มีแต่ความสุข จิตผู้หลงตามอารมณ์ตามกิเลสจะมีแต่ความทุกข์ จะรู้สึกว่ามีอยู่สองอย่าง เพราะฉะนั้นจะหวงแหนถนอมรักษาจิตผู้รู้นะ หวงที่สุด ส่วนมากผู้ปฎิบัติจะจบลงตรงนี้ ไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะพอใจแล้ว คล้ายๆคนๆหนึ่งอยากจะเจอเหมืองทอง อยากได้เหมืองทองคำ เดินไปเจอเยาวราชนะ พอใจแล้ว ไม่ไปไหนแล้ว เฝ้ามันอยู่ตรงนี้ล่ะ ไม่ไปหาเหมืองแล้ว ผู้ปฏิบัติจำนวนมาก ก็จะหยุดอยู่ที่ตรงนี้ พอตายไปก็ไปอยู่ในภูมิพรหมโลก ไปเป็นพระพรหม แต่พรหมพวกนี้ไม่เป็นไรไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว จะนิพพานในพรหมโลก ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติต่อไปเนี่ย สติปัญญาจะบีบวงแคบเข้ามา เพราะจิตใจมันเด่นดวงขึ้นมาแล้ว มันไม่ได้ออกไปแส่ส่ายหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ภายนอกนะ ไม่ยุ่ง มีแต่จิตแต่ใจล้วนๆเลย พอจิตใจมันบีบวงเข้ามาอยู่ที่จิตที่ใจเนี่ย ถ้าสติปัญญาเพียงพอ ส่วนมากสติปัญญาไม่เพียงพอหรอก ต้องได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือว่าช่างสังเกต หรือมีครูบาอาจารย์บอกให้ ถ้าช่างสังเกตก็จะสังเกตได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงปู่มั่น ท่านสังเกตเอา ถ้าตรงนี้ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ ยังอิงอาศัยจิตผู้รู้อยู่ นิ่งนอนใจไม่ได้ ยังไม่พ้นทุกข์จริง หรือเรา ถ้าพวกเราช่างสังเกต เราก็จะรู้ว่า จิตเรายังมีสองอย่างอยู่ มีจิตผู้รู้ที่มีความสุข กับจิตผู้หลงที่ไม่มีความสุข ตาบใดที่ยังมีสองยังไม่ใช่ของจริง จำไว้นะ ตราบใดที่ยังเป็นสองยังไม่ใช่ของจริงหรอก ยังหลงอยู่กับสุขกับทุกข์ กับดีกับชั่ว กับสงบฟุ้งซ่านกับภายในภายนอก หยาบละเอียด อะไรๆที่ยังเป็นคู่ๆเนี่ย งานยังไม่เสร็จแน่นอน ถ้างานเสร็จจะเป็นหนึ่งเดียวรวดเลย ฐีติจิต จิตก็เป็นหนึ่งนะ ฐีติธรรม ธรรมก็เป็นหนึ่ง คำที่หลวงปู่มั่นท่านใช้ ทีนี้ถ้าเราไม่นิ่งนอนใจ เราก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราต่อไป เสร็จแล้วมันจะพ้นสติปัญญาเราไม่ได้หรอก ตัวผู้รู้เนี่ย บางท่านก็จะเห็นว่ามันไม่เที่ยง มันผ่องใสอยู่ ผ่องใสอยู่ทั้งวันทั้งคืนนะ ถึงจุดหนึ่งมันหมองได้ คือมันไม่เที่ยง บางท่านพอเห็นว่าไม่เที่ยงก็ปล่อยวางได้ อย่างนี้เรียกว่า เป็นประเภทหลุดพ้นที่เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์ เห็นแต่ว่าเกิดแล้วดับๆ ตัวผู้รู้ก็เกิดดับ บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ พวกที่ทรงสมาธิมากๆ จะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ เพราะถ้าท่านไม่เห็นว่าจิตผู้รู้เป็นทุกข์นะ จะไม่ยอมปล่อย เพราะสมาธิมากตัวผู้รู้มีแต่ความสุขนะ ถ้าปัญญาแก่รอบจริงๆจะเห็นเลย เป็นตัวทุกข์ ทุกข์แบบไม่มีอะไรเหมือน พอเห็นว่าตัวผู้รู้ก็เป็นทุกข์ จิตมีอันเดียวนะ คือจิตที่เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ว่าจิตมีทุกข์บ้างสุขบ้าง แต่เดิมเคยเข้าใจว่าจิตนี้ ถ้ารู้ตัวเป็นผู้รู้แล้วมีความสุข ถ้าเป็นผู้หลงแล้วมีความทุกข์ เข้าใจผิด แต่เมื่อไรสติปัญญาแก่รอบ ตัวจิตเองนั้นแหละตัวทุกข์ล้วนๆ จะปล่อยวาง ตรงคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านสอนบอกว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ล้วนๆนะ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง พวกเราแค่เห็นร่างกาย ก็ยังเห็นว่าร่างกายเราทุกข์บ้างสุขบ้างเลย อย่าว่าแต่จิตใจเลย จิตใจยังไงก็ยังเห็นว่าทุกข์บ้างสุขบ้าง สุขทุกข์ของเราอยู่ที่ว่า ได้อย่างที่อยากมั้ย ถ้าไม่ได้อย่างที่อยากก็ทุกข์ ถ้าได้อย่างที่อยากก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์ของเราที่พวกเรารู้จัก นี่คือทุกข์จากความไม่สมอยาก ส่วนทุกข์ของพระอนาคามีที่ท่านรู้เนี่ย ทุกข์เพราะความอยาก เห็นว่าถ้าอยากแล้วทุกข์นะ ของเราเห็นได้แค่ว่า ถ้าไม่สมอยากแล้วทุกข์ พระอนาคามีเห็นว่า แค่มีความอยากก็ทุกข์แล้ว ก็ยังมีสองอย่าง มีทุกข์กับสุข ถ้าอยากหรือไม่อยาก ถ้าปัญญาเห็นแจ้งจริงๆเลย มีแต่ทุกข์ล้วนๆ จะอยากหรือไม่อยากก็ทุกข์แล้ว ทุกข์ไม่ใช่อยู่ที่อยากแล้ว ทุกข์อยู่ที่ตัวขันธ์เองแหละเป็นตัวทุกข์ อย่างนี้เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว จิตจะปล่อยวางลง ปล่อยวางจิต ทีนี้บางท่านก็เห็นว่าจิตนี้เป็นสุญญตา เป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา คืน ยอมคืน ยอมสลัดคืนให้กับโลกเขาไป พวกนี้เรียกว่าสุญญตวิโมกข์ พวกปัญญากล้า หลุดพ้นด้วยการเห็นจิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ปลดปล่อยออกไปแล้ววางออกไป ทางที่จิตดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นเนี่ย มีสามช่องในขั้นสุดท้าย เบื้องต้นของเราเนี่ยนะ คอยรู้กายคอยรู้ใจไว้ พอรู้กายเต็มที่นะ มันจะปล่อยวางกาย มันจะย้อนทวนเข้าหาธาตุรู้ ตัวจิต พอรู้จิตเต็มที่เนี่ย ว่าเป็นอนิจจัง หรือเป็นทุกขัง หรือเป็นอนัตตา ในมุมใดมุมหนึ่งก็ปล่อยวางจิต พอปล่อยวางหมดทั้งกายหมดทั้งจิตนะ จิตใจก็จะพ้นจากความทุกข์จริงๆ พ้นจากขันธ์ นิพพานก็คือจิตมันพรากออกจากขันธ์ มันสำรอกออกจากขันธ์ หลุดออกจากขันธ์ได้ หมายเหตุ วิโมกข์ มี 3 อย่าง คือ สุญญตวิโมกข์ ความพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นไตรลักษณ์คืออนัตตา อนิมิตตวิโมกข์ ความพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นไตรลักษณ์คืออนิจจัง อัปปณิหิตวิโมกข์ ความพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ทุกขัง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น