วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เสียงที่ทำให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะคำนำในการพิมพ์วรรณกรรมธรรม ผู้ ส ล ะ โ ล ก ฉบับพิมพ์ ครั้งที่ ๑ .เรื่องผู้สละโลกนี้ เป็นประวัติของพระสาวกบางท่าน ซึ่งได้สละความสุขอย่างโลกๆ มาแสวงหาความสุขทางธรรม และท่านก็ได้พบความสุขนั้นสมใจหมายอันที่จริง ท่านเหล่านี้มีพระสารีบุตร เป็นต้น พิจารณาตามประวัติแล้ว มีโอกาสเป็นอันมาก ในการที่จะเสวยความสุขทางโลกอย่างที่ชาวโลกมุ่งมอ ง ปักใจใฝ่ฝัน และแสวงหา อย่างชนิดที่เรียกว่า “ทุ่มชีวิตลงไปทั้งชีวิต” แต่ท่านเหล่านั้นกลับสละทิ้ง อย่างไม่ใยดีไปมีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ไม่มีความวุ่นวายกังวล บางท่านเป็นถึงพระราชาครองแคว้น เช่น พระมหากัปปินะ เมื่อได้ตัดสินพระทัยสละโลก มาอยู่ภายใต้ร่มธงแห่งธรรมแล้ว ทรงเปล่งอุทาน อยู่เสมอๆว่า “สุขจริงหนอๆ” ทั้งนี้เพราะความสุขทางธรรม - สุขอันเกิดจากความสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลนั้น เป็นความสุขที่ประณีตชุ่มเย็นในดวงจิต เหนือความสุขทางโลกียารมณ์อันเจือด้วยความกระหาย เร่าร้อนกระวนกระวายและทุกข์ รายละเอียดเกี่ยวกับข้อความทำนองนี้มีอยู่แล้ว ดาษดื่นในหนังสือเล่มนี้ในศาสนานี้ ท่านผู้สละโลกเพื่อโลกเป็นพระองค์แรก ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมองเห็นว่า การหมกมุ่นอยู่ในโลกนั้นเป็นการยากที่จะช่วย เพื่อนมนุษย์ให้พ้นทุกข์ได้ เหมือนคนไข้รักษาคนไข้ด้วยกัน จะทำได้สักเท่าใด แต่เมื่อจิตใจพ้นจากโลกแล้ว การหลั่งประโยชน์แก่โลก ย่อมทำได้เต็มที่ และมีผลยั่งยืนแก่โลกนั้น คำว่าโลก ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ มิได้หมายถึงโอกาสโลก แต่หมายถึง กามโลก คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัส อันยั่วยวนใจเป็นบ่วงบาศคล้องใจสัตว์ให้จมอยู่ หมกมุ่นพัวพัน ลุ่มหลง อยู่ในกามโลกนั้น บางทีพระพุทธองค์ทรงเรียกสิ่งนี้ว่า ตะปูตรึงใจ (เจโตขีละ) นอกจากสิ่งเร้าภายนอกคือกามคุณ ๕ ดังกล่าวแล้วยังมีแรงกระตุ้นภายใน คือ กิเลส เช่น ความกำหนัด เพราะความดำริถึง(สังกัปปราคะ) ความปักใจใฝ่ฝันใคร่ได้ใคร่มีชุ่มอยู่ในดวงจิต เหมือนเชื้อเพลิงอย่างดีชุ่มอยู่ด้วยน้ำมัน พอไฟคือสิ่งเร้าภายนอกมากระทบ ก็พลันลุกไหม้เผาทั้งน้ำมันและเชื้อเพลิงนั้น ด้วยเหตุนี้แหละ พระองค์ผู้ทรงสละโลกเป็นปฐม จึงตรัสว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสและความนึกคิด (อันเจือด้วยกาม) นั้นเป็นของร้อน - ร้อนเพราะเพลิงกิเลสมีราคะเป็นต้น และร้อนเพราะเพลิงทุกข์มีความเกิดเป็นอาทิ (อาทิตตปริยายสูตร) การได้รู้เรื่องเหล่านี้ไว้บ้างก็เป็นการดี เป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิต เพราะเมื่อชีวิตประสบความเร่าร้อนขึ้นเมื่อใด จะได้รู้สึกตัวและมองเข้ามาในตนว่า “บัดนี้เราถูกเพลิงกิเลสเผาเอาแล้ว” แทนการโวยวายป้ายโทษให้แก่ผู้อื่นโดยส่วนเดียว มิได้แลเหลียวถึงกิเลสในใจตนบ้างเลย ถ้าไม่มีกิเลสต่างๆ อันเป็นเหมือนเชื้อเพลิงแล้ว อารมณ์ต่างๆ ภายนอกที่ได้ประสบ ซึ่งโดยปกติทำให้เร่าร้อนนั้นก็ไร้ความหมายไปเอง เหมือนเอาคบเพลิงแหย่ลงไปในแม่น้ำ ตราบใดที่ยังมีกามราคะ ตราบนั้นก็ยังต้องเกิดอีก ในกามโลกอันเกลื่อนกล่นไปด้วยสุข (เล็กน้อย) และทุกข์ (อันหนักหน่วงยืดเยื้อยาวนาน) ต้องชอกช้ำขมขื่นเมื่อจำต้องดื่มอารมณ์อันแสลงใจ มีภัยอันตรายอยู่รอบด้าน ซึ่งตนเองทำให้เกิดขึ้นบ้าง คนอื่นทำให้เกิดขึ้นบ้างทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทุกข์ภัยเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีความเกิดเป็นมูลฐาน ความสุขอันใดที่โลกหยิบยื่นให้ นอกจากจะเล็กน้อยแล้ว ยังเจืออยู่ด้วยทุกข์ มีทุกข์แอบแฝงซ่อนเร้นเข้ามา เหมือนเหยื่อที่พรานเบ็ดเกี่ยวเอาไว้เพื่อความพินาศ วอดวายของปลารูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัส อันยั่วยวนใจนั่นแหละ พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า “โลกามิส - เหยื่อของโลก” ผู้ไม่กำหนดรู้โทษของเหยื่อเหล่านี้ เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างตะกละตะกลามลุ่มหลงผูกพันย่อมถูกเบ็ด คือ ความทุกข์เกี่ยวเอาจนไม่อาจดิ้นให้หลุด เพื่ออิสรภาพของตนได้ ต่อแต่นั้นก็หยั่งลงสู่ทุกข์ (ทุกฺโขติณฺณา) มีทุกข์ดักอยู่เบื้องหน้า (ทุกฺขปเรตา) คร่ำครวญอยู่ว่าทำอย่างไรหนอเราจักพ้นทุกข์นี้ได้ ผู้สละโลก คือท่านผู้สละเหยื่อของโลก ไม่ติดเหยื่อของโลกเป็นผู้อันโลกจะครอบงำย่ำยีมิได้ ย่อมเที่ยวไปในโลกได้อย่างเสรี เหมือนเนื้อที่ไม่ติดบ่วงของพรานไพร แม้บางคราวจะเกี่ยวข้องอยู่ด้วยบ่วง นอนทับกองบ่วงอยู่ แต่บ่วงก็หาทำอันตรายแต่ประการใดไม่ ดังพระพุทธวจนะอันลึกซึ้งจับใจที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เนื้อป่าที่ติดบ่วงแล้ว นอนทับบ่วงอยู่ย่อมถึงความเสื่อมความพินาศ หนีไปไม่ได้ตามปรารถนา ถูกพรานเนื้อกระทำเอาได้ ตามต้องการฉันใด สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่ยังใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน เข้าไปเกี่ยวข้อง กับกามคุณ ๕ โดยไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดตนออก สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปกระทำเอาได้ตามต้องการฉันนั้น ส่วนสมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลงไม่ติดพัน เข้าไปเกี่ยวข้องกับกามคุณ ๕ โดยเห็นโทษมีปัญญาเครื่องสลัดตนออก สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมไม่ถึงความเสื่อม ความพินาศ ไม่ถูกมารผู้ใจบาปกระทำเอาได้ตามต้องการ เหมือนเนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง แม้จะนอนทับกองบ่วงอยู่ ก็ย่อมไม่ถึงความเสื่อมความพินาศ เมื่อพรานเดินเข้ามาก็หนีไปได้ตามปรารถนา ไม่ถูกพรานทำเอาได้ตามต้องการ” (ปาสราสิสูตร ๑๒/๓๒๘) พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สัตว์โลกผูกพันอยู่ในความหลง ตกอยู่ในความมืด มีน้อยคนที่จะเห็นแจ้งตามเป็นจริง เพราะฉะนั้นจึงมีน้อยคนที่ไปสวรรค์ เหมือนนกที่ติดข่ายของนายพรานแล้ว น้อยตัวที่จะพ้นไปได้” โลกียมหาชนนั่นเอง ตกอยู่ในความมืด เป็นผู้บอดเพราะไม่มีปัญญาจักษุ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นผู้ใจบอด ไม่อาจมองเห็นสัจจะแห่งโลกได้ เขามีแต่ตาเนื้อ สำหรับเห็นรูปต่างๆ อันยั่วยวนให้หลงใหล หรือให้หลงรัก หลงชัง แล้วดิ่งลงไปในนรก คนไปสวรรค์เหมือนเขาโค ส่วนคนไปนรกเหมือนขนโค คนทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครพ้นได้ ความตายของปุถุชนมีคติไม่แน่นอน บางชาติตกนรก บางชาติไปสวรรค์ บางชาติเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน บางชาติเป็นเปรต เป็นอสูรกาย สุดแล้วแต่กรรม น่าหวาดเสียว น่ากลัว ความทุกข์ในกำเนิดดิรัจฉาน เช่นสุนัข เป็นต้น ช่างน่ากลัวเสียนี่กระไร ! แม้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็น่าหวาดเสียวอยู่นั่นเอง เพราะมนุษย์มีหลายประเภท หลายสภาพ บางคนพิกลพิการ อดอยาก เจ็บกายเจ็บใจ อยู่ตลอดชีวิต แม้คนที่มั่งมีและมีอวัยวะสมบูรณ์ ก็ยังถูกกิเลสเผาให้เร่าร้อนอยู่เป็นประจำ ความต้องการออกจากโลกเป็นโลกุตตรชนนั้น เป็นทรรศนะและอุดมคติของนักปราชญ์ ทั้งนี้เพราะได้มองเห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า โลกนี้ไม่มีอะไรควรยึดมั่น สิ่งใดที่บุคคลเข้าไปยึดมั่น สิ่งนั้นก่อให้เกิดทุกข์เสียทุกครั้งไป ความสุขก็เล็กน้อย ไม่พอกับความทุกข์ที่กระหน่ำอยู่ทุกเวลามิได้เว้น โลกนี้มีความทรุดโทรม แวดล้อมอยู่ด้วยทุกข์รอบด้าน มีปัญหามาก พร่องอยู่เป็นนิตย์ มีความขัดข้องที่จะต้องแก้ไขอยู่เสมอ ข้าพเจ้าเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นกัลยาณมิตร ของท่านผู้ต้องการสละโลก (แม้จะยังสละไม่ได้ก็ตาม) และแม้ท่านผู้ยังต้องการอยู่ในโลก อย่างไม่เป็นทาสของโลกหรืออยู่อย่างมีทุกข์น้อยที่สุด หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นเพื่อนที่ดีของท่านได้อยู่นั่นเอง บุญกุศลใดที่จะพึงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังศรัทธา ขอบุญกุศลนั้นพึงเป็นเพื่อนใจ หยั่งลงเป็นอุปนิสัยบารมีคอยกระตุ้นเตือนชักนำ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติเห็นโทษและเห็นภัยในโลก ไม่ติดโลก ไม่ติดในภพมีปัญญาในการสลัดตนออก มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ดำรงตนอยู่อย่างอิสระ ได้รับความสงบเย็นเต็มที่ ในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศดีแล้วด้วยเถิด วศิน อินทสระ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น