วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เราต้องมาเห็นความเป็นจริงของรูปของนามเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกนะจนจิตมันเป็นกลางผู้รู้ ก็คือเรามีจิตที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ เมื่อเราฝึก มันต้องมีวิธีฝึก วิธีฝึกมันจะต่างกับการที่จะฝึกให้จิตสงบ การจะให้จิตสงบนั้น ให้เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตไม่ไปฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อันอื่น จิตก็สงบ เช่นบางคนมีความสุขที่จะท่องพุทโธ พุทโธๆมีความสุขนะ พอจิตใจมีความสุข จิตจะไม่ฟุ้งไปที่อื่น ก็สงบอยู่กับพุทโธ คนไหนถนัดรู้ลมหายใจ รู้ลมหายใจแล้วมีความสุข รู้ลมหายใจไปเรื่อย หายใจไปรู้สึกตัวนะ หายใจสบาย จิตใจสงบอยู่กับลมหายใจ ไม่ฟุ้งไปที่อื่น ก็ได้ความสงบขึ้นมา คนไหนดูท้องพองยุบแล้วมีความสุข ก็ดูท้องพองยุบไป จิตใจมันก็สงบไม่หนีไปที่อื่น การที่จะฝึกให้จิตสงบนั้น ฝึกโดยการรู้จักเลือกอารมณ์ เราต้องดูว่าตัวเราเองนั้นอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์ชนิดนั้นบ่อยๆ อยู่กับพุทโธแล้วมีความสุขเราอยู่กับพุทโธไป จิตก็สงบไม่หนีไปที่อื่น เพราะจิตมันพอใจกับพุทโธซะแล้ว มันก็ไม่ไปหาอารมณ์อันอื่น คนไหนหายใจเข้าหายใจออก รู้ลมหายใจเข้าหายใจออกแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับลมหายใจไป จิตก็ไม่หนีไปที่อื่น เนี่ยเคล็ดลับของการทำความสงบนะ การทำสมถะ เลือกอารมณ์ ต้องดูของตัวเราเอง เราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์ชนิดนั้นบ่อยๆ จิตใจไม่หนีไปหาอารมณ์อย่างอื่น อันนี้แหละ เราได้สมถะกรรมฐาน ทีนี้ฝึกอย่างไรจะให้จิตตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นนั้นมันตรงข้ามกับจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่ตั้งมั่นมันคือจิตที่ไหลไป มันหลงไป มันไหลไป ตลอดเวลา หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตออกนอก เราก็หากรรมฐานมาสักอย่างหนึ่งนะ เบื้องต้นเราต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่สักอย่างหนึ่งก่อน คนไหนเคยพุทโธแล้วสบายใจนะ ก็พุทโธต่อไป แต่ไม่ใช่พุทโธเพื่อให้จิตสงบ เปลี่ยนนิดเดียวจากพุทโธเพื่อให้จิตสงบนะ มาเป็นพุทโธแล้วรู้ทันจิต พุทโธๆจิดหนีไปคิดรู้ทัน พุทโธๆจิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน พุทโธๆแล้วจิตไปเพ่งนิ่งอยู่เฉยๆก็รู้ทัน พุทโธแล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป เคลื่อนไปหลงไปคิด เคลื่อนไปเพ่ง ถ้าเรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไปนะ จิตจะไม่เคลื่อน จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้ คนไหนเคยรู้ลมหายใจแล้วมีความสุขนะ เราก็สงบอยู่กับลมหายใจ เราก็รู้ลมหายใจต่อไป แต่ไม่ใช่รู้เพื่อให้จิตไปอยู่กับลมหายใจ ถ้ารู้แล้วให้จิตไปอยู่กับลมหายใจเราได้สมถะกรรมฐาน ได้ความสงบเฉยๆ เรามาปรับนิดหน่อย เราหายใจไปจิตหนีไปคิดเรารู้ทัน จิตไปเพ่งใส่ลมหายใจเรารู้ทัน จิตหนีไปคิดเราก็รู้ หายใจไปจิตหนีไปเรารู้ จิตหนีไปคิดเรารู้ หรือหายใจไปจิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจเรารู้ นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ จิตเคลื่อนไปแล้วเรารู้ทัน เคลื่อนไปคิดเราก็รู้ทัน เคลื่อนไปเพ่งลมหายใจเราก็รู้ทัน ถ้าเรารู้ทันอย่างนี้ได้ว่าจิตมันเคลื่อนไปนะ จิตจะไม่เคลื่อน จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ใครถนัดดูท้องพองยุบ เคยดูท้องพองยุบ แล้วจิตไปสงบอยู่กับท้องก็เปลี่ยนนิดเดียว ดูท้องพองยุบไป จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่ท้องก็รู้ทัน คนไหนถนัดเดินจงกรมนะ ก็เดินจงกรมไป จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตไหลไปอยู่กับเท้าก็รู้ทัน คือรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป การที่เราคอยรู้ทันจิตที่เคลื่อนไปนั้นแหละ จะทำให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่ใช่สงบเฉยๆ สงบเฉยๆเนี่ยมันจะไหลไปรวมอยู่กับอารมณ์อันเดียว อันนี้มันจะสงบด้วยมันจะตั้งมั่นด้วย จิตมันจะถอนตัวออกจากโลกของความคิด มาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตรงนี้พวกเราต้องฝึกให้ได้นะ ถ้าพวกเราไม่สามารถจะฝึกจิตให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้ เรายังทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้จริงหรอก ถึงจะไปนั่งคิดพิจารณากายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะอะไรอย่างนี้ มันยังไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐานหรอก วิปัสสนากรรมฐานนะเราต้องมีสติรู้กายรู้ใจ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง เราจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์ เราจะเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจได้ต่อเมื่อเรามีจิตที่ตั้งมั่น มีจิตที่เป็นกลาง ถ้าจิตเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิด เราจะไม่สามารถรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ มันจะเพ่งกายเพ่งใจเฉยๆ แต่จะไม่เห็นความจริงของกายของใจ คือไม่เห็นไตรลักษณ์หรอก งั้นเราต้องมาฝึกนะให้ใจตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ก่อน ตัวนี้เป็นจุดที่แตกหักเลย ว่าชาตินี้เราจะได้มรรคผลนิพพานหรือไม่ได้ ถ้าจิตใจเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ชาตินี้เรายังไม่ได้มรรคผลนิพพานแน่นอน แต่ถ้าจิตใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว จิตหนีไปเรารู้ทัน จิตหนีไปเรารู้ทัน จิตเราอยู่กับตัวเราเองทั้งวันทั้งคืน โอกาสที่เราจะเห็นความจริงของกายของใจ ก็เป็นไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น