วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องวิปัสสนาภาวนา (ต่อ) อาจารย์ แนบ มหานีรานนท์ a8a8a8a8a8a8a8a8a8a วิปัสสนาญาณที่ ๗ อาทีนวญาณ แม้ว่าภยญาณจะเห็นภัยของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว เมื่อ ภยญาณดับไปแล้ว ความยินดีพอใจในการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนก็ยังไม่หมดสิ้น ผู้เจริญสติปัฏฐานจึงรู้ว่าจะต้องเห็นโทษของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับเพิ่มขึ้น โดยประการต่างๆ อีกจนกว่าจะคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนลงไปอีก เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ปัญญาก็เห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น จนปัจจัยสมบูรณ์พร้อมที่จะปรุงแต่งให้อาทีนวญาณเกิดขึ้นขณะใด อาทีนวญาณก็เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งโทษของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับในขณะนั้น วิปัสสนาญาณที่ ๘ นิพพิทาญาณ เมื่อประจักษ์แจ้งในโทษของสังขารธรรมทั้งหลาย ดุจเรือนที่ถูกไฟติดทั่วทั้งหลังแล้ว ย่อมคลายความยินดีในภพโดยความรู้ชัดความหน่ายลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ จึงเป็นนิพพิทาญาณ วิปัสสนาญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณ เมื่อปัญญารู้ชัดความหน่ายนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเกิดปัญญาที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับปรากฏในขณะนั้น ปัญญาที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมเป็นมุญจิตุกัมยตาญาณ วิปัสสนาญาณที่ ๑๐ ปฏิสังขาญาณ เมื่อเกิดปัญญาที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายยิ่งขึ้นแล้ว ปัญญาก็พิจารณาไตรลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายตามสภาวะที่เป็นอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะต่อไปอีก แล้วจึงประจักษ์อนิจจลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับๆ นั้น โดยเป็นสภาพที่ไม่แน่นอนเป็นที่สุด เป็นชั่วขณะ ง่อนแง่น แปรผัน ไม่ยั่งยืน ไม่มีสาระ ประจักษ์แจ้งในทุกขลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับๆ นั้น โดยสภาพที่บีบคั้นเนืองๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ไม่มีทางแก้ไข เป็นทุกขภัย คือ เป็นสภาพที่ไม่น่าพอใจติดข้อง ประจักษ์แจ้งในอนัตตลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับๆ นั้น โดยสภาพที่สูญไป สิ้นไป ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาได้ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งไตรลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายนั้นเป็นปฏิสังขาญาณ วิปัสสนาญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ เมื่อปัญญาประจักษ์แจ้งไตรลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายเพิ่มยิ่งขึ้นแล้ว ทำให้สังขารธรรมทั้งหลายที่เคยปรากฏโดยเป็นสภาพที่เที่ยง เป็นสุข และเป็นตัวตน อ่อนกำลังลงจนเกิดความวางเฉยในสังขารธรรมทั้งหลาย เพราะรู้ชัดว่าตราบใดที่ยังไม่ถึงกาลที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของพระนิพพานโดยมีพระนิพพานปรากฏเป็นอารมณ์ ตราบนั้นก็พิจารณาไตรลักษณะ ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเป็นอารมณ์ไปเรื่อยๆ ปัญญาที่รู้ชัดในความวางเฉยในสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับปรากฏนั้น เป็นสังขารุเปกขาญาณ สังขารุเปกขาญาณนี้เป็นวิปัสสนาอันบรรลุถึงยอด เป็นวุฏฐานคามินีปัญญา คือปัญญาอันเป็นเหตุพาพ้นออกไปจากภาวะแห่งปุถุชนเมื่อมัคควิถีเกิดขึ้น วิปัสสนาญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ อนุโลมญาณเป็นวิปัสสนาญาณในมัคควิถี ซึ่งอนุโลมต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อนุโลมญาณเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๓ ขณะในมัคควิถี คือ บริกัมม์ ๑ ขณะ อุปจาร ๑ ขณะ อนุโลม ๑ ขณะ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๓ ขณะนี้มีไตรลักษณ์ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเป็นอารมณ์ คือ มีอนิจจลักษณะของสังขารธรรมเป็นอารมณ์ หรือมีทุกขลักษณะของสังขารเป็นอารมณ์ หรือมี อนัตตลักษณะของสังขารธรรมเป็นอารมณ์ ซึ่งอนุโลมต่อการที่จะปล่อยอารมณ์ที่เป็นสังขารธรรม๑ สำหรับบุคคลที่เป็นติกขบุคคล คือมีปัญญากล้าบรรลุอริยสัจธรรมได้เร็ว อนุโลมญาณก็มี ๒ ขณะ คือ เว้นขณะบริกัมม์ ๑ ขณะ และเพิ่มผลจิตเป็น ๓ ขณะ วิปัสสนาญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ เมื่ออนุโลมญาณ ๓ ขณะ (สำหรับผู้เป็นมัณทบุคคลคือผู้บรรลุอริยสัจจธรรมช้ากว่าติกขบุคคล) หรือ ๒ ขณะ (สำหรับผู้เป็นติกขบุคคล) ดับไปแล้ว โคตรภูญาณ คือ มหากุศลญาณสัมป ยุตตจิต ก็เกิดต่อโดยน้อมไปมีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นอาเสวนปัจจัยให้โสตาปัตติมัคคจิตเกิดต่อมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยเป็นโลกุตตรกุศลจิตที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ธรรมดาของชวนวิถีในวาระเดียวกัน ๗ ขณะนั้นต้องมีอารมณ์เดียวกัน แต่ในมัคควิถีนั้นชวนวิถี ๗ ขณะ มีอารมณ์ต่างกัน คือ บริกัมม์ ๑ ขณะ อุปจาระ ๑ ขณะ อนุโลม ๑ ขณะ มีไตรลักษณ์ลักษณะหนึ่งลักษณะใดใน ๓ ลักษณะเป็นอารมณ์ แต่โคตรภูจิต ๑ ขณะ มัคคจิต ๑ ขณะ ๑ สัจจสังเขป ข้อ ๓๕๗ และผลจิต ๒ ขณะ มีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อโคตรภูจิตเป็นมหากุศลจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ขณะแรก จึงเป็นดุจอาวัชชนะของโสตาปัตติมัคคจิตซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ต่อจากโคตรภูจิต โสตาปัตติมัคคจิตจึงทำกิจดับกิเลสได้ ข้อความในอัฏฐาสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาโลกุตตรกุศล และวิสุทธิมัคค์ ญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส อุปมาอนุโลมญาณและโคตรภูญาณ ดุจบุรุษผู้แหงนดูดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ขณะนั้นดวงจันทร์ไม่ปรากฏเพราะเมฆหมอกกำบังไว้ ทันใดนั้นมีลมกองหนึ่งพัดเมฆก้อนทึบนั้นให้กระจายไปแล้วลมอีกกองหนึ่งก็พัดเมฆที่กระจายแล้วนั้นให้ออกไปอีก แล้วลมอีกกองหนึ่งก็พัดเมฆแม้ละเอียดที่ปิดบังดวงจันทร์นั้นให้ออกไป บุรุษนั้นจึงเห็นดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆปิดบัง นิพพานเปรียบดุจดวงจันทร์ อนุโลมญาณ ๓ ขณะเปรียบดุจลม ๓ กอง โคตรภูญาณเปรียบดุจบุรุษผู้เห็นดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆปิดบัง อนุโลมญาณ ๓ ขณะเหมือนลม ๓ กองซึ่งอาจกำจัดเมฆที่ปิดบังดวงจันทร์ได้ แต่ไม่อาจเห็นดวงจันทร์ ฉันใดอนุโลมญาณก็บรรเทาความมืดอันปกปิดสัจจะได้ แต่ไม่อาจเห็นนิพพานได้ ฉันนั้น และบุรุษนั้นอาจเห็นดวงจันทร์ได้อย่างเดียวแต่ไม่สามารถกำจัดเมฆได้ ฉันใด โคตรภูญาณก็ฉันนั้น คือ อาจเห็นนิพพานได้ แต่ไม่อาจทำลายความมืด คือ กิเลสได้ วิปัสสนาญาณที่ ๑๔ มัคคญาณ เมื่อโคตรภูจิตดับไปแล้ว โสตาปัตติมัคคจิตที่เกิดต่อก็ข้ามพ้นสภาพความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยบุคคล โสตาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ตามขั้นของโลกุตตรปัญญา วิปัสสนาญาณที่ ๑๕ ผลญาณ เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตซึ่งเป็นโลกกุตตรกุศลจิตดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อโดยไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นเลย โลกุตตรกุศลจิตเป็นอกาลิโกเป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้โลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นเลย โลกุตตรวิบากจิตจึงเป็นวิบากจิตที่ต่างกับวิบากอื่นๆ คือ ทำชวนกิจสืบต่อจากโลกุตตรกุศลจิต ๒ หรือ ๓ ขณะ ในมัคควิถี และโลกุตตรวิบากคือผลจิตซึ่งเกิดภายหลังมัคควิถีนั้นก็ทำชวนกิจ ไม่ทำกิจของวิบากจิตอื่นๆ เลย วิปัสสนาญาณที่ ๑๖ ปัจจเวกขณญาณ เมื่อมัคควิถีจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อ และหลังจากนั้นมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้น พิจารณาสภาพธรรมที่เพิ่งประจักษ์แจ้ง ที่ละวาระ คือ พิจารณามัคคจิต วาระ ๑ พิจารณาผลจิต วาระ ๑ พิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว วาระ ๑ พิจารณากิเลสที่ยังเหลือ วาระ ๑ พิจารณานิพพาน วาระ ๑ สำหรับผู้ที่บรรลุอรหัตตมัคค์และอรหัตตผลนั้น ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลือ เพราะอรหัตตมัคคจิตดับกิเลสทุกประเภทหมดเป็นสมุจเฉท ไม่มีกิเลสใดๆ เหลือเลย วิปัสสนาญาณ ๑๖ นั้น ในบางแห่งแสดงวิปัสสนาญาณ ๙ ซึ่งเป็นพลววิปัสสนาญาณ คือ ๑. อุทยัพพพยญาณ ๒. ภังคญาณ ๓. ภยญาณ ๔. อาทีนวญาณ ๕. นิพพิทาญาณ ๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ๗. ปฏิสังขาญาณ ๘. สังขารุเปกขาญาณ ๙. อนุโลมญาณ ในบางแห่งแสดง วิปัสสนาญาณ ๑๐ คือ เริ่มตั้งแต่สัมมสนญาณถึงอนุโลมญาณ การที่แสดงวิปัสสนาญาณตั้งแต่ญาณแรกถึงอนุโลมญาณนั้น ก็เพราะวิปัสสนาญาณเหล่านั้นค่อยๆ คมกล้าขึ้นจนอนุโลมต่อการมีนิพพานเป็นอารมณ์ ในบางแห่งแสดง วิปัสสนาญาณ๑๐ คือ เริ่มตั้งแต่สัมมสนญาณถึงอนุโลมญาณ การที่แสดงวิปัสสนาญาณตั้งแต่ญาณแรกถึงอนุโลมญาณนั้น ก็เพราะวิปัสสนาญาณเหล่านั้นค่อยๆ คมกล้าขึ้นจนอนุโลมต่อการมีนิพพานเป็นอารมณ์ การอบรมเจริญสติปัฏฐานทำให้ปัญญาคมกล้าและบริสุทธิ์ขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้นนั้น เป็นวิสุทธิ ๗ ดังนี้ ๑. ศีลวิสุทธิ ได้แก่ ศีลเมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นวิสุทธิจากการไม่รู้สภาพปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิดไม่ใช่ศีลวิสุทธิ เพราะยึดถือศีลว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ๒. จิตตวิสุทธิ ได้แก่ สมาธิขั้นต่างๆ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และขณะใดที่ฌานจิตเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ฌานจิตขณะนั้นก็เป็นจิตตวิสุทธิเพราะขณะนั้นไม่ยึดถือฌานจิตนั้นว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจึงวิสุทธิจากการไม่เคยประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนมาก่อนเลย ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ เมื่อทิฏฐิวิสุทธิเกิดขึ้นแล้วปัญญาที่เจริญขึ้นจากการเจริญสติปัฏฐานก็เป็นยถาภูตญาณทัสสนะคือเห็นลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนสมบูรณ์ถึงขั้นเป็นปัจจยปริคคหญาณ ข้ามพ้นความสงสัยในการเกิดขึ้นของนามธรรมทั้งหลายว่าเป็นไปตามปัจจัยทั้งสิ้น ปัจจยปริคคหญาณจึงเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อกังขาวิตรณวิสุทธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นจากสติปัฏฐานที่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วขึ้นจนชิน รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเสมอกันหมดทุกประเภท ทำให้ละคลายการใฝ่ใจแสวงหายึดมั่นในนามหนึ่งนามใดรูปหนึ่งรูปใดโดยเฉพาะ และน้อมพิจารณาการเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏจนประจักษ์การเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรม เป็นสัมมสนญาณและอุทยัพพยญาณตามลำดับ เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว กิเลสที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทก็ทำให้เกิดความยินดีพอใจใน วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ๑. โอภาส แสงสว่าง ๒. ญาณ ความรู้ ๓. ปีติ ความอิ่มใจ ๔. ปัสสัทธิ ความสงบ ๕. สุข ความสบายแช่มชื่นใจ ๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ๗. ปัคคาหะ ความเพียร ๘. อุปัฏฐานะ ความมั่นคง ๙. อุเบกขา ความวางเฉย ๑๐. นิกันติ ความใคร่ ๑. เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว โอภาสย่อมเกิดจากจิตที่สงบถึงขั้นที่เป็นปัจจัยให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้ ขณะที่เกิดความยินดีในโอภาสนั้นเป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้น ๒. ขณะที่เกิดความยินดีในความคมกล้าของปัญญาที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้น ก็เป็น วิปัสสนูปกิเลสเพราะไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้นต่อไป ๓. ขณะที่ยินดีในปิติ ความอิ่มเอิบที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ก็เป็น วิปัสสนูปกิเลส ๔. ขณะที่ยินดีในความสงบ ซึ่งปราศจากความกระวนกระวายความแข็งกระด้างความคดงอไม่ควรแก่การงาน เป็นต้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ๕. ขณะที่ยินดีในความสุข ซึ่งเป็นโสมนัสเวทนาอย่างยิ่งนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ๖. ขณะที่ยินดีในความน้อมใจเชื่อที่มั่นคงยิ่งขึ้นนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ๗. ขณะที่ยินดีในความเพียรที่ไม่ตึงนักไม่หย่อนนักที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ๘. ขณะที่ยินดีในความมั่นคงของสติปัฏฐาน ๔ ที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็น วิปัสสนูปกิเลส ๙. ขณะที่ยินดีในความวางเฉย คือเป็นกลางเสมอกันในสังขารธรรมทั้งปวงที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ เมื่อประจักษ์การเกิดดับของอารมณ์ที่ปรากฏอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ๑๐. ขณะที่ยินดีที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมด้วยวิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็น วิปัสสนูปกิเลส เมื่อปัญญาพิจารณารู้ว่าวิปัสสนูปกิเลสเป็นสิ่งที่ควรละ ขณะที่ปัญญาคมกล้ารู้ชัดความละเอียดของวิปัสสนูปกิเลสซึ่งไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่การละคลายความติดข้องในสภาพธรรมทั้งหลายที่ละเอียดขึ้น ขณะนั้นเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ อุททยัพพยญาณที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นจากการเจริญสติปัฏฐานต่อนั้นก็เป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลส จนถึงอนุโลมญาณ ๓ ขณะในมัคควิถี คือ บริกัมม์ อุปจาร อนุโลม ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่ออนุโลมญาณ ๓ ขณะดับแล้วโคตรภูญาณก็เกิด โคตรภูญาณไม่ใช่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและไม่ใช่ญาณทัสสวิสุทธิ เพราะโคตรภูญาณมีฐานะเป็นดุจอาวัชชนะของโลกุตตรจิตระหว่างปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและญาณทัสสนวิสุทธิ แต่ถึงการนับว่าเป็นวิปัสสนาญาณเพราะเป็นกระแสของวิปัสสนา เมื่อโคตรภูญาณดับแล้วมัคคจิตต์เกิดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ รวมเป็นวิสุทธิ ๗ ===================== ปริญญา ๓ ===================== การเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ทำให้เกิดปริญญาคือปัญญารอบรู้ ๓ ขั้น คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา ญาตปริญญา คือ ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏโดยสภาพไม่ใช่ตัวตน ด้วยนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น ไปเป็นพื้นฐานให้น้อมพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น รอบรู้ขึ้นตามลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ได้ประจักษ์แล้วในนามรูปปริจเฉทญาณ ตีรณปริญญา คือ ปัญญาที่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยเสมอกัน โดยรอบรู้ ไม่เจาะจงฝักใฝ่มุ่งหวังนามธรรมและรูปธรรมใดโดยเฉพาะ เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนทั่วทั้ง ๖ ทวาร ความสมบูรณ์ของปัญญาที่รู้ชัดในความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรมทำให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมตั้งแต่สัมมสนญาณ เป็นต้นไป ปหานปริญญา คือ เมื่อพิจารณาความดับไปของนามธรรมและรูปธรรม จนประจักษ์แจ้งการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมด้วยภังคญาณแล้ว ปัญญารอบรู้เพิ่มขึ้น ก็เริ่มคลายความยินดีในนามธรรมและรูปธรรม เพราะเห็นโทษของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นเป็นปหานปริญญา เป็นต้นไป จนถึงมัคคญาณ ในวันหนึ่งๆ ปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงนั้น น้อยกว่าปัจจัยที่จะให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นมากเหลือเกิน ฉะนั้น การเจริญขึ้นของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมัคค์มีองค์ ๘ รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ นั้น จึงต้องสะสมอบรมนานมาก เพราะไม่ใช่เป็นการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมารู้ แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาที่มีเหตุปัจจจัยเกิดขึ้น ปรากฏแล้วดับไปรวดเร็วเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะนี้เอง ถ้าขณะนี้ไม่รู้ว่าสติปัฏฐานเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร ก็จะต้องอบรมปัญญาขั้นต้นด้วยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เพื่อให้พุทธบริษัทเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงตามที่ทรงตรัสรู้ และจะต้องพิจารณาหนทางปฏิบัติ คือการอบรมเจริญปัญญาให้ถูกต้องว่า เหตุต้องสมควรแก่ผล เมื่อผลคือปัญญาที่ประจักษ์แจ้งไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นทุกข์ เพราะไม่ใช่สภาพที่น่ายินดีและเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ย่อมรู้ว่าไม่มีทางอื่นเลย นอกจากหนทางเดียวคือ สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ ศึกษา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าสังขารขันธ์ทั้งหลายจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ปัญญาที่อบรมสมบูรณ์แล้วเกิดขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นๆ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอบรมพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ หลังจากที่ทรงได้รับพระพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงอบรมเจริญบารมีมาโดยตลอด และได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ ก่อนที่จะทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล แล้วบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยลำดับ ในปัจฉิมยาม ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระอัครสาวทั้ง ๒ คือ ท่านพระสารีบุตร ผู้เลิศทางปัญญา และท่านพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เลิศทางอิทธิฤทธิ์นั้น อบรมเจริญปัญญามาแล้ว ๑ อสงไขยแสนกัปป์ ในชาติสุดท้ายท่านพระสารีบุตรบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล เมื่อได้ฟังท่านพระอัสสชิแสดงธรรมแก่ท่าน และท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้ฟังท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมที่ท่านพระอัสสซิได้แสดงแล้วนั้น พระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศในทางต่างๆ เช่น ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอานนท์ ท่านพระอุบาลี ท่านพระอนุรุทธะ เป็นต้น ก็ได้อบรมเจริญปัญญาแล้วแสนกัปป์ พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัทก็ได้อบรมเจริญปัญญามาแล้วจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมากในกาลสมบัติ คือสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน และหลังจากทรงดับขันธปรินิพพานแล้วไม่นานสืบต่อมาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมย่อมลดน้อยลงไปตามการศึกษา การเข้าใจพระธรรม และการปฏิบัติธรรมโดยถูกต้อง และโดยเหตุคือการอบรมสะสมเจริญปัญญาที่สมควรแก่ผล ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคนั้น มีผู้อบรมเจริญสมถภาวนาจนสามารถบรรลุคุณวิเศษ กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณและทรงแสดงพระธรรมแล้ว ก็มีผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นจำนวนมาก และบางท่านที่เจริญสมถภาวนาบรรลุฌานจิตมาแล้ว เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย ฉะนั้น พระอริยสาวกจึงมี ๒ ประเภท คือ พระอริยสาวกผู้เป็นสุกขวิปัสสกะและ พระอริยสาวกผู้เป็นเจโตวิมุตติ พระอริยบุคคลผู้เป็นสุกขวิปัสสกะ นั้นบรรลุมัคคจิตโดยไม่มีฌานจิตเป็นบาท คือไม่ได้บรรลุฌานจิต ฌานจิตจึงไม่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ให้พิจารณา และถึงแม้ว่าโลกุตตรจิตประจักษ์แจ้งนิพพานอย่างชัดเจนแนบแน่นเช่นเดียวกับอัปปนาสมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ของฌานจิตขั้นต่างๆ แต่เมื่อพระอริยสุกขวิปัสสกะไม่ได้บรรลุฌาน ก็ไม่สามารถเข้าถึงฌานสมาบัติได้ การนับประเภทจิตโดยนัย ๘๙ ดวง จึงนับโดยนัยของพระอริยบุคคลผู้เป็นสุกขวิปัสสกะ ส่วนพระอริยบุคคลผู้เป็นเจโตวิมุตตินั้น บรรลุมัคคจิตผลจิตโดยมีฌานเป็นบาท ฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้บรรลุฌานพร้อมด้วยวสี ฌานจิตจึงเกิดขึ้นเป็นอารมณ์ให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตพิจารณา จนบรรลุโลกุตตรมัคคจิต ผลจิตได้ด้วยการพิจารณาฌานจิตนั้นเอง พระอริยบุคคลผู้บรรลุมัคค์ผลนิพพานพร้อมด้วยองค์ของฌานขั้นต่างๆ จึงเป็นเจโตวิมุตติเพราะพ้นจากกิเลสด้วยปัญญาและความสงบของฌานขั้นต่าง ๆ การนับประเภทจิตโดยนัย ๑๒๑ ดวงจึงนับโดยนัยของพระอริยบุคคลผู้เป็นเจโตวิมุตติ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น