วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559
ใต้ร่มโพธิญาณต้นพระศรีมหาโพธิ์มหาเจดีย์พุทธคยา..เทวดาผู้มีหน้าที่ป่าวประกาศเหล่านี้ มีกำหนดเวลาร้อยปี ลงมาบอกยังโลกมนุษย์หนึ่งครั้ง เมื่อเหล่ามนุษย์และเทพยดาได้ยินข้าวก็บังเกิดความสังเวชสลดใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน รีบบำเพ็ญบุญกุศลประการต่าง ๆ โดยเฉพาะบำเพ็ญภาวนาเจริญพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้ได้ฌานสมาบัติ แล้วพากันไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่สูงกว่าที่จะถูกทำลาย แม้แต่สัตว์ในอบายภูมิทั้งปวง เมื่อมีอกุศลเบาบางลง ก็ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ทราบข่าวเรื่องโลกพินาศ ก็รีบบำเพ็ญบุญกุศลดังกล่าวแล้ว พากันไปเกิดในพรหมโลกทำนองเดียวกัน ( ยกเว้นพวกที่มีความเห็นผิดแน่นแฟ้นแก้ไขตนเองไม่ได้ จะต้องอยู่ในอบายภูมิ พวกนี้จะตายแล้วไปเกิดในอบายภูมิของจักรวาลอื่นที่ยังไม่พินาศ) แต่ตามความเป็นจริงแล้ว คนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นผิด มักจะเป็นเฉพาะเวลามีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่ เมื่อตายไปอยู่ในนรก ถูกลงโทษทุกข์ทรมาน ย่อมทราบแจ่มแจ้งถึงความเห็นผิดของตน รู้สำนึก ละทิฏฐิเลวทรามเหล่านั้นได้ เมื่อพ้นโทษได้เกิดเป็นมนุษย์ ทราบข่าวเรื่องโลกพินาศ ก็รีบเร่งบำเพ็ญฌาน เพื่อไปเกิดในพรหมโลก เมื่อโลกเริ่มพินาศ จะไม่มีฝนตกเลยเป็นเวลาช้านาน ต้นไม้น้อยใหญ่พากันเหี่ยวแห้งล้มตาย ล่วงเวลาต่อมา เมื่อดวงอาทิตย์โคจรลับฟ้าไปแล้ว ควรจะเป็นเวลากลางคืน แต่กลับไม่มี เพราะจะบังเกิดดวงอาทิตย์ใหม่ขึ้นมาอีกดวงหนึ่ง ในจักรวาลเวลานั้นจึงไม่มีกลางคืนอีกต่อไป และดวงอาทิตย์ดวงใหม่นี้ ไม่มีสุริยเทพบุตรอยู่ประจำเหมือนดวงอาทิตย์ดวงเดิม จึงมีความร้อนรุนแรงกว่า ( ในหลักวิทยาศาสตร์ ดวงอาทิตย์ดวงใหม่อาจเป็นดาวดวงอื่นที่ยังมีความร้อนลุกเป็นไฟอยู่ โคจรเข้ามาในจักรวาลที่กำลังเริ่มพินาศ) ส่วนเหล่าสุริยเทพบุตรในดวงอาทิตย์ดวงเดิม ก็เร่งรีบทำความเพียร เจริญภาวนาให้ได้ฌาน หนีไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงกันทั้งหมด เมื่อมีดวงอาทิตย์เป็นสองดวงดังนี้แล้ว ความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ท้องฟ้าจึงไม่มีเมฆหมอกใด ๆ เหลืออยู่เลย ในชมพูทวีปยังเหลือแม่น้ำใหญ่ที่พอมีน้ำอยู่ ๕ สาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี มหิ และสรภู นอกนั้นเหือดแห้งหมด คนทั้งหลายไม่มีชีวิตเหลืออยู่อีก ต่างไปบังเกิดในพรหมโลกกันหมด ล่วงเวลาต่อมาอีกช้านาน ดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓ จึงบังเกิดขึ้น แม่น้ำทั้ง ๕ แห้งหมด เมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ ๔ บังเกิด สระใหญ่บริเวณป่าหิมพานต์ ( แถบภูเขาหิมาลัยซึ่งมีน้ำละลายจากหิมะขังอยู่แห้งทั้งหมด น้ำในมหาสมุทรของจักรวาลเริ่มแห้งงวดลงเป็นลำดับ พอดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ บังเกิด น้ำในมหาสมุทรแห้งหมด ไม่เหลือแม้องคุลี พอดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ บังเกิด แผ่นดินภูเขาทั้งหลายก็สิ้นธาตุน้ำ อันเป็นยางเหนียวเกาะกุมก็หลุดกระจาย กลายเป็นฝุ่นเป็นควันคลุ้งตลบ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเปรียบไว้ว่า เหมือนช่างปั้นหม้อเรียงภาชนะดินดิบใส่เข้าเตาเผา พอจุดไฟเผาก็เกิดควันฟุ้งตลบไปทั่วเตา ถ้าจักรวาลจะพินาศพร้อมกันทั้งแสนโกฏิจักรวาล ฝุ่นควันก็จะฟุ้งไปทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล เป็นอยู่ดังนี้ยาวนานนับเวลาไม่ได้ ครั้นแล้วเมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ ๗ บังเกิด โลกธาตุทั้งแสนโกฏิจักรวาลก็รุ่งโจรน์โชตินาการลุกเป็นไฟขึ้นพร้อมกัน มีเสียงดังสนั่นด้วยการระเบิดกึกก้องกัมปนาทน่าสะพรึงกลัว ยอดเขาพระสุเมรุก็ถอดถอนหลุดลุ่ยกระจักกระจายสูญหายไปในอากาศ เปลวไฟประลัยกัลป์เกิดที่มนุษยโลกก่อน แล้วลุกลามไปยังเทวโลกชั้น จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี หมดทั้ง ๖ ชั้น แล้วต่อขึ้นไปยังพรหมโลกชั้นต้น ปฐมฌานภูมิ ๓ คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา แล้วหยุดอยู่เพียงนั้น ถ้าครั้งใดจักรวาลถูกทำลายด้วยน้ำ จะพินาศไปถึงพรหมโลกทุติยฌานภูมิ ถ้าถูกทำลายด้วยลม ก็พินาศเพิ่มไปจนถึงพรหมโลกตติยฌานภูมิ พรหมภูมิที่เหนือจากตติยฌานภูมิ ไม่มีสิ่งใดทำลายได้ ไม่ว่าอยู่ในจักรวาลใด เว้นแต่ต้องจุติตามอายุขัย คือ ๕๐๐, ๑, ๐๐๐, ๒, ๐๐๐ ไปจนถึง ๘๔, ๐๐๐ มหากัป ( เป็นอายุของพรหมตั้งแต่ชั้นเวหัปผลา จนถึงอรูปพรหมชั้นสุดท้าย คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ) ไฟประลัยกัลป์ที่กล่าวถึงนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาช้านาน ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลยแม้เพียงอณูเดียว เมื่อหมดสิ้นเชื้อเพลิงแล้ว ไฟก็ดับเอง เหลือแต่อากาศว่างเปล่าโล่งตลอดถึงกันหมด มีสภาพดังนี้ไปนานแสนนาน ถ้าจักรวาลถูกทำลายด้วยน้ำ ไม่มีดวงอาทิตย์ดวงอื่น ๆ เกิดขึ้น แต่มีฝนตกแทนฝนมาจากเมฆน้ำกรด ( เมฆคงรวมสารเคมีอันตรายไว้) ตกทีละน้อยแล้วมากขึ้น ๆ จนเต็มไปทั้งจักรวาล และแสนโกฏิจักรวาล น้ำกรดจะละลายทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเหลือ โดยมีลมพัดห่อหุ้มไม่ให้ไหลไปทางอื่น ให้ไหลสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนท่วมถึงพรหมโลกทุติยฌานภูมิขึ้นไปจรดชั้นสุภกิณหาจึงหยุด เมื่อทำลายทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเหลือแม้แต่อณูเดียวแล้ว น้ำกรดนั้นจึงยุบแห้งอันตรธานไป อากาศเบื้องบนกับเบื้องล่างก็ต่อเนื่องเป็นอันเดียวกันโล่งตลอด.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น