วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

จิตที่ดิ้นรนแสวงหานำความทุกข์มาให้มากมาย1. ทางเอก มนุษย์ปรารถนาอิสรภาพ แต่มนุษย์ตกเป็นทาสของตัณหา ซึ่งเป็น เจ้านายที่มองไม่เห็นตัว เมื่อไม่รู้ว่าตนเป็นทาส มนุษย์จึงไม่คิดที่จะปลดปล่อย ตนเองให้เป็นอิสระ มีแต่จะทำตามคำสั่งของเจ้านายเท่านั้น และเจ้านายนั้นก็ดูจะรักและหวังดีต่อเรามาก เพราะจะสั่งให้เราแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ตลอดวันตลอดคืน ซึ่งมีผลให้เราต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เนื่องจากความสุขเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไขว่คว้าเอาไว้ไม่ได้ ในขณะที่ความทุกข์เป็นสิ่งที่แนบประจำอยู่กับขันธ์นั่นเอง การจะให้ขันธ์มีความสุขหรือพ้นจากความทุกข์อย่างถาวรจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย การดิ้นรนแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีอยู่ 3 วิธีคือ 1. การแสวงหาอารมณ์ที่เป็นสุขและหลีกหนีอารมณ์ที่เป็นทุกข์ เพราะคิดว่าอารมณ์เป็นเครื่องกำหนดให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถเลือกอารมณ์ได้ตามใจชอบ เพราะอารมณ์ที่มา กระทบย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือหากกุศลวิบากให้ผลก็ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดี หากอกุศลวิบากให้ผลก็ต้องประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดี นอกจากนี้ อารมณ์ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง แม้จะได้รับอารมณ์ที่ดีและเป็นสุข ไม่นานอารมณ์ ที่ดีและเป็นสุขนั้นก็ผ่านเลยไป จำเป็นต้องดิ้นรนแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ต่อไปอีก ดังนั้น วิธีการเลือกรับอารมณ์เพื่อให้เกิดความสุขและพ้นจากความทุกข์จึงไม่ได้ผลจริงตามที่คาดหวังไว้ 2. การรักษาจิตให้สงบสบายในทุกๆ สถานการณ์ เพราะคิดว่าถ้าจิตดีเสียแล้ว ก็สามารถเป็นสุขอยู่ได้แม้จะต้องกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม และการควบคุมจิตก็ทำได้ง่ายกว่าการควบคุมอารมณ์ เนื่องจากอารมณ์มักจะมาจากสิ่งภายนอกซึ่งควบคุมได้ยาก ในขณะที่การควบคุมจิตเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามจิตเป็นของไม่เที่ยงและเป็น อนัตตาคือบังคับไม่ได้จริง ดังนั้นแม้จะทำให้จิตสงบหรือมีความสุขก็ทำได้เพียงชั่วคราวด้วยอำนาจของการเพ่ง เมื่อจิตเสื่อมจากการเพ่ง จิตก็กลับมาวุ่นวายและเป็นทุกข์ต่อไปได้อีก 3. การหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ เป็นวิธีการรักษาจิตที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เพราะคิดว่าถ้าจิตไม่ต้องรับรู้อารมณ์หยาบๆ เสียแล้ว จิตจะมีความสงบสุขโดยอัตโนมัติ ดีกว่าจะต้องคอยรักษาจิต ที่ต้องกระทบอารมณ์หยาบๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเกิดความพยายามน้อมจิตไปสู่อรูปฌาน หรือแม้กระทั่งการดับความรับรู้ด้วยการเข้าจตุตถฌาน (ตามนัยของพระสูตร) หรือปัญจมฌาน (ตามนัยของพระอภิธรรม) แล้วน้อมจิตไปสู่อสัญญสัตตาภูมิหรือพรหมลูกฟัก อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดกำลังเพ่ง จิตก็ถอนออกมารู้อารมณ์ตามปกติต่อไปอีก คนและสัตว์ทั้งหลายพยายามดิ้นรนหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่มีผู้ใดสามารถหนีพ้นจากความทุกข์ได้จริง เพราะความทุกข์เป็นสิ่งที่แนบประจำอยู่กับขันธ์คือร่างกาย และจิตใจนี้เอง มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงค้นพบทางรอดอันเป็นทางเอก คือทางสายเดียวที่จะพาผู้ดำเนินตามให้พ้นจากทุกข์ได้จริง ทางเอกนี้คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นการหันมาเผชิญหน้าและเรียนรู้ ความ จริงของทุกข์ เมื่อทุกข์อยู่ที่กายก็มีสติระลึกรู้กายตามความเป็นจริง เมื่อทุกข์ อยู่ที่จิตก็มีสติตามรู้จิตตามความเป็นจริง จนในที่สุดก็สามารถเข้าถึงความจริงสูงสุดคืออริยสัจจ์ข้อแรกได้ คือการรู้ทุกข์ ได้แก่การรู้ความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ผู้ที่รู้ความจริงนี้เรียกว่าพระโสดาบัน เป็นผู้ละความเห็นผิดว่ากายกับใจคือตัวเรา เมื่อตามรู้กายและตามรู้ใจต่อไปอีก ถึงจุดหนึ่งจิตจะวางความยึดถือกายและใจลงได้อย่างสิ้นเชิง และไม่หยิบฉวยเอากายและใจขึ้นมาถือไว้ให้เป็นภาระกดถ่วงจิตใจอีกต่อไป เมื่อไม่ยึดถือกายและใจแล้ว ความดิ้นรนทะยานอยากของจิตที่จะให้กาย และใจมีความสุขและพ้นจากความทุกข์ ทั้งด้วยการแสวงหา อารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ การทำความสงบจิต และการหลีกหนีการรับรู้อารมณ์หยาบๆ ก็จะหมดสิ้นไป การรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งจึงเป็นเครื่องทำลายสมุทัยหรือตัณหาให้ดับสนิทลงโดยอัตโนมัติ เมื่อปราศจากตัณหา จิตก็ได้ประจักษ์แจ้งถึงนิโรธหรือนิพพานอันเป็นสภาวธรรมซึ่งสงบสันติ ปราศจากทุกข์และกิเลสตัณหาทั้งปวง การรู้ทุกข์จนสมุทัยถูกละไปเองและนิโรธปรากฏให้ประจักษ์โดยไม่ต้อง แสวงหานั้น คือมรรคหรือทางเอกนั่นเอง พวกเราควรเจริญมรรคให้มาก คือ หมั่นตามรู้กายตามรู้ใจอย่างถูกวิธีเนืองๆ แล้วจะพบความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสาวกด้วยตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น