วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559
สัมมาสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต จิตตั้งมั่นนะ ไม่ใช่จิตสงบ คนละอันกัน แต่ในความตั้งมั่น มีความสงบ สงบจากอะไร สงบจากนิวรณ์เท่านั้นเอง ไม่ใช่สงบจากอารมณ์ ต้องแยกให้ออกนะที่ว่าสงบๆน่ะ ไม่ใช่สงบจากอารมณ์นะ แต่สงบจากนิวรณ์อารมณ์มีร้อยอารมณ์ก็ได้ พันอารมณ์ก็ได้ หมื่นอารมณ์ก็ได้ ล้านอารมณ์ก็ได้ แต่จิตนั้นสงบจากนิวรณ์ ไม่ถูกยั่วให้ฟุ้งซ่านไป ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ นี่แหละ สงบแบบตั้งมั่นนะ ไม่ใช่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวแบบสมถะ คนละอัน จิตบางชนิดนะ สมาธิบางชนิดนะ จิตไปสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อารมณ์เป็นหนึ่งจิตเป็นหนึ่ง นี่คือสมถกรรมฐาน สมาธิอีกชนิดหนึ่งนะ จิตเป็นหนึ่งอารมณ์ล้านอารมณ์ก็ได้ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอด จิตเป็นหนึ่งคือเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูไม่ฟุ้งซ่านตามอารมณ์ไป แต่ไม่ได้เพ่งตัวจิตไว้นะ ถ้าเพ่งตัวจิตเมื่อไหร่ ตัวจิตจะเปลี่ยนสภาพจากผู้รู้ไปเป็นอารมณ์ทันทีเลย จิตจะแปลสภาพจากจิต คือธรรมชาติที่รู้นะ กลายเป็นอารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปเพ่งใส่จิตด้วย เราจะต้องฝึกจนกระทั่งจิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไหลไป จิตไหลไปดูไหลไปฟังไหลไปคิด ไหลไปเพ่ง ยกตัวอย่างหายใจอยู่ก็ไหลไปอยู่ที่ท้องไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ หรือไหลไปคิดเรื่องอื่นเลย หรือไหลไปคิดเรื่องบริกรรมพองหนอยุบหนออะไรขึ้นมา นี่ไหลไปคิด ให้รู้ทันจิตที่ไหลไปคิด จิตรู้จะเกิด หลวงพ่อเทียนจึงสอนนะว่า เมื่อไรรู้ว่าจิตคิด เมื่อนั้นจะได้ต้นทางของการปฏิบัติ หลวงปู่ดูลย์ก็สอนอันเดียวกันบอกว่า คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ไม่ใช่เป็นวิปัสสนานะ เพิ่งจะตั้งต้นเท่านั้นเอง เพิ่งหลุด หมายถึงหลุดออกจากโลกของความคิด หลังจากนั้นต้องเจริญวิปัสสนา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น