วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

นิพพานัง ปรมัง สุขังประวัติความเป็นมาของบ้านร่องกาศ บ้านร่องกาศ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่หมู่บ้านหนึ่ง อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปทางทิศใต้ ระยะห่างจากตัวเมืองประมาณ ๔ กิโลเมตร ชาวบ้านร่องกาศ ตั้งบ้านเรือนอยู่ใน ๓ หมู่บ้านคือ หมู่ที่ ๒, หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๔ โดยหมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๓ ตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกของถนนยันตรกิจโกศล ส่วนหมู่ที่ ๔ ตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของถนน จากที่ตั้งดังกล่าวบ้านร่องกาศจึงเป็นหมู่บ้านที่เป็นศูนย์กลางของตำบลร่องกาศ ปัจจุบันจึงได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลร่องกาศ จากการศึกษาประวัติหมู่บ้านร่องกาศ ไม่พบหลักฐานเก่าแก่ที่บันทึกเรื่องราว การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านร่องกาศ แต่จากคำบอกเล่าของคนแก่คนเฒ่าในหมู่บ้านและเอกสารพงศาวดารปราบเงี้ยวของกรมศิลปากร ทำให้เชื่อได้ว่าหมู่บ้านนี้ตั้งมานานมากกว่าร้อยปีมาแล้วและบ้านร่องกาศ เป็นหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมืองแพร่ คือ เหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ชื่อบ้านร่องกาศ เป็นชื่อที่เขียนและเรียกตามสำเนียงภาษาไทยกลาง แต่ในภาษาคำเมืองซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวัน เรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า “ บ้านฮ่องกาด” ชื่อนี้ได้มาจากการรวมคำ ๒ คำ เข้าด้วยกันคือคำว่า “ ฮ่อง ” และคำว่า “ กาด ” คำว่า “ฮ่อง” ในที่นี้มีความหมายถึง ร่องน้ำที่ไหลเซาะไปตามพื้นดิน คือ ร่องน้ำ ที่แยกลำน้ำสาขาเล็กๆ จากลำห้วยแม่สายซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน จุดแยกของร่องน้ำที่ภายหลังเรียกว่า “ น้ำฮ่องกาด ” อยู่ในเขตบ้านกาศ ตำบลบ้านกาศ แล้วไหลไปบรรจบกับลำน้ำยมที่หมู่บ้านร่องกาศใต้ ตำบลร่องกาศ ส่วนคำว่า “ กาด ” เป็นคำเรียกสั้นๆ ที่มาจากคำว่า กาดมั้ว หมายถึง ตลาดซึ่งเป็นที่ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและผลิตผลในท้องถิ่น ชื่อบ้านร่องกาศ จึงอาจเป็นชื่อที่ได้มาจากการที่เป็นหมู่บ้านที่มีกาดมั้วหรือตลาด ตั้งอยู่ริมร่องน้ำที่ไหลมาจากลำห้วยแม่สายบริเวณบ้านกาศ ชาวบ้านจึงเรียกร่องน้ำนี้ว่า ร่องกาด และชื่อหมู่บ้านของตนตามชื่อร่องน้ำนี้เป็นบ้านร่องกาด ส่วนชื่อ บ้านร่องกาศ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการที่มีการพัฒนาสร้างถนนให้ทันสมัยและตั้งป้ายชื่อหมู่บ้านที่ถนนผ่านชื่อหมู่บ้านจึงถูกเรียกเป็นภาษาไทยกลางทำให้ความหมายต่างไปจากชื่อเดิมและไม่สามารถให้ความหมายได้ถ้าไม่ทราบประวัติความเป็นมาดั้งเดิมของท้องถิ่น เมื่อมีการตั้งตำบลซึ่งต้องรวมหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตอนิมิตร บ้านร่องกาศใต้ บ้านปงพร้าว บ้านดอนทัน และบ้านร่องกาศ เข้าด้วยกัน แต่เนื่องจากบ้านร่องกาศเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ตั้งอยู่ศูนย์กลางจึงถูกเลือกให้เป็นชื่อตำบลว่า “ ตำบลร่องกาศ ” จนถึงปัจจุบัน (สัมภาษณ์ นายทองดำ มหามิตร อายุ ๘๒ ปี บ้านเลขที่ ๑๓๑ หมู่ที่ ๒ และนายทองดี จิตผ่อง อายุ ๗๕ ปี บ้านเลขที่ ๒๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านตอนิมิตร บ้านตอนิมิตร ตั้งอยู่ในตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ในอดีตมี หมู่บ้านเดียวคือหมู่ที่ ๑ ปัจจุบันมี ๓ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๘ และหมู่ที่ ๙ วัดพุทธมงคล ( วัดร้าง ) เดิมชาวบ้าน เรียกว่า วัดตอหมากหลวงเนรมิตบ้าง วัดถ้ำแสนตองบ้าง ที่เรียกว่าวัดตอหมากหลวงเนรมิต นั้นเพราะมีตำนานกล่าวไว้ว่า มีต้นหมากหลวงต้นหนึ่งอยู่ใกล้ปากถ้ำหน้าวัดพระพุทธมงคลทางทิศเหนือ ปัจจุบันได้ยุบหายไปแล้วอาจเป็นต้นหมากหลวงพันธุ์เดียวกับต้นหมากหลวงที่กล่าวไว้ในตำนานวัดพระธาตุช่อแฮก็ได้ ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ในอดีตกาลครั้งหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับบนอาสนะใต้ต้นจ้องแค่ ( ต้นสะแก ) มีพระโสณเถระและพระอุตตระเถระนั่งเฝ้าอยู่ใกล้ๆ ส่วนเบื้องพระพักตร์ (หน้า) ของพระองค์ มีเจ้าเมืองผู้ครองนครแพล (จ.แพร่ในปัจจุบัน) และขุนนางผู้ใหญ่นั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ พระพุทธเจ้า จึงตรัสถามเจ้าผู้ครองเมืองแพลว่า นั่นต้นอะไรใหญ่โตนัก มีผลเป็นพวงใหญ่ เจ้าผู้ครองนครเมืองแพล กราบทูลว่า “ ต้นหมากหลวง” พระเจ้าข้า แต่ผลมันรับประทานไม่ได้ถ้ารับประทานแล้วจะทำให้เบื่อและมึนเมาถึงกับตาย ไม่มีใครกล้ารับประทาน พระองค์จึงตรัส ให้เจ้าผู้ครองนครเมืองแพล นำมาถวายเจ้าผู้ครองเมืองแพล จึงสั่งให้อำมาตย์ไปนำมาถวาย พระองค์ฉันกับพระศรี (หมากพลู) จนหมดผล ไม่มีอาการเบื่อและมึนเมาแต่ประการใด พระองค์จึงส่งหมากที่เหลือให้เจ้าผู้ครองเมืองแพลแจกจ่ายแก่ขุนนางผู้ใหญ่และประชาชนรับประทาน ทุกคนรับประทานแล้วรู้สึกว่ามีรสหวาน มีกลิ่นหอมเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อเวลาล่วงผ่านมาต้นหมากต้นนั้นก็ตายลงเหลือแต่ตอแห้งแข็ง ไม่ผุกร่อนเหมือนต้นหมากทั่วไป ในเวลาค่ำคืนมีแสงพวยพุ่งออกมาจากต้นหมากนั้นอย่างสวยงาม ชาวบ้านจึงโจษขานเล่าลือกันทั่วไปว่า เป็นตอเนรมิต จึงพากันเรียกหมู่บ้านของตนเองว่าบ้านตอนิมิตร อีกนัยหนึ่งที่เรียกว่าวัดถ้ำแสนตองนั้น ตามที่เล่าสืบกันมาว่ามีชาวบ้านพากันไปก่อสร้างวิหารครอบพระพุทธรูป พอถึงเวลารับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้วช่วยกันทำความสะอาดเก็บเศษอาหารใบตองห่อข้าวไปทิ้งลงในสระน้ำหน้าวัดริมถนนทางทิศเหนือทุกวัน ผลปรากฏว่าเศษอาหารใบตองห่อข้าวที่นำไปทิ้งนั้นจมหายไปหมด ไปโผล่ที่แม่น้ำยมตรงบ้านวังวนตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงพากันเรียกว่าวัดถ้ำแสนต๋อง กาลเวลาล่วงมาวัดนี้ก็กลายเป็นวัดร้าง ประชาชนมีจำนวนมากขึ้นก็ไม่มีวัดที่จะไปทำบุญ ชาวบ้านจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นใหม่กลางหมู่บ้าน ทางทิศตะวันตกของวัดพระพุทธมงคล ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ กว่าเมตร ในปี พ.ศ. ๑๔๔๘ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงตั้งชื่อวัด ที่สร้างใหม่ว่า วัดตอนิมิตร เพื่อให้สอดคล้องกับตอหมากหลวงเนรมิตร ที่กล่าวกันข้างต้น และตอขนุน ที่มีอยู่ในบริเวณวัด ซึ่งเป็นตอขนุนที่เก่าแก่มาแต่โบราณ ตามคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยก่อนสืบๆ กันมาว่า ตอขนุน ในสมัยนั้นไม่มีกิ่งไม่มียอดมีลักษณะเป็นตอเวลาออกดอกและผลจะออกตามโคนต้นและรากที่อยู่บนพื้นดินอย่างมากมาย ชาวบ้าน จึงพากันเรียกหมู่บ้านของตนว่า “ บ้านตอนิมิตร” (สัมภาษณ์ นายมิ่ง กาวีวน อายุ ๘๐ ปี บ้านเลขที่ ๒๖๖ หมู่ที่ ๑ และนายประสงค์ จิตผ่อง อายุ ๗๖ ปี บ้านเลขที่ ๖๓/๑ หมู่ที่ ๙ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่) ประวัติความเป็นมาของบ้านร่องกาศใต้ บ้านร่องกาศใต้ เดิมแยกมาจากบ้านเวียงลอ(บ้านเวียงทองน้ำบ่อ - ตำบลเวียงทอง ) มาตั้งบ้านบริเวณป่าละเมาะ เป็นเนินสูง เพื่อเป็นที่พักของฝูงวัว ควาย ในยามฤดูน้ำหลาก ต่อมาก็ได้ตั้งรกรากเป็นหมู่บ้าน มีบ้านเรือนประมาณ ๕๐ หลังคาเรือน ได้ตั้งชื่อว่า “บ้านร่องกาศขี้เหล็ก” ใช้ชื่อนี้เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างร่องน้ำ “ ร่องกาศ ” กับ ร่องน้ำ “ ขี้เหล็ก ” ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารแผ่นดินใหม่โดยแบ่งเป็นภาค เมืองแพร่จัดอยู่ในภาคที่ ๕ ที่ทำการภาคตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยและยุบเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางและเมืองแพร่แบ่งเขตปกครองเป็นอำเภอ, ตำบล และหมู่บ้าน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหมู่บ้านแห่งนี้จึงเปลี่ยนชื่อของหมู่บ้านจาก “ บ้านร่องกาศขี้เหล็ก ” เป็น“ บ้านร่องกาศใต้ ” มาจนถึงปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของบ้านปงพร้าว บ้านปงพร้าว คำว่า ปงพร้าวนี้มาจากคำว่า “ ปง” ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ที่มีดินทราย ร่องน้ำที่เรียกว่า ร่องพร้าว มีตำนานเล่าว่ามีพ่อค้าร่องแพต้นมะพร้าว มาตามลำน้ำยม ถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวมากของน้ำร่องสายหนึ่งที่ไหลลงสู่แย่น้ำยมพัดจนทำให้แพแตก จึงตั้งชื่อร่องน้ำนี้ว่า “ น้ำร่องพร้าว ” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านปงพร้าว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ เริ่มแรกมีชาวบ้านตอนิมิตรนำ วัว ควาย มาพักแรมตามริมฝั่งแม่น้ำยม และน้ำร่องพร้าว ในเวลาต่อมามีการสร้างบ้านเรือน เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กมานานกว่า ๓๐ ปี จนมีบ้านเรือนประมาณ ๓๐ หลังคาเรือน จึงมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ ผู้ใหญ่กัณฑ์ เสนากูล ท่านเป็นคนอพยพมาจากอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี (สัมภาษณ์ นายวิจิตร เสนากูล อายุ ๗๖ ปี หมู่ที่ ๖ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่) ประวัติความเป็นมาของบ้านแม่สาย บ้านแม่สาย เดิมชื่อว่า “บ้านฮิมสาย” ซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำแม่สายที่ไหล ผ่านหมู่บ้าน ต่อมามีการสร้างถนนยันตรกิจโกศลมาถึงลำน้ำแม่สาย จึงสร้างสะพานข้ามลำน้ำแม่สายเรียกว่า สะพานแม่สาย หมู่บ้านฮิมสายจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ บ้านแม่สาย ” ตามชื่อของสะพาน ต่อมามีประชากรเพิ่มมากขึ้นทางการปกครองจึงแยกบ้านแม่สาย ออกจากบ้านดอนทันหมู่ที่ ๗ เป็นบ้านแม่สายหมู่ที่ ๑๐ (สัมภาษณ์ นายจำรัส ไกรลาศ บ้านเลขที่ ๑๘ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่) ประวัติความเป็นมาของบ้านดอนทัน บ้านดอนทัน เดิมชื่อว่า “ บ้านดอนฮิมสาย ” ซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่สาย ที่ไหลผ่านตลอดหมู่บ้าน บ้านดอนทัน เดิมชื่อว่า “ บ้านดอนฮิมสาย ” ซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่สายที่ไหลผ่านตลอดหมู่บ้าน บ้านดอนทัน (อ่านว่า “ดอนทัน”) เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ดังปรากฏในเอกสารใบลาน ตำนานธรรม ครูบามหาเถรเจ้า ซึ่งเจ้าหลวงอินทวิชัยได้ให้หนานจันทร์ทิพย์ (อ่านว่า “จั๋นติ๊บ” ) จารไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ ความตอนหนึ่งว่า “ ออกจากเวียงโกศัย ต๋ามมัคคาไป เถิงฮ่องกาด หน้าดอนตัน” (อ่านว่า“ ออกจากเวียงโกศัย ตามมัคคาไป ถึงร่องกาศ หน้าดอนทัน”) ซึ่งปัจจุบันเอกสารใบลานผูกนี้เก็บไว้ที่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ( คำว่า ดอนตัน น่าจะหมายถึง ดอนที่มีต้นพุทรา คำว่า “ตัน”ในภาษาล้านนา หมายถึง พุทรา) ต่อมาทางราชการจึงเปลี่ยนชื่อจากบ้านดอนตันซึ่งเป็นภาษาถิ่นเหนือเป็นบ้านดอนทัน อีกหลักฐานหนึ่งจากคำเล่าขานของผู้สูงอายุในหมู่บ้านที่เล่าสืบต่อๆ กันมาถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ความว่าในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พวกเงี้ยว เข้าปล้นและทำลายเอกสารการสื่อสารของหน่วยราชการจังหวัดแพร่ ทางกรุงเทพได้นำกองทัพมาปราบพวกเงี้ยว ได้ตั้งทัพบริเวณลำเหมืองตันจึงเกิดการต่อสู้กันพวกเงี้ยวพ่ายแพ้ไป บ้านดอนฮิมสายจึงเปลี่ยนชื่อเป็น (“ บ้านดอนตัน ” ตัน หมายถึง กองทัพมาทันพวกเงี้ยว ) บทที่ ๑ การปกครอง อาณาเขต สภาพทั่วไป ตำบลร่องกาศ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอสูงเม่น ห่างจากอำเภอเมืองแพร่ ๖ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอสูงเม่น ๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๗.๔๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๐,๘๘๘ ไร่ ประกอบด้วยหมู่บ้านทั้งหมด ๑๑ หมู่บ้าน ลำดับที่ หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน หมายเหตุ ๑.ตอนิมิตร ๒.ร่องกาศ ๓. ร่องกาศ ๔. ร่องกาศ ๕. ร่องกาศใต้ ๖. ปงพร้าว ๗. ดอนทัน ๘. ตอนิมิตร ๙. ตอนิมิตร ๑๐. แม่สาย ๑๑. ร่องกาศใต้ การปกครองในท้องที่ เจ้าอาวาสคนแรกของวัดในตำบลร่องกาศ ดตอนิมิตร คือพระอธิการอินทร์ เรือนคำ วัดนิวิฐศรัทธาราม คือ พระครูนิวิฐศรัทธาคุณ วัดดอนทัน คือ หลวงปู่อภิจัย วัดร่องกาศใต้ คือ พระคำ ภีระ วัดพงพร้าว คือ พระอธิการวงค์ กำนันคนแรก กำนันด้วง คำแวง ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ หมู่ที่ ๑ คือ นายเขียว เรือนคำ หมู่ที่ ๒ คือ นายก๋วน ดวงตาดำ หมู่ที่ ๓ คือ นายศิริ วงค์พุฒิ หมู่ที่ ๔ คือ นายแสน เรืองอุไร หมู่ที่ ๕ คือ นายผัด เกี๋ยงคำ หมู่ที่ ๖ คือ นายกัณฑ์ เสนากูล หมู่ที่ ๗ คือ นายจันทร์ บุญราศี หมู่ที่ ๘ คือ นายประยูร ศรีใจวงศ์ หมู่ที่ ๙ คือ นายกิตติชัย จำรัส หมู่ที่ ๑๐ คือ นายสมคิด ยอดสาร หมู่ที่ ๑๑ คือ นายปรีชา สมจิตต์ ครูใหญ่คนแรกในโรงเรียน โรงเรียนวัดตอนิมิตร ชื่อ นายเชาว์ สง่าศรี โรงเรียนบ้านร่องกาศ (ศรีวิทยาคาร) ชื่อ พระครูพรหมา สง่าศรี โรงเรียนบ้านแม่สายดอนทัน ชื่อ นายยรรยง พันธุรัตน์ โรงเรียนบ้านร่องกาศใต้ ชื่อ นายบุญกิม วังซ้าย โรงเรียนบ้านปงพร้าว ชื่อ นายเชาว์ สง่าศรี บทที่ ๒ เหตุการณ์ที่ ทรงจำ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ในตำบลร่องกาศ เหตุการณ์กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน ๒๕ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เงี้ยวได้รวมกำลังเข้าปล้นเมืองแพร่ บ้านร่องกาศเป็นหมู่บ้านที่พระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงกำกับราชการในเมืองแพร่ ได้หนีพวกเงี้ยวเข้ามาหลบซ่อนตัวที่บ้านร่องกาศบ้านเลขที่ ๑๓๔ ของพ่อใหญ่เมืองและแม่ใหญ่ฝุนและขอข้าวกิ๋นเมื่อเห็นว่าไม่ปลอดภัยจึงหนีไปตามกองน้อย(ซอย)บ้านพ่อสร่างคำ มหามิตรบ้านเลขที่ ๑๓๑ และถูกพบเห็นโดยหนานวงศ์ ชาวบ้านร่องกาศได้ไปแจ้งข่าวแก่พวกเงี้ยว ในที่สุดพระยาไชยบูรณ์ถูกเงี้ยวจับตัวได้ที่ดงในหมู่บ้านใต้ต้นศรีหมู่ที่ ๓ (ต้นโพธิ์) และถูกพวกเงี้ยวฆ่าตัดคอ ที่ฮ่องคาว บริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยา ไชยบูรณ์ในปัจจุบัน (สัมภาษณ์ นายทองดำ มหามิตร อายุ ๘๒ ปี บ้านเลขที่ ๑๓๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่) บทที่ ๓ อัตลักษณ์ ประเพณี เป็นการสืบสานวัฒนธรรมอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนั้นยังสร้างความสมานสามัคคีในชุมชน คือ นมัสการพระธาตุ ความเชื่อ ความเชื่อของชาวบ้านตำบลร่องกาศที่ต้องการให้เกิดความเป็น สิริมงคลกับตนเองหรือครอบครัวและหมู่บ้าน จึงได้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ขึ้น ได้แก่ (๑.) การปูจาเทียน เป็นการนำเทียนที่ผ่านการทำพิธีแล้วมาจุดบูชา เชื่อว่าจะทำให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ประสบโชคดี ไม่เจ็บป่วยและมีอายุยืนยาว (๒.) เอาขวัญ (๓.) พิธีเข้าเบิก การเข้าเบิกเป็นพิธีเก่าแก่ที่ทำกันน้อยมากในปัจจุบันและไม่ได้ทำทุกปี เมื่อจัดทำพิธีแล้วเชื่อว่าจะช่วยป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านได้ การเข้าเบิกจะทำกันที่บริเวณทางแยกเข้าหมู่บ้านโดยจะเริ่มพิธีในตอนหัวค่ำ เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์มายังบริเวณพิธี โดยไม่จำกัดว่ากี่รูป แล้วสวดเบิกวรจนจบ ชาวบ้านนำทรายและน้ำขมิ้นส้มป่อยที่นำมาร่วมพิธีซัดสาดทั่วบริเวณบ้านของตนเพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและให้เกิดสิริมงคลแก่บ้านตน พิธีการเข้าเบิกเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน และสร้างความสามัคคีในหมู่บ้านในอันที่จะร่วมกันป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน (๔.) การตานขันข้าว เป็นการทำบุญให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและการทำบุญ เพื่อสะสมผลบุญให้กับตนเองในชาติหน้า (๕.) ตานเฮียน การสร้างบ้านอุทิศให้เป็นที่อยู่อาศัยของดวงวิญญาณของผู้ตาย เป็นเรือนหลังเล็ก ซึ่งผู้ชาย ๔ – ๕ คน สามารถยกไปถวายวัดได้ (๖.) การเทศน์ธรรมมหาวิบาก เป็นการเทศน์ให้แก่คนที่เจ็บหนักทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน ฟังเพื่อจะได้สิ้นลมอย่างสงบ เชื่อว่าเป็นเพราะผู้ป่วนได้สร้างวิบากกรรมไว้มากในวาระสุดท้ายญาติสนิทหรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือจะนิมนต์พระมาแสดงธรรมาหวิบากเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากวิบากกรรม (๗.) ฮ่วงข้าว เป็นการเสี่ยงทายว่าเด็กที่เกิดใหม่มีญาติผู้ใหญ่มาเกิดเพื่อรับขวัญ การส่งพ่อเกิดแม่เกิด การขอให้พ่อเกิดแม่เกิดนำวิญญาณของเด็กกลับคืนไป พ่อเกิดแม่เกิดหรือปู่แถนย่าแถนเป็นผู้ส่งหรืออนุญาตให้วิญญาณแต่ละดวงมาเกิดในโลกมนุษย์ อาหาร (๑.) ลาบ ถือเป็นอาหารมงคลด้วยชื่อ เป็นอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ปรุงด้วยเครื่องเทศ เช่นกระเทียม ข่า ตะไคร้ พริกแห้ง มะแขว่น โขลกรวมกัน ลาบที่นิยมรับประทานกันคือ ลาบวัว ลาบความ ลาบหมู ลาบไก่ ในการรับประทานลาบจะมีผักหลายชนิดเป็นเครื่องเคียง เช่น ใบมะยม ผักไผ่ ผักคาวตอง ผักแว่น สะระแหน่ แตงกวา เป็นต้น (๒.) น้ำพริก มีหลายอย่าง บางอย่างนิยมรับประทานกับผักนึ่ง ผักต้ม เช่นน้ำพริกแมงดา น้ำพริกมะเขือส้ม น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลา เป็นต้น บางอย่างรับประทานกับหน่อไม้ เช่น น้ำพริกน้ำปู น้ำพริกเป้อเล้อ น้ำพริกอี่เก๋ บทที่ ๔ โบราณสถาน ตำบลร่องกาศ มีวัดอยู่ ๕ วัด คือ วัดตอนิมิตร , วัดนิวิฐศรัทธาราม ( วัดร่องกาศ ) ,วัดร่องกาศใต้ , วัดพงพร้าว และวัดดอนทัน วัดนิวิฐศรัทธาราม (วัดร่องกาศ) วัดตอนิมิตร วัดพงพร้าว วัดร่องกาศใต้ วัดดอนทัน โบราณวัตถุ (๑.)หลวงพ่อพุทธมงคล ( พระเจ้าตนหลวง ) ประดิษฐานอยู่ในหมู่ที่ ๘ บ้านตอนิมิตร สร้างขึ้น(ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่นอน) ภายหลังวัดนี้กลายเป็นวัดร้าง ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๗ ชาวบ้านตอนิมิตร ได้ไปนิมนต์พระครูบาอินถา สุขวัฒโก เจ้าอาวาสวัดหลวงเจริญ ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นประธานบูรณะปฏิสังขรณ์ พระประธาน เป็นเวลา ๑ ปี ได้ทำพิธีบรรจุหัวใจพระประธานองค์นี้มี หน้าตักกว้าง ๙ ศอก สูง ๙ ศอก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบสุโขทัย พระครูบาอินถา ได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “ หลวงพ่อพุทธมงคล ” (๒.) พระธาตุไข่หอยวัดร่องกาศใต้ (๓.) พระธาตุจุฬามณีศรีอภิชัย (๔.) พระธาตุพระครูพรหมมา สง่าศรี (วัดนิวิฐศรัทธาราม) (๕.) พระธาตุพุทธนิมิตร (วัดพุทธมงคล) บทที่ ๕ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำภูมิปัญญาท้องถิ่น (๑.) นายมิ่ง กาวีวน อายุ ๘๐ ปี บ้านเลขที่ ๒๒๖/๑ หมู่ที่ ๑ หมู่บ้านตอนิมิตร ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน ตั๋วเมือง ศาสนาวัฒนธรรม (๒.) นายสิงห์ทอง จำรัส อายุ ๖๕ ปี บ้านเลขที่ ๒๗๕/๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน ยาสมุนไพร (ยาต้ม) (๓.) นายจำรัส กาวีพันธ์ อายุ ๖๔ ปี บ้านเลขที่ ๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน จักสาน อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน (๔.) นายประเสริฐ มหามิตร อายุ ๖๗ ปีบ้านเลขที่ ๑๔๐ หมู่ที่ ๒ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน ศิลปวัฒนธรรม (๕.) นายวาสน์ ยิ่งยวด บ้านเลขที่ ๓๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน สมุนไพร (๖.) นายทองดำ เกียรติภัทราภรณ์ อายุ ๗๑ ปี บ้านเลขที่ ๑๐๖ หมู่ที่ ๔ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน การเกษตร (๗.) นายสนิท ฉลอม อายุ ๖๓ ปี บ้านเลขที่ ๙๓/๑ หมู่ที่ ๔ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน ศาสนา (๘.) นายปลั่ง เรือนคำ อายุ ๕๖ ปี บ้านเลขที่ ๑๗๔ หมู่ที่ ๘ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน พิธีกรรมทางศาสนา (๙.) นายเม็ด ศรีใจวงศ์ อายุ ๘๑ ปี บ้านเลขที่ ๑๒๖ หมู่ที่ ๘ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน วัฒนธรรมประเพณี (๑๐.) นายประสงค์ จิตผ่อง อายุ ๗๖ ปี บ้านเลขที่ ๖๓/๑ หมู่ที่ ๙ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้านตั๋วเมือง ศาสนาวัฒนธรรม (๑๑.) นายสมคิด ม่วงมูล บ้านเลขที่ ๕๐/๒ หมู่ที่ ๙ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้านยาสมุนไพร (๑๒.) นายจำรัส ไกรลาศ บ้านเลขที่ ๑๘ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน การเป่าคาถารักษาโรค (๑๓.) นางเม็ด สุภาพ อายุ ๘๒ ปี บ้านเลขที่ ๑๓ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน ยาสมุนไพรรักษาโรค (๑๔.) นายจันทร์ ผลแก้ว อายุ ๘๔ ปี หมู่ที่ ๑๐ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เชี่ยวชาญด้าน การจักสาน ( ข้อสังเกต : น่าจะมีรูปตัวบุคคลและผลงานประกอบด้วย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น