วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

ผู้สิ้้นความเพลิดเพลินในภพสมาบัติ กระดานธรรม ๒ คลิกขวาเมนู สมาบัติ ๘ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ นั้นก็มีในศาสนาอื่นๆด้วยเช่นกัน และมีมาแต่โบราณกาล ที่แม้แต่เหล่าพระคณาจารย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อนตรัสรู้ ก็ล้วนเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง และเป็นผู้สั่งสอนพระองค์ท่านในสมาบัติเหล่านั้น พระองค์ท่านก็ทรงเล็งเห็นประโยชน์ในการนำมาเป็นกำลังเครื่องสนันสนุนปัญญาหรือวิปัสสนา เพื่อให้เห็นความจริงหรือธรรมอย่างปรมัตถ์เพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณเพื่อการปล่อยวางในกิเลสตัณหาอุปาทาน ดังนั้นการเจริญสมาบัติ ๘ แต่ฝ่ายเดียว โดยขาดการเจริญวิปัสสนา จึงไม่ใช่หนทางหรือการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาให้ถึงพุทธธรรม และด้วยอวิชชามักไปเข้าใจผิดว่า เมื่ออยู่ในสมาบัติแต่ฝ่ายเดียวว่า ประกอบด้วยการเจริญวิปัสสนาบริบูรณ์แล้ว จึงขาดการเจริญวิปัสสนาไปเสียโดยไม่รู้ตัว ด้วยความเข้าใจผิดหรืออวิชชานั่นเอง ส่วนนิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นสมาบัติในพระพุทธศาสนาโดยตรง บัญญัติขึ้นมาแต่สมัยพุทธกาล เป็นสมาบัติที่มีความเนื่องสัมพันธ์กับขันธ์ ๕ ทางพระศาสนาโดยตรง ที่ทรงจำแนกชีวิตว่า ล้วนเกิดแต่ เหตุปัจจัย ของขันธ์ ๕ จึงต้องมีปัญญาจากการวิปัสสนาในธรรมหรือธรรมชาติของขันธ์ ๕ อย่างปรมัตถ์ ต้องเข้าใจในเหตุปัจจัยจึงมีของขันธ์ ๕ คือ สัญญาและเวทนา กล่าวคือต้องมีปัญญา(วิปัสสนา)ที่มีสมถะเป็นกำลังเครื่องสนับสนุน เหตุเพราะ สัญญาเวทยิตนิโรธ หมายถึง การดับสัญญาและเวทนา เป็นสมาบัติ ที่เรียกเต็มว่า "สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ" เรียกสั้นๆกันว่า ว่า นิโรธสมาบัติ ซึ่งเมื่อนับร่วมกับฌานทั้ง ๘ ก็เรียกว่าเป็น อนุปุพพวิหาร ธรรมเป็นเครื่องอยู่โดยลำดับ, ธรรมเครื่องอยู่ที่ประณีต ต่อกันไปโดยลำดับ อันมี ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นองค์ที่ ๙ ที่ประณีตสูงสุด ผู้อ่านจำเป็นต้องมีความเข้าใจในขันธ์ ๕ หรือปฏิจจสมุปบาทธรรม จึงจักเข้าใจความเป็นเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้นและดำเนินไปในนิโรธสมาบัติ ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจในธรรมได้ดียิ่งๆขึ้นเช่นกัน นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่ประณีตที่สุดในบรรดาสมาบัติทั้งปวง จัดเป็นอรูปฌานในสมถกรรมฐานอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นสมาบัติขั้นประณีตสูงสุดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ใช่การวิปัสสนาโดยตรง เป็นเครื่องอยู่หรือวิหารธรรมของพระอริยเจ้าเป็นครั้งคราว เป็นสภาวะจิตที่ถึงภาวะของความสงบประณีตระดับสูงสุด จิตหยุดการทำงาน หรือการเกิดดับ..เกิดดับ..เกิดดับ..ทั้งหลายทั้งปวง ดุจดั่งผู้ถึงกาละ กล่าวคือ เนื่องจากการหยุดการทำงานหรือดับไปของสัญญา อันคือ ขันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความคิด ความนึก อันเป็นความจำได้ ความหมายรู้ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อดับสัญญา หรือดับความคิด ความนึก(และตลอดจนดับความจำ ความหมายรู้ ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลัง)ทั้งปวงลงไปจากการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ จึงเป็นปัจจัยทำให้ธรรมารมณ์ต่างๆเช่นความคิดความนึกต่างๆ แม้แต่สังขารกิเลสต่างๆ ที่ต้องอาศัยสัญญาคืออาสวะกิเลส เป็นเหตุปัจจัยเบื้องต้นในการเกิดขึ้นและเป็นไปของขันธ์ ๕ จึงดับไป เวทนาจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หรือต้องดับไปตามเหตุปัจจัยคือสัญญาที่ถูกกุมไว้ด้วยสติ จึงเป็นปัจจัยให้เวทนาดับลงไปด้วย จึงเป็นเหตุให้ชื่อว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ที่มาจากรากศัพท์ของคำว่า สัญญา-ความจำได้,ความหมายรู้๑ เวทนา-การเสวยอารมณ์๑ นิโรธ-การดับ๑ และสมาบัติ-ภาวะสงบประณีต๑ ทั้ง ๔ คำ สมาสรวมกันเป็น สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ที่หมายถึง สภาวะสงบประณีตที่เกิดจากสัญญาและเวทนาดับไป เหตุที่สัญญาดับลงไป จึงทำให้เวทนาดับลงไปด้วย ตลอดจนสังขารขันธ์ เป็นไปเพราะจิตนั้น เมื่อจำแนกแตกธรรมแล้ว ล้วนดำเนินไปตามกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาท หรือขันธ์ ๕ เท่านั้น กล่าวคือ เมื่อดำเนินไปตามกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาท ก็หมายถึง จิตดำเนินไปสู่ทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนในขณะนั้น หรืออาจเป็นสุขในขณะนั้นแต่ส่งผลให้เกิดทุกข์อุปาทานขึ้นในภายหลังเป็นที่สุด ส่วนเมื่อจิตดำเนินไปตามปกติไม่ก่อทุกข์อุปาทานก็เรียกว่าดำเนินไปตามแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นไปในลักษณาการดังนี้ เมื่อจิตดำเนินไปในกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาท อาสวะกิเลสก็คือสัญญาเจือกิเลสอย่างหนึ่ง เมื่อนำมาลำดับแสดงแบบขันธ์ ๕ เพื่อเทียบเคียง จึงเป็นไปดังนี้ อาสวะกิเลสที่นอนเนื่องผุดขึ้น หรือเจตนาขึ้นเป็น จึงมี สังขาร(กิเลส) กระทบ ใจ จึงมี วิญญาณ จึงมี ผัสสะ จึงมี จึงเกิดเวทนา จึงมี สัญญาหมายรู้ จึงมี สังขารขันธ์ ส่วนเมื่อจิตดำเนินไปตามกระบวนธรรมขันธ์ ๕ ในการดำเนินชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์ อันมิได้เกิดแต่อาสวะกิเลส เกิดแต่สัญญาก็เป็นไปดังนี้ สัญญาที่นอนเนื่อง ผุดขึ้น หรือเจตนาขึ้นเป็น จึงมี ธรรมารมณ์ กระทบ ใจ จึงมี วิญญาณ จึงมี ผัสสะ จึงมี จึงเกิด เวทนา จึงมี สัญญาหมายรู้ จึงมี สังขารขันธ์ ดังนั้นเมื่อ สติกุมจิต หรือตั้งจิตมั่นกุมไว้ได้ในเหล่าสัญญาหรืออาสวะกิเลสแล้ว กล่าวคือ แต่แรกปฏิบัติ ไม่ให้เหล่าความคิด เกิดผุดขึ้น หรือแม้แต่เจตนาขึ้น ด้วยสติที่กุมอยู่ เพราะเมื่อสัญญาเกิดผุดขึ้นหรือเจตนาขึ้นก็ตามที ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด สังขาร หรือ ธรรมารมณ์ ดังแสดงในกระบวนธรรมข้างต้นทั้ง ๒ จึงย่อมต้องดำเนินไปตามกระบวนธรรมดังที่แสดงต่อเนื่องเป็นเหตุปัจจัยไป ไม่สามารถไปหยุดได้ด้วยความเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติจึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ จึงอุปมาได้ดุจดั่ง การปาก้อนหินลงไปในน้ำ ซึ่งถ้ามีสติกุมจิตอยู่ โดยหยุดการปาก้อนหินนั้นลงเสีย ก็ย่อมไม่มีการกระทบ(ผัสสะ)ให้เกิดระลอกคลื่นขึ้น แต่ถ้ามีการปาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมต้องเกิดการกระทบกับน้ำ จึงย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดระลอกคลื่นขึ้นเป็นธรรมชาติ ดุจเดียวกับเวทนาเป็นธรรมดา และย่อมไม่สามารถไประงับผลคือระลอกคลื่น หรือดับเหล่าเวทนาเหล่านั้นที่เกิดจากการกระทบกันหรือผัสสะกันแล้วได้เป็นธรรมดา เพราะความเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง, ดังนั้นเมื่อสติรักษาจิตดังข้างต้นได้เสถียรในระยะเวลาหนึ่ง กล่าวคือ ในแรกปฏิบัติ ที่ตั้งจิตอยู่แต่ใน สติ ที่มีเจตนาหรือเจตจำนงค์เพื่อหยุดการวิตก วิจารในความคิดที่ล้วนต้องอาศัยสัญญาใดๆทั้งปวงได้เป็นอย่างดีแล้ว จึงเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตาเมื่อเหตุถูกกำจัด ผลอันคือเวทนา วิญญาณทั้ง๖ สัญญาหมายรู้ ตลอดจนสังขารขันธ์ทั้งหลายทั้งปวงอันย่อมครอบคลุมถึงกายสังขาร อันล้วนย่อมเป็น ผล ที่เกิดขึ้นจากการเป็นเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ ดังแสดงในกระบวนธรรมข้างต้น จึงย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ ดับไปเพราะขาดเหตุปัจจัยตามหลักธรรมปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง ดังนั้นเมื่อสังขารขันธ์ฝ่ายวจีสังขารที่ต้องอาศัยการตรึก การตรอง(ตรึก=วิตก,การคิด ตรอง=วิจาร,การคิดพิจารณา)ดับจากการถูกสติกุมไว้ และกายสังขารดับสิ้นลงไปเนื่องจากขาดเหตุปัจจัย จึงเป็นปัจจัยให้จิตตสังขารที่อยู่ในรูปเจตสิกของสติในระยะแรกที่ใช้งานอยู่ เมื่อไม่มีหน้าที่การงานสืบต่อไป ก็ค่อยทะยอยลดระดับจนดับตามไปด้วย จึงเป็นวงจรที่เป็นเหตุปัจจัยเนื่องสัมพันธ์กันดุจเดียวดั่งวงจรปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารนั่นแล การปฏิบัติ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มีความแตกต่างจากรูปฌาณ ๔ และอรูปฌาน ๔ อย่างสิ้นเชิง ในฌานทั้ง ๘ นั้น แม้การปฏิบัติเป็นไปในลักษณะของการใช้ สติ อันคือจิตตสังขารหรือเจตสิกแม้เช่นเดียวกับนิโรธสมาบัติ แต่ในฌานทั้ง ๘ ใช้ไปในลักษณะของการวิตกวิจารในอารมณ์ต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ในเรื่อง"ฌานสมาธิ" แม้แต่ใน อรูปฌาน เองก็เช่นกัน กล่าวคือ ยังต้องวิตก วิจารในสิ่งที่เป็น อรูป ที่นำมาเป็นอารมณ์นั้นๆอยู่ ดังเช่น อากาสานัญจายตนฌาน ที่ถึงอย่างไรเสียต้องวิตก วิจารในอรูป คือ วิตกโดยการตรึกคือคิดนึกในอากาศหรือช่องว่างหรือความเป็นที่ว่างเปล่าว่าหาที่สุดมิได้หรือไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ แล้ววิจารโดยการตรองคือคิดพิจารณาเคล้าหรือฟั้นคิดนั้นจนกลมกลืนลื่นไหลไปกับจิตหรือสติ จึงล้วนต้องใช้สัญญา กล่าวคือ วิตกหรือคิดกำหนดในอากาศ พร้อมกับการวิจารหรือเคล้าจิตหรือคิดพิจารณาเคล้าไปในอากาศที่กำหนดนั้นให้แนบแน่น ส่วนในนิโรธสมาบัติ ใช้สติกุมจิตหรือคิด(ที่ย่อมต้องใช้สัญญา)ไว้ จึงไม่มีการวิตก วิจารซึ่งก็คือวจีสังขารทางใจอย่างหนึ่ง กล่าวคือขาดเสียซึ่งสัญญาแต่ต้นกระบวนธรรมดังข้างต้น จิตย่อมขาดเหตุปัจจัยให้ดำเนินไปในกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ดำเนินสืบต่อไป สังขารขันธ์ทั้งหลายอันเป็น ผล ของกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ จึงอยู่ในสภาวะสงบระงับหรือดับไปด้วย ตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมหรืออิทัปปัจจยตา ดังนั้นกายสังขารย่อมระงับเป็นลำดับต่อไปเนื่องจากเป็นสังขารขันธ์ที่ไม่ได้ใช้งานจึงดับไป ส่วนจิตตสังขารหรือมโนสังขารนั้นยังใช้งานอยู่ กล่าวคือ จิตตสังขารหรือสติยังคงใช้งานอยู่ด้วยสัญญานั่นเอง เมื่อวจีสังขารและกายสังขารสงบระงับหรือดับไปดีแล้ว จิตตสังขารหรือสติจึงระงับหรือดับตามไปเป็นลำดับสุดท้าย ฝ่ายสังขารกายหรือร่างกายนั้น เมื่อสังขารขันธ์ทั้งปวงสงบระงับแล้ว จึงไม่มีหน้าที่หรือ activitiesใดๆในการงานทางโลกอีก จึงเข้าสู่สภาวะของการสงบระงับตามฝ่ายจิตไปด้วย กล่าวคือ เหมือนจำศีล ปฏิกริยาหรือเหล่าactivities ทั้งหลายเมื่อไม่มีเครื่องกระตุ้นเร้าจึงทำงานอยู่ในระดับต่ำที่สุดราวกับผู้ถึงกาละแล้ว แต่ยังมีไออุ่น และยังไม่ถึงกาละหรือตาย ส่วนอินทรีย์ร่างกายสดใสเพราะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุดเพราะเป็นไปตามธรรมชาติเดิมแท้ จึงเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่เครื่องพักผ่อนอันประเสริฐเป็นครั้งคราวของเหล่าพระอริยเจ้า ดังนั้น สติ ที่กุมจิต ในการปฏิบัตินิโรธสมาบัติจึงเป็นไปในลักษณะกุมจิตหรือป้องกันเป็นสำคัญ ไม่วิตกวิจารคือไม่ไปคิด(ซึ่งย่อมใช้สัญญา)ไม่ไปกำหนดและไม่ไปวิจารเคล้าจิตในอารมณ์ใดทั้งสิ้น อยู่กับสติในเบื้องต้นเป็นสำคัญ นอกจากเมื่อผุดคิดผุดนึกขึ้นจึงปราบปรามเสียเป็นครั้งคราว กล่าวคือ จึงไม่ใช่ในลักษณะของการปราบปราม ที่หมายถึงเมื่อคิดขึ้นมาแล้วสติรู้เท่าทัน จึงหยุดคิด หยุดปรุงแต่งนั้นเสียดังการวิปัสสนา แต่สติเป็นไปในลักษณะนายทวารผู้เฝ้าระวังทำหน้าที่อย่างตั้งมั่นเพื่อป้องกันเป็นสำคัญ ดังกล่าวไว้ในเรื่องดับอวิชชา คือ กุมไว้ด้วยสติไม่ให้ผุดลอย หรือผุดคิดขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนในดับอวิชชานั้นป้องกันแต่สัญญาฝ่ายอาสวะกิเลสเท่านั้น และเมื่อผุดลอยขึ้นมาก็ไม่ปรุงแต่งและอุเบกขาเสีย ส่วนสัญญาคือความจำได้หมายรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงของขันธ์ ๕ เป็นอย่างยิ่งเช่นกัน ผู้ที่ปฏิบัติได้ใน นิโรธสมาบัติ จึงเกิดแก่ผู้ที่มีความเข้าใจในขันธ์ ๕ หรือปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้ง พร้อมความเชื่อมั่นจากปัญญาที่ไปเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในความเป็นเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ พร้อมทั้งมีสติสมาธิ(สมถะ)ที่ฝึกหัดดีแล้วจากการปฏิบัติ พร้อมทั้งกิเลสที่เบาบางลงไปพอควร เพราะกิเลสที่หนาแน่นนั้น เมื่อปฏิบัติก็มักเกิดอาการผุดคิด ผุดลอยขึ้นมา อย่างควบคุมไม่ได้ หรือมัวแต่คิดหาทางหยุดคิด จึงวนเวียนอยู่ในคิดที่ย่อมต้องใช้สัญญาอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว จึงย่อมไม่สามารถเข้า"สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ"ได้เลยเป็นธรรมดา ดังที่กล่าวข้างต้นที่เมื่อมีการคิดหรือนึกผุดเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมเกิดการผัสสะขึ้นเป็นธรรมดา จึงปฏิบัติได้ยากยิ่งและมีแต่ในทางพุทธศาสนา จึงเกิดขึ้นได้แก่อริยบุคคลที่เจริญทั้งในสมถกรรมฐานจนได้สมาบัติ และเจริญในวิปัสสนากรรมฐานด้วยเท่านั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องชำนาญในสมาบัติ ๘ เป็นสำคัญอีกด้วย แต่ถึงแม้เป็นสมาบัติที่ประณีตลึกซึ้งที่สุดก็ตามที ก็ยังเป็นสมาบัติอยู่นั่นเอง นักปฏิบัติไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายคือพุทธธรรม เพราะการมุ่งเน้นเพื่อสมาบัติหรือเจโตวิมุตตินั้นใช้เวลานาน และขึ้นอยู่กับอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ ไม่ใช่เกิดเหมือนกันทุกคน และถ้าปฏิบัติสมาบัติที่อาจหรือมักเบี่ยงเบนไปเพื่อจุดประสงค์อื่นๆที่ไม่ใช่พุทธธรรม แล้ว เช่นโลกียอภิญญา ก็จะทำให้หลงทางกลับกลายเป็นโทษ และการหลุดพ้นทั้งปวงอันไม่กลับกลายนั้น เป็นการหลุดพ้นด้วยปัญญาวิมุตติเป็นองค์สำคัญเพียงองค์เดียว จึงมีการหลุดพ้นแบบไม่จำเป็นต้องผ่านสมาบัติ จึงมีพระอรหันตผล ๒ ประเภท คือ พระสุกขวิปัสสก เป็นผู้เจริญวิปัสสนาล้วนสำเร็จพระอรหัต ไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญา พระสมถยานิก ผู้มีสมถะเป็นยาน(เครื่องนำไป) หมายถึง ผู้เจริญสมถกรรมฐาน จนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาวิมุตติต่อ และยังแยกแยะโดยละเอียดเป็น ๕ ด้วยกัน แต่ล้วนต้องเกิดปัญญาวิมุตติเป็นองค์สำคัญเป็นที่สุดทั้งสิ้น จึงบรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในพุทธธรรม กล่าวคือต่างล้วนดับทุกข์อุปาทานโดยสิ้นเชิงด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จึงเป็นบรมสุขอย่างยิ่งเหมือนกันทุกพระองค์ ๑. พระปัญญาวิมุต พระผู้เจริญวิปัสสนาล้วนสำเร็จพระอรหัต ไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญา ๒. พระอุภโตภาควิมุต คือ พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถะมาเป็นอย่างมากจนได้สมาบัติ ๘ แล้ว จึงใช้สมถะนั้นเป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุอรหัตตผล กล่าวคือ หลุดพ้นทั้งสองส่วน กล่าวคือ เป็นสองวาระ คือหลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ เป็นวิกขัมภนะหนหนึ่งแล้ว จึงหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค เป็นสมุจเฉท อีกหนหนึ่ง ๓. พระเตวิชชะ ผู้ได้วิชชา ๓ มี ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ได้ระลึกชาติได้ ๒. จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น ๔. พระฉฬภิญญะ ผู้ได้อภิญญา ๖, อภิญญา ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ ๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒. ทิพพโสต หูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้ ๔. ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป ใน ๕ อย่างแรกเป็นโลกียอภิญญา ส่วนข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา ๕. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔ ปัญญาแตกฉาน มี ๔ คือ ๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ความแตกฉานสามารถอธิบายเนื้อความย่อของภาษิตโดยพิสดาร และความเข้าใจที่สามารถคาดหมายผลข้างหน้า อันจะเกิดสืบเนื่องไปจากเหตุ ๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปัญญาแตกฉานในธรรม, เห็นคำอธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นหัวข้อได้ เห็นผลก็สืบสาวไปหาเหตุได้ ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ คือ ภาษา ปัญญาแตกฉานในภาษา คือเข้าใจภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจ ตลอดทั้งรู้ภาษาต่างประเทศ ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ความแตกฉานในปฏิภาณได้แก่ไหวพริบ คือ ความแตกฉานในปฏิภาณได้แก่ไหวพริบ คือ โต้ตอบปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที หรือแก้ไขเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ฉับพลันทันการ โต้ตอบปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที หรือ แก้ไขเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ฉับพลันทันการ ต้องอ่าน สมาธิหรือสมาบัติขั้นใด จึงจำเป็นในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ประกอบการพิจารณา กันหลงทาง กามภูสูตรที่ ๒ พุทธพจน์ และ พระสูตร พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๘ คลิกขวาเมนู [๕๖๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านพระกามภูถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระกามภูว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สังขารมี เท่าไรหนอแล ท่านพระกามภูตอบว่า ดูกรคฤหบดี สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร [๕๖๑] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของท่านพระกามภู แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ก็กายสังขารเป็นไฉน วจีสังขารเป็นไฉน จิตตสังขารเป็นไฉน ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกแลชื่อว่ากายสังขาร วิตกวิจารชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาชื่อว่าจิตตสังขาร ฯ [๕๖๒] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เพราะเหตุไร ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก จึงชื่อว่ากายสังขาร วิตกวิจารจึงชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตตสังขาร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นของเกิดที่กาย ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่ากายสังขาร(การกระทำทางกาย อย่างหนึ่ง) บุคคลย่อมตรึกตรอง(คิดพิจารณา)ก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจาภายหลัง ฉะนั้น วิตก วิจารจึงชื่อว่า วจีสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นของเกิดที่จิต ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิต ฉะนั้น สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่า จิตตสังขาร ฯ [๕๖๓] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เกิดมีได้อย่างไร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้คิดอย่างนี้ว่า เราจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้วบ้าง โดยที่ถูก ก่อนแต่จะเข้า ท่านได้อบรมจิต(ก่อน)ที่จะน้อม(เข้า)ไป เพื่อความเป็นจิตแท้ (จิตดั้งเดิม) ฯ [๕๖๔] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ธรรมเหล่าไหนดับก่อน คือ กายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขาร ดับก่อน ฯ กา. ดูกรคฤหบดี เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ วจีสังขารดับก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารดับ ต่อจากนั้นจิตตสังขารจึงดับ ฯ [๕๖๕] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนที่ตายแล้ว ทำกาละแล้ว กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ทั้งสองนี้มีความต่างกันอย่างไร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี คนที่ตายแล้ว ทำกาละแล้ว มีกายสังขารดับสงบ มีวจีสังขารดับสงบ มีจิตตสังขารดับสงบ มีอายุสิ้นไป ไออุ่นสงบ อินทรีย์แตกกระจาย(อินทรีย์ทั้ง ๖ แตกกระจาย ไม่ทำงานประสานเนื่องสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยกันอีกต่อไป) ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ กายสังขารดับสงบ วจีสังขารดับสงบ จิตตสังขารดับสงบ (แต่) ยังไม่สิ้นอายุ ไออุ่นยังไม่สงบ อินทรีย์ผ่องใส ดูกรคฤหบดี คนตายแล้ว ทำกาละแล้ว กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีความต่างกันอย่างนี้ ฯ [๕๖๖] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้วได้ ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมมี อย่างไร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้คิดอย่างนี้ว่า เราจักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติบ้าง เรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติบ้าง เราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้วบ้าง โดยที่แท้ ก่อนแต่จะออก ท่านได้อบรมจิต(ก่อน)ที่น้อมเข้าไป เพื่อความเป็นจิตแท้ ฯ [๕๖๗] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมเหล่าไหนเกิดก่อน คือกายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขารเกิดก่อน ฯ กา. ดูกรคฤหบดี เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขารเกิดก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารจึงเกิด ต่อจากนั้นวจีสังขารจึงเกิด ฯ [๕๖๘] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญา เวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ (หมายความเมื่อออกจากนิโรธสมาบัติ มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง) กา. ดูกรคฤหบดี ผัสสะ ๓ อย่าง คือ สุญญผัสสะ อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ [๕๖๙] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถาม ปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติ ย่อมเป็นธรรมชาติน้อมไปสู่อะไร โน้มไปสู่อะไร เงื้อมไปสู่อะไร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมเป็นธรรมชาติน้อมไปสู่วิเวก โน้มไปสู่วิเวก เงื้อมไปสู่วิเวก ฯ [๕๗๐] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของท่านพระกามภูแล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ก็ธรรมเท่าไร ย่อมมีอุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ท่านถามปัญหาที่ควรจะถามก่อนล่าช้าไปหน่อย แต่ว่า อาตมาจักพยากรณ์ปัญหาแก่ท่าน ดูกรคฤหบดี ธรรม ๒ อย่าง คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ย่อมมีอุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ (แม้เป็นสมถะ แต่ต้องประกอบด้วยวิปัสสนามีความเข้าใจในธรรมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น