วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ภาวะแห่งความตื่นไกวัลยธรรม ในฐานะที่เป็นธรรมชาติแห่งพุทธภาวะ ธรรมชาติแห่งพุทธภาวะ หมายถึง ธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งทำสัตว์ให้เข้าถึงพุทธภาวะ และมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ทุกกาลเวลา ตามความหมายของไกวัลยธรรม การวิวัฒนาการของสิ่งที่มีชีวิต ย่อมไปถึงวาระสุดท้ายคือ "พุทธภาวะ" อันหมายถึงภาวะแห่งความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน สิ่งที่เรียกว่า "ความรู้" ในที่นี้ หมายถึง การรู้แจ้งด้วยปัญญาอันชอบว่า ความทุกข์ได้หมดสิ้นไปแล้ว ชาติสิ้นแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ความเกิดย่อมไม่มีอีกต่อไป อย่างนี้เรียก "เบิกบานถึงที่สุด" ซึ่งจัดเป็นจุดหมายปลายทางที่แท้จริงของทุกชีวิต. ความเบิกบานตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต การมีชีวิตที่สมบูรณ์ หมายถึง การเข้าถึง "พุทธภาวะ" ในทางวิทยาศาสตร์ ได้แสดงไว้ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ แยกมาจากดวงอาทิตย์ แรกเริ่มเดิมที ก็เป็นดวงไฟ ครั้นเย็นลง จึงเกิดมีชีวิตขึ้น ลักษณะอย่างนี้ย่อมกล่าวได้ว่า มีชีวิตซ่อนอยู่แล้วในดวงไฟ เมื่อได้โอกาสจึงปรากฏตัวออกมาเป็นชีวิตคน ดังที่ปรากฏอยู่นี้. วิวัฒนาการอย่างนี้ กล่าวตามหลักธรรม ก็ได้แก่ กฏเกณฑ์ของ "อิทัปปัจจยตา" หรือ "สามัญญลักษณะ" มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยไม่หยุดยั้ง จนเกิดความรู้สึกนึกคิด ความสุขความทุกข์ ทำให้มีการแสวงหา ความสุขที่แท้จริง จนกระทั่งพบการดับความรู้สึกที่เป็นทุกข์ได้ในที่สุด เป็นสภาวะของความเบิกบานถึงที่สุดแห่งความเป็น "พุทธภาวะ". ข้อนี้ เป็นการแสดงว่า เชื้อแห่งความเป็น "พุทธภาวะ" ได้มีมาแล้ว ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที มิฉะนั้นก็ไม่อาจเจริญเติบโตขึ้นมา เป็นพุทธภาวะได้ โดยความหมายนี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่า เชื้อแห่งความเป็น "พุทธะ" ได้มีอยู่แล้วในคนทุกคน ในชีวิตทุกชีวิต รอเวลาที่จะทำให้เจริญเติบโตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถึงที่สุด อันเป็นลักษณะของการเข้าถึง หรือเป็นปรากฏการณ์ของ "พุทธภาวะ" จัดเป็นการเข้าถึง "ความสมบูรณ์" แห่งชีวิต. ไกวัลยธรรม กับความเป็นพุทธะ คำว่า "ไกวัลยตา" หมายถึง "ความที่มันเป็นอย่างนั้น" ส่วนคำว่า "ไกวัลยธรรม" หมายถึง "สิ่งที่เป็นอย่างนั้น" คือเป็นสิ่งเดียวกันทั้งหมด และมีอยู่ในสิ่งทั้งปวงตลอดเวลา บุคคลจะสามารถเข้าถึง "ไกวัลยธรรม" ด้วยการทำให้ "พุทธภาวะ" เปิดเผยออกมา จากสิ่งที่ห่อหุ้มอยู่ คือ กิเลส ฉะนั้น หน้าที่สำคัญของพุทธบริษัท จึงอยู่ที่การเรียนรู้ ปฏิบัติ พัฒนาให้รู้จักธรรมชาติของตัวเองตามเป็นจริง แล้วปล่อยวางเสีย ก็จะทำให้เข้าถึง "พุทธภาวะ" โดยความหมายนี้ เป็นการแสดงว่า "ไกวัลยตา" กับ "พุทธภาวะ" ก็เป็นสิ่งเดียวกัน ต่างกันโดยสิ่งแรกเป็นพื้นฐานของธรรมชาติแห่งพุทธะ สิ่งที่สองเป็นปรากฏการณ์ของพุทธะ เรียก "ไกวัลยธรรม" เปรียบได้กับเชื้อแห่งการเกิด และสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของคนมาจากเชื้อเริ่มแรกที่มองไม่เห็น อันเนื่องมาจากการผสมพันธุ์ของพ่อแม่ แล้วคลอดออกมาเป็นคนในภายหลัง หรือเปรียบอีกนัยหนึ่ง ความเป็นต้นมะม่วง มันย่อมรวมอยู่เสร็จแล้วในเมล็ดมะม่วง ไกวัลยตาเปรียบเมล็ดมะม่วง พุทธภาวะเปรียบต้นมะม่วง นั่นคือ สิ่งทั้งสองนี้ เป็นเหตุผลต่อกัน หรือจะกล่าวว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้ ถ้าเปรียบด้วยการฟักไข่ จะเห็นชัดยิ่งขึ้น ในไข่ไก่ฟองหนึ่ง ย่อมมีความเป็นตัวไก่อยู่ในนั้น แต่ในฟองไก่ จะไม่ปรากฏความเป็นตัวไก่แต่ประการใด จนกระทั่ง ทำการฟักชั่วเวลาหนึ่ง จึงออกมาเป็นตัวไก่ ข้อนี้หมายความว่า ใน"ความที่จะต้องเป็นอย่างนั้น" เรามองไม่เห็นด้วยตา แต่ย่อมให้ความมั่นใจว่า "มันต้องเป็นอย่างนั้น" เป็นการแน่นอน นั่นคือ ในทุกชีวิตมีเชื้อแห่งความเป็น"พุทธะ"อยู่แล้ว รอเวลาที่จะมีการฟักออกเป็นตัว พระพุทธองค์ทรงเปรียบพระองค์เองเหมือนลูกไก่ตัวพี่ ซึ่งฟักออกมาก่อนใคร ข้อนี้เป็นการแสดงว่า "ไกวัลยตา" เป็นเชื้อแห่ง "ไกวัลยธรรม" เมื่อฟักออกมาเป็นตัวได้ ชื่อว่าเข้าถึง"พุทธะ" นั่นคือ "ไกวัลยธรรม" กับ "พุทธะ" ก็คือสิ่งเดียวกัน เชื้อแห่งความเป็นพุทธะ มีอยู่ในทุกสิ่ง คำว่า "ทุกสิ่ง" ในที่นี้ หมายรวมทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต แต่สิ่งที่ไม่มีชีวติยังต้องรอการวิวัฒนาการอีกไกล จึงจะปรากฏเป็นความพร้อมที่จะเข้าถึงพุทธภาวะ ผู้ที่มีความพร้อมต่อการที่จะเข้าถึงความเป็น "พุทธะ" ได้แก่ สภาวะแห่งความเป็นคน ดังที่คนโบราณได้กล่าวเป็นสุภาษิตไว้ว่า "เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เป็นลาภอันประเสริฐ" ดังนี้ สิ่งที่เรียกว่า "ลาภอันประเสริฐ" ในที่นี้ ก็คือ โอกาสที่จะเข้าถึง "ความเป็นพุทธะ" ในตัวเอง. ธาตุแห่งความเป็น "พุทธะ" ในตัวคน ได้แก่ "ความรู้สึกนึกคิด" เมื่อมีความรู้สึกนึกคิด ทำให้เกิดปัญญารู้จักตัวเองตามเป็นจริงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น เมื่อปล่อยวางย่อมหลุดพ้นและนิพพาน นั่นคือ ลำดับของการเข้าถึง "พุทธะ" อันเริ่มต้นมาจาก "ความรู้สึกนึกคิด" ฉะนั้น ความเป็นคนจึงจัดเป็นธรรมชาติที่มีความพร้อมต่อการเข้าถึง "ความเป็นพุทธะ" ในตัวเอง. การประสมธาตุอย่างถูกส่วน ทำให้เกิดชีวิต นักคิดบางพวก มีความเห็นว่า การประสมกันอย่างถูกส่วนระหว่างธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมทำให้เกิดชีวิตได้ แต่ในทางพุทธศาสนาได้เติมเอา อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ เข้าไปด้วย จึงเป็นธาตุ ๖ ความจริง วิญญาณธาตุ มันสิงซึมอยู่ในธาตุ ๔ แต่นักคิดพวกนั้นมองไม่เห็น จึงไม่ยอมรับ อากาศธาตุ หมายถึง "ความว่าง" หรือ ที่ว่าง อันเป็นที่ตั้งหรือที่รองรับของธาตุทั้งปวง ถ้าไม่มีที่ว่าง สิ่งทั้งปวงก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้. เป็นอันกล่าวได้ว่า ไม่มีธาตุใดที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ต้องอาศัยการประสมปรุงแต่งกันทุกๆ ธาตุ อย่างเหมาะสม จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ชีวิต" และมีความรู้สึกได้. สิ่งที่ต้องสังเกตและจำไว้เป็นหลัก ก็คือว่า "ถ้ามีชีวิตต้องมีความรู้สึกด้วย" อันหมายรวมถึง คน สัตว์ และพืช ฉะนั้น ทุกชีวิตย่อมมีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะ คือ มีความรู้สึกได้. เมื่อถือเอาตามความหมายที่ว่า ในทุกธาตุย่อมมีวิญญาณธาตุแฝงอยู่ จักทำให้เข้าใจว่า แม้ในวัตถุธาตุ ก็มีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะ ในเมื่อ "ไกวัลยธรรม" เป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด และสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอาณาจักรแห่งไกวัลยธรรม ย่อมมีธรรมชาติแห่งพุทธะ ฉะนั้น ย่อมกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งมีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะ ทุกสิ่งมีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะ การมองเห็นว่า สิ่งทั้งปวงทุกสิ่งย่อมเต็มไปด้วยเชื้อแห่งความเป็นพุทธะ ทำให้มีความเคารพรักในสิทธิของสิ่งทั้งปวง แม้เม็ดกรวดเม็ดทราย ไม่ทำให้เกิดการดูถูกว่า เป็นของชั้นต่ำ อันเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งชั้นวรรณะ ยึดมั่นถือมั่นเป็นเขาเป็นเรา จะมีความเห็นแจ่มแจ้งอยู่ว่า ทุกสิ่งมีสภาพแห่งความเป็นพุทธะอย่างเดียวกัน เป็นการเข้าถึงสภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง ไม่มีการแบ่งแยกเป็น คน สัตว์ พืช หรือสิ่งของ นั่นคือ มีแต่ธรรมชาติแห่ง "ความเป็นพุทธะ" แม้ในปรมาณูหนึ่งๆ ก็มีค่าสำหรับความเป็นพุทธะ หรือสำหรับความมีชีวิตในอนาคต ถ้าได้มีความเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องครบถ้วน เหมาะสมเมื่อไร มันก็แสดงรูปออกมาเป็นความมีชีวิต หรือมีความรู้สึก ซึ่งเป็นเชื้อแห่งความเป็นพุทธะโดยตรง อันจะต้องมีการพัฒนาต่อไป จนเป็นมนุษย์ ซึ่งมีความพร้อมต่อการที่จะรู้แจ้ง "อริยสัจจ์ ๔" ความรู้สึกที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ไปสู่ความรู้แจ้ง คือรู้ผิดรู้ถูก แต่ธรรมชาติแห่งความรู้สึก กับเชื้อแห่งความรู้สึก มันอยู่ห่างไกลกันมาก ยกตัวอย่างคนๆ หนึ่ง นับตั้งแต่เกิดในท้องแม่ ย่อมมีความรู้สึกเกิดมาก่อน แล้วต่อมาจึงมีความนึกคิด และการที่ปรากฏออกมาเป็นความรู้สึกนึกคิด ย่อมแสดงว่า มันมีเชื้อแห่งความรู้สึกนึกคิดก่อตัวมาก่อนแล้ว ดังกล่าวแล้วว่า ความรู้แจ้งได้แก่ "การรู้ผิดรู้ถูก" ความรู้นี้จะรุดหน้าต่อไปจนกระทั่ง มีความเบิกบานเต็มที่ถึงที่สุด เรียก "พุทธสภาวะ" การที่มีความรู้แจ้งได้อย่างนี้ แสดงว่า "ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ" ได้มีอยู่แล้วในธรรมชาติอันนั้น. ความเป็นพุทธะ รุดหน้าได้ถึงจุดสมบูรณ์ ในเมื่อธรรมชาติแห่งพุทธะ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกคน ฉะนั้น ทุกชีวิตย่อมไหลไปสู่นิพพาน ทั้งนี้มีความแตกต่างกัน ตรงที่ธรรมชาติแห่งพุทธะจะเบิกบานได้ช้าหรือเร็ว ซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจของเหตุปัจจัย ดูตัวอย่างพระเทวทัต แม้จะทำผิดถึงขั้นอนันตริยกรรม ครั้นรับบาปใช้กรรมใช้เวรหมดแล้ว ในที่สุดก็ยังจะได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ด้วยเหตุแห่งการสำนึกผิด และน้อมจิตถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งก่อนถูกแผ่นดินสูบ นี่เป็นการแสดงถึง ความถูกต้องที่พัฒนาขึ้นมาจากความผิด การที่พุทธสภาวะ หรือเชื้อแห่งความเป็นพุทธะ ได้วิวัฒนาการมาถึงระดับความเป็นคน นั้นแสดงว่า มีความพร้อมในการที่จะเข้าถึงพุทธสภาวะได้โดยเร็ว ดังเช่นมีปรากฏว่า สามเณรเด็กๆ ก็สามารถบรรลุอรหันต์ได้ ข้อนี้ หมายความว่า บุคคลถ้าไม่ปิดประตูตัวเองเสียด้วยอุปาทาน ผู้นั้นจักดำเนินเข้าสู่พุทธสภาวะได้โดยเร็ว เวลานี้มีการกล่าวกันว่า การบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เป็นสิ่งหมดสมัยแล้ว แต่ถ้าเข้าใจว่า ธรรมชาติแห่งพุทธสภาวะไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่ อย่างเดียวกับไกวัลยธรรม เพราะธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ย่อมมีอยู่ในทุกสิ่งทุกส่วนของสิ่งที่เกี่ยวกับ "ไกวัลยธรรม" ดังนี้แล้ว ย่อมทำให้พบความจริงว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ จักไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา และสถานที่เช่นเดียวกัน โดยนัยนี้ ถ้ากล่าวตามหลักอริยสัจจ์ ๔ แล้ว จะยืนยันได้ทันทีว่า ทุกคนสามารถบรรลุพุทธภาวะได้ที่นี่เดี๋ยวนี้ ทุกศาสนา มีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า "ไกวัลยธรรม" เป็นสิ่งเดียวที่มีอยู่ และมีสภาพเป็นหนึ่งเดียว แม้จะแยกออกเป็นกี่ส่วน ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน ดังที่กล่าวว่า "หนึ่งสิ่งในทุกสิ่งและทุกสิ่งในสิ่งหนึ่ง" เปรียบด้วยน้ำ แม้จะแยกไปอยู่ในที่ใดก็ตาม ย่อมยังสภาพแห่งความเป็นน้ำอย่างเดียวกัน โดยความหมายนี้แสดงว่า ทุกศาสนาย่อมมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือ "ดับทุกข์" ฉะนั้น ทุกศาสนาแม้จะต่างกันโดยชื่อหรือรูปแบบ แต่ก็ตั้งอยู่ในกฏแห่งไกวัลยธรรมอย่างเดียวกัน ในเมื่อธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ เป็นอันเดียวกับไกวัลยธรรม โดยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า ทุกศาสนาย่อมมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอย่างเดียวกัน. กล่าวให้ชัดถึงตัวบุคคล โดยเหตุที่ทุกคนมีเชื้อหรือธรรมชาติแห่งพุทธะและทุกศาสนาก็บัญญัติขึ้นเพื่อคน แล้วจุดหมายปลายทางของทุกคนจักไปสู่ความดับทุกข์ คือ "พุทธภาวะ" ฉะนั้น ทุกศาสนาย่อมบัญญัติขึ้นสอน เพื่อนำไปสู่จุดหมายอันเดียวกัน คือ "ความเป็นพุทธะ" ความหวังต่อการเข้าถึงพุทธภาวะ เมื่อทำความเข้าใจได้ว่า "พุทธภาวะ" เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในไกวัลยธรรม โดยเหตุที่ไกวัลยธรรมเป็นที่รวมของทุกสิ่ง ฉะนั้น ทุกสิ่งย่อมมีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะในตัวมันเอง เมื่อเป็นดังนี้ ย่อมทำให้มีความหวัง มีความมั่นใจ มีความแน่ใจ และมีความกล้าหาญต่อการที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพุทธภาวะในตนเอง พร้อมกันนั้น ก็จะมีความเมตตากรุณา หรือเคารพรักในสิ่งทั้งปวง ในฐานะที่มีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอย่างเดียวกัน ชาวโลกจะไม่มีทางเบียดเบียนกันด้วยความเข้าใจอันนี้ เพราะการเบียดเบียนผู้อื่นที่แท้ก็คือ การเบียดเบียนตนเอง ในทางตรงกันข้าม การช่วยเหลือผู้อื่น ก็คือการช่วยเหลือตัวเอง ในความหมายเดียวกัน การมองเห็นความเป็นพุทธะในสิ่งอื่น ย่อมทำให้ความเป็นพุทธะในตนเองเบิกบานงอกงามขึ้น ชาวธิเบตทำความเคารพผู้อื่น ด้วยการทำความรู้สึกว่าเป็นการเคารพพระพุทธเจ้าในตัวผู้นั้น สรุปความ ตามที่ได้แสดงมาในตอนนี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่า เชื้อแห่งความเป็นพุทธะมีอยู่ในทุกสิ่ง ในฐานะเป็นไกวัลยธรรม เช่นเดียวกับเชื้อแห่งความมีชีวิต ย่อมมีในทุกสิ่ง และไม่อาจแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่มีชีวิต กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ย่อมมีเชื้อแห่งความมีชีวิตพร้อมอยู่ในนั้น แม้สิ่งที่ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย แต่มันก็มีเชื้อแห่งความที่จะมีความรู้สึกซ่อนอยู่ในนั้น รอเวลาต่อการที่จะพัฒนาไปสู่ความมีชีวิต และความรู้สึกต่อไป. เป็นอันว่า ความที่จะวิวัฒนาการเป็นบุคคลผู้รู้แจ้งถึงที่สุด นับเป็นของธรรมดาสามัญที่สุด มีได้แก่ทุกหน่วยของสิ่งที่กำลังถูกสมมติว่า เป็นสิ่งที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิต เมื่อทำใจให้เปิดกว้างอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นการแผ่เมตตาไปยังสรรพสิ่ง เมื่อเมตตาเจริญ ปัญญาก็ย่อมเจริญ แล้วการ "ตรัสรู้" ก็เป็นสิ่งที่หวังได้โดยง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น