วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
เวลาของเรามีน้อยหลวงพ่อปราโมทย์ : นี้บางคนนี่ที่อินทรีย์แก่กล้านะ พอทำความรู้ตัวขึ้นมาปุ๊บ จิตตั้งมั่นมันรู้ตัวปุ๊บ เริ่มเดินปัญญาได้เองนะ มันเห็นกายแยกออกไปส่วนหนึ่งจิตเป็นคนดู เห็นเวทนาแยกเป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนดู เห็นสังขารที่เป็นกุศลเป็นอกุศลนะแยกไปส่วนหนึ่งจิตเป็นคนดู แยกออกมาได้ แล้วเห็นจิตนั้นเกิดดับเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง นี่บางคนที่เค้าทำมาแล้วนะพอจิตตั้งมั่นปุ๊บมันเห็นเองเลย นี้บางคนไม่เป็น บางคนไม่เป็นก็ต้องฝึกเอา วิธีฝึกก็คือช่วยมันหัดแยกธาตุแยกขันธ์ ช่วยมัน วิธีช่วยทำอย่างไรดี นั่งก็ได้นะ นั่งให้สบายนะ เอาให้สบายสุดๆเลยนั่ง แต่อย่างนั่งหลับก็แล้วกัน สมมติว่านั่งสมาธิแล้วสบายก็นั่งสมาธิไป นั่งเก้าอี้แล้วสบายก็นั่งเก้าอี้ไปนะ มีเก้าอี้ตัวละแสนนั่งแล้วแทบจะปลิวแทบจะลอยก็นั่งไป ไม่เป็นไรหรอก ไม่ได้เกี่ยวกับท่านั่งหรอก หลวงพ่อพุธเคยสอนหลวงพ่อนะว่า ไม่เกี่ยวกับอิริยาบถเลย ท่านบอกเอาหัวทิ่มพื้นนะเท้าชี้ฟ้า ก็ภาวนาได้ นี่ไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถนะ เพราะฉะนั้นเบื้องต้นนั่งให้สบายไปก่อน นั่งให้สบายนะแล้วค่อยๆสังเกตไป ร่างกายที่นั่งอยู่นี่เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ค่อยๆหัดดู บางคนมันรู้เอง ถ้าคนไหนมันไม่รู้เองนะก็ช่วยมันหน่อย บางทีครูบาอาจารย์ ให้พิจารณากาย ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง ร่างกายเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุนี่ พิจารณา ๆ ไป ช่วยมัน ช่วยมันดูเพื่อให้เห็นว่าร่างกายเป็นส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง หรือถ้าเราไม่พิจารณาเรานั่งดูเอาเลยก็ได้ เห็นร่างกายที่หายใจออก เห็นร่างกายที่หายใจเข้า เห็นร่างกายที่นั่ง ดูไปอย่างนี้ หรือร่างกายจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จริงๆได้ทุกอิริยาบถนะ แต่เอานั่งไว้ก่อน หรือใครถนัดเดินก็เดินไว้ก่อน ยกเว้นนอนนะ นอนนี่เอาไว้ทีหลังอย่าเพิ่งเลย หัดง่ายเกินไป งั้นเอายืน เอาเดิน เอานั่งไว้ก่อน ใครถนัดอะไรก็เอาอันนั้นแหละ อย่างหลวงพ่อถนัดนั่ง หลวงพ่อก็นั่งดูเห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู ฝึกอย่างนี้ ดูไปๆ จะเห็นเลยว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า ร่างกายกับใจนั้นเป็นคนละอันกัน นี่มันเริ่มแยกแล้ว เริ่มแยกขันธ์แล้ว รูปขันธ์อยู่ส่วนหนึ่ง นามขันธ์อยู่ส่วนหนึ่ง นั่งต่อไปเรื่อยๆ นั่งให้สบาย นั่งเก้าอี้ตัวละหมื่น ตัวละแสนอะไรก็นั่งไป นั่งไปๆ สักพักหนึ่งก็เมื่อย มีไหมนั่งเก้าอี้แพงๆแล้วไม่เมื่อย ที่หลวงพ่อสังเกตนะ เก้าอี้ยิ่งแพงยิ่งนั่งแล้วเมื่อย เราคงไม่มีบุญนะ เวลาไปเทศน์ที่ไหนนะเค้าจะจัดเก้าอี้ที่นั่งแล้วยุบไปครึ่งตัว โผล่หัวออกมาหน่อยนึง โอ๊ยเมื่อยจะตาย นั่งเกร็งไว้ตลอดเลย นั่งลงไปนะประเดี๋ยวนึงก็เมื่อยขึ้นมา พอเมื่อยเราค่อยๆสังเกตนะ ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่งนะ ความเมื่อย ร่างกายยังไม่ได้ขยับเลย เมื่อกี้ไม่เมื่อย ตอนนี้ชักเมื่อยขึ้นมาแล้วนี่ ค่อยดูอย่างนี้ เราจะเห็นว่าความเมื่อยกับร่างกายนี้เป็นคนละอันกัน ความเมื่อยเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา เห็นว่าเวทนากับกายนี้เป็นคนละส่วนกันจริงๆ จิตเป็นคนดู นี่เราแยกได้สามขันธ์แล้วนะ ทีแรกนั่งไปหรือเดินไปแล้วเห็นว่าร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่นั่งอยู่นี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนดูนี่แยกกายกับจิตออก ถัดจากนั้น แยกต่อไปอีก นั่งไปเรื่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ มันเกิดปวดเกิดเมื่อยขึ้นมา เราเห็นร่างกายอยู่ส่วนหนึ่งนะความปวดความเมื่อยเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามา เข้ามาทีหลังหรอก ทีแรกไม่ปวดไม่เมื่อยนะ ความปวดความเมื่อยแทรกเข้ามา เป็นอีกขันธ์หนึ่ง ร่างกายกับความปวดเมื่อยคนละอันกัน จิตเป็นคนดู นี่ได้สามขันธ์แล้วนะ ต่อไปพอร่างกายมันปวดมันเมื่อยมากขึ้นๆ จิตชักจะกระสับกระส่ายแล้ว ถ้าเราดูเป็นเราจะเห็นว่าจิตไม่ได้เมื่อย กายก็ไม่ได้เมื่อย ความปวดความเมื่อยนั้นแทรกเข้ามาอยู่ในกาย จิตไม่ได้เมื่อยเลยนะ จิตไม่เกี่ยวเลยแต่จิตกระสับกระส่ายเพราะจิตมันรักกาย มันรักว่า นี่ร่างกายของเรา ว่านั่งอย่างนี้เดี๋ยวจะเป็นอัมพาตนะ ยังไม่เคยเห็นใครนั่งสมาธิเป็นอัมพาตสักคนเลยนะ มีแต่ไปทำอย่างอื่นเป็นอัมพาต นี่เราค่อยดูไป พอมันเจ็บมันปวดมากขึ้นๆนะ ใจมันกระสับกระส่าย เราจะเห็นเลยนะว่า เมื่อกี้ใจมันเฉยๆนะ ตอนนี้ใจมันกระสับกระส่าย ใจกับความกระสับกระส่ายมันคนละอันกันอีก นี่ค่อยดูอย่างนี้ ทีแรกก็ดูกายนะกับจิต มีจิตเป็นคนรู้คนดู ต่อมาความปวดความเมื่อยมันแทรกเข้ามาในกายเราก็เห็นความปวดความเมื่อยเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่กาย พอมันปวดเมื่อยมากนะความกระสับกระส่ายแทรกเข้ามาในจิต พอมีสติรู้ทันอีกก็เห็นว่า ความกระสับกระส่ายก็ไม่ใช่จิต ความกระสับกระส่ายกับความปวดเมื่อยก็คนละอันกัน ความปวดอยู่ที่กายนะแต่ว่าใจมันทุรนทุรายขึ้นมา กังวลขึ้นมา กลุ้มใจขึ้นมา หงุดหงิดขึ้นมา โมโหขึ้นมา นี่มันมาเกิดที่ใจ แล้วมันก็ไม่ใช่ใจด้วย ความโกรธก็ไม่ใช่ใจ ความหงุดหงิดก็ไม่ใช่ใจ ใจเป็นคนดู นี่หัดแยกมันอย่างนี้นะ นี่ได้สี่ขันธ์แล้ว ได้ร่างกายนะ ขันธ์หนึ่ง เวทนาความปวดความเมื่อยขันธ์หนึ่ง ความทุรนทุรายของจิตใจนี่เป็นสังขารขันธ์อีกขันธ์หนึ่ง จิตเป็นคนดูอีกขันธ์หนึ่ง สัญญาขันธ์อย่างเพิ่งไปยุ่งกับมัน ยุ่งกับสัญญาเร็วเกินไปเดี๋ยวบ้า เรียกสัญญาวิปลาส เอาไว้ก่อน งั้นเวลาท่านสอนท่านจะสอน กาย เวทนา จิต เห็นไหมจะสอนตรงนี้ แต่สัญญาเว้นไว้ก่อนอย่าเพิ่งไปยุ่ง บางคนไปยุ่งกับสัญญานะ พยายามดัดแปลงสัญญาเช่น เห็นโต๊ะเรียกเก้าอี้ อย่างนั้นอย่าไปยุ่งกับมัน ให้รู้ รู้ลูกเดียวนะ รู้ลงในกาย รู้เวทนา รู้ความปรุงแต่งที่เป็นกุศล-อกุศลของจิต แล้วก็รู้จิตใจของเราแต่ละส่วนๆ นี่หัดแยกอย่างนี้นะ ถ้ามันไม่แยกเองก็ช่วยมันแยก ตามวิธีที่หลวงพ่อเล่านี่ นั่งดูมันไป ค่อยๆพิจารณาค่อยๆแยกนะ ที่นี้พอมันแยกแล้วนะ ขันธ์แต่ละขันธ์จะไม่ใช่ตัวเราแล้วจะแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นเลย ร่างกายถ้ามันแยกออกมาจากจิตเมื่อไร ร่างกายจะไม่ใช่ตัวเรา จะรู้สึกนะเป็นความรู้สึก ไม่ใช่ความคิด จะรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราความปวดความเมื่อยก็ไม่ใช่ตัวเรา จิตใจที่เป็นสุข ทุกข์ก็ไม่ใช่เรา จิตใจที่เป็นกุศล-อกุศลนี่ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวเรา ตัวจิตเองที่เป็นผู้รู้ผู้ดูก็ไม่ใช่เรา เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ผู้รู้ไม่เที่ยงหรอก ทนอยู่ไม่ได้ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นทนอยู่ไม่ได้ สิ่งใดทนอยู่ไม่ได้สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเรา คำว่าเรา หมายถึง เราถาวร มีเราที่เป็นอมตะ นี่เรียก อัตตา อัตตาหมายถึงมีตัวตนเราถาวร ไม่มีตัวเราถาวรมีแต่ตัวเราที่ปรุงขึ้นมาแว๊บๆ เราภาวนารู้สึกมั้ยบางทีมีเราขึ้นมาแว๊บๆ แต่เดี๋ยวเดียวหายไปแล้ว อันนั้นไม่ใช่อัตตา เค้าเรียกว่ามานะ ไม่ใช่ตัวอัตตานะ อัตตาไม่มี มันเป็นตัวมานะ เป็นตัวสำคัญมั่นหมายว่ามีเรา มีกูขึ้นมา ค่อยดูลงไปเรื่อย ไม่มีอะไรเป็นเรา คือไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตนถาวร กายก็ไม่ใช่ตัวตนถาวรนะ ไม่ใช่ตัวเราเลยเป็นของถูกรู้ถูกดู เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดที่กายหรือเกิดที่ใจก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า กุศล-อกุศลทั้งหลายนี่เกิดที่ใจไม่เกิดที่กาย เวทนานี่เกิดได้ทั้งกายทั้งใจ กุศล-อกุศลเกิดที่ใจ จิตไปรู้เข้าก็เห็นว่าไม่ใช่เรา ตัวจิตเองละ ทำอย่างไรดี เราก็มีจิตเห็นจิต มีจิตดวงใหม่ไปรู้จิตดวงเก่าที่เพิ่งดับไปสดๆร้อนๆ เราก็จะเห็นว่าจิตนั้นไม่คงที่หรอก เช่นจิตเมื่อกี้หลงตอนนี้รู้สึก หรือรู้สึกอยู่พักหนึ่งก็หลงไปใหม่ ตอนหลงไปนะก็จะไม่รู้นะว่าเมื่อกี้รู้สึกตัวอยู่เพราะหลงอยู่ ก็จะเว้นไปช๊อตหนึ่ง พอหลงไปอีก พอมีสติรู้ทันว่าเมื่อกี้หลงนะก็กลับมารู้ได้อีก พอรู้แล้วก็บางทีก็เกิดสติ เกิดจิตอีกดวงหนึ่งรู้ว่าจิตเมื่อกี้รู้สึกตัวอยู่ อย่างนี้ก็มีนะ เพราะอย่างนั้น จิตนี่เราเลือกไม่ได้ว่าเป็นจิตที่รู้สึกตัวหรือเป็นจิตที่หลง เราเลือกไม่ได้นะ แล้วแต่มันจะเกิดนะเราบังคับมันไม่ได้ นี่คืออนัตตานะ บังคับไม่ได้หรอก ไม่อยู่ในอำนาจ เราเฝ้ารู้ไปนะ มันมีแต่ของไม่เที่ยงมีแต่ของเป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ จิตนี่ จิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็หายไป กลายเป็นจิตเฉยๆ เฉยๆสักพักหนึ่งอาจจะสุขขึ้นมาอีกก็ได้ หรืออาจจะทุกข์ก็ได้ มันทุกข์ไป รู้ด้วยความเป็นกลางไม่ใช่หายไปอีก อาจจะเกิดจิตเฉยๆขึ้นมาอีกหรือเกิดจิตที่ยินดี อย่างบางทีเราทุกข์ๆ อยู่นะ เรามีสติรู้ทันนะจิตเบิกบาน จิตที่เบิกบานเป็นจิตอีกดวงหนึ่ง นี่เฝ้ารู้ลงไปนะ มีแต่เกิดดับ อันนั้นเกิดอันนี้ดับ อันนั้นเกิดอันนี้ดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในกายนี่แหละ ร่างกายก็เกิดดับนะ เดี๋ยวหายใจออกหายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดินนั่งนอน เดี๋ยวเคลื่อนไหว เดี๋ยวหยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ถ้าภาวนานะ ถ้ามีสมาธิหนุน ลงไปก็เห็นเกิดดับจริงๆ เป็นกลุ่มๆ เป็นหย่อมๆ อยู่ในกายนี้ วับๆๆๆๆ ถ้าไม่เห็นก็ดูไป กายที่หายใจออกอันนึง กายที่หายใจเข้าอันนึง กายที่ยืนเดินนั่งนอนคนละอันๆ ดูไป ไม่มีตัวเราหรอก คนละอันกัน ไม่ใช่ตัวตนถาวร เวทนาก็ไม่ใช่ตัวตนถาวร เกิดแล้วก็ดับ สังขารก็ไม่ใช่ตัวตนถาวร ดีได้ก็ยังชั่วได้ ชั่วได้ก็ยังดีได้ จิตเองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็เพ่ง เดี๋ยวไปทางตา เดี๋ยวไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่ ก็ดูลงไปอย่างนี้ มีปัญญานะ เห็นเลยทุกอย่างในกายในใจนี้ เกิดดับหมดเลย ไม่มีตัวไหนเลย กายก็ไม่ใช่เรา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่ใช่เราสักอันเดียว ดูไปซ้ำไปซ้ำมา ปัญญามันเกิดว่าตัวเราไม่มี จิตมันสรุปได้ว่าตัวเราไม่มี เพราะจริงๆไม่มี จิตมันไม่ยอมรับ พามันดูทุกวันๆ มันเห็นความจริงในที่สุดมันต้องยอมรับ ยอมรับได้ ได้เป็นพระโสดาบันนะ ละความเห็นผิดไป เอาแค่โสดานะ เอาแค่นี้ก่อน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น