วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วิธีเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้องอารมณ์พระโสดาบัน อารมณ์พระโสดาบัน ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับคืนนี้ก็มาเริ่มปฏิบัติเนื่องในโสดาปัตติผล หรือว่า ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค การเจริญพระกรรมฐานนี่ พระพุทธเจ้ามีความต้องการให้ผู้ปฏิบัติทุกท่านเข้าถึงพระอริยมรรค พระอริยผล ถ้าเราจะปฏิบัติกันอย่างเลื่อนลอยก็มีความสุขเหมือนกัน แต่มีความสุขไม่จริง ที่จะปฏิบัติให้มีความสุขจริงๆ ก็จะต้องมีจุดใดจุดหนึ่งเป็นเครื่องเข้าถึงจึงจะใช้ได้ ในอันดับแรกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงต้องการผลอันดับต้น คือได้พระโสดาปัตติมรรคหรือพระโสดาปัตติผล หรือการที่เราเรียกกันว่า พระโสดาบัน ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะศึกษาอย่างอื่น ก็โปรดทราบว่า สำหรับพระโสดาบันนี้ละสังโยชน์ได้ ๓ ประการ คือ:- ๑. สักกายทิฏฐิ ตัวนี้มีปัญญาเพียงเล็กน้อย เพียงแค่มีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายเท่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต คิดอยู่เสมอว่าความตายเป็นธรรมดาของชีวิต เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงความตายให้พ้นได้ และความตายนี้ จะปรากฏกับเราเมื่อไรก็ไม่แน่นอนนัก และเชื่อว่า ตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายกลางคืน ตายกลางวัน อย่างนี้ไม่มีความแน่นอน เพราะว่าความตายไม่มีนิมิต ความตายไม่มีเครื่องหมาย แต่ถึงอย่างไรก็ดี เราก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความตายไปได้ นี่สำหรับข้อแรกสักกายทิฏฐิ ที่เห็นว่าร่างกายก็คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรานิยมเรียกกันว่า ร่างกาย พระโสดาบันมีความรู้สึกว่ามีปัญญาเพียงเล็กน้อย รู้แค่ตายเท่านั้น ยังไม่สามารถจะจำแนกร่างกายว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราได้ ความรู้สึกของพระโสดาบัน ยังมีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา ทรัพย์สินทั้งหลายยังเป็นเรา เป็นของเรา แต่ทว่ามีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นของเรานี้ทั้งหมด เมื่อเราตายแล้วเราก็ไม่มีสิทธ์ที่จะเข้ามาครอบครอง หรือถ้าว่าเรายังไม่ตาย สักวันหนึ่งข้างหน้ามันก็ต้องสลายตัวไป เนื่องในข้อว่า สักกายทิฏฐิ พระโสดาบันคิดได้เพียงเท่านี้ ยังไม่สามารถจะแยกกาย ทิ้งไปได้ทันทีทันใด องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่า พระโสดาบันมีปัญญาเล็กน้อย ในข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา พระโสดาบันไม่สงสัยในคำสั่ง และคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่า คำสั่ง ก็ได้แก่ ศีล คำสอน ก็ได้แก่ จริยาอันหนึ่งที่เราเรียกกันว่า ธรรมะ เป็นความประพฤติดีประพฤติชอบ ศีล พระพุทธเจ้าสั่งให้ละ หมายความว่า ละตามสิกขาบทที่กำหนดให้ไว้ คำสอนทรงแนะนำว่า จงทำอย่างนี้จะมีความสุขอีกทั้งคำสั่งก็ดี ทั้งคำสอนก็ดี พระโสดาบันก็มีความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย คือ เชื่อพระพุทธเจ้า ในการเชื่อก็ใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ไม่ใช่สักแต่ว่าเชื่อ นี่สำหรับสังโยชน์ข้อที่ ๓ สีลัพพตปรามาส เพราะอาศัยที่พระโสดาบันมีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำบรรดาพระสงฆ์ว่า จงนำธรรมะนี้ไปสอน พระสงฆ์ก็ไปสอน พระโสดาบันใช้ปัญญาเพียงเล็กน้อยมีความเข้าใจดี ยินยอมรับนับถือคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสมา แล้วพระสงฆ์นำมาแสดง อาศัยที่ศรัทธาในพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการนี้ พระโสดาบันจึงเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เป็นอันว่าพระโสดาบัน ถ้าเราจะไปพิจารณาจริงๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรสำคัญ มีสภาวะเหมือนชาวบ้านชั้นดีนั่นเอง ทีนี้เราจะกล่าวถึง องค์ของพระโสดาบัน ท่านที่เป็นพระโสดาบันจริงๆ นั้น มีอารมณ์ใจ คำว่า " องค์ " นี่หมายความว่า อารมณ์ที่ฝังอยู่ในใจ อารมณ์ใจของพระโสดาบันจริงๆ ก็คือ ๑. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ๒. มีความเคารพในพระธรรม ๓. มีความเคารพในพระสงฆ์ ๔. มี ศีล ๕ บริสุทธ์ อันนี้ก็ตรงกับพระบาลี ที่องค์พระชินสีห์ตรัสว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี เป็นผู้มีอธิศีล สำหรับกิเลสส่วนอื่นจะเห็นได้ว่า พระโสดาบันยังมีกิเลสทุกอย่าง ตามที่เรากล่าวกันคือ:- โลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง จะว่ารักก็รัก อยากรวยก็อยากรวย โกรธก็โกรธ หลงก็หลง แต่ไม่ลืมความตาย คำที่ว่าหลงก็เพราะว่า พระโสดาบันยังต้องการความร่ำรวยด้วยสัมมาอาชีวะ พระโสดาบันยังต้องการความสวยสดงดงาม ต้องการมีคู่ครอง อย่าง นางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ดี ภรรยาของพรานกุกกุฏมิตร ก็ดี ทั้งสองท่านนี้เป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุ ๗ ปี แต่ในที่สุด ท่านก็แต่งงานมีเครื่องประดับประดาสวยงาม เป็นอันว่ากิเลสที่เราต้องการกัน เนื่องจากการครองคู่ระหว่างเพศ พระโสดาบันยังมี และก็ยังมีครบถ้วน เพราะว่าอยู่ในขอบเขตของศีล ไม่ทำ กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ละเมิดความรักของบุคคลอื่น ไม่ทำให้ผิดประเพณีหรือกฎหมายของบ้านเมือง และเป็นไปตามศีลทุกอย่าง คือรักอยู่ในคู่ผัวเมียตามปกติ นี่ขอบเขตของพระโสดาบันมีเท่านี้ มีความต้องการรวยด้วยสัมมาอาชีวะ พระโสดาบันยังประกอบอาชีพ แต่ไม่คดไม่โกง ไม่ยื้อไม่แย่งใครเท่านั้น หามาได้แม้จะร่ำรวยแสนจะร่ำรวยก็ได้มาด้วยความบริสุทธ์ ไม่คดไม่โกงเขา พระโสดาบันยังมีความโกรธ ไอ้โกรธน่ะโกรธได้ แต่ว่าพระโสดาบันยังไม่ฆ่าใคร เกรงว่าศีลจะขาด พระโสดาบันยังมีความหลง แต่หลงไม่เลยความตาย ยังมีความรู้สึกอยู่ว่าต้องการชีวิต ชีวิตของเรามีอยู่ ต้องการทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น ยังไงๆ เราก็ตายแน่ การที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความตายไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เป็นอันว่าถ้าเราพิจารณากันจริงๆ ความเป็นพระโสดาบันนี่รู้สึกว่าไม่ยากเลย สำหรับในวันนี้ก็จะขอแนะนำบรรดาท่านพุทธบริษัท ให้พยายามใคร่ครวญถึงความตายเป็นสำคัญ เรื่องความตายนี่ก็ดี การควบคุมอารมณ์จิตให้ปราศจากความฟุ้งซ่านก็ดี ควรจะทำให้เป็นปกติ ถ้าวันใดถ้าเราเผลอจากการควบคุมอารมณ์จิต ให้ระงับจากความฟุ้งซ่านก็ดี ควรจะทำให้เป็นปกติ ถ้าวันใดเราเผลอจากการควบคุมอารมณ์จิต ให้ระงับจากความฟุ้งซ่านก็ดี วันใดถ้าเราเผลอไปลืมนึกถึงความตายก็ดี ก็จงประณามตนเองว่าเรานี้เลวเต็มทีแล้ว เพราะว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้วสอนตามความเป็นจริงทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านทั้งหลายจะพิจารณาเห็นได้ว่า คนและสัตว์ทุกอย่าง ทั้งคนและสัตว์ที่เกิดมาตายให้เราดูเป็นตัวอย่างและในเรื่องความตายนี้ไม่จำเป็นต้องศึกษาละเอียด เห็นกันอยู่แล้วทุกคน เพราะว่าคนส่วนใหญ่ลืมคิดไปว่าตัวเองจะตาย เคยไปในงานศพชาวบ้าน แต่ไม่ได้เคยคิดว่าเราจะเป็นศพอย่างชาวบ้านที่เขาตายกัน นี่เราประมาทกันอย่างนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้แนะนำว่า "จงนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ อย่าประมาทในชีวิต คิดว่าเราจะไม่ตาย" นี่เป็นความคิดผิด เรื่องนึกถึงความตายเป็นอารมณ์นี่เป็นความดี เป็นปัจจัยสำคัญให้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบันได้ง่าย จะยกตัวอย่างบุคคลที่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระจอมไตร แล้วก็มีความเคารพในคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระจอมไตรหรือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน นั่นก็คือเปสการีธิดา เปสการีธิดานี่เคยอยู่เมืองอาฬวี วันหนึ่ง องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงเสด็จประทับสำราญอิริยาบถ อยู่ในพระคันธกุฎีมหาวิหาร ในตอนเช้าองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงเสด็จไปแต่พระองค์เดียว ไม่มีใครติดตาม เข้าสู่เขตเมืองอาฬวี องค์สมเด็จพระชินสีห์ถือตอไม้เป็นธรรมาสน์ที่ประทับ ประทับยับยั้งอยู่ตรงนั้น ชาวบ้านได้ฟังข่าวเข้าก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า นำภัตตาหารมาถวาย ขณะนั้นเปสการีธิดาคือลูกสาวนายช่างหูก (เปสการี แปลว่า ช่างหูก ธิดา แปลว่า ลูกสาว) ทราบข่าวก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากับเขาเหมือนกัน เมื่อเข้าไปแล้วถวายอาหารแก่องค์สมเด็จพระภควันต์เสร็จ หลังจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเทศน์ ทรงเทศน์แบบสั้นๆ ว่า " ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ว่าความตายเป็นของเที่ยง ขอทุกท่านจงคิดไว้เสมอว่า อย่างไรก็ดีเราต้องตายแน่ สำหรับเวลากำหนดการตายของเราไม่มีแน่นอน เพราะความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ท่านทั้งหลายจงประกอบแต่ความดีเข้าไว้… ถ้าใครสร้างความชั่ว ตายแล้วจะไปอบายภูมิมีนรกเป็นต้น เกิดมาเป็นคนก็จะมีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความลำบาก แต่ถ้าคนใดสร้างความดี คิดถึงความตายไม่ประมาทในชีวิต คิดไว้เสมอว่าเราต้องตายแน่ จงอย่าคิดว่า วันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า ปีหน้า เดือนโน้น เราจึงจะตาย คิดไว้เสมอว่าวันนี้เราอาจจะตาย แล้วก็สร้างความดีเข้าไว้ ความดีจะส่งผลให้ท่านมีความสุข ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ…" และเมื่อองค์สมเด็จพระนราสภพูดเท่านี้ องค์สมเด็จพระมหามุนี ก็เสด็จกลับ เมื่อพระพุทธเจ้าไปแล้ว เทศน์ที่พระพุทธเจ้าสอนก็ตามพระพุทธเจ้าไปด้วย คือไม่ตามชาวบ้านไปที่บ้าน ตามพระพุทธเจ้ากลับวิหาร คือชาวบ้านไม่สนใจ ทว่าสาวน้อยกลอยใจหรือเปสการีธิดา เธอสนใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุ ทุกวันทุกคืน เธอนึกถึงวงหน้าขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ว่ามีดวงหน้าสวยงามคล้ายดวงจันทร์ และพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระภควันต์ก็แจ่มใสไพเราะ ลีลาแห่งการแสดงพระธรรมเทศนาก็น่าฟังเป็นที่ชื่นใจ เธอจำไว้ได้เสมอว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระองค์ทรงสอนว่า… ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต จงคิดแต่สร้างความดีไว้เสมอ… แล้วเธอก็ทำความดีทุกอย่าง ตามที่บิดามารดาและองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ การแนะนำในคราวนั้น ก็มีศีลห้าเป็นสำคัญ เธอนึกถึงพระพุทธเจ้าทุกวัน จัดเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน แบบที่เราภาวนาว่า พุทโธ เธอนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ จัดเป็น มรณานุสสติกรรมฐาน เธอไม่ประมาทในการประกอบกรรมทำกุศล สร้างสิ่งที่เป็นมงคลไว้ตลอดชีวิต ที่ว่ามีสิทธ์เข้าถึงธรรม ไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่ออารมณ์จิตของเธอดีอย่างนี้ มีอารมณ์ผ่องใส วันทั้งวันนึกถึงความตาย แต่ก็ไม่เศร้าหมอง คิดว่าเวลานี้แม่ของเราก็ตายไปแล้วเหลือแต่พ่อ สักวันหนึ่งพ่อก็ดี เราก็ดีจะต้องตาย แต่ก่อนที่เราจะตาย เราเป็นคนก็ควรจะเป็นคนดี เวลาเป็นผีควรจะเป็นผีดี คือผีที่มีความสุข ไม่ใช่ผีในอบายภูมิ เธอคิดอย่างนี้จนเป็นเอกัคคตารมณ์ ทุกวันนึกถึงความตาย ทุกวันนึกถึงวงพักตร์ขององค์สมเด็จพระจอมไตร ทุกวันคิดถึงพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ขึ้นใจจับใจจนเป็นเอกัคคตารมณ์ เวลานั้นวันที่พระพุทธเจ้าเทศน์ครั้งแรก เธอมีอายุได้ ๑๖ ปี ต่อมาเมื่อเธออายุย่างเข้า ๑๙ ปี องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรวจอุปนิสัยของสัตว์ในเวลาเช้ามืด เห็นนางตกในข่ายของญาณ ก็ตกใจว่านี่เรื่องอะไร ก็ทรงทราบด้วยอำนาจของญาณว่า ในสายวันนี้ กุลสตรีคนนี้ก็จะถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จึงได้พิจารณาว่า ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอจะมีคติที่แน่นอนไหม องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงทราบว่า ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอมีคติไม่แน่นอน คำว่า " คติ " แปลว่า การไป แน่นอนหรือไม่แน่นอน ก็หมายความว่า ถ้าแน่นอนก็ไม่ไปทุคติ ไม่ไปเกิดเป็นสัตว์นรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องเกิดเป็นคน หรือเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม ไปนิพพานอย่างนี้ ชื่อว่ามีคติแน่นอน องค์สมเด็จพระชินวรจึงมาคิดว่า ถ้าเราจะช่วยเธอ เธอจะมีคติที่แน่นอนไหม ก็ทรงทราบว่าถ้าทรงช่วยจะมีคติแน่นอน และพิจารณาต่อไปว่าช่วยเธอยังไงจึงจะมีคติที่แน่นอน องค์สมเด็จพระชินวรก็ทรงทราบว่าถ้าเราถามปัญหาเธอ ๔ ข้อ เธอตอบเราให้สาธุการรับรอง พอจบคาถา ๔ ข้อ เธอก็จะได้บรรลุพระโสดาบัน การตายคราวนั้นของเธอก็จะไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นที่อยู่อันบรมสุข ฉะนั้นในตอนเช้า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ชวนใคร ไปองค์เดียวไปนั่งอยู่ในที่เดิม หลังจากนั้นแล้วคนมาเฝ้า (ขอเล่าลัดๆ) ลูกสาวของนายช่างทำหูกทำงานเสร็จ ตัดสินใจมาเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระชินวรจึงได้ทรงมองดูหน้าเธอ เมื่อสบตากัน เธอก็ทราบว่าองค์สมเด็จพระภควันต์ต้องการให้เข้าไปใกล้ เธอเข้าไปแล้ว องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ถามปัญหา ๔ ข้อว่า " เธอมาจากไหน…? " เธอตอบว่า " ไม่ทราบพระเจ้าข้า" พระองค์ทรงถามว่า "เธอจะไปไหน…?" เธอตอบว่า "ทราบพระเจ้าข้า" พระองค์ทรงถามว่า "เธอทราบหรือ…?" เธอก็ตอบว่า "ไม่ทราบพระเจ้าข้า" ปัญหา ๔ ข้อนี้ คือ:- ข้อที่หนึ่ง ทรงถามว่า "เธอมาจากไหน…?" เธอตอบว่า "อาศัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรถามว่า เมื่อก่อนจะเกิดมาแต่ไหน เธอไม่ทราบ" ข้อที่สอง ทรงถามว่า "เธอจะไปไหน…?" เธอตอบว่า "ตายแล้วไปไหน หม่อมฉันไม่ทราบ" ข้อที่สาม ท่านถามว่า "ไม่ทราบหรือ…?" เธอตอบว่า "ทราบว่ายังไงๆ ก็ตายแน่ พระเจ้าข้า" ข้อที่สี่ แล้วองค์พระพุทธเจ้าทรงถามว่า "เธอทราบหรือ…?" เธอก็ตอบว่า "ไม่ทราบ ก็เพราะว่าจะตาย เวลาเช้า เวลาสาย เวลาบ่าย เวลาเที่ยง ก็ไม่ทราบพระเจ้าข้า และไม่ทราบอาการตาย ยังไงๆ ก็ตายแน่" พระพุทธเจ้าก็รับรองด้วยสาธุการ จึงถามเพียงเท่านี้ ความมั่นใจของเธอทำให้เธอเป็นพระโสดาบัน แต่ความจริงในตอนต้นนั้น เธอเข้าถึงพระโสดาปัตติมรรคอยู่แล้ว คือหนึ่งนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ไม่ประมาทในชีวิต ในข้อว่า สักกายทิฏฐิ เธอเข้าถึงแล้วในเบื้องต้น ข้อที่ ๒ เธอนึกถึงองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทุกวัน จัดว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ข้อที่ ๓ นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระชินวรทรงสอนไว้เสมอว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง เธอทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต ข้อที่ ๔ ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิสร มีศีล ๕ เป็นต้น ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอนไว้ เธอจำได้ทุกอย่าง และปฏิบัติทุกอย่าง อย่างนี้ถ้าจะกล่าวกันไป ก็ชื่อว่าเธอเป็นโสดาปัตติมรรคแล้ว แต่ว่าอารมณ์จิตยังไม่มั่นคง ต่อมา เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสด็จมาสนับสนุนอีกวาระหนึ่ง เธอมีความมั่นคงในความรู้สึก จิตมีความมั่นในคุณพระรัตนตรัย มั่นในความตาย คิดว่าเมื่อไหร่ก็เชิญ มันตายแน่ มั่นในศีลที่เธอรักษา แล้วก็มีศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในพระธรรมคำสั่งสอน อย่างนี้แหละบรรดาท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระชินวรกล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่าท่านพุทธบริษัททุกท่าน กาลเวลาที่เราจะแนะนำกันวันนี้ ก็รู้สึกว่าจะหมดเวลาเสียแล้ว เท่าที่พูดมาแล้วนี้ทั้งหมด เป็นปฏิปทาที่เราจะปฏิบัติให้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ท่านทั้งหลายมีความรู้สึกว่ายากไหม ถ้ายากก็ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำไป ดูตัวอย่าง เปสการีธิดา เป็นตัวอย่าง ว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร ท่านจึงกล่าวว่าเธอเป็นพระโสดาบัน ย้อนหลังไปนิด เธอนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ไม่ประมาทในชีวิต แล้วกาลต่อไปเธอนึกถึงวงพักตร์ของพระจอมไตรบรมศาสดา คือ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นธรรมดา เป็นเอกัคคตารมณ์ อารมณ์ทรงตัว แล้วเธอก็ปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน มีปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดเป็นต้น อย่างนี้องค์สมเด็จพระทศพลยอมรับนับถือว่าเธอเป็นพระโสดาบัน เข้าใจว่าท่านทั้งหลายผู้รับฟังคำสอนคงจะเห็นว่า คำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรในตอนนี้เป็นของไม่หนัก แล้วก็เป็นของไม่ยากสำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัท สำหรับวันนี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทพยายามทรงอารมณ์ให้เป็นสมาธิ จะนั่งก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จะนอนก็ได้ ให้จิตใจทรงอารมณ์ตามคำสั่งและคำสอน ที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นจนอวสาน ชอบใจตรงไหนทำตรงนั้นให้ทรงตัวและผลที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้ นั่นก็คือ ความเป็นพระโสดาบัน และต่อจากนี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน พยายามทรงอารมณ์และตั้งไว้ในความดีตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้เวลาที่ท่านจะได้พึงปรารถนา สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น