วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เมื่อไหร่มันจะจบจะพอกันเสียทีจงพากันทำตัวให้เหมือนกับนักรบโบราณ สมัยก่อนต้องทำกำแพงล้อมเมืองให้แน่นหนา มีค่ายคูประตูหอรบเสร็จ เพื่อป้องกันข้าศึกอันจะมาราวี นักรบที่ฉลาด เมื่อออกรบกับข้าศึกเห็นว่าจะสู้ข้าศึกไม้ได้แล้ว ก็ล่าทัพกลับสู่พระนคร แล้วรักษาพระนครเอาไว้ไม่ให้ข้าศึกเข้ามาทำลายได้ พร้อมกันนั้นก็สะสมรี้พลอาวุธและอาหารให้พร้อมเพรียง(คือ ทำสมาธิ ให้มั่นคงกล้าหาญ ) แล้วจึงออกรบข้าศึกอีกต่อไป (คือ มวลกิเลสทั้งปวง) สมาธิเป็นกำลังสำคัญมาก ถ้าไม่มีสมาธิแล้ววิปัสสนาจะเอากำลังมาจากไหน ปัญญาวิปัสสนามิใช่เป็นของจะพึงแต่งเอาได้เมื่อไร แต่เกิดจากสมาธิ ที่หัดได้ชำนิชำนาญมั่นคงดีแล้วต่างหาก ถึงผู้ได้สุกขวิปัสสกก็เถิด ถ้าไม่มีสมถะแล้วจะเอาวิปัสสนามาจากไหน เป็นแต่สมถะของท่านไม่คล่องเท่านั้น อย่างนี้พอฟังได้ ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อได้ทำสมาธิให้มั่นคงแน่นหนาดีแล้ว จนกระทั่งจะเข้าจะออกก็ได้ จะอยู่ให้นานๆ และพิจารณากายอันนี้ให้เป็นอสุภะ หรือเป็นธาตุก็ได้ พิจารณาคนในโลกนี้ทั้งหมดให้เป็นโครงกระดูกทั้งหมดก็ได้ หรือพิจารณาให้เห็นในโลกนี้ทั้งหมดว่างเป็นอัชฌัตตากาศ ว่างเปล่าไปหมดก็ได้ ฯลฯ จิตผู้มีสมาธิเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ย่อมเป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลา แล้วก็มองเห็นกิเลสของตน ซึ่งเกิดจากจิตของตนได้ชัดเจนว่า กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความมัน เกิดจากสิ่งนี้ๆ และมัน ตั้งอยู่ ได้ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ แล้วก็หาอุบาย ละ ด้วยอย่างนี้ ๆ เหมือนกับน้ำในสระที่ขุ่นมาเป็นร้อยๆ ปี เพิ่งมาใสสะอาดมองเห็นสิ่งสารพัดที่มีอยู่ก้นสระว่า แต่ก่อนแต่ไรเราไม่นึกไม่คิดเลยว่า ในก้นสระนี้มันจะมีของเหล่านี้ นั้น เรียกว่า วิปัสสนา คือ ความรู้ความเห็นตามสภาพจริง มันเป็นจริง อย่างไรก็เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่วิปริตผิดแปลกจากความเป็นจริงของมัน สมถะ ก็ละกิเลสได้เหมือนกัน แต่ละได้เหมือนคนถางหญ้า ตัดแต่ต้นให้ขาด ไม่ขุดเอารากออกให้หมด รากมันย่อมมีเวลางอกขึ้นมาอีกในเมื่อฝนตกลงมา คือ เห็นโทษในอารมณ์ที่มันเกิดจากอายตนะนะหกเหมือนกัน แต่เมื่อเห็นโทษก็รีบเข้าหาความสงบ โดยไม่พิจารณาอารมณ์นั้นๆให้ถี่ถ้วนอย่างสมาธิ สรุปความแล้วเรียกว่า ชอบเอาแต่ความสงบอย่างเดียว ไม่อยากพิจารณาให้เนิ่นช้า เหมือนกับตัวแย้อาศัยรูเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตราย เมื่อเห็นศัตรูมาก็วิ่งเข้ารูเสีย พ้นภัยอันตรายไประยะหนึ่งๆ ก็เท่านั้น ผู้ต้องการขุดรากเหง้าของกิเลสในตัว เมื่อกิเลสมันเกิดจากอายตนะทั้งหกในตัวของตน เช่น ตาเห็นรูป หูได้ฟังเสียงเป็นต้น เกิดผู้ผัสสะขึ้นให้ยินดีหรือยินร้าย ดีใจและเสียใจ เป็นต้น แล้วเข้าไปยึดเอามาเป็นอารมณ์ของตน ขุ่นมัวอยู่ในใจ จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนดิ้นรน กินไม่ได้นอนไม่หลับ จนกระทั่งทำอัตตนิบาต ฆ่าคนตายก็มี เมื่อเห็นชัดอย่างนี้แล้ว พึงทำสมาธิ ให้มั่นคงเป็นหลักเสียก่อน แล้วจึงตั้งจิตพิจารณาเฉพาะในอารมณ์นั้น ๆ แต่สิ่งเดียว เช่น ตาเห็นรูปที่เป็น อิฏฐารมณ์ แล้วเกิดความยินดีพอใจขึ้น ก็ให้พิจารณาเฉพาะแต่ความยินดีพอใจนั้นว่า มันเกิดจากตาหรือเกิดจากรูปกันแน่ เมื่อพิจารณาถึงรูปก็เห็นว่า รูปมันเป็นแต่รูปธรรมต่างหาก มันจะดีหรือเลว มันไม่ได้มาชักชวนให้เราไปยินดี หรือยินร้าย หรือให้เราไปหลงรักหรือชัง มันเป็นแต่รูปเฉยๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป มันดับไปตามสภาพของมันต่างหาก เมื่อพิจารณาตามตาผู้ไปเห็นรูปเล่า ตาผู้ส่งส่ายไปเห็นรูป พอกระทบเท่านั้นแสงสะท้อนกลับเข้ามาหาจักษุประสาทเข้า ก็เป็นรูปต่าง ๆนานาเกิดขึ้น ตาก็ไม่ได้ชักชวนไปให้ยินดียินร้าย หรือให้รักให้ชังอะไร ตามีหน้าที่ให้เห็น เห็นรูปแล้วก็ดับไป สิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ หรืออายตนะอื่นๆ ก็ให้พิจารณาอย่างเดียวกันนี้ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้แล้วก็จะเห็นชัดว่า สิ่งทั้งปวงหมดในโลกนี้ มันจะเกิดกิเลสขึ้นก็เพราะอายตนะทั้งหกนี้เป็นต้นเหตุทั้งนั้น ถ้าเราพิจารณาและไม่หลงตามอายตนะทั้งหกนี้ กิเลสก็จะไม่เกิดขึ้นในตัวของเรา ตรงกันข้าม มันจะเกิดปัญญาก็เพราะมีอายตนะทั้งหกนี้ อายตนะทั้งหกนี้เป็นสื่อกลางของความดีและความชั่ว จะไปสุคติและทุคติก็เพราะอายตนะทั้งหกเป็นต้นเหตุ โลกนี้จะกว้างก็เพราะจิตไม่มีสมาธิ ปล่อยตามอารมณ์ของอายตนะทั้งนั้น โลกนี้จะแคบก็เพราะจิตนี้ได้ฝึกหัดสมาธิ ให้อยู่ในบังคับของตน พิจารณาอารมณ์ของอายตนะทั้งหกแต่ภายใน คือ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว อายตนะ เป็นต้นว่า ตาเห็นรูป หูฟังเสียง ฯลฯ เหล่านี้จะไม่ปรากฏเลย จะปรากฏแต่รูปที่เป็นนามธรรม เสียงที่เป็นนามธรรมปรากฏเกิดขึ้นในสมาธินั้น โดยเฉพาะอายตนะภายนอกจะไม่รู้เลย เมื่อทำสมาธิให้แน่วแน่นเต็มที่แล้ว พิจารณาเห็น โลกจิต นี้มันเป็นเหตุทำให้เกิดอายตนผัสสะ สัญญา และอารมณ์ และตลอดสรรพกิเลสทั้งปวงแล้ว จิตก็จะถอนจากสิ่งทั้งหมด จะยังเหลือแต่ใจคือ ผู้รู้ อย่างเดียว จิต กับ ใจ ย่อมมีลักษณะอาการต่างกัน จิต ได้แก่ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง และสัญญา อารมณ์ต่างๆ ตลอดถึงไปยึดเอาสิ่งต่างๆ มาไว้ที่จิต จิตเมื่อเห็นโทษทุกข์ทั้งหลาย ที่ยึดเอากิเลสทั้งปวงมาไว้ที่จิตของตน แล้ว ยอมสละถอนจากอารมณ์และกิเลสทั้งปวงจากจิต จิต นั้นก็เป็น ใจ จิต กับ ใจ มีลักษณะอาการต่างกันอย่างนี้ ใจ คือ ผู้เป็นกลาง วางเฉย ไม่คิดนึกอะไรทั้งสิ้น เป็นแต่รู้ตัวอยู่ว่าวางเฉย ใจเป็นธรรมชาติเป็นกลางแท้ กลางไม่มีอดีตอนาคต ไม่มีบุญหรือบาป ไม่ดีและไม่ชั่วนั้นเรียกว่า ใจ สิ่งทั้งปวงหมด ถ้าพูดถึงใจแล้ว จะต้องหมายเอาตรงใจกลางทั้งนั้น แม้แต่ใจของคนซึ่งเป็นนามธรรม ก็ต้องชี้เข้าไปที่ท่ามกลางอก แต่ใจแท้ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน เราเอาความรู้สึกไปไว้ในกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ลองดูซิ จะรู้สึกขึ้นในที่นั้น หรือเอาความรู้สึกนั้นไปไว้ภายนอกกาย เป็นต้น ว่า เอาไปไว้ที่เสาหรือที่ฝาผนังบ้าน ก็จะมีความรู้สึกอยู่ ณ ที่นั้น เป็นอันสรุปได้ว่า ใจแท้ คือ ความรู้สึกเฉยอยู่เป็นกลางๆ เมื่อมีความรู้สึกกลางๆ อยู่ ณ ที่ใด ใจก็อยู่ ณ ที่นั้น ที่ชาวบ้านเขาพูดกันว่า หัวใจๆ นั้น มิใช่ใจแท้ เป็นแต่หทัยวัตถุ เครื่องสูบฉีดเลือดให้ไปหล่อเลี้ยงสรีระร่างกาย เพื่อให้อยู่ได้ ถ้าไม่มีเครื่องสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายแล้วกายอันนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องตาย สมองก็เหมือนกัน จะคิดดีหรือไม่ดีก็เพราะสมองเป็นเครื่องใช้ของจิตใจ ระบบประสาทของสมองเป็นรูปธรรม เมื่อปัจจัยต่างๆ ของรูปธรรมขาดไป รูปธรรมย่อมอยู่ไม่ได้ต้องดับไป แต่จิตซึ่งเป็นนามธรรมนั้นในพุทธศาสนาท่านว่า ยังเหลืออยู่ เกิดได้อีก นาม ธรรมจะดับก็ต่อเมื่อปัญญาไปรู้เหตุ รู้ผลของนามธรรมนั้น ๆ แล้วถอนมูลเหตุของมันเสีย ศาสตร์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมดสอนกันไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเรียนยิ่งสอนก็ยิ่งกว้างขวางออกไปทุกที มีพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอนให้ถึงที่สุดได้ พุทธศาสนาสอนเบื้องต้นให้รู้จักกาย อันนี้ว่า มีสิ่งต่างๆประกอบกันเข้า จึงเรียกว่าสรีระร่างกาย ( คือ อาการสามสิบสอง) และมีหน้าที่อะไรบ้าง พร้อมกันนั้น ก็สอนให้เห็นเป็นของ อสุภะ เป็นของจริงไปในตัว สอนให้รู้จักโลกอันนี้ (คือ มนุษย์ )ที่ประกอบไปด้วย ทุกข์ ทั้งนั้น ผลที่สุดก็ต้องแตกดับไปตามธรรมดาของมัน ฉะนั้น เมื่อเราเกิดขึ้นมาได้ก้อนนี้แล้ว ถึงจะเป็นของไม่งามเต็มไปด้วย อสุภะ และประกอบไปด้วย ทุกข์ นานัปการก็ตาม แต่เราก็ได้มาพึ่งอาศัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง พึงทำคุณงามความดีใช้หนี้โลกเสียก่อนจะตายไปจากโลกนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า คน (คือ โลกอันนี้) แตกดับสลายไปเป็นธรรมดา แต่ จิต คือ เจ้าของของโลกนั้น เมื่อมีกิเลสอยู่จะต้องกลับมาเกิดอีก ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ฝึกหัดสมาธิ อันเป็นเรื่องของจิตโดยเฉพาะ เมื่อฝึกหัดทำสมาธิเข้าแล้ว หากมีอายตนผัสสะจะรู้สึกอยู่แต่ภายใน คือ จิต ผู้เดียว ผู้เห็นผู้ฟังจะไม่เกี่ยวด้วยตาและหู อายตนผัสสะ จะรู้ด้วยจิตอย่างเดียว (ได้ชื่อว่าทำโลกนี้ให้แคบเข้ามา ) อายตนะทั้งหลายเป็นเครื่องวัด จิต ของตนได้อย่างดีที่สุด เมื่ออายตนะผัสสะมากระทบ จิต ของเรา เราหวั่นไหวไหม เมื่อหวั่นไหวมาก ก็แสดงว่ามีสติน้อย มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ก็ยังน้อย เมื่อหวั่นไหวน้อยหรือไม่หวั่นไหวเสียเลย ก็แสดงว่าเรามีสติมาก มีธรรมเป็นเครื่องอยู่มาก และรักษาตัวได้เลย เปรียบเหมือนกับพระเทวทัตและพระโพธิสัตว์ ย่อมก่อเวรก่อกรรมแก่กันมาโดยตลอด พระโพธิสัตว์ถ้าไม่มีพระเทวทัตก็จะไม่ได้สร้างบารมีให้เต็มเปี่ยม เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมแล้วจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก่อนจะตรัสรู้พระองค์ก็ได้ทรงผจญพญามารอันมีแสนยานุภาพมหึมา เมื่อตรัสรู้แล้วก็มีลูกสาวพญามาราธิราชทั้งสามนางมาทดสอบอีกที เป็นอันว่าชาวโลกซ้องสาธุการว่า พระพุทธเจ้าทรงชนะกิเลสเด็ดขาดในโลกนี้โดยสิ้นเชิง เมื่ออายตนะภายในยังมีอยู่ มโนผัสสะก็ยังเป็นอารมณ์อยู่ ฉะนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายมาเห็นโทษสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จึงยอมถอนออกจากสิ่งเหล่านั้นเสีย ยังคงเหลือแต่ใจ ที่เป็นกลางๆ ๆ ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง แล้วโลกอันนี้มันจะมีมาแต่ที่ไหน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ถึงที่สุดของโลกด้วยประการอย่างนี้ เราพากันมาสำรวมจิตกันเถิด จิตนี้พวกเราเคยปล่อยให้มันเสาะแสวงหาสิ่งที่มันชอบใจมานานแล้ว และสิ่งนั้นมันก็เคยได้มาแล้ว แต่จิตมันก็ไม่พอสักทีหาอยู่ร่ำไป เมื่อไรมันจะรู้จักจบจักพอกันสักที คนที่อยู่รอบๆ ตัวของเรานี้ เราก็เห็นตำตาอยู่แล้ว เมื่อตายไปก็ไม่เห็นเอาอะไรไปด้วย แม้แต่ร่างกายอันนี้ ก็ทอดทิ้งถมพื้นแผ่นดินด้วยกันทั้งนั้น แต่จิตที่อยู่นิ่งไม่แส่ส่ายแสวงหาอะไรทั้งหมด ตั้งมั่นอยู่กับพุทโธอันเดียว เรายังไม่เคยได้เลย จงพากันมาภาวนาพุทโธๆ ให้จิตมันหยุดนิ่งอยู่อันเดียว ลองดูซิ บางที จิตที่อยู่กับพุทโธอันเดียว กลับจะได้มากกว่า และเป็นของแปลกประหลาดกว่าที่เป็นมาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันออกจากหนึ่ง สิ่งอันหนึ่งทั้งนั้น เช่น การนับก็ตั้งต้นจากหนึ่งก่อน หนึ่งสองหนก็เป็นสอง หนึ่งสามหนก็เป็นสาม ดังนี้เป็นต้น หรือต้นหมากรากไม้ทั้งปวงก็ออกมาจากหนึ่งทั้งนั้น (คือ รากของมัน ) คนเราก็เหมือนกันเมื่อเกิดมาทีแรก ก็เกิดจากปฏิสนธิจิตดวงเดียวแท้ๆ เมื่อคลอดออกมาแล้วมีอายตนะ ขันธ์ห้า เครื่องใช้หลายอย่าง จิตก็ปรุงแต่งไปหลายอย่างหลายอัน จนนับจิตไม่ถ้วน ไม่ทราบว่าจิตมีกี่ดวง ยุ่งกันไปหมด จิตเดิมแท้เลยไม่เห็น ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ค้นหา จิต คือ ภาวนา พุทโธ เอาจิตมารวมอยู่ในพุทโธอันเดียว จึงจะเห็นจิต การค้นหาจิตเราจะต้องทำภาวนาพุทโธ ทำให้จิตรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงจะเห็นจิตของตน เมื่อเราค้นหาจิตเห็นจิตแล้ว และเห็นว่านี่คือต้นตอของจิต ของสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ จิตที่มากหลายอย่างนั้น มันออกไปจากจิตอันเดียวนี้ เมื่อจิตอยู่นิ่งกับพุทโธอันเดียว สรรพกิเลสทั้งหลายก็ไม่มี แล้วจงใช้สติประคองจิตอันนั้นให้นิ่งอยู่กับพุทโธอันเดียวเสียก่อน อย่าให้ส่งส่ายไปมาทุกอริยาบถทั้งสี่ ทำให้ชำนิชำนาญคล่องแคล่ว จนเราจะให้อยู่ก็ได้ หรือเราจะให้คิดค้นพิจารณาในธรรมต่างๆ ก็ได้ หรือคิดค้นธรรมต่างๆ แล้วจะให้มานิ่งอยู่กับใจก็ได้ เมื่อเข้าใจถึงแล้วพุทโธไม่ต้องบริกรรมก็ได้ จิต กับ ใจ มันต่างกัน จิต คือ ผู้คิด ผู้ส่งส่าย ผู้ปรุงแต่ง ใจ คือ ผู้รู้ตัว แล้วนิ่งเฉยไม่คิดไม่นึก เรียกว่าใจดังอธิบายมาข้างต้น เมื่อไม่อยากให้กิเลสมารบกวน จงอย่าคิดนึก ทำใจให้เป็นกลางๆ วางเฉยแล้วนิ่งอยู่ กิเลสทั้งปวงก็จะไม่มารบกวนอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น