วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ผู้ชายชอบคิดว่า ตัวเองเป็นพระโสดาบัน ผู้หญิง ชอบคิดว่าตัวเองเป็น พระอรหันต์สิ่งที่เรารักที่สุดคือ ร่างกาย และจิตใจของเรานี่แหละแต่เราไม่สนใจ เราไปสนใจสิ่งอื่น กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฏ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชื่อว่าวิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่ ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง ข้ามเข้ามา ทวนเข้ามาถึงจิตแท้ ถึงวิญญาณธาตุ ธาตุรู้แท้ๆแล้ว ธรรมธาตุ ตัวนี้ แล้วอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่นี้ ถูกอริยมรรคแหวกออก แหวกออกทำลายออก ก็ล้างกิเลส ล้างในพริบตาเดียว ในขณะเดียว วับเดียว ขาดเลย มันคล้ายๆ เปิดสวิตช์ไฟปั๊บ สว่างวูบเดียว ความมืดหายไปเลยนะ ในพริบตานั้นเลย จิตถัดจากนั้นนะ จะเห็นพระนิพพานอีก ๒ – ๓ ขณะ เห็นไม่เท่ากันหรอก บางคนเห็น ๒ ขณะ บางคนเห็น ๓ ขณะ ถ้าพวกอินทรีย์กล้ามากๆก็เห็น ๓ ขณะ พวกอินทรีย์ไม่กล้ามาก ก็เห็น ๒ ขณะ เพราะฉะน้นพระอริยะในภูมิเดียวกันนะ ระดับเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ความแตกฉานอะไรอย่างนี้ไม่เท่ากัน เห็นพระนิพพาน ก็รู้ว่าพระนิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่เคยหายไปไหน อยู่ต่อหน้าต่อตานี้แหละ แต่โง่เอง ไม่เห็น ทำไมไม่เห็น มัวแต่เห็นแต่กาม มัวแต่เห็นรูปภพ มัวแต่เห็นอรูปภพ จิตไม่รู้จักปล่อย ตรงที่เขาปล่อย เขาข้ามแล้ว เขาทิ้งแล้ว ตรงโคตรภูญาณที่จิตข้ามโคตรน่ะ ข้ามจากปุถุชน มาเป็นพระอริยะ ข้ามทิ้งตรงนี้ มันทิ้งหมดเลยนะ มันทิ้งกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทิ้งหมดเลย ข้ามมาสู่อริยภูมิ โลกุตรภูมิ ข้ามเอง ทีนี้พวกเราก็มีหน้าที่ภาวนาให้มันพอเท่าน­ั้นแหละ ถ้ามันพอเมื่อไหร่ มันก็ข้ามโคตร เปลี่ยนสกุล ก็ไม่ใช่นามสกุลเดิม โดยสมมุติบัญญัติก็เป็นนามสกุลเดิม โดยปรมัตถ์แท้ๆก็ไม่ใช่ละ ก็มาเป็นลูกพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าท่านพูดถึงพระอ­ริยะนะ ท่านจะบอกว่า ลูกของเรา จิตต้นกำเนิดหรือจิตอวิชา หรือจิตผู้รู้ ตัวเดียวกัน ที่พวกเราต้องฝึกหาจิตผู้รู้นะ ให้มีจิตผู้รู้นะ นั่นแหละจิตผู้รู้นั้นแหละ ยังเป็นจิตอวิชาอยู่ แต่อาศัยมันก่อน แล้ววันหนึ่งก็ค่อยมาทำลายตัวนี้ไปอีกทีหน­ึ่งก่อน เนี่ยดูแล้วมันละเอี๊ยดละเอียดนะ มันสว่าง มันผ่องใสนะ มันมีอวิชาซ่อนอยู่ เมื่อเห็นกายเห็นใจ ตรงตามความเป็นจริงว่า มันไม่ใช่ตัวเราหรอก แรกๆ บางคนอินทรีย์อ่อนหน่อย ก็จะเกิดความเบื่อขึ้น บางคนเกิดความเบื่อ บางคนเกิดความรู้สึกน่าสยดสยอง ในโลกนี้หาความสุขไม่ได้อีกแล้ว บางคนรู้สึกโหวงๆ ทุกอย่างว่างเปล่า ไม่รู้จะยึดอะไรดี มีหลายแบบ สติปัญญารู้ลงไปอีก เบื่อก็รู้ กลัวก็รู้ โหวงๆ ก็รู้ นะ สักว่ารู้ สักว่าเห็น ใจก็ตั้งมั่นเป็นกลางขึ้นมาอีก ก็รู้ทุกสิ่งทุกอย่างในกาย ในใจไปเรื่อยๆ เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงบังคับไม่ได้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บังคับไม่ได้เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ รู้จนกระทั่งใจยอมรับความจริงว่า ทุกอย่างชั่วคราว สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว กุศลก็ชั่วคราว โลภ โกรธ หลงก็ชั่วคราว อะไรๆ ก็ชั่วคราว พอภาวนาจนสติปัญญาเกิดว่าทุกอย่างชั่วคราว จิตจะเข้าไปสู่ความเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งปวง ตรงที่จิตเข้าสู่ความเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งปวง สุขกับทุกข์ก็เสมอกัน ดีกับชั่วก็เสมอกัน เข้าไปถึงความเป็นกลางด้วยปัญญาเห็นว่าทุกสิ่งชั่วคราว ถ้าเป็นกลางแบบนี้เรียกว่ามีปัญญาที่เรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ จิตจะเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่างสุขกับทุกข์ ดีกับชั่วจะเสมอภาคกัน ไม่ใช่รักอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่ง พวกเรารู้สึกไหม ใจเรายังรักอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่งอยู่ตลอดเวลา นั่นละ ปัญญายังไม่พอ ให้รู้ลงไปอีก จนกระทั่งเห็นว่าทุกอย่างก็ชั่วคราวทั้งหมดเลย ทั้งสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราเกลียด พอเห็นซ้ำลงไปจนทุกอย่างชั่วคราวหมด จิตจะเป็นกลาง เมื่อจิตเป็นกลางคือจุดสูงสุดที่เราจะภาวนาได้ละ คือจุดสุดท้ายถัดจากนี้ก็คือมรรคผล จะเกิดขึ้น แต่บางคนจะไม่เกิดมรรคผล บางคนเมื่อภาวนาไป จนเป็นกลางต่อสรรพสิ่งนั้น จิตใจน้อมไปสู่มหากรุณา เห็นอกเห็นใจสรรพสัตว์ทั้งหลาย อยากช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลาย จิตจะน้อมไปสู่พุทธภูมิ

1 ความคิดเห็น:

  1. จึงควรเว้นเหตุแห่งโมหะก่อน. พึงทราบถึงเหตุแห่งโมหะเหล่านี้ดังต่อไปนี้ :- ความริษยา ความเฉื่อยชา ความซบเซา ความเกียจคร้าน ความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ความหลับง่าย การไม่ตั้งใจแน่วแน่ ความไม่สนใจในญาณ ถือตัวผิด การไม่สอบถาม การไม่บริหารร่างกายให้ดี จิตไม่ตั้งมั่น คบบุคคลปัญญาทราม ไม่เข้าไปใกล้คนมีปัญญา ดูหมิ่นตน ใคร่ครวญผิด ยึดถือวิปริต มั่นในกายมาก ไม่มีความสังเวชใจ นิวรณ์ ๕ ผู้เสพธรรมโดยย่อปัญญายังไม่เกิดย่อมเกิด ที่เกิดแล้วย่อมเสื่อม. ผู้เว้นเหตุแห่งความหลงเหล่านี้ พึงทำความเพียรในพาหุสัจจะและในฌานเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้

    ตอบลบ