วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การดับทุกข์สิ้นตัณหาไม่เหลือเชื้อเมื่อเราภาวนาคือเจริญสติจนจิตปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้ว จิตจะเข้าไปสัมผัสกับนิพพานอันสงบและเป็นสุขอย่างยิ่ง ที่สงบเพราะปราศจากการกระทบกระทั่งทั้งปวง ที่สุขเพราะปราศจากความเสียดแทงทั้งปวง เมื่อแรกเข้าถึงนิพพานนั้น จิตได้ประสบกับความสุขอันแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เป็นความสุขที่ท่วมท้นจิตใจและธาตุขันธ์จนสะอื้นในอกและน้ำตาตก ระลึกถึงคราวใดก็มีความสุขจนสะอื้นในอกอยู่หลายวัน จิตจึงค่อยๆ คุ้นชินกับความสุขสงบนั้น และเข้าสู่ภาวะแห่งความเป็นปกติธรรมดาที่มีความสุขอย่างยิ่ง ความสงบของนิพพานก็เป็นสิ่งที่เกินพรรณนา เพราะนิพพานนั้นเต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้าต่อตา ครอบคลุมโลกธาตุทั้งปวงที่กำลังเคลื่อนไหวไว้ทั้งหมด แต่สงบสงัดและไม่มีสิ่งใดปนเปื้อนเข้าถึงนิพพานอันบริสุทธิ์นั้นได้เลย การจะเข้าใจถึงนิพพานเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ถ้าเข้าใจสภาวะจิตของพระอรหันต์ได้แล้ว ก็พอจะอนุมานถึงสภาวะของนิพพานได้บ้าง จิตของพระอรหันต์ไม่เหมือนจิตของท่านผู้อื่น เพราะแหวกสิ่งห่อหุ้มออกได้หมดแล้วจึงเป็นอิสระและกว้างขวางไร้ขอบเขต มีสภาพคล้ายกับไฟที่ดับลงแล้ว ไม่มีการประทุขึ้นอีก ความร้อนของไฟย่อมกระจายออกไปเต็มโลกธาตุ กล่าวไม่ได้ว่าไฟมีอยู่ หรือไฟดับสูญไปแล้ว เพราะความมีอยู่และความดับสูญยังเป็นธรรมคู่ เป็นเรื่องของโลก ส่วนจิตของพระอรหันต์เข้าถึงธรรมล้วนๆ ไม่มีความเป็นโลกเจือปนอยู่เลย จึงไม่มีปัญหาในเรื่องความมีอยู่ หรือความขาดสูญอีกต่อไป มนุษย์ปรารถนาอิสรภาพ แต่มนุษย์ตกเป็นทาสของตัณหา ซึ่งเป็น เจ้านายที่มองไม่เห็นตัว เมื่อไม่รู้ว่าตนเป็นทาส มนุษย์จึงไม่คิดที่จะปลดปล่อย ตนเองให้เป็นอิสระ มีแต่จะทำตามคำสั่งของเจ้านายเท่านั้น และเจ้านายนั้นก็ดูจะรักและหวังดีต่อเรามาก เพราะจะสั่งให้เราแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ตลอดวันตลอดคืน ซึ่งมีผลให้เราต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เนื่องจากความสุขเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไขว่คว้าเอาไว้ไม่ได้ ในขณะที่ความทุกข์เป็นสิ่งที่แนบประจำอยู่กับขันธ์นั่นเอง การจะให้ขันธ์มีความสุขหรือพ้นจากความทุกข์อย่างถาวรจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย การดิ้นรนแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีอยู่ 3 วิธีคือ 1. การแสวงหาอารมณ์ที่เป็นสุขและหลีกหนีอารมณ์ที่เป็นทุกข์ เพราะคิดว่าอารมณ์เป็นเครื่องกำหนดให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถเลือกอารมณ์ได้ตามใจชอบ เพราะอารมณ์ที่มา กระทบย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือหากกุศลวิบากให้ผลก็ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดี หากอกุศลวิบากให้ผลก็ต้องประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดี นอกจากนี้ อารมณ์ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง แม้จะได้รับอารมณ์ที่ดีและเป็นสุข ไม่นานอารมณ์ ที่ดีและเป็นสุขนั้นก็ผ่านเลยไป จำเป็นต้องดิ้นรนแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ต่อไปอีก ดังนั้น วิธีการเลือกรับอารมณ์เพื่อให้เกิดความสุขและพ้นจากความทุกข์จึงไม่ได้ผลจริงตามที่คาดหวังไว้ 2. การรักษาจิตให้สงบสบายในทุกๆ สถานการณ์ เพราะคิดว่าถ้าจิตดีเสียแล้ว ก็สามารถเป็นสุขอยู่ได้แม้จะต้องกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม และการควบคุมจิตก็ทำได้ง่ายกว่าการควบคุมอารมณ์ เนื่องจากอารมณ์มักจะมาจากสิ่งภายนอกซึ่งควบคุมได้ยาก ในขณะที่การควบคุมจิตเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามจิตเป็นของไม่เที่ยงและเป็น อนัตตาคือบังคับไม่ได้จริง ดังนั้นแม้จะทำให้จิตสงบหรือมีความสุขก็ทำได้เพียงชั่วคราวด้วยอำนาจของการเพ่ง เมื่อจิตเสื่อมจากการเพ่ง จิตก็กลับมาวุ่นวายและเป็นทุกข์ต่อไปได้อีก 3. การหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ เป็นวิธีการรักษาจิตที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เพราะคิดว่าถ้าจิตไม่ต้องรับรู้อารมณ์หยาบๆ เสียแล้ว จิตจะมีความสงบสุขโดยอัตโนมัติ ดีกว่าจะต้องคอยรักษาจิต ที่ต้องกระทบอารมณ์หยาบๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเกิดความพยายามน้อมจิตไปสู่อรูปฌาน หรือแม้กระทั่งการดับความรับรู้ด้วยการเข้าจตุตถฌาน (ตามนัยของพระสูตร) หรือปัญจมฌาน (ตามนัยของพระอภิธรรม) แล้วน้อมจิตไปสู่อสัญญสัตตาภูมิหรือพรหมลูกฟัก อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดกำลังเพ่ง จิตก็ถอนออกมารู้อารมณ์ตามปกติต่อไปอีก คนและสัตว์ทั้งหลายพยายามดิ้นรนหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่มีผู้ใดสามารถหนีพ้นจากความทุกข์ได้จริง เพราะความทุกข์เป็นสิ่งที่แนบประจำอยู่กับขันธ์คือร่างกาย และจิตใจนี้เอง มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงค้นพบทางรอดอันเป็นทางเอก คือทางสายเดียวที่จะพาผู้ดำเนินตามให้พ้นจากทุกข์ได้จริง ทางเอกนี้คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นการหันมาเผชิญหน้าและเรียนรู้ ความ จริงของทุกข์ เมื่อทุกข์อยู่ที่กายก็มีสติระลึกรู้กายตามความเป็นจริง เมื่อทุกข์ อยู่ที่จิตก็มีสติตามรู้จิตตามความเป็นจริง จนในที่สุดก็สามารถเข้าถึงความจริงสูงสุดคืออริยสัจจ์ข้อแรกได้ คือการรู้ทุกข์ ได้แก่การรู้ความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ผู้ที่รู้ความจริงนี้เรียกว่าพระโสดาบัน เป็นผู้ละความเห็นผิดว่ากายกับใจคือตัวเรา เมื่อตามรู้กายและตามรู้ใจต่อไปอีก ถึงจุดหนึ่งจิตจะวางความยึดถือกายและใจลงได้อย่างสิ้นเชิง และไม่หยิบฉวยเอากายและใจขึ้นมาถือไว้ให้เป็นภาระกดถ่วงจิตใจอีกต่อไป เมื่อไม่ยึดถือกายและใจแล้ว ความดิ้นรนทะยานอยากของจิตที่จะให้กาย และใจมีความสุขและพ้นจากความทุกข์ ทั้งด้วยการแสวงหา อารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ การทำความสงบจิต และการหลีกหนีการรับรู้อารมณ์หยาบๆ ก็จะหมดสิ้นไป การรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งจึงเป็นเครื่องทำลายสมุทัยหรือตัณหาให้ดับสนิทลงโดยอัตโนมัติ เมื่อปราศจากตัณหา จิตก็ได้ประจักษ์แจ้งถึงนิโรธหรือนิพพานอันเป็นสภาวธรรมซึ่งสงบสันติ ปราศจากทุกข์และกิเลสตัณหาทั้งปวง การรู้ทุกข์จนสมุทัยถูกละไปเองและนิโรธปรากฏให้ประจักษ์โดยไม่ต้อง แสวงหานั้น คือมรรคหรือทางเอกนั่นเอง พวกเราควรเจริญมรรคให้มาก คือ หมั่นตามรู้กายตามรู้ใจอย่างถูกวิธีเนืองๆ แล้วจะพบความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสาวกด้วยตนเอง การทำความเข้าใจความทุกข์ให้แจ่มแจ้งเป็นทางพ้นทุกข์ แต่ยากนักที่คนเราจะเข้าใจความทุกข์ให้แจ่มแจ้งได้ เพราะคนเรารู้จักความทุกข์เพียงบางอย่าง ได้แก่ทุกขเวทนาทางร่างกายเมื่อยามหิวกระหาย หนาวร้อน ต้องการขับถ่ายและเจ็บป่วย เป็นต้น กับโทมนัสเวทนาทางใจเมื่อประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ทุกข์ชนิดนี้เรียกว่าทุกขทุกข์ ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ หรือจิตใจได้รับอารมณ์ที่ดี ก็รู้สึกว่ามีความสุขทางกายหรือโสมนัสเวทนาทางใจ ตราบใดที่ยังรู้สึกว่ากายนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง และใจนี้มีโสมนัสบ้างมีโทมนัสบ้าง ตราบนั้นความดิ้นรนที่จะแสวงหาความสุขโสมนัส และความดิ้นรนที่จะหลีกหนีทุกข์โทมนัสจะไม่หมดไป ตราบใดที่ยังไม่หมดความดิ้นรน ตราบนั้นความทุกข์ก็จะยังมีอยู่ร่ำไป เพราะความดิ้นรนของจิตใจหรือตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อีกชนิดหนึ่งนอกเหนือจากความทุกข์ที่มีอยู่แล้ว ทุกข์ชนิดนี้เรียกว่าทุกขสัจจ์ ยังมีความทุกข์อีกชนิดหนึ่งได้แก่สภาพที่ทนได้ยาก เรียกว่าทุกขลักษณะ เป็นสภาวะที่เกิดกับสังขารทั้งปวงที่จะทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้ ในเวลาที่เราเจริญสตินั้นหากทุกขทุกข์ปรากฏขึ้นก็ให้รับรู้ไป หากทุกขทุกข์ดับไปและรู้สึกเป็นสุขก็ให้รับรู้ไว้ แต่เมื่อเจริญสติปัญญาแก่รอบมากเข้าจะพบว่ากายกับใจเป็นทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้างอีกต่อไป มีแต่ทุกขทุกข์คือทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น ผู้ปฏิบัติจะเห็นอีกว่าถ้าจิตเกิดความอยากและความยึดถือ จิตจะเกิดทุกข์ที่เรียกว่าทุกขสัจจ์ เมื่อจิตปราศจากความอยากและความยึดถือ จิตจะปราศจากความทุกข์มีแต่ความสุขโสมนัสหรืออุเบกขาเท่านั้น แต่เมื่อเจริญสติปัญญาแก่รอบมากเข้าจะพบว่า ไม่ว่าจิตจะอยากและยึดอารมณ์หรือไม่ จิตนั้นแหละเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ การเห็นทุกขทุกข์ทำให้จิตเอือมระอาต่อขันธ์ ถึงจุดหนึ่งจิตจะแจ่มแจ้งในทุกขสัจจ์และปล่อยวางความยึดถือรูปนามกายใจและสิ่งทั้งปวงได้ ถึงจุดนั้นความทุกข์ของขันธ์หรือทุกขทุกข์ก็ยังมีอยู่ ทุกขลักษณะคือความทนอยู่ไม่ได้ของสังขารทั้งรูปนามก็ยังมีอยู่ แต่ความทุกข์ของจิตใจอันเกิดแต่ตัณหาจะไม่มีอยู่อีก เพราะปราศจากตัวตนในความรู้สึก ที่จะรองรับความทุกข์ทางใจอันเกิดจากตัณหาเสียแล้ว กล่าวได้ว่าทุกข์ก็มีอยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์อีกต่อไป เพราะปล่อยวางขันธ์โดยเฉพาะจิตลงได้แล้ว ความสุขโสมนัสของผู้ที่ปล่อยวางจิตได้แล้วนั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่าสิ่งอัศจรรย์ในโลก พระนิพพานเป็นความสุขอันเต็มเปี่ยมครอบโลกอยู่ต่อหน้าต่อตา สงบสันติ รุ่งเรืองและเปิดเผย แจ่มจ้าไร้ตำหนิปราศจากแม้แต่ธุลีของความปรุงแต่ง ไม่มีสิ่งใดเข้าไปตั้งอยู่ได้ในพระนิพพานนี้ ปราศจากจุดตั้งต้นและจุดสิ้นสุด ความว่างจากกิเลส จากตัวตน และจากทุกข์ที่ยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี สุขอื่นเสมอด้วยความสงบของพระนิพพานไม่มี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น