วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

จิตปล่อยวางจิต

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว จะพึงเบื่อหน่ายได้บ้าง พึงคลายกำหนัดได้บ้าง พึงปล่อยวางได้บ้าง ในกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้. ข้อนั้นเพราะเหตุใดเล่า ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า การก่อขึ้นก็ดี การสลายลงก็ดี การถูกยึดครองก็ดี การทอดทิ้งซากไว้ก็ดี แห่งกายอันเป็นที่ประชุม แห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ ย่อมปรากฏอยู่. เพราะเหตุนั้นปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว จึงเบื่อหน่าย ได้บ้าง จึงคลายกำหนัดได้บ้าง จึงปล่อยวางได้บ้าง ในกายนั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสิ่งที่เรียกกันว่า “จิต” ก็ดี ว่า “มโน” ก็ดี ว่า “วิญญาณ” ก็ดี; ปุถุชนผู้มิได้ สดับแล้ว ไม่อาจจะเบื่อหน่าย ไม่อาจจะคลายกำหนัด ไม่อาจจะปล่อยวาง ซึ่งสิ่งนั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า สิ่งที่เรียกว่า จิต เป็นต้นนี้ เป็นสิ่งที่ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ได้ถึงทับแล้วด้วยตัณหา ได้ยึดถือแล้วด้วย ทิฏฐิโดยความเป็นตัวตน มาตลอดกาลช้านาน ว่า “นั่นของเรา, นั่นเป็นเรา, นั่นเป็น ตัวตนของเรา” ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย ไม่อาจจะคลายกำหนัด ไม่อาจจะปล่อยวาง ซึ่งที่เรียกว่า จิต เป็นต้นนั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว จะพึงเข้าไปยึดถือเอากาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ โดยความเป็นตัวตน ยังดีกว่า. แต่จะเข้าไปยึดถือ เอาจิต โดยความเป็นตัวตนไม่ดีเลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า กายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ ดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง เกินกว่าร้อยปีบ้าง ปรากฏอยู่.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสิ่งทีเรียกกันว่า “จิต” บ้าง ว่า “มโน” บ้าง ว่า “วิญญาณ” บ้างนั้น ดวงอื่นเกิดขึ้น ดวงอื่นดับไป ตลอดวัน ตลอดคืน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในเรื่องนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมกระทำไว้ในใจ โดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้: เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น; เพราะความดับแห่งผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแหละ, เวทนาใด ที่เกิดเพราะผัสสะนั้น (ในกรณีนี้คือ) สุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา, เวทนานั้นย่อมดับ ย่อมสงบไป.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา จึงเกิดทุกขเวทนาขึ้น; เพราะความดับแห่งผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา นั้นแหละ, เวทนาใด ที่เกิดเพราะผัสสะนั้น (ในกรณีนี้คือ) ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา, เวทนานั้นย่อมดับ ย่อมสงบไป.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา จึงเกิด อทุกขมสุขเวทนาขึ้น; เพราะความดับแห่งผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา นั้นแหละ, เวทนาใด ที่เกิดเพราะผัสสะนั้น (ในกรณีนี้คือ) อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา, เวทนานั้นย่อมดับ ย่อมสงบไป
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเพราะไม้สองอันเสียดสีกันไปมา ไออุ่น ย่อมเกิด ความร้อนย่อมบังเกิดโดยยิ่ง. เพราะแยกไม้ทั้งสองอันนั้นแหละออกจากกันเสีย
ไออุ่นใด ที่เกิดเพราะการเสียดสีระหว่างไม้สองอันนั้น ไออุ่นนั้นย่อมดับ ย่อมสงบไป, ข้อนี้ฉันใด;
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น : เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น; เพราะความดับแห่งผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา นั้นแหละ, เวทนาใด ที่เกิดเพราะผัสสะนั้น (ในกรณีนี้คือ) สุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะ อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา, เวทนานั้นย่อมดับ ย่อมสงบไป.
ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ! เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา จึงเกิดทุกขเวทนาขึ้น; เพราะ ความดับแห่งผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแหละ, เวทนาใด ที่เกิดเพราะผัสสะนั้น (ในกรณีนี้คือ) ทุกขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา, เวทนานั้นย่อมดับ ย่อมสงบไป.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้ง แห่งอทุกขมสุขเวทนา จึงเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้น; เพราะความดับแห่งผัสสะอันเป็น ที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแหละ, เวทนาใด ที่เกิดเพราะผัสสะนั้น (ในกรณีนี้คือ) อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา, เวทนานั้นย่อมดับ ย่อมสงบไป
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในผัสสะ, ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในเวทนา, ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในสัญญา, ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในสังขารทั้งหลาย, ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในวิญญาณ. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย กำหนัด, เพราะคลายความกำหนัด ย่อมหลุดพ้น, เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์อันเราอยู่ จบแล้ว, กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว, กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีกต่อไป”. ดังนี้ แล.
________________________________
๑. สูตรที่ ๒ มหาวรรค อภิสมยสังยุตต์ นิทาน. สํ. ๑๖/๑๑๖/๒๓๕, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น