ทั้งสองพระนครยังชีพด้วยเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นพระนามของเจ้านายในราชวงศ์ โดยเฉพาะราชวงศ์ศากยะจะลงท้ายด้วยคำว่า “โอทนะ” เป็นส่วนใหญ่ เช่น สุทโธทนะ (ข้าวบริสุทธิ์) อมิโตทนะ (ข้าวนับไม่ถ้วน) โธโตทนะ (ข้าวขัดแล้ว) สุกโกทนะ (ข้าวขาว)
พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมีพระอัครมเหสีพระนามว่า มายา หรือ สิริมหามายา มีพระราชโอรสพระนามว่า สิทธัตถะ
หลังจากพระราชโอรสประสูติได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะได้สถาปนา พระนางปชาบดีโคตมี พระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายาขึ้นเป็นพระอัครมเหสีสืบแทน
เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในความเลี้ยงดูของพระ “น้านาง” จนเติบใหญ่ และมีพระอนุชาและพระกนิษฐาอันประสูติแต่พระน้านาง ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายนันทะ และ เจ้าหญิงรูปนันทา
โหราจารย์ทำนายพระลักษณะและอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะว่า ถ้าอยู่ในเพศผู้ครองเรือน ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีกฤดาภินิหารเป็นที่ยำเกรงของแคว้นน้อยใหญ่ ถ้าเสด็จออกผนวชก็จะได้เป็นพระศาสดาเอกในโลก เผยแพร่สัจธรรมที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน
โดยเฉพาะโหรผู้มีอายุน้อยที่สุดในคณะนามว่า โกณฑัญญะ ทำนายด้วยความมั่นใจว่าเจ้าชายจะเสด็จออกบวช และจะได้เป็นพระศาสดาแน่นอน พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะมิให้เจ้าชายเกิดความคิดเบื่อหน่ายในการครองเรือนถึงกับสละโลก จึงทรงปรนเปรอพระราชโอรสด้วยความสุขสนุกบันเทิงต่างๆ เช่น สร้างปราสาทสามหลังสวยหรูสำหรับประทับสามฤดู พยายามไม่ให้เจ้าชายได้ทอดพระเนตรเห็นภาพที่ไม่น่าดู เช่น ความทุกข์ยากของประชาชนพลเมือง อันจักกระตุ้นให้พระราชโอรสเกิดความสลดพระทัยแล้วเสด็จออกผนวช
จึงเกิดมีสิ่งที่เรียกกันบัดนี้ว่า การ “เคลียร์พื้นที่” เมื่อจะทรงอนุญาตให้พระราชโอรสออกไปนอกประตูวัง ก็จะทรงรับสั่งให้ “เคลียร์พื้นที่” ให้หมด ไม่ให้ภาพอันจะก่อให้เกิดความสลดสังเวชพระทัยเกิดขึ้น ให้ทอดพระเนตรเห็นแต่ภาพอันสวยๆ งามๆ
การณ์ก็เป็นไปด้วยดี แต่วันดีคืนดีเจ้าชายก็ได้ทอดพระเนตรเห็นภาพแห่งความเป็นจริงจนได้ เมื่อพระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็กสนิท นามว่า ฉันนะ ลอบออกไปนอกพระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะตามลำดับ คง “หนีเที่ยว” หลายครั้ง จึงได้เห็นสิ่งเหล่านั้น มิใช่เห็นทีเดียวครบ ๔ อย่าง
เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสลดพระทัยว่า คนเราเกิดมาทุกคนย่อมแก่ เจ็บ และตายอยู่อย่างนี้ ตราบเท่าที่ยังไม่ตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ โลกนี้จึงเป็นทุกข์อย่างแท้จริง
เมื่อ “ได้คิด” ขึ้นมาอย่างนี้ ก็คิดเปรียบเทียบว่าสรรพสิ่งย่อมมีคู่กัน เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ดุจเดียวกับมีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็มีเย็น ฉะนั้น ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะผู้สงบ ก็ทรงคิดว่าการดำเนินวิถีชีวิตอย่างท่านผู้นี้น่าจะเป็นทางพ้นจากความทุกข์นี้ได้ จึงตัดสินพระทัยเสด็จผนวช จวบกับได้รับทราบข่าวการประสูติของพระโอรสน้อย ก็ยิ่งต้องรีบตัดสินพระทัยแน่วแน่จะออกผนวชให้ได้ เพราะถ้ารอช้า ความรักความผูกพันในพระโอรสจะมีมากขึ้น ไม่สามารถปลีกพระองค์ออกไปได้
ดังได้ทรงเปล่งอุทานทันทีที่ได้สดับข่าวนี้ว่า “บ่วง (ราหุล) เกิดแล้ว พันธนาการเกิดแล้ว” อันเป็นที่มาของพระนามแห่งพระโอรส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น