วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข้าว น้ำ

พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหนุ และพระนางกัญจนา กษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ เมืองเล็กๆ อยู่ที่เชิงเขาหิมาลัย ชมพูทวีป กษัตริย์แห่งสองนครพี่น้องกัน คือ กษัตริย์ศากยวงศ์ และกษัตริย์โกลิยวงศ์ ตั้งเมืองอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง ชื่อ โรหิณี


ทั้งสองพระนครยังชีพด้วยเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นพระนามของเจ้านายในราชวงศ์ โดยเฉพาะราชวงศ์ศากยะจะลงท้ายด้วยคำว่า “โอทนะ” เป็นส่วนใหญ่ เช่น สุทโธทนะ (ข้าวบริสุทธิ์) อมิโตทนะ (ข้าวนับไม่ถ้วน) โธโตทนะ (ข้าวขัดแล้ว) สุกโกทนะ (ข้าวขาว)

พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมีพระอัครมเหสีพระนามว่า มายา หรือ สิริมหามายา มีพระราชโอรสพระนามว่า สิทธัตถะ

หลังจากพระราชโอรสประสูติได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะได้สถาปนา พระนางปชาบดีโคตมี พระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายาขึ้นเป็นพระอัครมเหสีสืบแทน

เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในความเลี้ยงดูของพระ “น้านาง” จนเติบใหญ่ และมีพระอนุชาและพระกนิษฐาอันประสูติแต่พระน้านาง ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายนันทะ และ เจ้าหญิงรูปนันทา

โหราจารย์ทำนายพระลักษณะและอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะว่า ถ้าอยู่ในเพศผู้ครองเรือน ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีกฤดาภินิหารเป็นที่ยำเกรงของแคว้นน้อยใหญ่ ถ้าเสด็จออกผนวชก็จะได้เป็นพระศาสดาเอกในโลก เผยแพร่สัจธรรมที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

โดยเฉพาะโหรผู้มีอายุน้อยที่สุดในคณะนามว่า โกณฑัญญะ ทำนายด้วยความมั่นใจว่าเจ้าชายจะเสด็จออกบวช และจะได้เป็นพระศาสดาแน่นอน พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะมิให้เจ้าชายเกิดความคิดเบื่อหน่ายในการครองเรือนถึงกับสละโลก จึงทรงปรนเปรอพระราชโอรสด้วยความสุขสนุกบันเทิงต่างๆ เช่น สร้างปราสาทสามหลังสวยหรูสำหรับประทับสามฤดู พยายามไม่ให้เจ้าชายได้ทอดพระเนตรเห็นภาพที่ไม่น่าดู เช่น ความทุกข์ยากของประชาชนพลเมือง อันจักกระตุ้นให้พระราชโอรสเกิดความสลดพระทัยแล้วเสด็จออกผนวช

จึงเกิดมีสิ่งที่เรียกกันบัดนี้ว่า การ “เคลียร์พื้นที่” เมื่อจะทรงอนุญาตให้พระราชโอรสออกไปนอกประตูวัง ก็จะทรงรับสั่งให้ “เคลียร์พื้นที่” ให้หมด ไม่ให้ภาพอันจะก่อให้เกิดความสลดสังเวชพระทัยเกิดขึ้น ให้ทอดพระเนตรเห็นแต่ภาพอันสวยๆ งามๆ

การณ์ก็เป็นไปด้วยดี แต่วันดีคืนดีเจ้าชายก็ได้ทอดพระเนตรเห็นภาพแห่งความเป็นจริงจนได้ เมื่อพระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็กสนิท นามว่า ฉันนะ ลอบออกไปนอกพระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะตามลำดับ คง “หนีเที่ยว” หลายครั้ง จึงได้เห็นสิ่งเหล่านั้น มิใช่เห็นทีเดียวครบ ๔ อย่าง

เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสลดพระทัยว่า คนเราเกิดมาทุกคนย่อมแก่ เจ็บ และตายอยู่อย่างนี้ ตราบเท่าที่ยังไม่ตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ โลกนี้จึงเป็นทุกข์อย่างแท้จริง

เมื่อ “ได้คิด” ขึ้นมาอย่างนี้ ก็คิดเปรียบเทียบว่าสรรพสิ่งย่อมมีคู่กัน เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ดุจเดียวกับมีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็มีเย็น ฉะนั้น ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะผู้สงบ ก็ทรงคิดว่าการดำเนินวิถีชีวิตอย่างท่านผู้นี้น่าจะเป็นทางพ้นจากความทุกข์นี้ได้ จึงตัดสินพระทัยเสด็จผนวช จวบกับได้รับทราบข่าวการประสูติของพระโอรสน้อย ก็ยิ่งต้องรีบตัดสินพระทัยแน่วแน่จะออกผนวชให้ได้ เพราะถ้ารอช้า ความรักความผูกพันในพระโอรสจะมีมากขึ้น ไม่สามารถปลีกพระองค์ออกไปได้

ดังได้ทรงเปล่งอุทานทันทีที่ได้สดับข่าวนี้ว่า “บ่วง (ราหุล) เกิดแล้ว พันธนาการเกิดแล้ว” อันเป็นที่มาของพระนามแห่งพระโอรส
แสดงน้อยลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น