วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กัณหทีปายนะชาดกเหตุนั้นเราเป็นผู้ได้รับทุกข์หรือว่าเรามีความรักจึงเป็นทุกข์ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์ในกาลนั้นชื่อว่าทีปายนะ เข้าไปหาดาบสมัณฑัพยะผู้เป็นสหายของตนถูกเสียบหลาว ไม่ทอดทิ้งดาบสนั้นด้วยศีลคุณของเขา ได้ยืนพิงอยู่กับหลาวตลอด ๓ ยาม จึงได้ปรากฏชื่อว่ากัณหทีปายนะ เพราะร่างกายมีสีดำ ด้วยหยาดเลือดแห้งที่ไหลจากร่างกายของดาบสนั้นแล้วลงมาใส่. บทว่า ปโรปญฺญาสวสฺสานิ คือ ยิ่งกว่า ๕๐ ปี. บทว่า อนภิรโต จรึ อหํ คือ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่ยินดี ในเสนาสนะสงัดและในธรรมอันเป็นอธิกุสล. ครั้นบวชแล้ว พระมหาสัตว์ยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ๗ วันเท่านั้น ต่อจากนั้นก็อยู่อย่างไม่ยินดี. ก็เพราะเหตุไร พระมหาบุรุษในอัตภาพหลายแสนมีอัธยาศัยในเนกขัมมะยินดีอยู่พรหมจรรย์ แต่ในจริยานี้ไม่ยินดีพรหมจรรย์นั้น. เพราะความหวั่นไหวแห่งความเป็นปุถุชน. ก็เพราะเหตุไร จึงไม่ครองเรือนใหม่เล่า. เพราะครั้งแรกเห็นโทษในกามทั้งหลาย ด้วยมีอัธยาศัยในเนกขัมมะจึงบวช เมื่อเป็นดังนั้น พระมหาบุรุษจึงเกิดความไม่ยินดีด้วยมิได้ใส่ใจโดยแยบคาย. พระมหาบุรุษ แม้เมื่อไม่สามารถบรรเทาความไม่ยินดีนั้นได้ จึงเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ละสมบัติใหญ่ออกจากเรือน ละสมบัติใด ก็กลับไปเพื่อสมบัตินั้นอีก. รังเกียจคำติเตียนนี้ว่า กัณหทีปายนะนี้บ้าน้ำลาย กลับกลอกจริงหนอ เพราะเกรงหิริโอตตัปปะของตนจะแตก. อนึ่ง ชื่อว่าบุญในการบรรพชานี้ ท่านผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว. และก็ดำรงอยู่มิได้. เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษแม้ร้องไห้น้ำตานองหน้า ด้วยความทุกข์โทมนัส ก็ยังอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สละพรหมจรรย์นั้น. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :- กัณหทีปายนะนั้นออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว ก็กลับมาอีก เขารังเกียจคำพูดนี้ว่า กัณหทีปายนะ นี้บ้าน้ำลายกลับกลอกหนอ เราไม่ปรารถนาจะ ประพฤติพรหมจรรย์เสียเลย. อนึ่ง ฐานะของสัตบุรุษอันผู้รู้สรรเสริญแล้ว เราจะเป็นผู้ทำบุญอย่างนี้. บทว่า น โกจิ เอตํ ชานาติ ความว่า ใครๆ ที่เป็นมนุษย์ย่อมไม่รู้ใจที่ไม่ยินดีของเรานั้น คือใจที่ปราศจากความยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์. เพราะเหตุไร? เพราะเราไม่บอกแก่ใครๆ ว่า ความไม่ยินดีเป็นไปในใจของเรา ฉะนั้นใครๆ ที่เป็นมนุษย์จึงไม่รู้ใจนั้น. บทว่า พฺรหฺมจารี คือ ชื่อพรหมจารี เพราะเป็นผู้ศึกษาเสมอด้วยการบรรพชาเป็นดาบส. บทว่า มณฺฑพฺย คือ มีชื่อว่ามัณฑัพยะ. บทว่า สหาโย คือ เป็นสหายที่รัก เพราะเป็นมิตรแท้ทั้งในเวลาเป็นคฤหัสถ์และเวลาเป็นบรรพชิต. บทว่า มหาอิสิ คือ เป็นฤๅษีมีอานุภาพมาก. บทว่า ปุพฺพกมฺมสมายุตฺโต สูลมาโรปนํ ลภิ ความว่า ประกอบด้วยบุรพกรรมของตนถูกเสียบด้วยหลาวทั้งเป็น. ในบทนี้มีเรื่องราวเป็นลำดับดังต่อไปนี้. ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่าโกสัมพิกะ ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงโกสัมพี แคว้นวังสะ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในนิคมแห่งหนึ่ง. พราหมณ์กุมารได้มีสหายที่รักของเขาชื่อมัณฑัพยะ. ต่อมา เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมทั้งสองเห็นโทษในกาม จึงบริจาคมหาทาน ละกาม เมื่อญาติมิตรบริวารชนร้องไห้คร่ำครวญ ได้ออกไปสร้างอาศรม ณ หิมวันตประเทศ แล้วบวชเลี้ยงชีพด้วยอาหารอันเป็นรากไม้และผลไม้ในป่า ด้วยการเที่ยวขออยู่เกิน ๕๐ ปี. ทั้งสองไม่สามารถข่มกามฉันทะได้. แม้เพียงฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้. สองดาบสเที่ยวจาริกไปยังชนบท เพื่อเสพอาหารมีรสเค็มและเปรี้ยว ถึงแคว้นกาสี. ณ แคว้นกาสีนั้น ในนิคมหนึ่ง สหายครั้งเป็นคฤหัสถ์ของทีปายนะ ชื่อว่ามัณฑัพยะอาศัยอยู่. ทั้งสองจึงเข้าไปหามัณฑัพยะนั้น. มัณฑัพยะเห็นดาบสทั้งสองก็ดีใจสร้างบรรณศาลา บำรุงด้วยปัจจัย ๔. ดาบสทั้งสองอยู่ ณ ที่นั้นได้ ๓-๔ ปี ก็ลามัณฑัพยะนั้นเที่ยวจาริก ไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เต็มไปด้วยไม้เต็งใกล้กรุงพาราณสี. ที่นั้นทีปายนะอยู่ตามความพอใจ แล้วไปหามัณฑัพยะสหายของตนในนิคมนั้นอีก. มัณฑัพยดาบสคงอยู่ ณ ที่นั้นเอง. อยู่มาวันหนึ่ง โจรคนหนึ่งกระทำโจรกรรมภายในเมืองลักทรัพย์หนี ถูกพวกเจ้าของเรือนและพวกมนุษย์ที่รักษานครติดตามออกไปทางท่อน้ำ รีบเข้าป่าช้าทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลาของดาบสแล้วหนีไป. พวกมนุษย์เห็นห่อทรัพย์จึงคุกคามว่า เจ้าชฎิลชั่วคนร้ายทำโจรกรรมในกลางคืน กลางวันเที่ยวไปโดยเพศของดาบส แล้วช่วยกันทุบตีพาดาบสนั้นไปแสดงแด่พระราชา. พระราชามิได้ทรงสอบสวนมีพระบัญชาให้เสียบบนหลาว. พวกมนุษย์นำดาบสนั้นไปยังป่าช้า เสียบบนหลาวไม้ตะเคียน. หลาวมิได้เข้าไปในร่างกายของดาบส. แต่นั้นจึงนำหลาวไม้สะเดามา. แม้หลาวนั้นก็มิได้เข้า. จึงนำหลาวเหล็กมา. หลาวเหล็กก็ไม่เข้า. ดาบสคิดว่า เป็นกรรมเก่าของเรากระมังหนอ. ดาบสระลึกชาติได้ ได้เห็นกรรมเก่าด้วยเหตุนั้น. นัยว่า ดาบสนั้นในอัตภาพก่อนเป็นบุตรของนายช่าง ไปยังที่ที่บิดาถากไม้จับแมลงวันตัวหนึ่งจึงเอาเสี้ยนไม้ทองหลางเสียบดุจหลาว. บาปของเขาได้โอกาสที่นี้. ดาบสรู้ว่าไม่อาจพ้นจากบาปนี้ไปได้ จึงกล่าวกะพวกราชบุรุษว่า หากพวกท่านประสงค์จะเสียบเราที่หลาว. พวกท่านจงนำหลาวไม้ทองหลางมาเถิด. พวกราชบุรุษได้ทำตามนั้นแล้วเสียบดาบสที่หลาว จัดอารักขาแล้วหนีไป. ในกาลนั้น กัณหทีปายนดาบสคิดว่า เราไม่ได้เห็นสหายมานานแล้ว จึงมาหามัณฑัพยดาบส ฟังเรื่องราวนั้นแล้วจึงไปยังที่นั้นยืนอยู่ข้างหนึ่ง ถามว่า สหายท่านทำอะไร เมื่อดาบสบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไร? กัณหทีปายนะถามว่า ท่านสามารถรักษาความประทุษร้ายทางใจได้หรือไม่ได้. มัณฑัพยดาบสตอบว่า เราไม่มีความประทุษร้ายทางใจต่อพวกราชบุรุษและพระราชาที่จับเรา. กัณหทีปายนดาบสกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่านเป็นความสุขของเราแล้วนั่งพิงหลาวอยู่. พวกบุรุษที่ดูแลกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา. พระราชาทรงดำริว่า เราไม่ได้สอบสวนทำลงไป จึงรีบเสด็จไป ณ ที่นั้นตรัสถามทีปายนดาบสว่า เพราะเหตุไร พระคุณท่านจึงนั่งพิงหลาวอยู่เล่า? ดาบสทูลว่า อาตมาภาพนั่งคอยรักษาดาบสนี้ มหาราช. พระราชาตรัสถามว่า พระคุณท่านทราบความที่ดาบสนี้ทำแล้วหรือจึงได้ทำอย่างนี้? ทีปายนดาบสทูลถึงกรรมที่ไม่บริสุทธิ์. ลำดับนั้น ทีปายนดาบสกล่าวคำมีอาทิว่า :- ธรรมดาพระราชาควรเป็นผู้ใคร่ครวญก่อนทำ คฤหัสถ์เกียจคร้าน บริโภคกามไม่ดี. บรรพชิตไม่ สำรวมก็ไม่ดี. พระราชาไม่ใคร่ครวญก่อนทำก็ไม่ดี. บัณฑิตมักโกรธก็ไม่ดี. แล้วแสดงธรรมแก่พระราชา. พระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยดาบสไม่ผิดจึงรับสั่งให้นำหลาวออก. พวกราชบุรุษดึงหลาวแต่ไม่สามารถนำออกได้. มัณฑัพยะกล่าวว่า ข้าแต่มหาราช อาตมภาพได้รับโทษเห็นปานนี้ ก็เพราะโทษของกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน. ใครๆ ก็ไม่อาจดึงหลาวออกจากร่างกายของอาตมภาพได้. หากพระองค์มีพระประสงค์จะทรงให้ชีวิตแก่อาตมภาพ ก็ขอได้รับสั่งให้ทำหลาวนี้เสมอกับผิวหนังแล้วเอาเลื่อยตัดเถิด. พระราชาทรงให้ทำอย่างนั้น. หลาวได้อยู่ภายในนั่นเอง ไม่เกิดเดือดร้อนอย่างไร. นัยว่า ในครั้งนั้น มัณฑัพยดาบสเอาเสี้ยนอย่างเล็กเสียบเข้าไปทางผิวหนังของแมลงวัน. เสี้ยนนั้นยังอยู่ในร่างของแมลงวันนั่นเอง. แมลงวันมิได้ตายด้วยเหตุนั้น แต่ตายด้วยสิ้นอายุของมันเอง เพราะฉะนั้น แม้มัณฑัพยดาบสนี้จึงยังไม่ตาย. พระราชาทรงไหว้ดาบสแล้วทรงขอขมา ทรงให้ดาบสทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยานนั่นเอง ทรงบำรุง. ตั้งแต่นั้น ดาบสนั้นจึงมีชื่อว่าอาณิมัณทัพยะ. ดาบสนั้นอาศัยพระราชาอยู่ ณ พระราชอุทยานนั่นเอง. ส่วนทีปายนดาบสชำระแผลของมัณฑัพยดาบสจนหายดีแล้ว จึงไปยังบรรณศาลาที่มัณฑัพยะผู้เป็นสหายของตนครั้งเป็นคฤหัสถ์. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :- สหายเพื่อนพรหมจรรย์ของเราชื่อว่ามัณฑัพยะ เป็นฤๅษีมีอานุภาพมาก ประกอบด้วยบุรพกรรมถูก เสียบด้วยหลาวทั้งปวง. เราพยาบาลมัณฑัพยดาบส นั้นให้หายโรคแล้ว ได้อำลามาสู่บรรณศาลาอันเป็น อาศรมของเราเอง. ในบทเหล่านั้น บทว่า อาปุจฺฉิตฺวาน คือ อำลามัณฑัพยดาบสผู้เป็นสหายของเรา. บทว่า ยํ มยฺหํ สกมสิสมํ คือเข้าไปอยู่ยังบรรณศาลาอันเป็นอาศรมของเราเอง ซึ่งมัณฑัพยพราหมณ์ผู้เป็นสหายของเรา เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์สร้างให้. พวกพราหมณ์เห็นทีปายนดาบสนั้นเข้าไปยังบรรณศาลา จึงบอกแก่สหาย. สหายนั้นฟังแล้วดีใจ จึงพร้อมด้วยบุตรภรรยาถือเอาของหอมดอกไม้และน้ำผึ้งเป็นต้นเป็นอันมากไปยังบรรณศาลา ไหว้ทีปายนดาบสล้างเท้าให้ดื่มน้ำ นั่งฟังเรื่องราวของอาณิมัณฑัพยดาบส. ลำดับนั้น บุตรของมัณฑัพยะพราหมณ์ ชื่อว่ายัญญทัตตกุมาร เล่นลูกข่างอยู่ที่ท้ายที่จงกรม. ณ ที่นั้น งูเห่าอาศัยอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง. ลูกข่างที่เด็กโยนลงไปบนพื้นได้ไปตกลงบนหัวของงูเห่าในปล่องจอมปลวก. เด็กไม่รู้จึงล้วงมือลงไปในปล่อง. งูโกรธเด็กจึงกัดเข้าที่มือ. เด็กล้มลง ณ ที่นั้นด้วยกำลังของพิษงู. มารดาบิดารู้ว่า เด็กถูกงูกัดจึงอุ้มเด็กให้เข้าไปนอนลงแทบเท้าของดาบส กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณท่านได้โปรดใช้ยาหรือมนต์ทำบุตรของกระผมให้หายโรคเถิด. ทีปายนดาบสกล่าวว่า เราไม่รู้จักยา เราไม่ใช่หมอ เราเป็นนักบวช. มารดาบิดาของเด็กกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณท่านได้โปรดแผ่เมตตาในกุมารนี้แล้วทำสัจกิริยาเถิด. ดาบสกล่าวว่า ดีแล้ว เราจักทำสัจกิริยา จึงวางมือไว้บนศีรษะของยัญญทัตตะ ได้ทำสัจกิริยา. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :- พราหมณ์ผู้เป็นสหายของเรา ได้พาภรรยาและ บุตรต่างถือสักการะสำหรับต้อนรับแขก รวม ๓ คนมา หาเรา เรานั่งเจรจาปราศัยกับสหายและภรรยาของเขา อยู่ในอาศรมของตน. เด็กโยนลูกข่างเล่นอยู่ ทำงูเห่าให้โกรธแล้ว ทีนั้น เด็กนั้นเอามือควานหาลูกข่างไปตามปล่องจอม ปลวก ควานไปถูกเอาหัวงูเห่าเข้า พอมือไปถูกหัวของ มัน งูก็โกรธอาศัยกำลังพิษ เคืองจนเหลือจะอดกลั้น ได้กัดเด็กในทันที พร้อมกับถูกงูกัดเด็กล้มลงที่พื้นดิน ด้วยกำลังพิษกล้า เหตุนั้น เราเป็นผู้ได้รับทุกข์ หรือเรา มีความรักจึงเป็นทุกข์ เราได้ปลอบมารดาบิดาของเด็ก นั้นผู้มีทุกข์เศร้าโศกให้สร่างแล้ว ได้ทำสัจกิริยาอัน ประเสริฐสุด. ในบทเหล่านั้น บทว่า อาคจฺฉุ ํ ปาหุนาคตํ คือ เข้าไปหาพร้อมด้วยสักการะต้อนรับแขก. บทว่า วฏฺฏมนุกฺขิปํ คือ ขว้างลูกข่างที่มีชื่อว่าวัฏฏะ เพราะหยุดหมุนขณะขว้างลงไป. อธิบายว่า เล่นลูกข่าง. บทว่า อาสีวิสมโกปยิ ความว่า เด็กขว้างลูกข่างไปบนพื้นดิน ลูกข่างเข้าไปในปล่องจอมปลวกกระทบหัวงูเห่าซึ่งอยู่ในจอมปลวกนั้นทำให้งูโกรธ. บทว่า วฏฺฏคตํ มคฺคํ อเนฺวสนฺโต คือ ควานไปยังทางที่ลูกข่างนั้นไป. บทว่า อาสีวิสสฺส หตฺเถน, อุตฺตมงฺคํ ปรามสิ คือ เด็กเอามือของตนซึ่งล้วงเข้าไปยังปล่องจอมปลวกถูกหัวงูเห่าเข้า. บทว่า วิสพลสฺสิโต อาศัยกำลังพิษคืองูเกิดเพราะอาศัยกำลังพิษของตน. บทว่า อฑํสิ ทารกํ ขเณ คือ งูได้กัดพราหมณ์กุมารนั้น ในขณะที่ลูบคลำนั่นเอง. บทว่า สห ทฏฺโฐ คือ พร้อมกับถูกงูกัดนั่นเอง. บทว่า อติวิเสน๑- คือ พิษร้าย. บทว่า เตน ความว่า เราเป็นผู้ได้รับทุกข์ เพราะเด็กล้มลงบนพื้นดินด้วยกำลังพิษ. บทว่า มม วา หสิ ตํ ทุกฺขํ เรามีความรักจึงเป็นทุกข์ คือทุกข์ของเด็กและของมารดาบิดานำมาไว้ที่เรา. นำมาด้วยความกรุณาของเราดุจในสรีระของเรา. บทว่า ตฺยาหํ คือ เราปลอบมารดาบิดาของเด็กนั้นโดยนัยมีอาทิว่า อย่าเศร้าโศกเสียใจไปเลย. บทว่า โสกสลฺลิเน๒- คือ มีลูกศรคือความโศก. บทว่า อคฺคํ คือ แต่นั้น เราได้ทำสัจกิริยาอันประเสริฐสูงสุด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น