วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ศาสตร์ที่ว่าด้วยความพ้นทุกข์ที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือนรู้อยู่ที่กาย รู้อยู่ที่ใจ ทำยังไงเราจะรู้กายรู้ใจได้ ตัวนี้ตัวสำคัญ ต้องค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ศึกษา เพราะเราจะรู้สึกว่าเรารู้กายรู้ใจตัวเองอยู่แล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงในโลกนี้ไม่มีคนรู้กายรู้ใจตัวเองหรอก มีแต่คนหลง มีแต่คนเผลอ คนที่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้ มีนับตัวได้ ส่วนมากก็คือเราจะตื่นขึ้นมาแต่กาย แต่ใจเรานี่จะคิดๆ ฝันๆ ไปทั้งวัน ใจเราไม่ตื่นนะ ใจเราจะคิด ใจเราจะฝันไปเรื่อยๆ ต้องค่อยๆ ฝึกจนใจของเราตื่นขึ้นมา ตื่นทั้งกายตื่นทั้งใจนะ จิตใจที่ตื่นขึ้นมานั้นแหละ คือตัว "พุทโธ" ที่เรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตใจของเราไม่ใช่ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตใจของเราส่วนใหญ่ในโลก เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไม่ใช่ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สังเกตให้ดี ใจเรานี้ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ เราคิดทั้งวัน เรารู้เรื่องราวที่เราคิด สังเกตให้ดีนะ พวกเราเวลาเราคิดอะไรไป เรามักจะรู้เรื่องที่เราคิด เรื่องราวที่เราคิดนี้เรียกว่า สมมติบัญญัติ แต่ในขณะที่เรารู้เรื่องราวที่เราคิด เราจะลืมกายลืมใจตัวเอง มีกายก็เหมือนไม่มี เช่น นั่งอยู่ ไม่รู้ว่านั่งอยู่ นั่งฟังหลวงพ่อพูด รู้เรื่องพยักหน้าหงึกๆ หงึกๆ แต่ใจไปที่อื่น เราไม่รู้กาย ร่างกายเคลื่อนไหว ไม่รู้สึก เราไม่รู้ใจตัวเอง จิตใจเราเป็นสุขก็ไม่รู้ เป็นทุกข์ก็ไม่รู้ เฉยๆ ก็ไม่รู้ เป็นกุศลก็ไม่รู้ เป็นอกุศลก็ไม่รู้ เราไม่รู้อะไรเลยที่เกี่ยวกับตัวเราเอง ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกายกับใจ เรารู้แต่เรื่องราวที่เราคิดเอาเอง การที่รู้เรื่องราวที่เราคิดเอาเองนั่นแหละ เรียกว่า รู้สมมติบัญญัติ ในขณะที่การรู้กายรู้ใจ เรียกว่า รู้อารมณ์ปรมัตถ์ คือรูปนาม เรียกว่ากายกับใจก็แล้วกันนะ ให้คอยรู้กายรู้ใจ คนในโลกไม่รู้กายรู้ใจ มีแต่คนลืมตัว มีแต่คนหลง มีแต่คนเผลอ เผลอคิดทั้งวัน เวลาเราดู เราก็เผลอดู เวลาฟัง เราก็เผลอฟัง เวลาคิด เราก็เผลอไปคิด ลืมกายลืมใจตัวเองตลอดเวลา เมื่อเราลืมกายลืมใจตลอดอย่างนี้ เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ ปัญญามันไม่เกิด ไม่สามารถเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจได้ว่ามันไม่ใช่ตัวเราหรอก เราไปหลงยึดติดอยู่ ความเป็นตัวเราก็เกิดขึ้นมา ทีนี้ทำยังไงเราจะรู้กายรู้ใจได้ ศัตรู ของการรู้กายรู้ใจของเรามีสองอย่าง ศัตรูหมายเลขหนึ่ง ก็คือ การที่เราหลงไปอยู่กับความคิดของเรา ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถรู้ทันว่าใจเราไหลไปคิดแล้ว เมื่อนั้นเราจะตื่นขึ้นในฉับพลัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัตินี้ ถ้าเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอก เราจะตื่นขึ้นในฉับพลัน ธรรมะนี่ถ้าใครเข้าถึงแล้วจะอุทานเลยว่า "อัศจรรย์จริงๆ อัศจรรย์" ดูในพระไตรปิฎก เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์จบ คนจะอุทาน "อัศจรรย์จริงๆ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า แจ่มแจ้งนัก" ไม่ใช่ว่า "สับสนนักพระเจ้าข้า" แต่จะพูดว่า "แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย" ของง่ายๆ นะ ศัตรูหมายเลขสอง คือการเพ่งกายเพ่งใจ ทำให้ไม่สามารถรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ เพราะมันนิ่งไปหมด พระพุทธเจ้าเป็นคนจุดไฟขึ้นมา แล้วคนตาดีก็มองเห็นแสงสว่าง มองเห็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ธรรมะจริงๆ ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่พวกเราไม่ค่อยได้ยิน ไม่ค่อยได้ฟัง เราชอบไปคิดเอาเอง ชอบหลงอยู่ในโลกของความคิด การตื่นขึ้นมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ทางลัดที่สุดที่จะตื่นขึ้นมา ก็คือรู้ทันว่าใจเราหนีไปคิดแล้ว มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ไม่ใช่สายวัดป่า หลวงพ่อเทียน วัดสนามใน หลวงพ่อเทียนท่านสอนเหมือนกัน ธรรมะมันลงกัน สายไหนก็เหมือนกัน ถ้าทำถูกต้องก็อันเดียวกัน หลวงพ่อเทียนท่านสอนว่า "ถ้าเมื่อไหร่รู้ว่าจิตคิด จะได้ต้นทางของการปฏิบัติ" รู้ว่าจิตคิดนะ ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด สองอันนี้ไม่เหมือนกัน ในโลกนี้มีแต่คนรู้เรื่องที่จิตคิด แต่ไม่รู้ว่าจิตกำลังแอบไปคิดอยู่ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สังเกตตัวเองไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น