วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ข้ามทะเลทั้งสี่แล้วจะถึงจิตหนึ่งอริยสัจจ์ข้อแรกคือทุกข์ ทุกข์คืออะไร - ทุกข์คือรูปนามขันธ์ 5 หรือกายใจนี้เอง กิจต่อทุกข์มีอย่างไร - กิจต่อทุกข์คือให้รู้ทุกข์ การรู้ทุกข์นั้นทำอย่างไร - เมื่อเราตื่นออกจากโลกของความคิดและเกิดความรู้สึกตัว เราจะรู้กายตามความเป็นจริง และรู้ใจตามความเป็นจริงได้ เมื่อรู้มากเข้าเราจะเข้าใจความเป็นจริงของกายและใจ ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงคือมีแล้วไม่มี เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตาคือเป็นของโลกไม่ใช่ของเรา การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงอย่างนี้แหละคือวิธีรู้ทุกข์ อริยสัจจ์ข้อที่ 2 คือสมุทัย สมุทัยคืออะไร – สมุทัยคือตัณหาหรือความทะยานอยากดิ้นรนของจิต ที่จะแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ ด้วยวิธีการต่างๆ นานา ได้แก่ (1) ความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ด้วยการเที่ยวแสวงหาอารมณ์มาตอบสนองกิเลส (2) ความปรุงแต่งฝ่ายดี ด้วยการควบคุมกาบควบคุมใจให้ดี และ (3) ความปรุงแต่งสภาพธรรมที่พ้นจากการกระทบอารมณ์ชั่วคราว กิจต่อสมุทัยมีอย่างไร – กิจต่อสมุทัยคือให้ละสมุทัย การละสมุทัยนั้นทำอย่างไร – เมื่อเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งจนละความเห็นผิดและความยึดถือว่ารูปนามกายใจเป็นตัวเราแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนแสวงหาความสุขมาให้ตัวเรา หรือดิ้นรนพาตัวเราให้พ้นจากความทุกข์อีกต่อไป การรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งนั่นแหละเป็นทางละสมุทัยโดยอัตโนมัติ อริยสัจจ์ข้อที่ 3 คือนิโรธ นิโรธคืออะไร – นิโรธคือนิพพานได้แก่ความสงบสันติอันเนื่องมาจากความสิ้นตัณหาหรือความดิ้นรนของจิต กิจต่อนิโรธมีอย่างไร – กิจต่อนิโรธคือการทำให้แจ้ง ทำให้เข้าไปสัมผัสถึง การทำนิโรธให้แจ้งนั้นทำอย่างไร – เมื่อรู้ทุกข์จนสิ้นสมุทัยแล้ว นิโรธก็เป็นอันถูกทำให้แจ้งโดยอัตโนมัติ อริยสัจจ์ข้อที่ 4 คือมรรค มรรคคืออะไร – มรรคคือวิธีการรู้ทุกข์จนละสมุทัยและทำนิโรธให้แจ้งได้ กิจต่อมรรคคืออะไร – กิจต่อมรรคคือการทำให้เจริญ ทำให้มาก การเจริญมรรคนั้นทำอย่างไร – ทำ(สัมมา)สติให้เกิดเนืองๆ แล้วองค์มรรคที่เหลือจะเกิดตามมาเอง สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ แต่ถ้ามีเหตุ ถึงไม่สั่ง สติก็เกิดขึ้นได้เอง เหตุของสติคือการที่จิตจดจำสภาวธรรมคือรูปนามได้แม่นยำ จิตจะจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ถ้าจิตเคยเห็นสภาวธรรมบ่อยๆ ดังนั้นพึงหัดทำความรู้จักสภาวธรรมให้มากเข้าไว้ เบื้องต้นทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งที่ถนัด เช่นบริกรรมพุทโธ หรือระลึกรู้ลมหายใจ หรือระลึกรู้ท้องพองยุบ หรือระลึกรู้เท้า หรือระลึกรู้มือ หรือระลึกรู้กายทั้งกาย แล้วตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเลย เช่นเผลอไปจากอารมณ์กรรมฐานนั้นก็รู้ เพ่งอารมณ์กรรมฐานนั้นก็รู้ เป็นสุขก็รู้ เป็นทุกข์ก็รู้ เกิดกุศลก็รู้ เกิดอกุศลก็รู้ ไม่นานสติจะเกิดถี่ยิบขึ้นได้เพราะจิตรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้อย่างแม่นยำ นี้เป็นทางดำเนินของพระอริยเจ้า เรียกว่าอริยสัจจ์ 4 อันมีวนรอบ 3 คือสัจจญาณได้แก่ความรู้จักตัวอริยสัจจ์ กิจญาณคือความรู้หน้าที่หรือกิจต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อ และกตญาณคือการได้ทำกิจต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อนั้นเรียบร้อยแล้ว รวมมีปริวัติ 12 เพราะมีอริยสัจจ์ 4 ข้อ แต่ละข้อมีญาณ 3 อย่าง พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า ตราบใดที่พระองค์ท่านยังทรงไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ 4 อันมีวนรอบ 3 และมีปริวัติ 12 นี้ พระองค์จะไม่ปฏิญาณพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเลย ต่อเมื่อทรงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ 4 อันมีวนรอบ 3 และมีปริวัติ 12 นี้แล้ว จึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นพระพุทธเจ้า อริยสัจจ์ 4 สำคัญถึงขนาดนี้ แม้พระอรหันตสาวกก็ต้องรู้แจ้งอริยสัจจ์ 4 เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ 4 ตราบนั้นยังไม่ใช่พระอรหันต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น