วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ฟังรู้เรื่อง

สิ่งที่ผิดมีสองอัน อันหนึ่งเรียกว่า ‘กามสุขัลลิกานุโยค’ อะไรคือกาม ก็คืออารมณ์ที่มายั่วให้ใจเราหลงนั่นเองเรียกว่ากาม เช่น รูปที่สวยนี่เป็นกามมาล่อให้ใจเราหลง เสียงมาล่อให้ใจเราหลง นี่เรียกกาม กระทั่งความคิดของเราเองยังเป็นกามได้เลย คนก็คิดๆ แล้วก็เพลิดเพลินไป สิ่งเหล่านี้มายั่วให้เราหลง ถ้าเมื่อไรเราหลงในกาม คือหลงในอารมณ์ที่มายั่ว เราจะลืมกายลืมใจตัวเอง รู้สึกไหม เวลาอย่างตอนนี้ตั้งใจฟังหลวงพ่อ รู้สึกไหม เราลืม เรานั่งก็ไม่รู้ละ ใจเราเป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้ งั้นเมื่อไรเราหลงนี่ เราจะลืมกายลืมใจตัวเอง


อันที่สองที่ผิดนะ เรียกว่า ‘อัตตกิลมถานุโยค’ การบังคับตนเอง การกดข่มตัวเอง การทำตัวเองให้ลำบาก นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อยคือนักบังคับตัวเอง คุณนึกออกไหม อย่างเราหายใจมาแต่เกิดไม่เหนื่อยนะ พอเราไปฝึกกำหนดลมหายใจมักจะเหนื่อย หรือเราบังคับตัวเอง รู้สึกไหม ตัวเราแข็งๆ ร่างกายเราก็แข็งๆ ใจเราก็แข็งๆ บางที ตอนที่เราไม่ได้คิดถึงการปฏิบัติ ร่างกายเราก็สบายๆ จิตใจเราก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา แต่พอเราคิดถึงการปฏิบัติเราเริ่มตรึงความรู้สึกของตนเองให้มันนิ่ง การตรึงให้มันนิ่งนี่ มันจะทำให้เราไม่เห็นไตรลักษณ์

อย่างใจของเรา เราไปเพ่งให้นิ่งนะ มันก็เที่ยงอยู่อย่างนั้นเอง ไม่มีไตรลักษณ์ให้ดู แต่ถ้าเราหายใจเข้า หายใจออกไปนะ หายใจไป เราเห็นร่างกายนี้หายใจไป บางทีก็เห็นจิตหนีไป เราก็รู้ทันจิต หายใจไปแล้วมีความสุข เราก็รู้ หายใจไปแล้วอึดอัดเป็นทุกข์ เราก็รู้ หัดคอยรู้คอยดูไป หายใจไปเดี๋ยวก็รู้กาย เดี๋ยวก็รู้เวทนา เดี๋ยวก็รู้จิต หมุนเวียนไปได้ ไม่ได้บังคับ แต่ถ้าเราไปบังคับให้นิ่งจะไม่มีไตรลักษณ์ให้ดู เช่น เราไปกำหนดลมหายใจนะ ไม่ยอมดูโลกข้างนอก ไม่ยอมคิดอะไรเลย รู้แต่ลมหายใจอันเดียว ใจเราจะนิ่งๆ ยิ่งฝึกไปจนแก่นะ ยิ่งนิ่งเก่ง เราจะรู้สึกว่าจิตนี้เป็นของบังคับได้ แทนที่จะเห็นว่าจิตเป็นอนัตตานะ กลับไปเห็นว่าจิตเป็นอัตตา เพราะฉะนั้น พอเราฝึกฌานมาก พวกที่เล่นฌานมากๆ บางทีเลยเห็นว่าจิตนี้เป็นอัตตา พอร่างกายนี้ตาม จิตนี้ก็ออกจากร่างนี้ไปรวมกับบรมอัตตา ปรมาตมัน รวมเข้ากับพรหม เพราะคิดว่ามันเที่ยง มันถาวร

แต่การเจริญสติอย่างศาสนาพุทธนี่เรียนให้เห็นความจริงว่าไม่เที่ยง เห็นเลยใจเราเปลี่ยนทั้งวัน เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เรียนเพื่อให้เห็นตรงนี้นะ เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรียนให้นิ่งหรอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น