วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560
นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตาวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๔ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ถอดเทปและจัดอักษร โดย เจนจิรา นวมงคลกุล และ กวี บุญดีสกุลโชค ขอความสุขความเจริญจงมีแก่สาธุชนทุกๆ ท่าน วันนี้เป็นโอกาสอันเป็นมงคล มงคลในศาสนาพุทธนะ ไม่ใช่มงคลมั่วๆซั่วๆ ท่านกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่า อะไรบ้างที่เป็นมงคล อย่างเวลาเรามาเจอกันนี้มีมงคลหลายข้อ อันแรกเลยได้เห็นสมณะ ได้นั่งใกล้ ได้ฟังธรรม มงคลสำคัญนี่ก็คือฟังธรรม ฟังธรรมแล้วต้องเอาไปปฏิบัติให้ได้ เมื่อกี๊หลวงพ่อ56+546+อยู่ห้องข้างๆได้ยิน มีท่านโฆษกบอกว่า พวกเราต้องตั้งเป้าหมายนะ เราต้องได้ธรรมะในชีวิตนี้ เราอย่าไปวาดภาพว่า มรรคผลนิพพานนี้เป็นของที่ไกลเกินตัว มรรคผลนิพพานไม่ไกลนะ มันไกลสำหรับคนซึ่งไม่รู้จักวิธี มรรคผลนิพพานจริงๆอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา นิพพานเนี่ยไม่เคยหายไปไหนเลย แต่มรรคผลเนี่ยต้องทำให้เกิด ต้องพัฒนาใจจนวันหนึ่งเกิด ส่วนนิพพานนะไม่ต้องเกิด นิพพานมันเกิดอยู่แล้ว นิพพานมีอยู่แล้ว นิพพานไม่เคยหายไปไหน นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา เมื่อไหร่เราเห็นนิพพานครั้งแรก เราก็จะได้เป็นพระโสดาบัน อย่างตอนนี้เราอยู่กับนิพพานนะ แต่เราไม่เห็น เพราะอะไร เพราะใจเราไม่มีคุณภาพพอ นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นกิเลสตัณหา เรียกว่า “วิราคะ” ใจของคนซึ่งยังมีกิเลสตัณหา มันก็ไม่เห็นนิพพาน นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นความปรุงแต่ง เรียกว่า “วิสังขาร” ใจของคนที่ยังปรุงแต่ง ก็ไม่เห็นนิพพาน พวกเราปรุงแต่งทั้งวัน รู้สึกมั้ย ใจเราฟุ้งซ่านทั้งวันนะ เดี่ยวปรุงดี เดี๋ยวปรุงชั่ว เดี๋ยวปรุงว่างๆขึ้นมา สารพัดจะปรุง นิพพานพ้นจากความปรุงแต่งไป แต่ใจที่ปรุงแต่งก็จะไม่เห็นนิพพาน นิพพานนั้นพ้นจากรูป จากนาม จากกาย จากใจ ไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจเมื่อไหร่ก็จะเห็นนิพพาน ถ้ายังยึดถือกาย ยึดถือใจอยู่ ก็ไม่เห็นนิพพานนะ งั้นถ้าเราค่อยๆพัฒนาใจของเรา จนมันหมดกิเลสตัณหา หมดความดิ้นรนปรุงแต่ง หมดความยึดถือในรูปในนามในกายในใจ ถึงไม่อยากจะเห็นนิพพานก็จะเห็น เพราะนิพพานนะ อยากเห็นก็ไม่เห็นหรอก แต่หมดกิเลสเมื่อไหร่ หมดความปรุงแต่งเมื่อไหร่ หมดความยึดถือในกายในใจเมื่อไหร่ มันเห็นของมันเอง ทางนี้ตั้งหัวข้อให้หลวงพ่อเทศน์ “ทางพ้นทุกข์ ก.ไก่ถึงฮ.นกฮูก” รู้สึกว่าหลวงพ่อจะเริ่มจาก ฮ.นกฮูกมาหา ก.ไก่ แล้วละนะ (คนฟังฮา) เอา ฮ นกฮูก ก่อนก็แล้วกันนะ .....คือเราเป็นคนรุ่นใหม่ เราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร เราต้องรู้ชัด ถ้าเราจะไปสู่นิพพาน อย่างน้อยชาตินี้เป็นพระโสดาบันให้ได้นะ ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว วันหนึ่งข้างหน้ายังไงก็ต้องเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันไม่ยากเกินไป เราต้องมาดูคุณสมบัติของพระโสดาบันก่อนนะ พระโสดาบันคือท่านผู้เห็นความจริงว่า “ตัวเราไม่มี” เรียกว่า “ละสกายทิฐิ”ได้ ท่านเห็นว่าตัวเราไม่มีนะ ในกายนี้ ในใจนี้ ไม่มีตัวเรา กายนี้ใจนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีตัวเรานอกเหนือจากกายจากใจนี้อีก สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา ก็คือกายนี้ใจนี้เท่านั้นแหละ รูปนาม ขันธ์๕ อายตนะ๖ ธาตุ๑๘ แล้วแต่จะเรียกนะ รวมความง่ายๆ ก็คือ รูปกับนาม คือกายกับใจนี่เอง เราเห็นว่ามันเป็นตัวเรา ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถพัฒนาจิตใจ จนเราเห็นความจริงนะว่าตัวเราไม่มีหรอก กายนี้ไม่ใช่เราใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในกายในใจนี้ ไม่มีเรานอกเหนือกายนอกเหนือใจนี้ เราก็จะได้เป็นพระโสดาบัน เป็นผู้เที่ยงต่อการตรัสรู้ในวันข้างหน้า วันหนึ่งก็เป็นพระอรหันต์ เหมือนคนตกลงในกระแสน้ำนะ น้ำพัดพาไปนะ วันหนึ่งไปถึงทะเล ทำยังไงเราถึงจะสามารถเห็นได้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรานะ พระพุทธเจ้าท่านเคยสอนบอกว่า คนในศาสนาอื่นเค้าสามารถเห็นได้ว่า กายไม่ใช่เรา มีแต่คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นนะ ถึงจะพัฒนาจิตใจเรา จนเราเห็นความจริงว่า จิตก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา อย่างคนที่เรียนกับหลวงพ่อนะ ซักเดือนสองเดือนเนี่ย สามารถเห็นได้แล้วว่ากายไม่ใช่เรา แต่ส่วนมากก็ยังเห็นว่าจิตเป็นเราอยู่ ถ้าวันใดเห็นว่าจิตก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในกาย ไม่มีเราในจิต ก็ได้ธรรมะ เป็นปลอดภัย ไม่ไปอบายละ ชีวิตมีความสุข มีความสงบ มีความมั่นคง กิเลสหายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ทำยังไง เราจะสามารถเห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรานะ เรามาดูของจริง การดูของจริงของกายของใจเรียกว่า “การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน” การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เห็นกายเห็นใจนะ พวกเราอย่าตื้น บางคนตื้นเกินไป คิดว่าแค่รู้กาย แค่รู้ใจก็คือการทำวิปัสสนากรรมฐาน....ไม่ใช่ วิปัสสนากรรมฐานต้องเห็นความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังก็คือสิ่งซึ่งมันเคยมีแล้วมันไม่มี สิ่งซึ่งเคยไม่มีมันกลับมีขึ้นมานี่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง คือ มันทนอยู่ไม่ได้นะ มันถูกสภาวะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยของมันเนี่ยเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป พอเหตุของมันเปลี่ยนนะ ตัวมันทนอยู่ไม่ได้นะ ถูกบีบคั้น ทนอยู่ไม่ได้ในภาวะอันใดอันหนึ่ง เรียกว่า ทุกขัง อนัตตา ก็คือ มันจะเกิดขึ้น มันจะตั้งอยู่ หรือมันจะดับไป เป็นไปเพราะเหตุ ไม่ใช่เพราะเราสั่ง เราบังคับไม่ได้ อยู่นอกเหนือการบังคับ นี่เรียกได้ว่าอนัตตา ถ้าสามารถเห็นได้ว่า กายนี้ใจนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นเพียงมุมใดมุมหนึ่ง ไม่ต้องเห็นทั้งสามอย่าง เห็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็สามารถปล่อยวาง ความยึดถือกายยึดถือใจได้ในที่สุด แต่ในเบื้องต้นก็จะเห็นก่อนว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ถึงจะเห็นว่าไม่ใช่เราแต่ก็ยังไม่ปล่อยวาง พระโสดาบันเนี่ย ท่านเห็นความจริงแล้วว่าตัวเราไม่มี กายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา กายนี้เป็นวัตถุธาตุที่ยืมโลกมาใช้ จิตใจก็เป็นธาตุเรียกว่าธาตุรู้ ธาตุรู้เนี่ยเกิดดับๆ สืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ตัวเรา แต่ท่านยังยึดถืออยู่นะ ยังเห็นว่า กายนี้ใจนี้ยังนำความดีงามมาให้ได้ ยังรักมันอยู่ ยังนำความสุขมาให้ได้ ต้องเจริญสติต่อไปอีกนะ รู้กายรู้ใจๆ เรื่อยไป ถึงวันหนึ่ง ถึงจะเห็นความจริงว่า กายนี้ใจนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะว่าไม่ใช่ตัวเรา บังคับมันไม่ได้ อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ ถ้าเห็นอย่างนี้นะก็จะปล่อยวาง ปล่อยวางเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันเนี่ยไม่ได้ยากเท่าไหร่ แค่รู้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในกายในใจ แต่ยังยึดถืออยู่ ทำไมไม่เห็นว่าเป็นเรา แล้วยังยึดถือได้ คล้ายๆ คนที่ยืมของคนอื่นเค้ามาใช้นะ สมมุติหลวงพ่อไปยืมรถยนต์ ของคุณอนุรุธมาใช้ซักคันนึง โอ้...รถคันนี้มันโก้จังนะ เรามีแต่รถกระบะ นี่รถเค้าสวย ยืมมาใช้นาน จนหลงไปว่าเป็นรถของเราเอง ยืมเค้ามานาน จนเราคิดว่าเป็นของเราเอง เหมือนกายนี้ใจนี้ เรายืมของโลกมาใช้ ยืมมานานจนสำคัญผิดว่าเป็นของเราเอง วันหนึ่งเป็นพระโสดาบัน รู้แล้วว่ากายนี้ใจนี้เป็นของโลกนะไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราหรอก ก็จะคล้ายๆคนขี้งกอ่ะ รู้แล้วว่ารถคันนี้ไมใช่ของเรานะ แต่มันดีนะ เอาไว้ก่อน เพราะฉะนั้นพระโสดาบันยังมีอารมณ์ขี้งกอยู่ ยังไม่ปล่อยวางกายวางใจจริงนะ ต้องมาเรียนรู้กายรู้ใจให้หนักเข้าอีก ดูไปเรื่อย วันหนึ่งเกิดปัญญาขึ้นมา ก็เห็นมันเป็นแต่ทุกข์ล้วนๆเลย ไม่ใช่ของดีของวิเศษอีกต่อไป ก็ยอมคืนเจ้าของ คืนให้โลกไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น