วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
ผู้สละโลก ธรรมอันพ้นจากโลกความมีอยู่ของพระนิพพาน มิใช่สภาวะที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของจิต แต่มีอยู่โดยตัวของตัวเอง คือเป็นความจริงขั้นปรมัตถสัจ ที่ตรงข้ามกับสมมติสัจในโลกแห่งปรากฏการณ์ มีสภาวะที่เที่ยง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดดับสลับกันไปแบบสิ่งต่างๆ ในโลก นิพพานจึงเป็นอสังขตธรรมที่พ้นไปจากปัจจัยปรุงแต่ง ในสภาวะของนิพพานทั้งนาม (จิต) และรูป ย่อมดับไม่เหลือ ดังพุทธวจนะในเกวัฏฏสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ได้กล่าวถึงนิพพานว่าเป็น "ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใสโดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมนี้ อุปาทยรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมนี้ นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ เพราะวิญญาณดับ นามและรูปย่อมดับ ไม่มีเหลือในธรรมชาติ ดังนี้ฯ" (ที.สี.14/350) เพราะฉะนั้น นิพพานจึงไม่ใช่จิต หรือสัมปชัญญะบริสุทธิ์ ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของพรหมันหรืออาตมันของปรัชญาฮินดู ทั้งยังไม่ใช่เจตสิกที่อาศัยจิตเกิดขึ้น เพราะทั้งจิตและเจตสิกนั้นล้วนเป็นสังขตธรรม ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง มีธรรมชาติเกิดดับ มีการเปลี่ยนแปร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ แต่นิพพานอยู่เหนือสภาพเช่นนี้ และว่างเปล่าจากสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกัน นิพพานก็ไม่ใช่ความดับสูญอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นลักษณะของอุจเฉททิฏฐิการใช้ภาษาอธิบายนิพพานเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเป็นอัตตาเที่ยงแท้ (สัสสตทิฏฐิ) หรือว่าเป็นความขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) ซึ่งเป็นทัศนะที่คลาดเคลื่อนจากพระบาลีทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงอธิบายว่า พระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานเมื่อดับขันธ์แล้วจะอยู่ในสภาพเช่นใด การอธิบายทำได้ในลักษณะเพียงว่า นิพพานคือการดับทุกข์ สิ้นตัณหา เหมือนไฟที่ดับจนสิ้นเชื้อไม่สามารถที่จะลุกลามขึ้นมาได้อีก สำหรับพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้วนั้น พระพุทธองค์ไม่ตรัสยืนยันถึงความมีอยู่หรือความดับสูญ พระองค์ตรัสแต่เพียงว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ทั้งเทวดาและมนุษย์จะไม่สามารถเห็นพระองค์อีกต่อไป "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันนำไปสู่ภพขาดแล้ว ยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต" (ที.สี.14/90) ในคำสอนพระพุทธศาสนา ไม่มีอัตตาใดเข้าสู่นิพพาน และไม่มีอัตตาดับสูญในภาวะแห่งนิพพาน แม้ในโลกแห่งปรากฏการณ์ เบื้องหลังเบญจขันธ์อันไม่เที่ยงนั้น ก็มิได้มีอัตตาซึ่งเป็นผู้รับรู้หรือเป็นพื้นฐานแห่งตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอยู่ในรูปของกระบวนการที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กระบวนการแห่งนามรูปที่สมมติว่าเป็น ตัวตน สัตว์ บุคคล เราเขา นี้ เมื่อวิวัฒนาการไปจนกระทั่งถึงที่สุด ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปก็เป็นอันยุติลง สภาพความสิ้นสุดกระบวนการแห่งนามรูปที่ไม่เที่ยงแปรปรวนอยู่ทุกขณะนี้ เรียกว่านิพพาน เมื่อรูปและนามดับ นิพพานจึงไม่ใช่ทั้งจิตและสสารซึ่งต้องอาศัยเหตุปัจจัยในการดำรงอยู่ พระนิพพานตั้งอยู่โดยไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัย จึงเรียกว่าอสังขตธรรมในพระไตรปิฎกมักเปรียบนิพพานว่าเหมือนกับไฟที่ดับแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่าไฟที่ดับไปนั้นหายไปไหนหรืออยู่ในสภาพใด นิพพานเป็นธรรมที่พ้นไปจากโลก การอธิบายนิพพานโดยอาศัยพื้นฐานในทางโลกตลอดจนภาษาทางตรรกศาสตร์จึงไม่อาจกระทำได้ การจำกัดความจึงมักใช้การปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ไม่ใช่ทั้งสิ่งนั้นและสิ่งนี้ ไม่มีการอุบัติ ไม่มีการจุติ ไม่มีองค์ประกอบ ไม่มีการสร้างสรรค์ ไม่มีการแตกทำลาย ไม่ใช่ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น ดังปรากฏในพาหิยสูตร ความว่า "ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ 4) รู้แล้วด้วยตนเอง เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นแล้วจากรูปและอรูป จากความสุขและความทุกข์..." (ขุ.ขุ.อ.25/50) เมื่อนิพพานพ้นไป นิพพานจึงเทียบได้กับ ไฟอันที่หมดเชื้อไฟแล้วและดับไป อันเชื้อไฟนั้นเปรียบได้กับกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น อ้างอิง[แก้]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น