วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การเกิดครั้งสุดท้าย ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ความที่กุลบุตรนั้นครอบงำความใคร่ในรูปาวจรฌานนั้นแล้ว จึงทรงแสดงโทษนั้นทั้งหมด ด้วยบทเดียวเท่านั้นว่า สงฺขตเมตํ ดังนี้แก่ภิกษุผู้ยังไม่บรรลุ ยังไม่ได้อรูปาวจรฌานนั้นว่า ชื่อว่าสมบัติในอากาสานัญจายตนะเป็นต้นนั้นมีอยู่ ก็อายุของผู้ได้อากาสานัญจายตนะเป็นต้นนั้น ในพรหมโลกที่หนึ่งมี ๒๐,๐๐๐ กัป ในพรหมโลกที่สองมี ๔๐,๐๐๐ กัป ในพรหมโลกที่สามมี ๖๐,๐๐๐ กัป ในพรหมโลกที่สี่มี ๘๔,๐๐๐ กัป แต่อายุนั้นไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน เป็นไปชั่วคราว มีการเคลื่อนไป แตกดับและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา คล้อยตามความเกิด ถูกชราบั่นทอน อันมรณะครอบงำ ตั้งอยู่ในทุกข์ ไม่มีอะไรต้านทาน ไม่เป็นที่เร้นลับ ไม่เป็นที่พึ่ง ไม่เป็นที่พึ่งพาอาศัย แม้ได้เสวยสมบัติในพรหมโลกนั้น ตลอดกาลประมาณเท่านี้ ทำกาลกิริยาอย่างปุถุชนแล้ว พึงตกในอบายสี่อีก. กุลบุตรได้ฟังพระพุทธพจน์นั้นแล้ว ยึดมั่นความใคร่ในอรูปาวจรฌาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงทราบความที่กุลบุตรนั้นเป็นผู้ยึดมั่นความใคร่ในรูปาวจรและอรูปาวจรแล้ว เมื่อจะทรงถือยอดคืออรหัต จึงตรัสว่า บุคคลนั้นจะไม่คำนึง ดังนี้เป็นต้น. ก็หรือว่ามหาโยธะ (นายทหารผู้ใหญ่) คนหนึ่ง ยังพระราชาพระองค์หนึ่งให้พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้บ้านส่วยซึ่งมีรายได้หนึ่งแสน. พระราชาทรงระลึกถึงอานุภาพของมหาโยธะนั้นว่า โยธะมีอานุภาพมาก เขาได้ทรัพย์น้อย ดังนี้ จึงพระราชทานอีกว่า ดูก่อนพ่อ บ้านนี้ไม่สมควรแก่ท่าน ท่านจงรับเอาบ้านอื่นซึ่งมีรายได้ตั้งสี่แสน. เขารับสนองพระบรมราชโอการว่า ดีละ พระเจ้าข้า ละบ้านนั้นแล้วรับเอาบ้านนี้. พระราชาตรัสสั่งให้เรียกมหาโยธะนั้นผู้ยังไม่ถึงบ้านนั้นแล ทรงส่งไปว่า ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยบ้านนั้น อหิวาตกโรคกำลังเกิดในบ้านนั้น แต่ในที่โน้นมีนครใหญ่ ท่านพึงยกฉัตรเสวยราชย์ในนครนั้นเถิดดังนี้. มหาโยธะนั้นพึงเสวยราชย์อย่างนั้น. ในข้อนั้น พึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนพระราชา. ปุกกุสาติกุลบุตรเหมือนมหาโยธะ. อานาปานจตุตถฌานเหมือนบ้านที่ได้ครั้งแรก. การให้กระทำการยึดมั่นซึ่งความใคร่ในอานาปานฌานแล้วตรัสอรูป เหมือนกาลให้มหาโยธะสละบ้านนั้นแล้วตรัสว่า เจ้าจงถือเอาบ้านนี้. การที่ให้กุลบุตรนั้นเปลี่ยนการปรารถนาในสมาบัติเหล่านั้นที่ยังไม่ถึง ด้วยการทรงแสดงโทษในอรูปว่า สงฺขตเมตํ แล้วทรงถือเอาเทศนาด้วยยอดคืออรหัตในเบื้องสูง เหมือนกาลที่ตรัสสั่งให้เรียกมหาโยธะซึ่งยังไม่ถึงบ้านนั้น แล้วตรัสว่า ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยบ้านนั้น อหิวาตกโรคกำลังเกิดในบ้านนั้น ในที่โน้นมีนคร ท่านจงยกฉัตรเสวยราชย์ในนครนั้นเถิด. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนว อภิสงฺขโรติ คือ ไม่สั่งสม ได้แก่ไม่ทำให้เป็นกอง. บทว่า น อภิสญฺเจตยติ คือ ไม่ให้สำเร็จ. บทว่า ภวาย วา วิภวาย วา ได้แก่ เพื่อความเจริญหรือเพื่อความเสื่อม. พึงประกอบแม้ด้วยอำนาจแห่งสัสสตะและอุจเฉทะ. บทว่า น กิญจิ โลเก อุปาทิยติ ความว่า ไม่ถือ ไม่ลูบคลำ แม้ธรรมหนึ่งอะไรๆ ในธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นในโลกด้วยตัณหา. บทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งอยู่ในพุทธวิสัยของพระองค์ ทรงถือยอดคืออรหัตด้วยเทศนา. ส่วนกุลบุตรแทงตลอดสามัญผล ๓ ตามอุปนิสัยของตน. พระราชาเสวยโภชนะมีรสต่างๆ ด้วยภาชนะทองคำ ทรงปั้นก้อนข้าวโดยประมาณของพระองค์ ครั้นเมื่อพระราชกุมารประทับนั่ง ณ พระเพลา แสดงความอาลัยในก้อนข้าวพึงทรงน้อมก้อนข้าวนั้น. กุมารทรงทำคำข้าวโดยประมาณพระโอษฐ์ของพระองค์ พระราชาทรงเสวยคำข้าวที่เหลือด้วยพระองค์เองหรือทรงใส่ในจานฉันใด พระตถาคตผู้ธรรมราชาก็ฉันนั้น เมื่อทรงถือยอดคือพระอรหัตโดยประมาณพระองค์ ทรงแสดงเทศนา. กุลบุตรแทงตลอดสามัญญผล ๓ ตามอุปนิสัยของตน. ก็ในกาลก่อนแต่นี้ กุลบุตรนั้นแสดงกถาอันประกอบด้วยไตรลักษณ์ อันมีความว่างเปล่าอย่างยิ่งเห็นปานนี้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลาย ย่อมไม่กังขา ย่อมไม่สงสัยว่า นัยว่าไม่เป็นอย่างนั้น ข้อนั้นอาจารย์ของเรากล่าวแล้วอย่างนี้ ทราบว่า ความเป็นคนเขลา ความเป็นผู้ผิดไม่มี ด้วยประการฉะนี้. ได้ยินว่า ในฐานะบางอย่าง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จไปด้วยเพศอันบุคคลไม่รู้ได้ ได้มีความสงสัย มีความเคลือบแคลงว่า นั่นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนอแล. เพราะกุลบุตรนี้แทงตลอดอนาคามิผลแล้ว ในกาลนั้นจึงถึงความตกลงว่า บุคคลนี้ คือพระศาสดาของเรา. ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร กุลบุตรจึงไม่แสดงโทษล่วงเกินเล่า. ตอบว่า เพราะไม่มีโอกาส. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำวาระอันไม่ตัดแล้วด้วยมาติกาตามที่ทรงยกขึ้นแล้ว จึงทรงแสดงพระเทศนา ดุจทรงให้หยั่งลงสู่อากาศคงคาฉะนั้นแล. บทว่า โส คือ พระอรหันต์นั้น. บทว่า อนชฺโฌสิตา ความว่า รู้ชัดว่า ไม่ควรแล้ว เพื่อกลืน ติดใจ ถือเอา. บทว่า อนภินนฺทิตา คือ รู้ชัดว่า ไม่ควรแล้วเพื่อเพลิดเพลินด้วยอำนาจแห่งตัณหาและทิฐิ. บทว่า วิสํยุตฺโต น เวทิยติ ความว่า ก็ถ้าว่า ราคานุสัยเพราะปรารภสุขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะปรารภทุกขเวทนา อวิชชานุสัยเพราะปรารภเวทนานอกนี้ พึงเกิดแก่บุคคลนั้นไซร้ บุคคลนั้น ก็ชื่อว่าประกอบพร้อมแล้วเสวย. แต่เพราะไม่เกิดจึงชื่อว่าไม่ประกอบเสวยคือสลัดออกแล้ว พ้นวิเศษแล้ว. บทว่า กายปริยนฺติกํ ความว่า เวทนาซึ่งเกิดขึ้นมีกายเป็นที่สุด จนถึงความเป็นไปแห่งกาย ต่อแต่นั้นก็ไม่เกิด. แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อภินนฺทิตานิ สีติภวิสฺสนฺติ ความว่า ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดเป็นอันชื่อว่าไม่ยินดีแล้ว เพราะความที่กิเลสทั้งหลายไม่มีพิเศษ ในอายตนะสิบสอง จักดับในอายตนะสิบสองนี้นั้นเทียว. ก็กิเลสทั้งหลายแม้ดับแล้วเพราะมาถึงนิพพาน ย่อมไม่มีในที่ใด เรียกว่าดับแล้วในที่นั้น. เนื้อความนี้นั้นพึงแสดงด้วยสมุทยปัญหาว่า ตัณหานั้น เมื่อจะดับย่อมดับในที่นั้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดแม้เป็นธรรมชาติสงบแล้ว เพราะอาศัยนิพพาน จักเป็นของสงบในโลกนี้แล. ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความเสวยอารมณ์ทั้งหลายในที่นี้มิใช่หรือ ทำไมจึงไม่ตรัสกิเลสทั้งหลายเล่า. ตอบว่า เพราะแม้ความเสวยอารมณ์ทั้งหลายจะเป็นของสงบ เพราะไม่มีกิเลสนั้นเทียว. ธรรมดาความที่ความเสวยอารมณ์ทั้งหลายเป็นของสงบ ไม่มีในฐานะนอกนี้ เพราะฉะนั้น คำนั้นกล่าวดีแล้ว. นี้เป็นการเปรียบเทียบอุปมาในบทนี้ว่า เอวเมว โข. เหมือนบุรุษคนหนึ่ง เมื่อประทีปน้ำมันไหม้อยู่ ครั้นน้ำมันหมดแล้ว ก็เติมน้ำมันเหล่านั้น เมื่อไส้หมดก็ใส่ไส้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเปลวประทีปก็ไม่ดับฉันใด ปุถุชนก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตั้งอยู่ในภพหนึ่ง ย่อมทำกุศลและอกุศล เขาก็จะเกิดในสุคติและในอบายทั้งหลาย เพราะกุศลและอกุศลนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เวทนาทั้งหลายก็ยังไม่ขาดสูญนั้นเทียว. อนึ่ง คนหนึ่งกระสันในเปลวประทีปแอบซ่อนด้วยคิดว่า เพราะอาศัยบุรุษนี้เปลวประทีปจึงไม่ดับดังนี้ พึงตัดศีรษะของบุรุษนั้น. เพราะไม่ใส่ไส้และไม่เติมน้ำมันอย่างนี้ เปลวประทีปที่หมดเชื้อก็ย่อมดับฉันใด พระโยคาวจรผู้กระสันในประวัตตกาลก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตัดขาดกุศลและอกุศลด้วยอรหัตมรรค. เพราะความที่กุศลนั้นถูกตัดขาดแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้นอีกแก่ภิกษุผู้ขีณาสพ เพราะความแตกแห่งกายดังนี้. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะอรหัตผลปัญญา ยิ่งกว่าสมาธิปัญญาและวิปัสสนาปัญญาในเบื้องต้น. บทว่า เอวํ สมนฺนาคโต ความว่า ผู้ประกอบพร้อมด้วยอรหัตผลปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ อันสูงสุดนี้. ญาณในอรหัตมรรค ชื่อว่าญาณในความสิ้นไปซึ่งทุกข์ทั้งปวง. แต่ในสูตรนี้ทรงประสงค์ญาณในอรหัตผล. เพราะเหตุนั้นแล จึงตรัสว่า ความหลุดพ้นของเขานั้นจัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ ดังนี้. ก็ในบทเหล่านั้น บทว่า วิมุตฺติ ได้แก่ อรหัตผลวิมุตติ. บทว่า สจฺจํ ได้แก่ ปรมัตถสัจ คือนิพพาน. ความหลุดพ้นนั้นตรัสว่า ไม่กำเริบ เพราะทำอารมณ์อันไม่กำเริบด้วยประการฉะนี้. บทว่า มุสา ได้แก่ ไม่จริง. บทว่า โมสธมฺมํ ได้แก่ สภาพที่พินาศ. บทว่า ตํ สจฺจํ ความว่า สัจจะนั้นเป็นของแท้มีสภาพ. บทว่า อโมสธมฺมํ ได้แก่ มีสภาพไม่พินาศ. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะปรมัตถสัจ คือนิพพานนั้นแล สูงกว่าวจีสัจบ้าง ทุกขสัจและสมุทัยสัจบ้าง ด้วยอำนาจแห่งสมถะและวิปัสสนาแต่ต้น. บทว่า เอวํ สมนฺนาคโต ความว่า ผู้ประกอบพร้อมด้วยปรมัตถสัจจาธิษฐานอันสูงสุดนี้. บทว่า ปุพฺเพ คือ ในกาลเป็นปุถุชน. บทว่า อุปธี โหนฺติ ได้แก่ อุปธิเหล่านี้คือขันธูปธิ กิเลสูปธิ อภิสังขารูปธิ ปัญจกามคุณูปธิ. บทว่า สมตฺตา สมาทินฺนา ความว่า บริบูรณ์คือถือเอาแล้ว ได้แก่ลูบคลำแล้ว. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะการสละกิเลสด้วยอรหัตมรรคนั้นแลดีกว่าการสละกิเลสด้วยอำนาจแห่งสมถะและวิปัสสนาแต่ต้น และกว่าการสละกิเลสด้วยโสดาปัตติมรรคเป็นต้น. บทว่า เอวํ สมนฺนาคโต คือ ผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยจาคาธิษฐานอันสูงสุดนี้. ชื่อว่าอาฆาฏะ ด้วยอำนาจแห่งการทำการล้างผลาญ ในคำเป็นต้นว่า อาฆาโฏ. ชื่อว่าพยาบาท ด้วยอำนาจแห่งการปองร้าย. ชื่อว่าสัมปโทสะ ด้วยอำนาจแห่งการประทุษร้ายทุกอย่าง. ท่านกล่าวอกุศลมูลเท่านั้น ด้วยบททั้ง ๓. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะการสงบระงับกิเลสด้วยอรหัตมรรคนั้นแล สูงกว่าการสงบระงับกิเลสด้วยอำนาจแห่งสมถะและวิปัสสนาแต่เบื้องต้น และการสงบระงับกิเลสด้วยโสดาปัตติมรรคเป็นต้น. บทว่า เอวํ สมนฺนาคโต ความว่า ผู้ประกอบพร้อมด้วยอุปสมาธิษฐานอันอุดมนี้. บทว่า มญฺญิตเมตํ ความว่า ความสำคัญแม้ ๓ อย่างคือ ตัณหามัญญิตะ มานมัญญิตะ ทิฏฐิมัญญิตะ ย่อมเป็นไป. ก็บทนี้ว่า อสฺสมหํ ในบทนี้ว่า อหมสฺมิ คือ ความสำคัญตัณหานั้นเทียว ย่อมเป็นไป. ชื่อว่าโรค เพราะอรรถว่าเบียดเบียน ในบทว่า โรโค เป็นต้น. ชื่อว่าคัณฑะ เพราะอรรถว่าประทุษร้ายในภายใน. ชื่อว่าสัลละ เพราะอรรถว่าเสียดแทงเนืองๆ. บทว่า มุนิ สนฺโตติ วุจฺจติ ความว่า บุคคลนั้นเรียกว่า มุนีผู้พระขีณาสพ ผู้สงบแล้ว คือผู้สงบระงับแล้ว ดับทุกข์แล้ว. บทว่า ยตฺถ ฐิตํ คือ ตั้งอยู่ในฐานะใด. บทว่า สงฺขิตฺเตน ความว่า ก็พระธรรมเทศนาแม้ทั้งหมดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ย่อแล้วเทียว. ชื่อว่า เทศนาโดยพิสดารไม่มี. แม้สมันตปัฏฐานกถาก็ย่อแล้วนั้นแล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังเทศนาให้ถึงตามอนุสนธิด้วยประการฉะนี้. ก็ในบุคคล ๔ จำพวก มีอุคฆฏิตัญญูเป็นต้น ปุกกุสาตีกุลบุตรเป็นวิปัจจิตัญญู. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธาตุวิภังคสูตรนี้ ด้วยอำนาจแห่งวิปัจจิตัญญู ด้วยประการฉะนี้. ในบทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บาตรและจีวรของข้าพระองค์ยังไม่ครบแล. มีคำถามว่า เพราะเหตุไร บาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์จึงไม่เกิดขึ้นแก่กุลบุตรเล่า. ตอบว่า เพราะความที่บริขาร ๘ อย่างอันกุลบุตรไม่เคยให้ทานแล้วในกาลก่อน. กุลบุตรมีทานเคยถวายแล้ว มีอภินิหารได้กระทำแล้ว จึงไม่ควรกล่าวว่า เพราะความที่ทานไม่เคยให้แล้ว. ก็บาตรและจีวรอันสำเร็จแต่ฤทธิ์ ย่อมเกิดแก่สาวกทั้งหลายผู้มีภพสุดท้ายเท่านั้น. ส่วนกุลบุตรนี้ยังมีปฏิสนธิอีก. เพราะฉะนั้น บาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ จึงไม่เกิดขึ้น. ถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงแสวงหาด้วยพระองค์เองให้ถึงพร้อมเล่า. ตอบว่า เพราะพระองค์ไม่มีโอกาส. อายุของกุลบุตรก็สิ้นแล้ว. มหาพรหมผู้อนาคามีชั้นสุทธาวาส ก็เป็นราวกะมาสู่ศาลาช่างหม้อแล้วนั่งอยู่. เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงแสวงหาด้วยพระองค์เอง. บทว่า ปตฺตจีวรํ ปริเยสนํ ปกฺกามิ ความว่า ท่านปุกกุสาติหลีกไปในเวลานั้น เมื่ออรุณขึ้นแล้ว. ได้ยินว่า การจบพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า การขึ้นแห่งอรุณและการเปล่งพระรัศมี ได้มีในขณะเดียวกัน. นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระเทศนาแล้ว ทรงเปล่งพระรัศมีมีสี ๖ ประการ. นิเวศน์แห่งช่างหม้อทั้งสิ้นก็โชติช่วงเป็นอันเดียวกัน. พระฉัพพัณณรัศมีชัชวาลย์แผ่ไปเป็นกลุ่มๆ ทำทิศทางทั้งปวงให้เป็นดุจปกคลุมด้วยแผ่นทองคำ และดุจรุ่งเรืองด้วยดอกคำและรัตนะอันประเสริฐซึ่งมีสีต่างๆ. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานว่า ขอให้ชาวพระนครทั้งหลายจงเห็นเรา ดังนี้. ชาวพระนครทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ต่างก็บอกต่อๆ กันว่า ได้ยินว่า พระศาสดาเสด็จมาแล้ว นัยว่า ประทับนั่ง ณ ศาลาช่างหม้อ แล้วกราบทูลแด่พระราชา. พระราชาเสด็จไปถวายบังคมพระศาสดาแล้วตรัสถามว่า พระองค์เสด็จมาแล้วเมื่อไร. เมื่อเวลาพระอาทิตย์ตกวานนี้ มหาบพิตร. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาด้วยกรรมอะไร. พระเจ้าปุกกุสาติพระสหายของพระองค์ทรงฟังพระราชสาส์นที่มหาบพิตรส่งไปแล้ว เสด็จออกบวช เสด็จมาเจาะจงอาตมาภาพ ล่วงเลยกรุงสาวัตถีเสด็จมาสิ้น ๔๕ โยชน์ เสด็จเข้าสู่ศาลาช่างหม้อนี้แล้วประทับนั่ง อาตมภาพจึงมาเพื่อสงเคราะห์พระสหายของมหาบพิตร ได้แสดงธรรมกถา กุลบุตรทรงแทงตลอดผล ๓ มหาบพิตร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ พระเจ้าปุกกุสาติประทับอยู่ที่ไหน พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พระเจ้าปุกกุสาติกุลบุตรทรงขออุปสมบทแล้ว เสด็จไปเพื่อทรงแสวงหาบาตรและจีวร เพราะบาตรและจีวรยังไม่ครบบริบูรณ์. พระราชาเสด็จไปทางทิศทางที่กุลบุตรเสด็จไป. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเหาะไปปรากฏ ณ พระคันธกุฏีในพระเชตวันนั้นแล. แม้กุลบุตรเมื่อแสวงหาบาตรและจีวร ก็ไม่ไปสู่สำนักของพระเจ้าพิมพิสาร และของพวกพ่อค้าเดินเท้า ชาวเมืองตักกสิลา. ได้ยินว่า กุลบุตรนั้นคิดอย่างนี้ว่า การที่เลือกแสวงหาบาตรและจีวรที่พอใจและไม่พอใจในสำนักนั้นๆ แล ไม่สมควรแก่เราผู้ดุจไก่ พระนครใหญ่ จำเราจักแสวงหาที่ท่าน้ำ ป่าช้า กองขยะและตามตรอก ดังนี้. กุลบุตรปรารภเพื่อแสวงหาเศษผ้าที่กองขยะในตรอกก่อน. บทว่า ชีวิตา โวโรเปสิ ความว่า แม่โคลูกอ่อนหมุนไปวิ่งมาขวิดกุลบุตรนั้นผู้กำลังแลดูเศษผ้าในกองขยะแห่งหนึ่ง ให้กระเด็นขึ้นถึงความตาย. กุลบุตรผู้ถูกความหิวครอบงำ ถึงความสิ้นอายุในอากาศนั่นเทียว ตกลงมานอนคว่ำหน้าในที่กองขยะเป็นเหมือนรูปทองคำฉะนั้น. ก็แลทำกาละแล้วไปเกิดในพรหมโลกชั้นอวิหา. พอเกิดแล้วก็บรรลุพระอรหัต. ได้ยินว่า ชนที่สักว่าเกิดแล้วในอวิหาพรหมโลกมี ๗ คน ได้บรรลุพระอรหัต. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุ ๗ รูป เข้าถึงอวิหาพรหมโลกแล้วหลุดพ้น มีราคะและโทสะสิ้นแล้ว ข้ามตัณหาในโลก และท่าน เหล่านั้นข้ามเปลือกตม บ่วงมัจจุราช ซึ่งข้ามได้แสน ยาก ท่านเหล่านั้นละโยคะของมนุษย์แล้ว ก้าวล่วงโยคะ อันเป็นทิพย์. ท่านเหล่านั้น คือ อุปกะ ๑ ปลคัณฑะ ๑ ปุกกุสาติ ๑ รวม ๓ ภัททิยะ ๑ ขันฑเทวะ ๑ พาหุทัตติ ๑ ปิงคิยะ ๑ ท่านเหล่านั้น ละโยคะ ของมนุษย์แล้ว ก้าวล่วงโยคะอันเป็นทิพย์ ดังนี้. ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารทรงพระราชดำริว่า พระสหายของเราได้อ่านสักว่าสาส์นที่เราส่งไป ทรงสละราชสมบัติที่อยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ เสด็จมาทางไกลประมาณเท่านี้ กิจที่ทำได้ยากอันกุลบุตรได้ทำแล้ว เราจักสักการะเข้าด้วยเครื่องสักการะของบรรพชิต ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า พวกท่านจงไปตามหาพระสหายของเรา ดังนี้. ราชบริวารทั้งหลายที่ถูกส่งไปในที่นั้นๆ ได้เห็นกุลบุตรนั้น. เห็นเขาล้มลงที่กองขยะ กลับมาทูลแด่พระราชา. พระราชาเสด็จไปทรงเห็นกุลบุตรแล้ว ทรงคร่ำครวญว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราไม่ได้เพื่อทำสักการะแก่พระสหายหนอ พระสหายของเราไม่มีที่พึ่งแล้ว ตรัสสั่งให้นำกุลบุตรด้วยเตียง ทรงตั้งไว้ในโอกาสอันสมควร ตรัสสั่งให้เรียกผู้อาบน้ำให้และช่างกัลบกเป็นต้น โดยให้รู้ถึงการทำสักการะแก่กุลบุตรผู้ยังไม่ได้อุปสมบท ทรงให้อาบพระเศียรของกุลบุตร ทรงให้นุ่งผ้าอันบริสุทธิ์เป็นต้น ทรงให้ตกแต่งด้วยเพศของพระราชา ทรงยกขึ้นสู่วอทอง ทรงให้ทำการบูชาด้วยวัตถุทั้งหลายมีดนตรี ของหอมและมาลาทุกอย่างเป็นต้น ทรงนำออกจากพระนคร ทรงให้ทำมหาจิตกาธานด้วยไม้หอมเป็นอันมาก. ครั้นทรงทำสรีรกิจของกุลบุตรแล้ว ทรงนำเอาพระธาตุมาประดิษฐ์ไว้ในพระเจดีย์. คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล. จบอรรถกถาธาตุวิภังคสูตรที่ ๑๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น