วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สุดท้ายจะเห็นตัวทุกข์การทำจิตให้ตั้งมั่นมีหลายแบบ เพราะคนมีหลากหลาย เช่น บางคนทำฌานได้จนเกิดจิต “ ผู้รู้ ” ที่เรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” เช่น การทำอานาปานสติ หายใจไปแล้วมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต ดูลมหายใจไปเล่นๆ ดูสบายๆ อย่าไปเป็น อย่าไปเค้นจิต อย่าไปบังคับจิตให้สงบ จิตไม่ชอบให้ใครบังคับนะ ถ้าเราบังคับมันจะเครียด มันจะไม่สงบหรอก ให้รู้เล่นๆ ไป ลมหายใจนี้เป็นบริกรรมนิมิต ลมจะสั้นขึ้นๆ ทีแรกหายใจลงไปถึงท้อง จากนั้นลมจะเบาๆ เหมือนหายใจสั้นๆ เหลือแค่ปลายจมูก ต่อจากนั้นลมจะเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง แล้วรวมเป็นดวงสว่างขึ้นมา ถึงจุดนี้ให้เราเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน เราไม่ได้ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์แล้ว เราใช้ดวงที่มีความสว่างนี้เป็นอารมณ์แทน ดวงนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ดูไปเรื่อยจะเป็นปฏิภาคนิมิต ย่อได้ ขยายได้ มีความสุข มีปีติแล้วมีสติรู้ทันอยู่ที่ใจของเราเอง จนกระทั่งใจมันวางนิมิต ไม่มีวิตกถึงนิมิต ไม่มีวิจารถึงนิมิต ไม่เคล้าไม่เคลีย ไม่นึกถึง ไม่ยกขึ้นมา จะมีภาวะแห่งความรู้ “ ตัวผู้รู้ ” จะเด่นขึ้นมาเรียกว่า “ เอโกทิภาวะ ” คือสมาธิที่มีใจตั้งมั่นขึ้นมาเป็นหนึ่ง ไม่ตรึกตรองในอารมณ์ เวลาเราออกจากสมาธิแล้ว ตัวเอโกทิภาวะยังอยู่ จะประคองรักษาจิตเอาไว้เองโดยที่เราไม่ต้องรักษา จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วจะเห็นเลยว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู นี่คือวิธีทำเต็มรูปแบบ คนรุ่นนี้ทำยาก วันหนึ่งๆ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องทำอีกแบบหนึ่ง บางคนทำฌานไม่ได้ แต่อยากให้มีจิตที่ตั้งมั่นเป็น “ ผู้รู้ ” ก็ให้นั่งหายใจไป หรือนั่งดูท้องพองยุบไป ขยับมือทำจังหวะก็ได้ แล้วค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันเคลื่อนไหว มีใจเป็นคนดู หรือให้รู้อิริยาบถ ๔ ให้เห็นเลยว่าร่างกายมันมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายมันเดินมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า มีใจเป็นคนรู้ไปเรื่อย คอยรู้สึก รู้ไปรู้ไปมันจะแยกกายกับใจออกจากกัน มีตัว “ ผู้รู้ ” ขึ้นมา ถ้าหัดรู้ด้วยวิธีนี้จะแยกได้ไม่นาน อีกพวกหนึ่ง ถ้าฝึกให้มีจิต “ ผู้รู้ ” ไม่ได้ ก็ให้หัดเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้แหละ เวลาจิตไหลไปหลงไปแล้วรู้ ถึงรู้จุดหนึ่ง ก็เห็นเหมือนกันว่าร่างกายก็แยกจากจิตได้ ถ้าฝึกแบบไม่มีตัว “ ผู้รู้ ” ให้หัดรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ แล้วมันไประลึกได้เองเวลาใจมันตั้งมั่นขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาจะตั้งมั่น ทำไมใจถึงตั้งมั่น ก็เพราะสติไปรู้ทันนิวรณ์ขึ้นมา จิตจะตั้งมั่น แต่ตั้งแวบเดียว นี่เราฝึกอย่างนี้ก็ได้ การรู้ทันนิวรณ์ก็คือ เมื่อจิตมีกามฉันท์ (พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย อารมณ์ทางใจ) จิตพยายามก็รู้ จิตสงสัยก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ไปเรื่อย เมื่อไรนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วสติไปรู้ นิวรณ์จะดับ เพราะนิวรณ์เป็นกิเลสเกิดร่วมกับสติไม่ได้ พอนิวรณ์ดับ จิตก็มีสมาธิขึ้นมาเอง เพราะศัตรูของสมาธิก็คือนิวรณ์นั่นแหละ เมื่อใจของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาได้ เราจะถอดถอนตัวเองออกจากตัวเอง มันเหมือนมีอีกคนหนึ่งเป็นคนดูขึ้นมา ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู กระทั่งร่างกายก็เป็นของถูกรู้ถูกดู สิ่งใดที่เราเห็นได้ก็ไม่ใช่เราใช่ไหม มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า นี่เราจะค่อยๆ แยกขันธ์คือกายกับใจออกไปนะ การเจริญปัญญาเริ่มต้นด้วยการแยกขันธ์ออกไป พอเรารู้สึกตัวเป็นแล้ว เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่กระจายออกเป็นกองๆ เรียกว่ากระจายออกไปเป็นขันธ์ๆ แต่ละส่วนๆ ที่กระจายออกไปนั้นไม่มีตัวเรา แต่ถ้าขันธ์ทั้งหลายมารวมตัวอยู่ด้วยกัน เราจะเกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่านี่เป็นตัวเรา ถ้ามีตัวเราก็มีเราแก่ เราเจ็บ เราตาย มีเราสมหวัง มีเราผิดหวัง มีเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีเราไปเจอสิ่งที่ไม่รัก มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี คราวนี้ไม่มีใครแก่ใครเจ็บใครตาย ร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราแก่ ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่ใช่เราตายอีกต่อไปแล้ว ส่วนจิตใจก็เกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวโลภเดี๋ยวโกรธเดี๋ยวหลง เดี๋ยววิ่งไปที่ตา เดี๋ยววิ่งไปที่หู เดี๋ยววิ่งไปคิด ทำงานของเขาเอง เขาเกิดดับตลอดเวลา เขาไม่ใช่ตัวเรา นี่ดูอย่างนี้นะ ดูลงในกายเห็นกายไม่ใช่เรา ดูลงไปที่จิตใจเห็นจิตใจไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มีหรอก แต่ละอัน แต่ละขันธ์นี่ พอขันธ์กระจายตัวออกไปแล้ว จะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ก็เป็นแค่ขันธ์เท่านั้นเอง ถ้าเราเจริญสติมากเข้าๆ จนจิตตื่น จะเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นของที่จิตไปรู้เข้า มันแยกออกไปจากจิต กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง จะเห็นเลยว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอนนี่ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆ เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมเข้ามา อยู่ห่างๆ มันไม่ใช่จิตด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่กายด้วย ถ้ามีสติปัญญาแก่รอบกว่านี้จะเห็นเลยว่า จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับไป จิตเกิดที่ใจไปคิดไปนึกแล้วก็ดับไป จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่จะเห็นอย่างนี้ การที่เห็นมันเกิดแล้วมันดับ มันเกิดแล้วมันดับ ขาดออกไปเป็นท่อนๆ ไม่ใช่จิตดวงเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แต่จะเห็นจิตขาดเป็นท่อนๆๆ นะ เป็นดวงๆ ไป เห็นอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่อันเดิม จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงไปคิดก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้สึกตัวก็ดวงหนึ่ง จิตที่เพ่งอยู่ก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน ถ้าเราเห็นจิตขาดเป็นดวงๆ เรียกว่า สันตติขาด สันตติคือความสืบเนื่อง สันตตินี่แหละสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ถ้าสันตติขาดเราก็จะเห็นของจริง ยกตัวอย่างเหมือนเราดูการ์ตูน เราเห็นว่าตัวการ์ตูนอย่างโดเรม่อน อิ๊คคิวซังมันเดินได้ใช่ไหม วิ่งได้กระโดดได้ ทำท่าโน้นทำท่านี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันคือรูปที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเลย แต่ละรูปแต่ละรูปมาต่อกัน รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ จิตมันจำเอาไว้ อาศัยสัญญาใช่ไหม สัญญาที่หลวงพ่อว่ามันวิปลาสน่ะ อาศัยสัญญาจำรูป รูปแรกมันอยู่ตรงนี้ อีกรูปหนึ่งมันมาอยู่ตรงนี้ นี่อาศัยสัญญานะ มันจำได้ว่าแต่ก่อนอยู่ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวนี้มาอยู่ตรงนี้ มันจะรู้สึกเหมือนมันเคลื่อนไหวได้ เราเห็นตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวได้ฉันใด เราก็เห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้ฉันนั้น นี่เป็นความหลงผิด นี่เป็นภาพลวงตาเท่านั้นเอง แท้จริงจิตก็เกิดดับ เกิดดับเหมือนการ์ตูนทีละรูป ทีละรูป นั่นเอง แต่ว่าสติปัญญาของคนทั่วไปซึ่งไม่เคยฝึกฝนไม่สามารถเห็นได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตเที่ยง ถ้าเราสามารถเห็นว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ไม่นาน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราจะเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราที่แท้จริงไม่มี มันมีแต่ของเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเมื่อไรวันใดเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่ใช่ตัวเราแล้ว ร่างกายมันไม่ใช่เราตั้งแต่เริ่มหัดเจริญสติแล้ว พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าร่างกายมันอยู่ต่างหากแล้ว เหลือแต่จิตอันเดียวนี่แหละรู้สึกว่าวิ่งไปวิ่งมา การเจริญสติจนเห็นจิตเกิดดับเกิดดับ เกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับ ก็คือสันตติขาด การที่สันตติขาดนี่แหละคือวิปัสสนาที่แท้จริง ถ้าสันตติยังไม่ขาดยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง เราต้องค่อยๆ ดูไป ฝึกไปเรื่อยๆ พอสันตติขาดแล้วจะสั่นสะเทือนขึ้นมาเลย บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อ บางคนรู้สึกโหวงๆ ตัวเราหายไปแล้ว โหวงๆ เวิ้งว้างหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บางคนเบื่อจิบจิตจับใจเลย เบื่อสุขเบื่อทุกข์ เบื่อทุกอย่าง เบื่อสามี เบื่อภรรยา แต่เบื่ออย่างนี้ไม่ใช่เบื่อด้วยกิเลส มันเบื่อด้วยสติด้วยปัญญา เห็นทุกอย่างไม่มีสาระเลย ไม่มีตัวมีตนอะไร ใจมันจะเบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย เบื่อสุขกับทุกข์เท่าๆ กัน เบื่อดีกับชั่วเท่าๆ กัน เบื่อหยาบกับละเอียดเท่าๆ กัน เบื่อภายในกับภายนอกเท่าๆ กัน จิตก็หมดแรงดิ้น ไม่ดิ้นรนค้นคว้า บางคนกลัว กลัวมากๆ เลยนะ พอภาวนามาจนเห็นว่าตัวเราไม่มี กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเราหายไปแล้ว ตกอกตกใจขึ้นมา เมื่อสภาวะอันนี้เกิดขึ้นแล้วให้มีสติรู้ทันเข้าไป สภาวะอันนี้ก็เช่นเดียวกับความโกรธความหลงที่เคยเห็นมานั่นเอง คือเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน พอดับไปแล้วใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วคราวหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลย พอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ” เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไป ตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแหวกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลาย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป ตรงกระบวนการทำลายล้างนี่ ๑ ขณะเท่านั้น พอขาดสะบั้นลงแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เป็นผลแล้ว เป็นโลกุตรผลนะ ตรงที่เกิดอริยมรรคเรียกว่าโลกุตตรเหตุ มรรคเป็นเหตุ ผลเป็นผล ตรงที่เห็นเป็นผลนี่จะเห็นไม่เท่ากัน พวกที่สติปัญญาแก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๓ ครั้ง ๓ ขณะ พวกที่ยังไม่แก่กล้าจะเห็นนิพพาน ๒ ขณะ ถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมากลับสู่โลกภายนอกนี้ พอกลับมาสู่โลกภายนอก มันจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่ากิเลสตัวไหนหายไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ รู้ว่ายังมีงานต้องทำอีก แต่ถ้าตัดครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์นะ มันทวนวับเข้าไป มันจะเห็นนิพพานชัดเจนเลย ไม่มีกิเลสอะไรให้ต้องลดละอีกแล้ว มันไม่มีกิเลสเหลือ จะเห็นนิพพานล้วนๆ เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อพ่อแม่ เราต้องรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มรดกของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้หอบเอานิพพานแล้วหายไปไหน นิพพานยังอยู่เต็มโลกเต็มบริบูรณ์อยู่นี่แหละ คนมีบุญวาสนามีปัญญาแก่รอบ เจริญวิปัสสนาแก่รอบแล้วก็จะได้รับ นี่รางวัลสูงสุดของชีวิตอยู่ตรงนี้ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่อิสระโปร่งเบา ปราศจากความอยาก ความยึดและความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์หรือสิ่งใดครอบงำจิตได้อีกแล้ว . การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนหลักการภาวนาเข้าใจแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรม การทำวิปัสสนา หรือการภาวนาว่าต้องไปนั่งหลับหูหลับตา ตัวที่สำคัญที่สุดเลยคือมีสติในชีวิตประจำวันนี่แหละ กิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนก็รู้มันไปตรงนั้น นั่นเรียกว่าภาวนาแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว จิตใจทำงานไปแล้ว เรารู้เท่าทันอยู่ก็เรียกว่าภาวนาแล้ว เวลาเราทำงานก็ขยันทำงานไป ทำงานแล้วยังมีเวลาเหลือ เราก็คอยรู้กายรู้ใจของเราไป หรือเราทำงานแล้วเกิดเครียดขึ้นมา แวบขึ้นมา เรารู้ทันความเครียด นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เราทำงาน เราจะรีบให้เสร็จเร็วๆ คนโทรศัพท์มากวน เราโมโหก็รู้ว่าโมโห นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว เห็นไหม ทำงานไป ถึงเวลาพักจะไปกินข้าว ดีใจ รู้ว่าดีใจ นี่ก็ปฏิบัติแล้ว เดินไปกินข้าว ลงมาจากตึก เดินไป เห็นร่างกายเดินอยู่ ใจเราเป็นแค่คนดู นี่ก็ปฏิบัติแล้ว ไปถึงร้านอาหาร ดูอาหารนั่นก็น่ากิน นี่ก็น่ากิน วันนี้หิวเป็นพิเศษ อะไรๆ น่ากินไปหมดเลย ตะกละ ลังเลๆ เห็นเลย ใจกำลังลังเลว่าจะกินอะไรดี บางวันดูจนหัวแถวท้ายแถวหมดทุกร้านแล้ว ไม่มีอะไรน่ากินเลย ชักหงุดหงิด เอ๊ แม่ค้าแถวนี้ทำไมไม่มีพัฒนาการ ขาด innovation (นวัตกรรม) ห่วยแตก โหลยโท่ย แล้วแต่จะด่านะ ถ้าหิวมากก็ด่ามากหน่อยเพราะขาดสติ เราก็รู้ทันใจของเราไปเรื่อย นี่แหละก็ปฏิบัติแล้วใช่ไหม เราจะไปห้องน้ำ เกิดฉุกเฉิน จะต้องรีบเข้าห้องน้ำด่วน พุ่งพรวดเข้าไปถึงห้องน้ำ ห้องน้ำเต็มทุกห้องเลย วิ่งไปอีกที่หนึ่ง อ้าวก็เต็มอีก ใจเราทุรนทุรายเต็มที่แล้ว เพราะว่าศัตรูมารอที่ประตูถ้ำแล้ว สู้มันไม่ไหวแล้ว นี่ทุรนทุรายขึ้นมา กลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา รู้ทันมันเข้าไป ถึงจะปวดท้อง แต่ใจไม่ปวดไปด้วยหรอก นี่เขาเรียกว่าภาวนา นี่พอเราคอยรู้ทันใจของเราไปเรื่อย แต่ละขณะๆ นี่แหละคือการปฏิบัติ รู้ไปอย่างนี้นะ ไม่นานเราก็จะเห็นความจริง จิตใจของเราไม่คงที่หรอก จิตใจของเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวก็ดีขึ้นมา เดี๋ยวก็มีความร่าเริงเบิกบานในธรรมะขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นอธรรม เห็นไหม เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เราไม่ได้ไปฝึกเป็นยอดมนุษย์ เราฝึกเป็นคนธรรมดานี่แหละ ฝึกอยู่ในชีวิตธรรมดาจนเห็นความจริงว่า ธรรมดาของกายนี้เป็นอย่างนี้ ธรรมดาของใจเป็นอย่างนี้ พอเห็นธรรมดาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่เดือดร้อนแล้ว จะแก่ก็ธรรมดา จะเจ็บก็ธรรมดา จะตายก็ธรรมดา จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ธรรมดา เจอสิ่งที่ไม่รักก็ธรรมดา จะสมหวัง จะผิดหวัง มันเรื่องธรรมดาไปหมด เพราะกายนี้ใจนี้เราเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริงหรอก ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในชีวิต มันจะรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องที่เกิดกับคนอื่น แล้วถ้าไม่มีตัวเรา ใครเป็นผู้ทำกรรม ก็ขันธ์น่ะสิมันทำกรรม ขันธ์มันทำของมันเอง ใครเป็นคนรับผลกรรม ขันธ์น่ะสิมันรับผลกรรม ไม่ใช่เรารับผลกรรม มีการกระทำกรรม แต่ไม่มีเราผู้กระทำกรรม มีผู้รับผลกรรม แต่ไม่มีเราผู้รับผลกรรม ถ้าสติปัญญาแก่รอบนะ เห็นขันธ์มันทำ เราไม่ได้ทำ คราวนี้สิ่งที่ขันธ์ทำจะกลายเป็นกิริยาล้วนๆ เลย เราไม่ได้ทำเสียแล้ว นี่ค่อยเรียนนะ เรียนลงไปจนเห็นเลยว่าตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ ตัวเราไม่มีแล้วใครจะทุกข์ก็เรื่องของมันสิ ถามว่าใครทุกข์ ก็ขันธ์มันทุกข์ กายมันทุกข์ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ เราพ้นทุกข์ได้เพราะการรู้ที่ถูกต้อง คือพ้นได้ด้วยปัญญา ส่วนคุณธรรมอื่นๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ศีล เป็นเพียงตัวสนับสนุนเกื้อกูลเท่านั้น ในสังสารวัฏที่ยาวนานนี่ การที่จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลย วันเวลาที่มีพระพุทธเจ้า มีศาสนาพุทธนี้สั้นมาก โอกาสที่ได้เรียนธรรมะมีไม่มาก มีน้อย ค่อยรู้สึก รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจไป อย่าให้เสียโอกาสไปวันหนึ่งๆ โดยเปล่าประโยชน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น