วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระอานิสงส์ของบุญ โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี (เทศนา ณ. วันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๓) นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( ๓ จบ ) “ ปุญญานิ ปรโลกัสมิง ปติฏฐา โหนติ ปาณินันตีติ ” ณ.โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจะแสดงพระสัทธรรมเทศนา ในเรื่อง อานิสงส์ของบุญ เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ที่บรรดาท่านนริศราทานบดีทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลประจำปักษ์ในวันนี้ การทำบุญของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ความต้องการก็มีอยู่ว่า ต้องการความพ้นทุกข์ ความพ้นของบรรดาท่านพุทธบริษัทจริงๆ มี ๓ ชั้นด้วยกันคือ (๑) สวรรค์ (๒) พรหมโลก (๓) นิพพาน และเวลานี้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทท่านใดมีความปรารถนานิพพานไว้เป็นเบื้องหน้า แม้จะตายจากความเป็นคน เป็นเทวดาก็ตาม เป็นพรหมก็ตาม มีหวังพระนิพพานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่าในศาสนานี้ยังมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง มีนามว่า “ พระศรีอาริยเมตไตรย ” จะตรัสไม่นานนัก สมมติว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก บนดาวดึงส์นี่เขามีเวลาอยู่ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ แต่ว่าท่านจะอยู่เพียง ๓๐๐ ปีทิพย์ ก็พบ พระศรีอาริย์ แล้ว เมื่อพบองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ฟังเทศน์เพียงจบเดียว คนที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ก็จะเป็นพระโสดาบัน ถ้าฟังเทศน์เพียงครั้งที่ ๒ เทวดา นางฟ้าพวกนั้นก็จะเป็นพระอรหันต์ ต่อไปเป็นอันว่า ขณะใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงเทศน์จบ เทวดากับนางฟ้าและพรหมเป็นพระอริยเจ้ามากว่าเป็นมนุษย์ ในการบำเพ็ญกุศลของบรรดาพุทธบริษัทวันนี้มีอะไรบ้างที่เป็นบุญเป็นกุศล ในอันดับแรก บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนตั้งใจจะมาบำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัด คำว่า “ วัด ” ก็มีทั้งพระพุทธรูป มีทั้งพระธรรม มีทั้งพระสงฆ์ การนึกถึงวัดก็คือว่านึกถึง ๓ อย่างคือ (๑) นึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย (๒) นึกถึงพระธรรมด้วย (๓) นึกถึงพระอริยสงฆ์ด้วย การนึกถึงพระพุทธเจ้าจัดว่าเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน การนึกถึงพระธรรมคำที่พระสวด หรือคำที่พระเทศน์เป็น ธัมมานุสสติกรรมฐาน การนึกถึงพระสงฆ์เป็น สังฆานุสสติกรรมฐาน กรรมฐานทั้ง ๓ อย่างนี้ ถ้าบรรดาพุทธบริษัทท่านใดต้องการมีความมั่นคงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นพุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้าก็ดี เป็นธัมมานุสสติ นึกถึงพระธรรมก็ดี เป็นสังฆานุสสติ นึกถึงพระสงฆ์ก็ดี โดยเฉพาะไว้ กำลังใจมีความมั่นคงตรงต่อพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ อย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตายแล้วลงนรกไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไปสวรรค์ นอกจากนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านตั้งใจไว้ว่า มาถึงวัดเราจะรับศีล ๕ ก็ดี ขึ้นชื่อว่าศีล อานิสงส์ของศีล ก็มีอยู่ว่า ที่พระพุทธเจ้าตรับไว้ตอนท้ายว่า “ สีเลนะ สุคติง ยันติ ” ศีลเป็นปัจจัยให้เกิดบนสวรรค์ “ สีเลนะ โภคสัมปทา ” ศีลเป็นปัจจัยให้เราเกิดไปชาติหน้า มีทิพยสมบัติมาก “ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ” ศีลเป็นปัจจัยให้เข้าพระนิพพานได้โดยง่าย รวมความว่า กำลังใจขั้นที่ ๒ ของบรรดาท่านพุทธบริษัททำให้เกิดบนสวรรค์ก็ได้ เกิดบนพรหมโลกก็ได้ บนนิพพานก็ได้ ในขั้นที่ ๓ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตั้งใจรับรสพุทธพจน์เทศนาเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้เป็นตัว “ ปัญญา ” เป็นปัจจัยทำให้เข้าถึงนิพพานโดยง่ายเช่นเดียวกัน สำหรับวันนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน จะขอนำเอาพระสูตร ที่บุคคลคนหนึ่งซึ่งไม่มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์มาก่อน แต่ว่าพอใกล้จะตายจิตใจนึกถึงองค์สมเด็จพระชินวรคือพระพุทธเจ้าเพียงชั่วขณะเดียว เขาตายจากความเป็นคน เขาเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก ต่อมาขณะที่เป็นเทวดาฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าจบเดียวเป็นพระโสดาบัน เวลานี้ท่านยังอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก เรื่องนี้ความก็มีอยู่ว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับยับยั้งสำราญอิริยาบถปรากฏอยู่ใน พระเชตวันมหาวิหาร เวลานั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารเสด็จมาโปรดบรรดาท่านพุทธบริษัทในที่ต่างๆ ก็มีพราหมณ์คณะหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นพราหมณ์ ความจริงพราหมณ์ที่นับถือพระพุทธเจ้าก็มีมาก ขณะที่บรรลุพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นพราหมณ์น่ะมีมาก แต่ว่าพราหมณ์ก๊กนี้ เขาเป็นครูของพราหมณ์ เขาเป็นคณาจารย์สอนความรู้ของพราหมณ์ ก็เลยไม่นับถือพระพุทธเจ้า เขาถือว่าเขาก็หนึ่งในศาสนาเช่นเดียวกัน ฉะนั้น พราหมณ์ตระกูลนี้ เมื่อเห็นองค์สมเด็จภควันต์บรมศาสดาก็ดี พระสงฆ์ก็ดี เขาไม่เคยยกมือไหว้ เขาไม่เคยใส่บาตร เขาไม่เคยฟังเทศน์ เพราะศาสนาของเขาก็มี และพราหมณ์ผู้นี้มีนามว่า “ อทินนกปุพพกพราหมณ์ ” แปลเป็นใจความว่า พราหมณ์ผู้ไม่เคยให้อะไรใครมาในกาลก่อน คือคำว่า “ ทาน ” น่ะ เขาไม่เคยให้ เขาก็สอนลูก สอนหลาน สอนบริวาร ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน แม้แต่ทานก็ไม่เคยให้ แต่ว่าท่านพราหมณ์ผู้นี้มีลูกชายอยู่คนเดียว เป็นมหาเศรษฐีด้วย ต่อมาลูกชายเกิดอาการป่วยขึ้นมา แกจะไปหาหมอมารักษาเกรงว่าจะเสียสตางค์มาก ค่าหมอก็จะเสีย ค่ายาก็จะเสีย ถ้าจะซื้อยามาจากตลาดในร้านค้าของหมอมารักษาก็เกรงว่าจะเสียสตางค์มาก เสียดายทรัพย์ จึงได้ถามหมอ หมอก็ได้บอกยากลางบ้านสำหรับคนเป็นโรคผอมเหลืองให้มารักษาเอง แกก็เก็บสมุนไพรมารักษาเอง ในไม่ช้าลูกชายก็ตาย แต่ว่าก่อนที่ลูกชายจะตาย ในขณะที่ลูกเจ็บหนัก พราหมณ์มีความรู้สึกว่า เราเป็นคนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี เวลานี้ลูกชายอยู่ในห้อง มีความสวยสดงดงาม เครื่องประดับประดามาก ดีไม่ดีพวกญาติทั้งหลายทราบว่าลูกชายของเราป่วย ถ้าเขามาเยี่ยมลูกชายของเรา เห็นของที่มีค่ามาก เขาขอเราก็จำจะต้องให้ ก็เกิดเสียดายของขึ้นมา เลยยกลูกชายมานอนที่ระเบียงหน้าบ้านออกนอกห้อง ลูกชายก็มีความรู้สึกว่า เวลานี้พ่อก็ดี แม่ก็ดี ไม่ใช่ที่พึ่งของเรา เราป่วยหนักจะหาหมอมารักษา พ่อกับแม่ก็จะเสียดายเงิน จะซื้อยาจากร้านหมอมา พ่อกับแม่ก็ยังเสียดายเงิน เรานอนในห้องดีๆ เวลานี้เราป่วยหนักเอาเรามานอนไว้ที่ระเบียงบ้าน ไม่มีอะไรแวดล้อม ก็มีความรู้สึกว่า พ่อก็ดี แม่ก็ดี ทรัพย์สินก็ดี ไม่ใช่ที่พึ่งของเรา เวลานี้เราป่วยหนัก เราไม่มีที่พึ่ง เคยได้ยินข่าวเขาลือกันว่า สมเด็จพระสมณโคดม เป็นพระใจดีมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ไม่เลือกว่าผู้ใด เขาจึงคิดในใจว่า “ เวลานี้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรคือ พระสมณโคดม มาช่วยโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าหายจากโรคภัยไข้เจ็บด้วยเถิด ” เวลานั้น ก็เป็นเวลาที่องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตพอดีกับพระอานนท์ พอถึงบ้านนั้น ก็ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ เกิดเป็นแสงสว่างปรากฏข้างหน้าของเธอ ความจริงน่ะ มัฏฐกุณฆลี เธอหันหน้าเข้าข้างฝา พอเห็นแสงแปลกประหลาดก็เหลียวหน้าไปดู เห็นพระพุทธเจ้า ก็นึกในใจว่า “ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาได้โปรดสงเคราะห์ให้ข้าพระพุทธเจ้าหายจากโรคเดี๋ยวนี้เถิด ” ขณะที่เขานึกถึงพระพุทธเจ้ามารักษาให้หายจากโรค แต่ความจริงเขาไม่ได้หาย คนมันถ้าจะตายเสียอย่างหนึ่งทำอย่างไรก็ตาย พระพุทธเจ้าเองก็ยังนิพพานเมื่อหมดอายุขัย แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ช่วยเขาได้ คือในขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปประเดี๋ยวเดียวเขาก็ตาย ตายทั้งๆ ที่จิตใจนึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ อาศัยบารมีขององค์สมเด็จพระบรมครูและบุญที่เขานึกถึง ที่เรียกว่า “ พุทธานุสสติ ” อย่างนี้เขาเรียกว่า “ พุทธานุสสติ ” นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ แกตายจากความเป็นคน ก็ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีวิมานทองคำเป็นที่อยู่ มีนางฟ้าหนึ่งพันเป็นบริวาร ตามธรรมดาเทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี พรหมก็ดี ทุกท่านมีสภาพเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อตายจากความเป็นคนปั๊ป ไปเกิดในวิมาน มีวิมานเป็นที่อยู่ มีบริวารเป็นทิพย์ มีความสุข ก็มักจะนึกย้อนถอยหลังว่า “ เดิมทีเราเกิดเป็นมนุษย์ เราทำอะไรจึงได้สมบัติขนาดนี้ ” มัฏฐกุณฆลี ก็เช่นเดียวกัน มัฏฐกุณฆลี ก็มีความรู้สึกว่า “ เวลานี้ เรามีวิมานเป็นทิพย์ เรามีการเป็นทิพย์ เรามีนางฟ้าเป็นบริวารเป็นทิพย์ทั้งพันองค์ ทุกอย่างเป็นทิพย์หมดมีความสุขหมด เพราะอาศัยบุญอะไรเป็นเหตุ? ” ก็ทราบว่าเพราะอาศัยนึกถึงองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ คือพระพุทธเจ้าให้ช่วยรักษาโรคให้หาย แต่กาลเวลาชีวิตของเราเข้ามาถึง โรคไม่สามารถจะหายได้ และแล้วเราก็ตาย เราตายจากความเป็นคนมาเกิดเป็นเทวดามีความสุขมากกว่า เขาก็คิดย้อนถอยหลังไปถึงพ่อของเขาด้วยว่า “ เวลานี้พ่อกับแม่มีความสุขดีหรือเปล่า ” ก็ทราบว่า เวลานี้ท่านผู้เป็นพ่อขี้เหนียวแสนขี้เหนียว เวลาลูกป่วยเสียดายเงินมากกว่าเสียดายชีวิตลูก คือเป็นมหาเศรษฐี เวลานี้มายืนที่ปากหลุมฝังศพ มายืนพรรณนาร้องไห้ลูกกลับมาเกิดใหม่ เพราะมีลูกคนเดียว ท่านจึงมีความรู้สึกว่า “ พ่อของเราเป็นคนพาล ” คำว่า “ พาล ” น่ะ เขาแปลว่า โง่ พ่อของเราเป็นคนโง่ เวลานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ไม่มีความเคารพ ถือตัวว่าเป็นคนดีมีธรรมะ แต่ความจริงธรรมะของพ่อเป็นธรรมที่ผิด ไม่ใช่ถูก ไม่สามารถจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ จึงตั้งใจจะไปสงเคราะห์พ่อให้มีความสุข เธอจึงแปลงตัวของเธอเองให้เหมือนร่างเดิม มายืนร้องไห้ใกล้ๆ กับพ่อ พอท่านพ่อเห็นเข้าก็นึกว่า เด็กหนุ่มคนนี้มีรูปร่างคล้ายๆ ลูกของเรา ถ้าเราได้ไว้แทนลูกก็จะดีจะมีความสุขขึ้น จึงหันไปถามว่า “ ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ พ่อหนุ่ม เธอร้องไห้อยากได้อะไร? ” พ่อหนุ่มก็ถามว่า “ คุณลุงร้องไห้อยากได้อะไร? ” คุณลุงก็เลยบอกว่า “ เวลานี้ลูกชายของฉันตาย รูปร่างคล้ายๆ เธอ รุ่นราวคราวเดียวกัน เขาตายศพเขาฝังอยู่ที่นี่ ลุงต้องการให้เขากลับมาเกิดใหม่ เป็นลูกใหม่ เพราะมีลูกชายคนเดียว และก็เธอล่ะร้องไห้เพราะอะไร? ” เธอก็ตอบว่า “ ผมมีรถทองคำอยู่คันหนึ่ง สวยงามมาก แต่ว่าเวลานี้ไม่มีล้อ อยากจะได้ล้อรถ ” ท่านลุงนึกในใจว่า “ ถ้าได้เด็กคนนี้ไว้แทนลูกของเรา ความสุขจะมีขึ้น ” ท่านลุงจึงได้ถามว่า “ เจ้าต้องการอะไร ต้องการล้อทองคำ หรือต้องการล้อแก้วมณี ลุงจะหาให้ ” มัฏฐกุณฆลี ก็คิดว่า พ่อของเรา เมื่อเรามีชีวิตอยู่ แม้แต่ค่ายาก็ยังขี้เหนียว ไม่อยากจะเสีย ค่าหมอก็ไม่อยากจะจ่าย กลัวเสียเงินมาก เวลานี้เราตายแล้วแปลงกายมาคล้ายรูปเดิมกลับจะให้ล้อรถเป็นแก้วมณี หรือเป็นทองคำ เธอจึงแกล้งบอกว่า “ คุณลุงครับ รถของผมน่ะสวยมาก แก้วมณีก็ดี ทองคำก็ดี นี่เป็นล้อรถไม่สมควรแก่ล้อรถของผม ” ลุงก็ถามว่า “ อะไรล่ะที่พอสมควรแก่รถของเธอ? ” เธอก็ตอบว่า “ ผมอยากจะได้ดวงจันทร์เป็นล้อข้างหนึ่ง กับดวงอาทิตย์เป็นล้อข้างหนึ่ง ถ้าได้ ๒ อย่างนี้ จะเป็นที่พอใจของผม ” ท่านมหาเศรษฐีก็คิดว่า เด็กคนนี้บ้า! จึงบอกว่า “ เจ้าบ้า! ใครเขาจะต้องการดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์มาทำเป็นล้อรถได้ ดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์เกินวิสัยที่คนจะนำมาใช้ได้ ” มัฏฐกุณฆลี ก็ถามว่า “ ผมต้องการสิ่งที่ผมมองเห็น คือ ดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ แต่เวลานี้คุณลุงต้องการลูกชายที่ตายไปแล้ว คุณลุงทราบหรือว่าลูกชายอยู่ที่ไหน? ” พราหมณ์ก็ตอบว่า “ ฉันไม่ทราบ ” มัฏฐกุณฆลี ก็ถามว่า “ คนที่ต้องการสิ่งที่มองเห็น กับคนที่ต้องการสิ่งที่มองไม่เห็น ใครจะบ้ามากกว่ากัน? ” ก็รวมความว่า ลุงเสียท่า เธอจึงแสดงความเป็นจริงว่า “ ผมก็คือลูกชาย เวลานี้เกิดเป็นเทวดามีนามว่า มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร มีวิมานทองคำเป็นที่อยู่ มีนางฟ้าหนึ่งพันเป็นบริวาร มีร่างกายเป็นทิพย์ ที่มานี่ก็ต้องการจะมาแนะนำพ่อกับแม่ให้รู้จักการทำบุญ ” พราหมณ์ก็ถามว่า “ เจ้าไปเกิดเป็นเทวดาเพราะอาศัยบุญอะไร? ” เธอก็ตอบว่า “ อาศัยวิชาความรู้ของพราหมณ์นี่ไม่เกิดผล ที่ได้เป็นเทวดาจริงๆ เพราะอาศัยบารมีขององค์สมเด็จพระทศพล คือพระพุทธเจ้า เพราะก่อนที่จะตายเพราะนึกถึงพระพุทธเจ้า ก็คือ พระสมณโคดม ให้มาช่วยรักษาโรคให้หาย แต่ความจริงร่างกายมันจะต้องตาย มันจะหายไม่ได้ แต่ว่าตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดา เพราะอาศัยนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงแค่ชั่วขณะเดียว ถ้าอย่างนั้นก็ดี ขอพ่อขอแม่ก็ดี ทุกคนในบ้านนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จงมีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา คือ พระพุทธเจ้า โดยเฉพาะ พระสมณโคดม และจงรู้จักให้ทาน รู้จักการยกมือไหว้ รู้จักการรักษาศีล รู้จักการฟังเทศน์ ต่อไปเบื้องหน้าจะมีความสุข ” เมื่อเธอพูดอย่างนี้แล้ว เธอก็แสดงตนเป็นเทวดาสวยงามมาก และก็ลาหายไปในอากาศ ท่านพราหมณ์ฟังแล้วก็เกิดความดีใจว่า “ โอหนอ...พระสมณโคดม มีคุณใหญ่ เรานี้มีความโง่มาก ฉะนั้น วันนี้เราจะเลี้ยงอาหารพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมไปด้วยพระสงฆ์ทั้งหมด ” เวลานั้นพระสงฆ์บริวารมี ๕๐๐ องค์เศษ จึงได้กลับบ้านไป บอกกับแม่บ้านว่า “ วันนี้ทำอาหารมากๆ หุงข้าวมากๆ ทำแกงมากๆ ทำขนมมากๆ ฉันจะเลี้ยงพระสมณโคดม พร้อมไปด้วยสาวกทั้งหมดประมาณ ๕๐๐ องค์ และก็จะนิมนต์ พระสมณโคดม เทศน์ ” พราหมณ์ก็เล่าความเป็นมาให้ทราบ ดังนั้น เมื่อพราหมณ์สั่งภรรยาแล้ว ก็เดินทางไปจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตร คือ พระพุทธเจ้า เวลานั้นคนที่ฟังข่าวก็เกิดแตกเป็นสองพวก พวกที่เป็นพราหมณ์จริงๆ ไม่เคยเคารพพระพุทธเจ้า เขาก็มีความรู้สึกว่า “ วันนี้เราอยากจะดูพราหมณ์ผู้นี้ไปย่ำยีพระสมณโคดม ” พวกที่นับถึงพระพุทธเจ้าก็คิดในใจว่า “ วันนี้เราจะดูลีลาพระสมณโคดม คือพระพุทธเจ้าทรมานพราหมณ์ผู้นี้ ” คนที่ไปก็ไปกันมาก พวกฟังข่าวก็ไปยืนเป็นสองพวกด้วยกัน เมื่อเข้าไปถึงแล้ว พราหมณ์แทนที่จะนั่งยกมือไหว้เขาก็ไม่ทำ เขายืนเฉยๆ แล้วก็กล่าววาจาเรียกชื่อพระพุทธเจ้า สมัยนั้นการเรียกชื่อกันเขาถือเป็นการไม่เคารพ แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงถือ เขาถามว่า “ พระสมณโคดม คนที่นึกถึงชื่อท่านอย่างเดียว ไม่เคยยกมือไหว้ ไม่เคยใส่บาตร ไม่เคยฟังเทศน์ ตายจากความเป็นคนเป็นเทวดามีไหม? ” องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ พราหมณะ ดูก่อนพราหมณ์ คนที่นึกถึงชื่อตถาคตอย่างเดียว ไม่เคยใส่บาตร ไม่เคยฟังเทศน์ ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ไม่ใช่นับร้อยนับพัน นับเป็นโกฏิ ” หลังจากนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็โปรดเรียก มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ให้ มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร มาพร้อมด้วยวิมาน วิมานของ มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ก็ลอยมาใกล้ เมื่อต่ำลงมาใกล้แล้วเธอก็ลงจากวิมานเข้าไปกราบองค์สมเด็จพระพิชิตมาร แสดงความเคารพ คนที่นั่งทุกคนมองเห็นเหมือนกันหมด เห็นเทวดาด้วย เห็นวิมานของเทวดาด้วย เห็นบริวารของเทวดาด้วย ก็เกิดความเลื่อมใส ดังนั้น เมื่อเห็นเทวดามากราบองค์สมเด็จพระจอมไตร ก็เกิดความเลื่อมใสมากขึ้น นึกว่า พระพุทธเจ้านี่ดีกว่าเทวดาแน่ สำหรับคนที่ไม่เคยเลื่อมใสพระองค์นะ แต่คนที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว ก็เกิดปีติมากขึ้น เวลานั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ตั้งใจโปรดเฉพาะ มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ก็ทรงเทศน์โปรด เมื่อเทศน์จบ มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ก็เป็นพระโสดาบัน สำหรับคนที่ฟังทั้งสองฝ่ายนั้น ก็เป็นพระโสดาบันไปตามๆ กัน นี่ก็เป็นผลพลอยได้ หลังจากนั้น พราหมณ์ก็นิมนต์องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบ้านเลี้ยงอาหารตามที่เขาคิดไว้ นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายตั้งใจมาทำบุญกันวันนี้ ถ้าจะเปรียบบุญบารมีที่ท่านทำกันกับ มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร บุญบารมีและกำลังใจท่านดีกว่า มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร มาก ทั้งนี้ก็เพราะว่า มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร นี่ ไม่เคยเคารพพระพุทธศาสนามาก่อน ไม่เคยเคารพพระพุทธเจ้าด้วย ไม่เคยเคารพพระธรรมด้วย ไม่เคยเคารพพระอริยสงฆ์ด้วย เพราะตระกูลของเขาเป็นอย่างนั้น แล้วประการที่ ๒ ตัว มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ไม่เคยให้ทานมาในกาลก่อน แต่อาศัยที่เขามานึกถึงพระชินวรคือพระพุทธเจ้าในเวลาป่วยหนัก แต่เขาก็ไม่ได้นึกถึงด้วยความเคารพอย่างที่บรรดาท่านพุทธบริษัทนึกอยู่เวลานี้ เขานึกถึงแต่เพียงว่า ขอองค์สมเด็จพระชินศรีทรงช่วยเขาให้หายจากการป่วย มันเป็นความรู้สึกที่เบามาก แม้เป็นความรู้สึกที่เบามากก็จริงแหล่ แต่ว่าเขาตายจากความเป็นคน เขาก็เป็นเทวดาได้ ในเมื่อคนที่นึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วย่อมไม่พ้นพระพุทธเจ้าที่เขาเรียก “ พุทธานุสสติ ” บรรดาท่านพุทธบริษัทก็เช่นเดียวกับ มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดเป็นเทวดา อาศัย พุทธานุสสติ เบื้องแรก ก็ไปพบพระพุทธเจ้าเป็นครั้งที่สอง ฟังเทศน์อีกจบเดียวเป็นพระโสดาบัน แล้วเรื่องเทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี พรหมก็ดี ท่านเป็นพระโสดาบันมันน้อยที่จะโง่กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ พวกเทวดา พวกนางฟ้า พวกพรหม มีร่างกายเป็นทิพย์ มีใจเป็นทิพย์ มีตาเป็นทิพย์ เขามองพวกเรา เขาเป็นทุกข์ทุกอย่าง เขาสามารถที่จะนึกถึงชาติต่างๆ ที่เขาเคยเกิดเป็นมนุษย์ได้ เป็นสัตว์เขาก็นึกได้ว่าการเกิดเป็นสัตว์มันลำบากแค่ไหน การเกิดเป็นคนมันลำบากแค่ไหน การเกิดในอบายภูมิเป็นสัตว์นรกมันลำบากแค่ไหน แต่ว่าทั้งนี้ต้องเป็นเทวดา นางฟ้า หรือพรหม ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนะ เพราะว่า เทวดา นางฟ้า หรือพรหม ถ้าไม่ได้เป็นพระโสดาบันยังมีความประมาท ยังมีความเมามันในความเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหม ไม่บำเพ็ญกุศลต่อที่เรียกว่า “ เทวดาพาล พรหมพาล ” แบบนี้มีเยอะ พาล แปลว่า โง่ ไม่บำเพ็ญบุญต่อ สำหรับท่านที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ย่อมมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ คือคนที่ต้องการเป็นพระโสดาบัน และเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว เขาคิดอย่างอื่นไม่มี เขาคิดอย่างเดียวว่า “ เมื่อไรเราจะเข้าถึงนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ” ฉะนั้น การบำเพ็ญกุศลต่อย่อมมีกับเทวดา นางฟ้า หรือพรหม ที่เป็นพระโสดาบัน นี่ถ้าจะเทียบความดีของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เวลานี้ทำอะไรบ้าง ก่อนจะมาทุกท่านตั้งใจมาด้วยความเคารพ อันนี้ดีกว่า มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร แล้ว และคนที่จะมานี้ตั้งใจมาด้วยดี ถ้าไม่เคารพในพระพุทธศาสนาทุกคนไม่มา ที่มานี้มาด้วยความเคารพดีกว่าเขา ประการที่ ๒ เมื่อพบพระพุทธรูปก็ดี พบพระสงฆ์ก็ดี ไหว้ด้วยความเคารพ ไหว้ด้วยความตั้งใจจริง นี่เราก็ดีกว่าเขา ประการที่ ๓ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์เป็น สังฆทาน อันนี้ก็ดีกว่าเขา มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ไม่ให้เลย และอีกประการหนึ่ง ท่านทั้งหลายตั้งใจสมาทานศีล อันนี้ก็ดีกว่าเขาอีก มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ไม่เคยทำเลย และก็ตั้งใจฟังเทศน์ ก็ดีกว่าเขา มัฏฐกุณฆลีเทพบุตร ไม่เคยฟังเทศน์ แต่เขาเป็นพระโสดาบันได้ ในขณะที่เขาเป็นเทวดาได้ด้วยฉันใด ในเมื่อบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจสร้างความดี ดีกว่าเขามากอย่างนี้ ก็จงอย่าทิ้งความดี ความดี ที่ควรจะรักษาไว้ก็คือ ทุกวันทุกคืน เอาเฉพาะเวลาว่างหรือเฉพาะกลางคืนก็ได้ หรือเฉพาะทั้งสองเวลาก็ดี “ ตั้งใจไว้ว่าเราจะบูชาพระ ” การบูชาพระจะสวดมนต์มาก สวดมนต์น้อย อันนี้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่กำลังใจ ถ้าเราสวดมนต์ไม่ได้เลย ก็ตั้งใจว่า “ นะโม ตัสสะ ภะคะว ะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ” ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าขอเคารพพระพุทธเจ้า พระอรหันต์องค์นี้ เพียงเท่านี้ ก็เหลือแหล่แล้ว ว่าด้วยความเคารพจริงๆ ตั้งใจจริงๆ หรือถ้าว่ามากกว่านี้ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ไปอีก ๓ วาระ ตามที่ว่ากันมา เวลาที่ว่านั้น ก็ว่าด้วยความตั้งใจ ด้วยเคารพ ด้วยความจริงใจ เวลานั้นอานิสงส์สูงขึ้น เป็นทั้ง พุทธานุสสติ ด้วย เป็นทั้ง ธัมมานุสสติ ด้วย เป็นทั้ง สังฆานุสสติ ด้วย เอาเพียงแค่อย่างเดียวแค่นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัทให้ท่านสังเกตว่าถ้าถึงเวลาจะบูชาพระ ถ้าวันไหนยังไม่ได้บูชาพระ วันนั้นไม่สบายใจ ต้องบูชาพระให้ได้ ถ้าจิตใจของท่านเป็นอย่างนี้ แสดงว่าท่านมีกำลังใจเป็น ฌานในพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ คำว่า “ ฌาน ” นี่เป็นกำลังสูง คำว่า “ ฌาน ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปนั่งขัดสมาธิจนเป็นฌาน ไอ้อย่างนั้นเรียกว่า “ ฝึกความเป็นฌาน ” ฌานจริงๆ ที่ทรงตัวก็คือ จิตนึกอยู่ เมื่อถึงวาระจริงๆ จิตต้องการบูชาพระ ถ้ามีพระพุทธรูป นั่งมองดูพระพุทธรูปเป็น พุทธานุสสติ กล่าวถึงพระธรรมเป็น ธัมมานุสสติ กล่าวถึงพระสงฆ์เป็น สังฆานุสสติ ถ้าอย่างเก่งจริงๆ ก็ว่า อิติปิ โส อีกสักจบก็จะดีมาก บท อิติปิ โส บทต้นพรรณนาความดีของพระพุทธเจ้า บท สวากขาโต พรรณนาความดีของพระธรรม บท สุปฏิปันโน พรรณนาความดีของพระสงฆ์ แค่เท่านี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท เพียงแค่นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ถ้าทำได้ทุกวัน เวลาจะตายมันลงนรกกันไม่ได้แน่ เวลาเหลือ ๒ นาทีจะหมดเวลา ทางที่ดีบรรดาท่านพุทธบริษัทตัด สังโยชน์ ๓ ให้ได้จะดีมาก ค่อยๆ ทำ สังโยชน์ ๓ นะ เป็นพระโสดาบัน และเวลานี้ทุกท่านได้ ๒ แล้ว คือ (๑) นึกถึงความตาย ทุกคนถ้าไม่นึกถึงความตายจะไม่มีใครทำบุญ เพราะเกรงว่าจะตายจะไปลำบาก จึงทำบุญ อันนี้เรามีแล้ว ที่เรียกว่า “ สักกายทิฏฐิ ” (๒) ตัด สังโยชน์ ข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา คือ ตัดความสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ทุกอย่างมีแล้ว ท่านตัดได้แล้ว ท่านมีความเคารพ (๓) ก็เหลือตัวเดียว สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลให้เคร่งครัด รักษาศีลอย่างจริงใจ อย่าให้ขาด เคยขาดมาในกาลก่อน ก็เป็นเรื่องของมัน เวลานี้เรารักษาอย่าให้ขาด บางครั้งมันจะเผลอบ้างอะไรบ้าง เป็นของธรรมดา เวลาใหม่ๆ แต่ว่าเมื่อตั้งใจรักษาจริงๆ ในไม่ช้าไม่นานไป ศีลก็จะครบถ้วยบริบูรณ์ ก่อนจะหลับให้นึกทบทวนว่า เวลานี้ศีล ๕ เรามีครบถ้วนไหม วันนี้มันบกพร่องข้อไหนบ้าง ถ้าทราบว่าบกพร่องข้อไหน คิดว่าพรุ่งนี้เราจะไม่ให้บกพร่อง พอตื่นเช้าเราคิดว่า วันนี้ศีล ๕ ของเราจะไม่ยอมให้บกพร่อง พอก่อนจะหลับก็นึกทบทวนใหม่ ทำอย่างนี้ทุกวัน บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน อาตมาคิดว่า ไม่เกิน ๓ เดือน ทุกท่านจะมีศีลบริสุทธิ์ ถ้ามีศีลบริสุทธิ์ ก็นึกถึงใจว่าใจเราต้องการสวรรค์หรือพรหมโลก หรือว่านิพพาน ถ้าความเป็นพระโสดาบันเข้าถึงใจท่านจริงๆ ท่านจะมีความต้องการอย่างเดียวคือ นิพพาน โดยเฉพาะ เพียงเท่านี้แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัทถ้าตายจากความเป็นคน ก็จะลงอบายภูมิไม่ได้ จะเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหมก็ตาม ต่อไปก็นิพพานกันแน่ไม่ต้องลงมา เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า เวลาหมดพอดี ก็ขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัยมีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ประการ ขอจงดลบันดาลให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน มีแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล และจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ หากทุกท่านปรารถนาสิ่งใด ก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาทุกประการ อาตมภาพประทานวิสัชนามา ในธัมมิกถาก็ยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ที่มา : นิตยสารธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๒๖ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑ หน้า ๓๒-๔๒. ถอดความโดย ศรีโคมคำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น