วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความเป็นจริงของร่างกายและจิตใจ นิพพิทาญาณ จัดเป็นเครื่องวัดในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดีว่า ดำเนินมาอย่างถูกต้องหรือไม่? กล่าวคือ ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดนิพพิทาหรือนิพพิทาญาณก็เป็นเครื่องชี้นำได้อย่างดีว่าได้ปฏิบัติมาอย่างถูกต้องแนวทางดีแล้ว แต่ถ้าปฎิบัติแล้วมีความรู้สึกอวดดี อวดเก่ง อวดรู้ อวดกล้า มีฤทธิ์มีเดช มีอำนาจ ถือดี วางตัวเป็นผู้รู้ เยี่ยงนี้แล้วให้โยนิโสมนสิการในข้อปฏิบัติของตนให้ดีว่า ได้ปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดพลาดไปเสียแล้วอย่างแน่นอนเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิปัสสนูปกิเลสอันเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติเป็นธรรมดา จึงเนื่องด้วยวิปัสสนูปกิเลสแบบใดเป็นสำคัญเท่านั้นเอง แล้วแก้ไขเสีย กล่าวคือ วางฌานสมาธิลงเสีย แล้วเจริญแต่วิปัสสนาเป็นสำคัญ ด้วยเหตุดังกล่าวเหล่านี้ นิพพิทาญาณ จึงจัดเป็น หนึ่งในญาณหรือความรู้ยิ่งในการปฏิบัติวิปัสสนา คือ นิพพิทานุปัสสนาญาณ ในวิปัสสนาญาณ ๙ เป็นญาณอันสำคัญยิ่งที่ต้องเจริญหรือภาวนาให้เกิดขึ้น(ภาวนาปธาน)ให้ได้ในที่สุด มิฉนั้นก็กล่าวได้ว่าการปฏิบัติที่ผ่านมานั้นยังเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องแนวทาง เพราะเป็นญาณหรือความปรีชาที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อตัณหา อันเป็นสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งถ้ากล่าวอย่างปรมัตถ์แล้ว สมุทัยก็คือเหตุแห่งอุปาทานทุกข์นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น