วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

“การฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุอรหันต์ ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์” ที่น่าอัศจรรย์คือ แม้แต่เสียงเพลง เสียงขับร้อง ถ้าผู้ฟังรู้จักพิจารณา ไตร่ตรองโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมส่งผลให้ผู้ฟังได้บรรลุธรรมได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างในพระคัมภีร์มีให้เห็นมากมาย เช่น อุตตรมาณพ เดินทางไปประกวดร้องเพลงชิงรางวัล ระหว่างทางก็พบพระพุทธเจ้า ๆ จึงเรียกไปสอบถาม ทราบความแล้วก็ทรงถามว่า เพลงที่จะร้องเนื้อหาเป็นอย่างไร อุตตรมาณพจึงร้องเพลงให้พระพุทธเจ้าฟัง แต่พอฟังจบ พระพุทธเจ้าก็บอกว่า เพลงขับแบบนี้ ไม่ถูก ร้องไปไม่มีทางชนะแน่นอน คัมภีร์ธรรมบทได้พรรณนาไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้แต่งเพลงขับให้อุตตรมาณพใหม่ พร้อมกับให้ท่องจำให้แม่น เนื้อหาเพลงที่เป็นโจกย์ให้ผู้ท้าชิงร้องแก้ท่านผูกเป็นปัฏฐยาวัตรฉันท์ แปลเป็นภาษาไทยได้ความหมายอย่างนี้ “เป็นใหญ่อย่างไร จึงได้ชื่อว่าเป็นพระราชา เป็นพระราชาแบบไหน จึงได้ชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร แบบไหน ? จึงได้ชื่อว่าปราศจากธุล แบบไหน ? จึงได้ชื่อว่าเป็นคนพาล” เพลงตอบโจทย์ที่พระพุทธเจ้าแต่งให้อุตตรมาณพว่าดังนี้ “ผู้เป็นใหญ่ในทวารทั้ง ๖ ชื่อว่าเป็นพระราชา พระราชาผู้กำหนัด ชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร ผู้ไม่กำหนด ชื่อว่าปราศจากธุลี ผู้กำหนัดอยู่เรียกว่าเป็นคนพาล” บทเพลง ๔ บรรทัดแค่นี้ ส่งผลให้อุตตรมาณพบรรลุโสดาบันทันที ว่ากันว่า หลังจากเรียนเพลงขับจากพระพุทธเจ้าจนคล่องปากแล้ว อุตตรมาณพก็ออกเดินทางไปท้าประลอง และในที่สุดก็ประสบชัยชนะ คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ได้เล่าเรื่องพระติสสะเถระ ผู้ปรารภวิปัสสนา ท่านเดินทางผ่านสระปทุม เวลานั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งเก็บดอกบัวอยู่ นางคงจะมีอารมณ์สุนทรีย์ ขณะที่เก็บดอกบัวก็ร้องเพลงไปด้วย เนื้อเพลงผูกเป็นฉันทลักษณ์เช่นกัน แปลเป็นภาษาไทยได้ความหมายว่า “ดอกปทุมชื่อโกกนท บานแล้วแต่เช้าตรู่ ถูกแสงพระอาทิตย์แผดเผาให้เหี่ยวแห้งไปฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้ถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเหี่ยวแห้งไปด้วยกำลังแห่งชราฉันนั้น” บทเพลงความยาวเพียงแค่ ๔ บรรทัดเท่านี้ ทำให้พระติสสะเถระถึงกับรรลุพระอรหันต์ทันที ถัดจากเรื่องนี้ไปนิดหน่อย ในคัมภีร์เดียวกันนี้ ได้เล่าถึงชายผู้หนึ่ง พร้อมด้วยบุตรชาย ๗ คนกลับจากป่า ระหว่างที่เดินทางกลับบ้าน ได้ยินเสียงสตรีนางหนึ่งกำลังร้องเพลงขณะตำข้าว เสียงเพลงไพเราะจับใจ โดยเฉพาะเนื้อเพลงฟังแล้วชวนให้พิจารณา “สรีระนี้อาศัยหนังมีผิวเหี่ยวแห้ง ถูกชราย่ำยีแล้ว สรีระนี้ถึงความเป็นอามิส คือเหยื่อแห่งมฤตยู ย่อมตกไปเพราะมรณะ สรีระนี้เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ สรีระนี้เป็นภาชนะของไม่สะอาด สรีระนี้เสมอด้วยท่อนไม้” สิ้นสุดเสียงเพลง ชายชราพร้อมลูกชายทั้ง ๗ คน บรรลุปัจเจกโพธิญาณทันที ที่สุดของเรื่องนี้ ท่านสรุปเป็นประเด็นทิ้งไว้อย่างนี้ว่า “แม้เทวาดาและมนุษย์เหล่าอื่น บรรลุอริยภูมิด้วยอุบายเช่นนี้” ทำให้เราได้ข้อสรุปเบื้องต้นอย่างหนึ่งว่า เสียงเพลง หรือเสียงเพลงขับ หากประกอบด้วยเนื้อหาที่สะท้อนสัจธรรมความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมทำให้ผู้ฟังได้เกิดปัญญาญาณถึงขั้นบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกัน หากจะมีคำถามว่า แล้วเนื้อเพลงแบบไหนเข้าข่ายดังกล่าวข้างต้น ในคัมภีร์ท่านไม่ได้พรรณนารายละเอียด ท่านเพียงแต่ให้แนวกว้าง ๆ ไว้สำหรับพิจารณาดังนี้ “เพลงขับที่ประกอบด้วยธรรมควร” “เมื่อบุคคลฟังเสียงแม้มีอักขระอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตรใด ราคะเป็นต้นย่อมเกิดขึ้น เสียงเห็นปานนั้นบุคคลไม่ควรฟัง แต่เมื่อบุคคลฟังเสียงที่อาศัยธรรม แม้เพลงขับของนางกุมภทาสี ความเลื่อมใสย่อมเกิดขึ้นได้ หรือความเบื่อหน่ายย่อมปรากฏ เสียงเห็นปานนั้นควร” จากตัวอย่างเบื้องต้นนี้ ทำให้มองเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าสัจธรรมนั้น แฝงตัวอยู่ในธรรมชาติรอบกายเรา ขอเพียงรู้จักไตร่ตรอง พินิจ และพิจารณาเราก็จะสามารถมองเห็นได้ แม้จะไม่มีใครแสดงให้เราฟังก็ตาม ตรงกันข้าม หากเราไม่รู้จักไตร่ตรองพิจารณา ต่อให้พระพุทธเจ้ามายืนต่อหน้าเรา ก็ทรงช่วยอะไรเราไม่ได้ เพราะทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า “เราตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้บอกแนวทางเท่านั้น”วุตโตทัยฉันทศาสตร์ เป็นตำราว่าด้วยแบบบัญญัติการแต่งฉันท์ มีประเภทต่างๆ ตามที่มาในคัมภีร์วุตโตทัย ซึ่งเป็นภาษาบาลีมีอยู่ ๑๐๘ ฉันท์ และได้แปลงเป็นฉันท์ไทยแล้ว ๑๐๘ ฉันท์ เท่ากัน ฉันท์ทั้ง ๑๐๘ ฉันท์นี้ ท่านจัดเป็นสองพวกเรียกว่า ฉันท์วรรณพฤติ และฉันท์มาตราพฤติ ฉันท์ใดกำหนดด้วยตัวอักษรฉันท์นั้น เรียกว่า วรรณพฤติ มี ๘๑ ฉันท์ ฉันท์ใดกำหนด้วยมาตรา ฉันท์นั้นเรียกว่า มาตราพฤติ มี ๒๗ ฉันท์ อาจารย์ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร แปล คัมภีร์วุตโตทัย ไว้ในหนังสือชื่อ ฉันทศาสตร์ไทย ผู้เขียนได้ลองเลือกฉันท์บทที่ชอบ ประพันธ์ไว้เป็นโคลง ได้ ๑๗ บท ดังนี้ ๑. วานวาสิกาฉันท์ อลสสฺส น ชายติ มติ ธนญฺจ มติธเน ยสฺส อสติ อิธ กถํ โส สุขี ปรมฺหิ จ อปิ จ ทุขี ตสฺมา อลโส วตน จ ภเวยฺย เงินทองกองท่วมบ้าน บ่ขยัน ครั้นเกียจกอบโกยปัญ- เญศด้อย สุขังยั่งยืนฉัน- ใดเล่า..สหายเอย สมบัติยศหมื่นร้อย ย่อมรู้โรยรา ปัญญาทรัพย์สมบัติเกิดมีแก่คนเกียจคร้านผู้ใด เมื่อปัญญาและทรัพย์สมบัติไม่มีแก่คนผู้นั้นแล้ว (เสื่อมลง) ความสุขในชาตินี้แลชาติหน้าจักมีด้วยประการฉันใด ยศสมบัติเหล่านั้นนักปราชญ์จักปรารภเอาย่อมไม่มี ๒. จปลาฉันท์ ทานํ ธนพีชํ เส สีลํ สุขพีชํ มิธ มนุชานํ ตสฺมา สุทานทาตา สิยา สุสิโล สหิทกาโก ทานังดั่งพืชให้ โภคทรัพย์ ศีลดั่งพืชให้สรรพ สุขแผ้ว ชนใดใคร่ลิ้มลัพธ์ รมเยศ พึงปลูกหน่อธรรมแล้ว จึ่งรู้รสธรรม ทานเป็นพืชอันบังเกิดข้าวของสมบัติ ศีลเป็นพืชบังเกิดสุขในใจแก่คนทั้งหลายในโลกย์ เหตุนั้นผู้ใดปรารถนาข้าวของสมบัติอันดีแก่ตน พึงให้ทานด้วยความศรัทธาแลมีศีลอันดีเถิด ๓. คีติฉันท์ โมหวนทฺโธ พาโล ตณฺหา วสมา คโต จ โกธวสํ ปาเป สาหส กาลี อปายภูมี นิวาส คติ มสฺส พาโลโมหะคลุ้ง ครอบงำ ตัณหราคะกรรม โกรธแค้น คิดบาปหยาบช้าทำ กระลีโทษ มี นรก รอแม้น มอดม้วยมรณา ชนพาลอันโมหวิชชาครอบงำ ลุอำนาจแห่งตัณหา โกรธแค้นร้ายหนักหนาในบาปกรรม มีอบายภูมินรกเป็นที่อยู่ที่ไปแห่งชนชั้นแล ๔. อุปคีติฉันท์ ปาเณสุ น การุญฺโญ ทลิทฺทเกสุ จ วิเหทูยติ อาธมฺเม นโร ภวติโลเก โย นโร นหิ สาธุ โส ปาณาติบาตสิ้น กรุณา เบียนเบียฑปวงประชา ยากไร้ ลืมธัมมะนำพา ภพสุข หาสิ่งดีไม่ได้ หนักพื้นโลกา คนผู้ใดไม่มีความกรุณาในสัตว์และคนทั้งหลายผู้เข็ญใจ ย่อมเบียดเบียนผู้อื่นให้เป็นทุกข์ คนผู้นั้นจักเป็นผู้หาดีไม่ได้ ชื่อว่าเป็นคนอธรรมในโลกย์ ๕. อาริยาคีติฉันท์ อติมาโน อธิโกโธ อวมาน กโรนํ เวสุ อภวุฑฺเฒ สุ โย พหุสุโตมิ โสปิน บณฺฑิโต พาลํ สมฺมโต อธิโลเก มานะมีมากครั้ง เคืองเคียด ใจจะหยามหมิ่นเกียรติ ทุกผู้ แม้นเรียนร่ำละเอียด เอกอุ ปากที่ฝากกระทู้ ถ่อยสิ้นสัทธรรม คนผู้ใดมีทิฐิมานะใหญ่ยิ่งนัก มีความโกรธเคืองเคียด ย่อมดูหมิ่นบุคคลอันหนุ่มและแก่กว่าตน แม้นผู้นั้นจะเป็นพหูสูตร (ผู้ร่ำเรียนมากเท่าใดก็ดี) จักถือเป็นบัณฑิตก็หามิได้ (เพราะความพาล) ขึ้นชื่อว่าเป็นคนใบ้คนหนึ่งในโลกย์ ๖. เวตาลียฉันท์ อธิปจฺจํโคธ โย นโร ตณฺหามาณว วตฺติโต ปเร ปตาเปติ มตฺตวุฑฺฒิยา ตถานาคเต ทุกฺขตา ปิโต ครองแคว้นแค้นข่มข้า ขุกเข็ญ เพื่อประโยชน์โฉดเป็น ที่ตั้ง ภายหน้าพ่าห์เพียบเพ็ญ พบเพท..ภัยเอย กรรมเก่าเข้าฉุดรั้ง เร่งให้ฉิบหาย บุคคลใดถึงความเป็นใหญ่ในโลกย์ ใช้อำนาจเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เพื่อประโยชน์แก่ตน บุคคลนั้นจักเดือดร้อนในกาลหน้า ด้วยกรรมอันตนได้กระทำไว้ ๗. โอปจฺฉนฺทสกฉันท์ การุณิโล สนฺนโรธิปจฺจํ ยธา คโตโส สพฺพปาณเกสุ กโรติ สุขยํ น ปาปิทุกฺขํ สพฺพสุขีโน มานภาว ตสฺส กรุงไกรกษัตริย์เกื้อ กุศล เสริมสง่าการุณพล ไพร่ฟ้า ใจจำกำราบ รณ แรงบาป สุข สรนุกถ้วนหน้า แน่แท้ทุกสมัย คนผู้มี กรุณามาก ได้เป็นใหญ่ ในโลกย์ ในกาลเมื่อใด คนผู้นั้นกระทำความสุขให้แก่สัตว์โลกย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กระทำความทุกข์ สัตว์โลกย์ทั้งหลายย่อมมีความสุขด้วยอำนาจของสัตตบุรุษนั้น ๘. อาปาฏลิกาฉันท์ โลภนิสฺสาย วินาโส ภวติ โทสํ จโมหนากํ จ โย นโร สวาฆนกาโม สจิตฺตรกฺขํ ทนฺตหิ กเรยฺย โลภมากกระชากช้ำ ฉิบหาย เหวแห่งจัตุราบาย บ่งรู้ โทโสโม่ห์ละลาย รมยสุข ละเกลศแล้วผู้ จิตพ้นสังสาร ความฉิบหายอาศัยความโลภ ซึ่งเกิดมีแก่สัตว์ทั้งหลาย ใช่แต่เท่านั้น ! ความฉิบหายย่อมอาศัยโทสะโมหะด้วย บุคคลทั้งหลายผู้หวังความเจริญ พึงกระทำการรักษาจิตใจของตนให้พ้นจากความโลภโกรธหลงนั้นเถิด ๙. ทกฺขิณนฺติกาฉันท์ ปหาย โกธํภิขนฺติ มา ทยาลุโก วา เมตฺตาจิตฺตกํ ทยํ จ ปเณสุ สมฺปเร สปญฺญวา น จเรติ ทารุนํ ขันตีนีราศแกล้ว โกรธา ถึงซึ่งเหตุเมตตา ตริถ้วน หลีกเร้นเข่นฆ่าสา- ธุสัตว์ สัปปุรุษเลิศล้วน ละเว้นทารุณ สัตตบุรุษผู้มีปัญญาละเว้นเสียยังความโกรธเป็นผู้ที่มีความอดทน ความกรุณามากนักย่อมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่สัตว์ทั้งหลาย สัตตบุรุษผู้นั้นย่อมไม่กระทำทารุณแก่สัตว์ ๑๐. อุทิจฺจวุติฉันท์ ปรสฺสลาเภ อุปาคเต เนว นินฺเทยฺย มิสฺสุภา ยตํ สภาวโต ยํ อธมฺมิกํ กายเลนฺตํ วนินฺทเย มุนี เศรษฐีมีมากแก้ว- กองทอง ปราชญ์ไป่ริษยาหมอง หม่นไหม้ ทรัพย์ใดใช่สิ่งของ สุจริต ปราชญ์อาจแนะแคะไค้ ข่มได้โดยควร ในเมื่อลาภมาถึงแก่ท่านผู้อื่น ผู้มีปัญญามิพึงติเตียนด้วยความริษยา วัตถุอันใดได้ด้วยมิชอบธรรม ผู้มีปัญญาติเตียนในกาลอันควรแล ๑๑. ปจฺจวุติฉันท์ สกาลา ภูตุปาทนํ ยถา อปฺปกมฺมิ สกลาภเก ตถา สนฺตุฏฺเฐยฺยว ปญฺญวา มา ปรสฺสลาเภ ปิหํ จเร ทุรโภคทุรโชคสร้าง ศฤงคาร- ธนทรัพย์ธนสาร ซึ่งน้อย พึงสันโดษสันดาน บัณฑิต อย่ามักใหญ่ในร้อย ลาภผู้อื่นสงวน การบังเกิดลาภแห่งตนด้วยประการใด แม้น้อยหนึ่งก็ดี ผู้มีปัญญาพึงสันโดษในลาภแห่งตนนั้น บ่มิพึงใคร่ได้ยังลาภแห่งท่านผู้อื่น ๑๒. ปวสฺตกฉันท์ ยโส จลาโภ จ กิตฺติ จ นิจฺจ ธัมฺมิกา เนว โหนฺติกา วินาส ธมฺมา ว ปณฺฑิโต ตาสุ มชฺชโต สพฺพทา ภเว ชื่อเสียงลาภยศเบี้ย บริวาร ฤาอยู่ยั่งยืนนาน เที่ยงแท้ ย่อมอันตรธาน ทุกเมื่อ ปราชญ์ไป่มัวเมาแล้ รีบสร้างทางเขษม ลาภยศบริวารชื่อเสียงก็ดี ไม่มีสภาวะอันมั่นเที่ยง ย่อมมีสภาวะอันรู้ฉิบหายไป เหตุนั้นบัณฑิตไม่พึงมัวเมาในกาลทุกเมื่อ ๑๓. อปรนฺติกาฉันท์ สพฺพโภคมิตฺตา สกานุคา เนว สพฺพฐาเน สยํ กตํ ปุญฺญปาปกมฺมํ สกานุคํ ตํ ปรมิปโลกานิวัตฺตกํ สินทรัพย์กับเพื่อนทั้ง หญิงชาย เคยติดตามยามตาย หมดสิ้น บุญบาป ขนาบกาย เกาะแน่น..นานนา นรชีพลับดับดิ้น บ่รู้ลาหาย ข้าวของทรัพย์สมบัติมิตรสหาย จักตามไปกับตนในสถานทุกแห่งหามิได้ กรรมอันเป็นบาปและบุญที่ตนได้กระทำไว้นั้น ย่อมตามไปกับตนในสถานที่ทุกแห่งแม้ในปรโลกหน้า ๑๔. จารุหาสินีฉันท์ ยทิ อตฺตโน อถฺเมสิโต ปหาย ปาปํว โส นโร ยเทวปุญฺมา ปรายิเก สุขาวหํตํ จเร สทา ชนใดไขว่คว้าสุข ใส่ตน ย่อมละเสียซึ่งผล บาปย้อม บุญบารมีดล แดนเทพ สู่สุขาวดีพร้อม- พรั่งด้วยสมบัติสวรรค์ บุคคลผู้ได้แสวงหาประโยชน์สุขแก่ตน ย่อมละเว้นจากบาปกรรมทั้งมวล กุศลกรรมอันใดซึ่งจักเป็นประโยชน์สุขในเทวโลก บุคคลผู้นั้นพึงกระทำในกาลทุกเมื่อแล ๑๕. อจลธิติ ฉันท์ ติสรณ มคต นรมรุ กลิคหนิ ทุจริต จริธ กลิผล อนุภวติ ตุมปคต นรมรุ นหิ กลิคหนิ สุจริต จริธ สุขผล อนุภวติ แก้วสามดวงเด่นไว้ หว่างทาง ทวยเทพนรชนปาง ปัดทิ้ง ถือทุจริตพลาง พบพิบาก..กรรมเอย ทุกข์ประทุกมากหยิ้ง ย่อมร้อนกลีผล เทวามานุษย์ผู้ พบตรัย..รัตน์เอย ถือสุจริตใจ อร่ามอล้า ดวงแก้วสาดส่องใส สว่างจิต สู่สุขรมย์ในหล้า แหล่งโน้นนีรันดร์ คนและเทวดาซึ่งไม่เข้าสู่ไตรสรณะ แลถือเอาลัทธิอันผิด ย่อมกระทำทุจริต แลได้เสวยวิบากเป็นทุกข์ในโลก คนและเทวดาซึ่งเข้าไปสู่ไตรสรณะ แลไม่ถือเอาลัทธิอันผิด ย่อมกระทำสุจริต แลได้เสวยสุขในโลก ๑๖. วิสิโลกฉันท์ โลกีย สมฺปท ธรติ สทา น สาสนมุตฺตมนฺติ กทาจิ ตสฺมา น เปกขิย โลกโภคํ ธเรยฺย สาสน อาธรนฺติ กุศลสร้างจึ่งพร้อม สมบัติ โลกิยนิทัศน์ ทุกข์ด้วย ศาสนวิวัฒน์ บางคาบ ผู้ใฝ่ธรรมธรรมฉ้วย ชีพรู้รสธรรม โลกียสมบัติตั้งอยู่ในโลกในกาลทุกเมื่อ ก็ด้วยกุศลแห่งสัตว์ทั้งหลาย ศาสนาอันประเสริฐ แห่งพระพุทธเจ้า มิตั้งอยู่ในโลกในกาลทุกเมื่อ ศาสนาตั้งอยู่ในกาลบางคาบ เหตุนั้นผู้มีปัญญามิพึงฝักใฝ่ในสมบัติ พึงฝักใฝ่ ในศาสนานั้นเถิด ๑๗. มตฺตาสมกฉันท์ สรณตฺตยํ สรณคตฺต นรํ วฏ์ฎทุกฺขโต ปโม จ ยนฺเต นาญสรณํ ยทิโย วทิตวา อวํ ติสรณ คเมยฺย นโร สังสารวัฏเวิ้ง ทุกขะ พ้นเพราะไตรสรณะ นั่นแท้ พึ่งไอศวรรยะ ยังยาก พึ่งไตรรัตนนั่นแล้ หลีกล้างราญเข็ญ บุคคลผู้ใดซึ่งถึงไตรสรณะ ย่อมหลุดพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร ที่พึ่งอันชื่นเช่นท้าวพระยามหาเสนาบดีจักให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารหามิได้ เหตุนั้นผู้รู้แล้วด้วยประการดังนี้ พึงถึงซึ่งไตรสรณะเป็นที่พึ่งแก่ตนเพราะวิเศษยิ่งกว่าที่พึ่งอันอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น