วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

ทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากที่สุดของเราคือร่างกายของเรา



อริยสัจ 4 โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

                                                                    
อริยสัจ
            1) สำหรับการที่เราเจริญพระกรรมฐานก็ต้องใคร่ครวญอยู่เสมอว่า เราเจริญพระกรรมฐานเพื่อต้องการความรู้เป็นเครื่องพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ ถ้าเรายังต้องเกิดแก่เจ็บตายอยู่อย่างนี้ เราก็มีแต่ความทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ การเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เราทำเพื่อสิ้นความเกิด เพราะเราไม่ต้องการความทุกข์ต่อไป จงพิจารณาหาทุกข์ให้พบในอริยสัจ
            2) ให้พิจารณาเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัย ตัณหา ความทะยานอยาก 3 ประการ คือ อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่ไม่เคยเป็น อยากปฏิเสธในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยากทั้ง 3 นี้แหละ เป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ก็เพราะเข้าถึงจุดความดับ คือ นิโรธ เสียได้
            จุดดับนั้นท่านวางมาตราฐานไว้ 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านเรียกว่า มรรค 8 ย่อมรรค 8ลงเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ เพราะ อาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิเป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และดับอารมณ์พอใจ ไม่พอใจเสียได้ ตัดอารมณ์พอใจในโลกีย์วิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสียได้ ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ 4 ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่อง จนจิตครอบงำ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิต เสียได้ ชื่อว่าท่านได้ วิปัสสนาญาณ 9 และอริยสัจ 4 แต่อย่าเพิ่งพอ หรือคิดว่าดีแล้ว ต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไป จนตัดสังโยชน์ ทั้ง 10 ประการได้แล้ว นั่นแหละ ชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว
            3) เราเกิดมาเพื่อประสบกับความทุกข์ คนที่เกิดมาแล้วทุกคนจะไม่มีทุกข์เป็นไม่มี ถ้าหากว่าเรายังยึดถือว่า ร่างกายเป็นของเรา ทรัพย์สินเป็นของเรา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเป็นของเรา อารมณ์ทุกข์มันก็เกิด เกิดเพราะว่าเราเกาะ ที่เรียกว่า อุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกธรรม 8 ประการ คือ มีลาภ ดีใจ ลาภสลายตัวไป เสียใจ มียศดีใจ ยศสลายตัวไป เสียใจ มีความสุขในกาม ดีใจ ความสุขหมดไป ร้อนใจ ได้รับคำนินทา เดือดร้อน ได้รับคำสรรเสริญ มีสุข องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้พวกเราใช้อารมณ์คิดอยู่เสมอว่า ทุกข์นี้เป็นกฎธรรมดาของโลก ทุกอย่างเราทำงานตามหน้าที่
            4) แล้วตัวสำคัญที่ร้ายที่สุดที่สร้างความทุกข์ ก็คือ อารมณ์ความรักในกามารมณ์
            นี่ตัวสำคัญ เป็นตัวสร้างเหตุร้ายให้เกิดขึ้นกับจิต หรือเป็นเหตุให้เกิดขึ้นกับจิต หรือเป็นเหตุให้เกิดขึ้นกับกาย อาศัยความรักเป็นสำคัญ ที่เราจะต้องเศร้าโศกเสียใจ เพราะอาศัยของรักพลัดพรากไป ภัยอันตรายจะเกิดขึ้นกับเรา โทสะ ความพยาบาทมันจะเกิดขึ้น จะต้องประทุษร้ายซึ่งกันและกัน ก็เพราะว่าสิ่งที่เรารัก ความรักที่เนื่องด้วยกามารมณ์ไม่มีสำหรับเราแล้ว มันจะเป็นภัยอันตรายมาจากไหน จะมีความเศร้าโศกเสียใจมาจากไหน ตอนนี้เป็นอันว่า กิเลสหยาบหมดไป ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรว่า อันนี้เป็น อธิจิตสิกขา ก็หมายความว่า ต้องทรงอารมณ์ในด้านความรู้สึกอย่างนี้เป็นปกติ มีความเข้มแข็งพอที่จะไม่ทำลายความดีส่วนนี้ไปจากจิต มันจะทรงอยู่ได้ทุกขณะจิต ที่ชีวิตเราทรงอยู่ตลอดไป
            5) เหตุของความทุกข์จริง ๆ คือ ตัณหา ได้แก่ ความทะยานอยาก เมื่อเรามีตัณหาขึ้นมาแล้วร่างกายมันจึงมี อารมณ์จิตเรามีตัณหา มันจึงมีร่างกาย ร่างกายเป็นจุดรับภาระของความทุกข์ทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าทุกข์ทุกอย่างที่เราจะมีขึ้นมาได้ ก็อาศัยร่างกายเป็นสำคัญ ถ้าเราไม่มีร่างกายเราก็ หมดตัณหา ถ้าหมดทั้ง 2 อย่าง คือ หมดตัณหาก็ชื่อว่าหมดร่างกาย ถ้าเราไม่ติดอยู่ในร่างกายก็ชื่อว่าหมดตัณหา คำว่าไม่ติดในร่างกายก็หมายถึงว่า ไม่ติดอยู่ในร่างกายของเราด้วย และก็ไม่ติดอยู่ในร่างกายของบุคคลอื่นด้วย อารมณ์ไม่ติดอยู่ในวัตถุธาตุใด ๆ ด้วยโดยยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ที่เราเรียกกันว่า วิปัสสนาญาณ ตัวสุดท้าย การยอมรับนับถือนี้ก็หมายถึง ว่าอารมณ์มัน เฉย คำว่าอารมณ์เฉย ไม่ได้หมายความว่า อารมณ์ไม่คิดตามที่เขาบอกว่าอารมณ์ว่าง ว่างโดยไม่คิดอะไรเลยนั้น ไม่มีในชีวิตของคน
            6) อริยสัจ เขาสอนสองอย่างเท่านั้น สำหรับอีกสองอย่าง ไม่มีใครเขาสอนหรอก อย่าง นิโรธะ แปลว่า ดับ อันนี้มันตัวผล ไม่ต้องสอน มันถึงเอง มรรค คือ ปฏิปทาเข้าถึงความดับทุกข์ มันก็ทรงอยู่แล้ว คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ อริยสัจ เขาตัดสองตัว คือ ทุกข์ กับสมุทัยเท่านั้น


อริยสัจ 4 (ตอนที่ 1)

วันนี้ว่ากันถึง อริยสัจ 4 อริยสัจ 4 มี 4 อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย ริโรธ มรรค ที่เรียกว่า อริยสัจ ก็เพราะว่า เป็นความจริงที่ทำบุคคลให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า
            พระอริยเจ้าเขาเป็นกันยังไง? เหาะได้รึไง ไอ้โง่แบบนี้ละ ปล่อยให้โง่ไปคนเดียวนะ คิดอย่างนั้นจริง ๆ อีตอนที่เรียนใหม่ ๆ คิดว่าคนทุกคน ถ้าเป็นพระอรหันต์ได้ต้องเหาะเหินเดินอากาศได้ แสดงฤทธิ์ได้ นี่มันเป็นความโง่ แต่ความจริงนี่คำว่า อรหันต์ แปลว่า เป็นผู้สิ้นจากกิเลส ใช่ไหม หรือ แปลว่า เป็นผู้ไกลจากกิเลส หรือ มีกิเลสอันสิ้นแล้ว นั่นเอง
            คำว่าอรหันต์อยู่ตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องเหาะเหินเดินอากาศเนรมิตอะไรได้ ไอ้ตัวเหาะได้นี่ความจริงเขาเหาะได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงพระโสดาบัน แต่ว่าพวกที่ได้ฌานโลกีย์ แล้วก็ได้อภิญญาด้วยนี่ฤทธิ์มันปรากฏตั้งแต่ตอนนี้ หากว่าเราไปเห็นใครเขาเหาะได้ เนรมิตอะไรได้เข้า อย่านึกว่าเขาเป็นพระอริยเจ้า อันนี้ไม่ใช่
            หากว่าบังเอิญจะเป็นพระอริยเจ้า ได้อภิญญา 6 หรือ ปฏิสัมภิทาญาณ เรื่องที่ท่านจะเหาะให้เราดูเฉย ๆ ก็ไม่มีเหมือนกัน ท่านไม่ยอมทำ เพราะว่าท่านไม่ยอมเป็นทาสของคำชมเชยหรือคำนินทาสรรเสริญ พระอรหันต์ถ้าหากว่าจะแสดงฤทธิ์ก็ต้องจำเป็นจริง ๆ เพื่อเป็นการเจริญศรัทธา เรียกว่าอย่าง พระพุทธเจ้าที่จะทรมานชฏิล เพราะพวกนี้เขาเล่นฤทธิ์กัน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่แสดงฤทธิ์ก็จะไม่นับถือ นี่พระพุทธเจ้าจำจะต้องทำ หรือว่าพระพุทธเจ้าทรงไปทรมานน้ำใจของพระประยูรญาติ คำว่า ทรมาน นี่หมายความว่า กลับใจจากผิดให้มาเป็นถูก มันเป็นการทรมานเหมือนกัน ศัพท์ภาษาบาลีท่านเรียกว่า ทรมาน ถ้าสำหรับชาวบ้านเราเรียกว่า โปรด
            ทีนี้คำว่า โปรด หรือว่า ทรมาน นี่ก็คือกลับอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง อย่างเขาชอบกินเหล้า เราบอกว่ากินเหล้าไม่ได้ นี่เขาต้องฝืนอารมณ์เดิม เขามางดจากการกินเหล้า ก็ชื่อว่าทรมานใจ แต่ว่าเราทรมานให้ได้ดีอย่างนี้ ตามศัพท์ภาษาบาลีท่านจึงเรียกว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไปโปรดใครท่านเรียกว่า ทรมาน อย่างทรมานพระญาติพระวงศ์ เมื่อเหาะเสร็จเรียบร้อยแล้วพระวงศ์มีความเชื่อ เพราะคนที่มีความสามารถไม่มีเสมอนั้น เชื่อว่าพระองค์มีความสามารถเป็นพิเศษจริง จึงยอมรับนับถือ นี่ก็ความจำเป็นเกิดขึ้นท่านจึงจะแสดงฤทธิ์ ไอ้ฤทธิ์น่ะไม่ใช่แสดงกันส่งเดชไป
            วันนี้มาว่ากันถึง อริยสัจ วันนี้ว่าตัวสำคัญเลย อริยสัจ แปลว่า ความจริง ท่านลองนึกดู นี่เราเรียกกันอย่างแบบสบาย ๆ ดีกว่าแบบตามตำราเกินไปมันฟังยาก พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ หาความสุขมิได้ นี่เราก็มานั่งนึกดูซิว่าพระพุทธเจ้าพูดจริงหรือพูดปด พระอรหันต์โกหกมีไหม เรื่องพระสารีบุตรกับตัมพทาฐิกโจร โกหกก็แปลว่าพูดไม่ตรงความเป็นจริง ตัมพทาทิฐิกโจรแกฆ่าคนมานับหมื่น ทีนี้เวลาพระสารีบุตรไปเทศน์ กัณฑ์แรกก็ล่อปาณาติบาตเข้าเลย มันก็เสร็จน่ะซิ พอปาณาติบาติ คนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตฆ่าคนก็ตาม ตายตกนรก โอ้โฮ…ถ้าทำเป็นอาจิณกรรม ลงอเวจีมหานรก และอธิบายเสียเป็นคุ้งเป็นแควไปเลย พวกก็เหงื่อแตกพลั่ก เสร็จ เหงื่อแตก กระสับกระส่าย
            พระสารีบุตรมองไปเห็นอีตาตัมพทาฐิกโจรท่าทางไม่ดีแล้ว ท่านหยุดถาม "โยม ไม่สบายรึ" บอก "ไม่สบายใจขอรับ" ถาม "ทำไม" ไอ้ที่ท่านเทศน์น่ะ ผมแย่เต็มทีแล้วเสร็จ ผมน่ะลงนรกไม่ได้ขึ้นล่ะ ก็เลยถาม "ไอ้คนที่โยมฆ่าน่ะ ฆ่าเองหรือใครให้ฆ่า" บอกว่า "พระราชาสั่งให้ฆ่า" เพราะแกเป็นเพชรฆาต ท่านก็เลยเทียบกับคนลูกจ้างทำนา 100 ไร่ เมื่อผลในนาน่ะ นายได้หรือลูกจ้างได้ แกก็บอกว่า "ลูกจ้าง ได้แต่ฆ่าจ้าง ผลในนานายได้" แกโง่กว่าพระสารีบุตร เห็นไหม พระสารีบุตรก็เลยบอกว่า "ไอ้คนที่โยมฆ่าคน พระราชาสั่งให้ฆ่าน่ะบาปมันอยู่กับใคร" ท่านก็ไม่บอกว่าบาปมันอยู่กับพระราชา นี่อีตานั่นแกโง่กว่าพระสารีบุตรนี่ แกก็นึกว่าแกไม่บาป พอนึกว่าแกไม่บาปเท่านั้น พระสารีบุตรเทศน์ใหม่ เทศน์อานิสงส์ของทาน กัณฑ์นั้นปล่อยทิ้งไปครึ่งกัณฑ์ เพราะว่า ถ้าขืนเทศน์เป็นไม่ได้การแน่ ไอ้กัณฑ์นั้น ขึ้นกัณฑ์ใหม่เทศน์อานิสงค์ของทาน ตัมพทาฐิกโจรเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม นี่ถ้าพระสารีบุตรไม่โกหก ตัมพทาฐิกโจรไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่คุณอย่าไปโกหกเขานะ โกหกอย่างเรามันลงนรก อย่างท่านไปนิพพานได้ อย่างนั้นเขาไม่ได้เรียกว่าโกหก เขาเรียกเป็นลีลาแห่งการแสดง
            ทีนี้พระพุทธเจ้าเทศน์อริยสัจ ว่าโลกทั้งโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ คุณลองนึกดูซิว่าไอ้โลกจุดไหนที่มันเป็นสุข ลองช่วยกันหาดูซิ หิวข้าวเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หิวทำไมล่ะแล้วแกหิวทำไม ฮึ…ทำไมหิว เพราะมันอยากหิว ร้อนมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ปวดท้องขี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้ามันไม่ขี้ มันก็เป็นทุกข์ใหญ่นะ รวมความว่าที่เราทรงชีวิตอยู่นี่นะเราหาความสุขไม่ได้จริง ๆ สิ่งที่ทุกข์ที่เป็นประจำเขาเรียกว่า นิพัทธทุกข์ ที่ถามมาเมื่อกี้นี้ท่านเรียกว่า นิพัทธทุกข์
            ความจริงนิพัทธทุกข์นี่มันมี 10 อย่าง แต่เราเอากันเห็นแบบง่าย ๆ พอตื่นขึ้นมาถ้าเราไม่ล้างหน้า เราไม่แปรงฟันมันก็เป็นทุกข์ เพราะรำคาญ ใช่ไหม เพราะรำคาญนี่ไม่ล้างหน้าไม่ได้ รำคาญ มันกลางหน้า หน้ามีเหงื่อมีไคลบ้างรึเปล่า ปากถ้าไม่แปลงฟันมันก็เหม็น ไอ้ความรำคาญเกิดขึ้น บรรดาอาการของความทุกข์แปลว่า ความไม่สบายกายไม่สบายใจ อาการอย่างใดมันเกิดขึ้นก็ตาม ถ้าเป็นเหตุของความไม่สบายใจ นั่นเป็นอาการของความทุกข์
            ทีนี้พอตื่นมาแล้วล้างหน้า ถ้าเราไม่ได้กินข้าวมันก็หิว ไอ้ตัวหิวนี่มันเป็นทุกข์ และเมื่อกินเข้าไปแล้วทำยังไง ไอ้คนใหม่เข้าไปคนเก่ามันอึดอัดมันออก ฮึ….ปวดท้องขี้ปวดท้องเยี่ยวซิ ทีนี้มันเข้าไปซ้อนกันอยู่นานได้เมื่อไหร่ ไอ้กากมันจะออกการกระสับกระส่ายของการปวดอุจจาระปัสสาวะเป็นอาการของความทุกข์ นี่คำว่าปกติของทุกข์ เป็นประจำวัน แต่เรื่องหิวนี่นะเราเกิดมาชาติหนึ่ง เราต้องการอาหารวันละกี่เวลาต้องคิดมันดู เราต้องการดื่มน้ำวันละกี่ครั้ง ขณะใดที่เราต้องการดื่มน้ำ ขณะนั้นเป็นอาการของความทุกข์ เพราะหากว่าถ้าเราไม่ได้ดื่ม ความกระหายมันเกิด ไอ้ความกระหาย ความต้องการนี่มันเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวสุข เห็นไหม การหิวข้าวเป็นทุกข์ การปวดอุจจาระปัสสาวะเป็นทุกข์ ความเย็นสูงเกินไปเป็นทุกข์ เพราะเราไม่ต้องการ ร้อนมากเกินไปเป็นทุกข์ การปฏิบัติงานทุกอย่างเพื่อความเป็นอยู่เป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าการหากินทุกอย่างต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องใช้กำลังกายกำลังใจ และก็กำลังทรัพย์ เราไม่มีทรัพย์เราก็หากินอะไรไม่ได้เลย หากินได้ไหม บอกไม่มีทุนไปขุดดิน เอาอะไรไปขุดดิน เอาอะไรไปขุด ถ้าไม่มีสตางค์ซื้อพลั่ว ซื้อจอบ ซื้อเสียม ก็ต้องเอาไม้แข็ง ๆ ไปขุด ไอ้ไม้ชิ้นนั้นมันเป็นทรัพย์ ต้องใช้ทรัพย์เหมือนกัน เราทำงานทุกอย่าง เราเหนื่อยต้องเคร่งเครียดต่อการงาน และการทำงานที่มีผู้บังคับบัญชาก็ยิ่งหนักสองอย่าง หนักทั้งงาน หนักเพราะเกรงใจผู้บังคับบัญชา เกรงว่าจะไม่ถูกใจ นี่การปฏิบัติงานทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่าความสบายไม่มีเลย นี่เป็นอาการของความทุกข์ที่เราเห็นได้ง่าย ๆ
            แต่พระพุทธเจ้าบอก ความทุกข์มีจริง แต่คนเห็นทุกข์ไม่มี นี่เราต้องมานั่งนึก นึกถึงความทุกข์ในอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า แม้แต่ข้าวคำเดียวที่เราเปิบเข้าไปมันก็เป็นทุกข์ ท่านบอกว่า กับข้าวหรือข้าวที่เราจะพึงหาได้ ที่เราจะกินอันนี้มาจากไหน มันมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของเรา หรือว่าถ้าเราจะมีสตางค์ซื้อข้าว สมมุติว่าพวกคุณมีเงินเดือน ไอ้เงินเดือนนี่มันไม่ใช่เงินครึ่งเดือน หรือว่าไม่ใช่เงินครึ่งวัน เราทำงานมาตั้งแต่เดือนถึงจะได้เงินจำนวนนั้นมา และการทำงานทุกครั้งมันเหนื่อยไหม บางทีเรานั่งเขียนหนังสือมันก็เหนื่อย เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ เมื่อยมือ ใช้สมอง แล้วก็ต้องเหนื่อย เกรงว่าผู้บังคับบัญชาจะหาว่าทำไม่ถูกใจ ไม่ถูกแบบไม่ถูกแผน นี่มันเหนื่อย
            ทีนี้คนที่เขาทำนาทำสวนมันก็เหนื่อย ออกกำลังกายมาก ใช้กำลังความคิดด้วย คนที่ประกอบการค้าก็เหนื่อย ไม่ใช่เขานั่งอยู่ได้สบาย ๆ ยิ่งต้องใช้สมองหนัก และการค้าต้องเอาใจชาวบ้าน นี่มันหนักทุกอย่าง หากว่าใครเขาจะเข้ามาซื้อของเรา พูดไม่ถูกใจเขา ๆ ก็ไม่ซื้อ เราก็ต้องวางแผนว่าจะวางลีลาตั้งท่าว่ายังไง จะพูดว่ายังไงเขาจึงจะชอบใจซื้อของ ๆ เรา ทีนี้ไอ้การวางแบบ วางแผน วางกฎ ตั้งตนไอ้แบบนี้จะทำให้ถูกใจเขานี่มันเหนื่อย รวมความว่าอาหารที่เราจะกินเข้าไป กว่าจะได้อาหารมาก็แสนที่จะเหน็ดเหนื่อย เต็มไปด้วยความทุกข์
            ความหนาวจะหนาวสักเพียงใดก็ตาม ก็ต้องทนทำงานเพื่อเงิน อากาศจะร้อนเพียงใดก็ตาม ก็ต้องทนทำงานเพื่อเงิน บางทีอันตรายที่เราจะถึงสำนักงาน หรือว่าไปถึงสำนักงานแล้ว อันตรายรอบตัวจะพึงมีก็ได้ เราก็ต้องทนทำ เพราะต้องการเพื่อเงินและทรัพย์สินเอามาเป็นอาหารที่เราจะพึงกิน นี่เป็นอันว่าอาหารที่เรากินเข้าไปนี้เรากินทุกข์ ใช่ไหม
            เรานี่รู้แล้วว่า โลกนี้มันทุกข์ แล้วเกิดมาทำไมล่ะ ทำไมถึงเกิด อีตอนนั้นมันไปโง่เพราะเจ้านายมันบังคับให้เกิด คือ กิเลส ความเศร้าหมองของจิต ที่คิดว่าโลกเป็นสุข ใช่ไหม ตัณหา ความทะยานอยาก คือ คิดว่าโลกเป็นสุขจึงอยากจะมาเกิด อุปาทาน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ไอ้ตัวคิดว่าสุขมันมีอยู่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นอาการของทุกข์ ทุกอย่างเราก็คิดว่าเป็นสุข เป็นความยึดมั่นอุปาทาน อยู่คนเดียวสบาย ๆ ไม่พอ อยากจะแต่งงานให้มันมีความสุข พอแต่งงานแล้วหาสุขตรงไหนล่ะ เราอยู่คนเดียวเอาใจเราคนเดียว จะต้องคอยเอาใจคนอีกคนหนึ่ง ไอ้การประกอบอาชีพการแสวงหาทรัพย์สินมันก็ต้องมากขึ้น เพราะต้องเผื่อคนอีกคน ถ้าเรามีคนอีกคนหนึ่งมาเป็นคู่เป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ แต่ความจริงไม่ใช่ร่วมสุข มันร่วมแต่ทุกข์ แล้วเราก็ต้องรักษากำลังใจคนอื่นอีกหลายสิบคน ซึ่งเป็นพวกพ้องซึ่งกันและกัน นี่ความหนักมันเกิด ไม่ใช่ความเบาเกิด
            พอแต่งงานแล้วลูกโผล่ออกมาอีกซี พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหลาย 5 เป็นภาระอันหนัก
            เราคนเดียวมีแค่ขันธ์ 5 หนักพอแล้ว หนักเพราะความหิว หนักเพราะความกระหาย เพราะความร้อน ความหนาว ความป่วยไข้ไม่สบาย ความแก่ ความปรารถนาไม่สมหวัง และก็ความตาย แค่นี้หนักจนเราแบกไม่ไหว ในที่สุดร่างกายมันพัง
            ทีนี้หากว่าเรามีคู่ครองและเขาแบกมาอีก 5 เป็น 10 ใช่ไหม 10 ขันธ์เข้าไปแล้ว พอเข้ามาเป็น 10 ขันธ์ เดี๋ยวมันโผล่มามันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ อีตอนที่มีใหม่ ๆ น่ะหรือ รู้ข่าวว่ามีลูก แหมดีใจ พอลูกโผล่ออกมา ชักยุ่งแล้ว ใช่ไหม ดีไม่ดี ดึก ๆ ดื่น ๆ ไอ้ลูกไม่สบายต้องวิ่งไปหาหมอ ต้องตื่นขึ้น ลูกร้องขึ้นมา นี่พูดให้เห็นว่าเป็นทุกข์ง่าย ๆ ที่เราจะพึงมองเห็น แต่ว่าไม่มีใครเขาอยากมองกัน ที่พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า โลกมีความทุกข์จริง แต่คนเห็นทุกข์ไม่มี นี่ความจริง
            ทีนี้มาดูทุกข์ภายในซิ นอกไปจากนั้น นอกจากนิพัทธทุกข์ ก็ได้แก่ความป่วยไข้ไม่สบาย อันนี้มันมีตามปกติ เรามองไม่เห็นใช่ไหม ที่ผมเคยบอก ชิคัจฉา ปรมา โรคา พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ความหิว ชื่อว่าโรคอย่างยิ่ง ไอ้ความหิวนี่มันเป็นอาการเสียดแทง โรค เขาแปลว่า เสียดแทง นี่เวลาหิวขึ้นมาไม่ได้กินก็แสบท้องน่ะซี ใช่ไหม ความไม่สบาย กายไม่สบายใจมันก็เกิด โรคประเภทนี้มันเป็นกับเรากี่วัน นี่เป็นอาการของความทุกข์ที่เรามองไม่เห็น
            ทีนี้ในเมื่อมันหิวแล้วเรากินเข้าไป ร่างกายเราเอาใจมันทุกอย่าง อาหารประเภทไหนราคาแพงเท่าไร ที่พวกอนามัยเขาบอกว่าดี เราก็พยายามกิน กินเข้าไปของแพงเท่าไรก็หนักใจมากเท่านั้น เพราะเราต้องจ่ายทรัพย์มาก เราต้องเหนื่อยมาก มีการสิ้นเปลืองมาก ของดีวิเศษแค่ไหนก็ตาม กินแล้วที่ไม่แก่ไม่มี กินไม่ป่วยไข้ไม่สบายก็ไม่มี กินเข้าไปแล้วตายก็ไม่มี เป็นอันว่าอาหารทุกอย่างที่เรากินเข้าไปเราได้มาจากความทุกข์
            แล้วเวลาที่เราจะกินก็ กินเพราะอำนาจของความทุกข์บังคับ เพราะอะไร เพราะความหิวบังคับ นี่เราจะกินอาหารประเภทไหนมันก็แก่ มันก็ป่วย มันก็ตาย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ถ้าเราจะกินอาหาร ก็กินคิดว่าเป็นแต่เพียงยังอัตภาพให้เป็นไป อย่ากินเพื่ออย่างอื่น ถ้าเราคิดว่าเรากินเพื่ออย่างอื่นเราก็โง่เต็มที เราจะกินของดีประเภทใดก็ตาม ให้เราเป็นคนหมดทุกข์เรื่องอื่น มองทุกข์จุดเดียวคือ ความหิว คิดว่ากินเข้าไปแล้วถ้าอิ่มมันก็ทุกข์ แต่พออิ่มดีประสาทมันเริ่มดี ขึ้น มันก็เลยนึกต่อไปว่าเวลานี้ได้กินแล้วเวลาหน้าจะกินอะไร และงานประเภทไหนที่มันยังคั่งค้างอยู่ ความปรารถนาที่เราต้องการมีอะไรบ้าง ที่เรายังไม่ได้สมหวัง นี่อารมณ์แบบนี้มันเป็นอารมณ์บอกถึงความทุกข์ ไม่ใช่อารมณ์หยุด มันเป็นอารมณ์ทำงานอย่างที่เราทำ ขณะที่เราทำมันเป็นทุกข์
            ทีนี้พระพุทธเจ้า นี่ขอพูดย่อ ๆ ไอ้เรื่องทุกข์นี่พูดไปยันตายมันก็ไม่จบ หือ….จะจบยังไง เพราะผมต้องการบอกอาการผมทุกอย่างนี่ เวลามันตายมันปวดที่ไหน มันเสียดที่ไหน คุณก็ฟังไปยันตายเลย เป็นอันว่าเรามองหาโลก มองดูโลกตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าบอกว่า การเกิดของเราไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ฝ่ายเดียว แต่ไอ้ที่เราเห็นว่าเป็นสุขก็เพราะอะไร เพราะว่าเราโง่ มันมีจุดสุขอยู่นิดเดียวคือ ความปรารถนาสมหวัง ถ้าความปรารถนาสมหวังตามที่เราตั้งใจ เราคิดว่ามันเป็นสุข เราดีใจ ดีใจนี่เราต้องการ เราได้ตามความประสงค์ แต่เนื้อแท้จริง ๆ แล้วไม่ใช่ความสุข นั่นมันเป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าเราได้มันมาแล้วจะเป็นวัตถุ หรือเป็นบุคคลก็ตาม อารมณ์ของความทุกข์มันก็ติดตามมา ถ้าเป็นวัตถุก็เกรงว่ามันจะสูญหายไป เกรงว่าเป็นอันตราย เกรงว่าจะเก่า เกรงว่าจะพัง นี่ตัวทุกข์มันตามมา ถ้าเป็นวัตถุก็เกรงว่ามันจะสูญหายไป เกรงว่าเป็นอันตราย เกรงว่าจะเก่า เกรงว่าจะพัง นี่ตัวทุกข์มันตามมาเลย คนไม่มีสตังค์ คิดว่าเขามีสตังค์สักหมื่นก็ดีใจ แต่ถ้าเงินหมื่นบาทเข้ากระเป๋าเมื่อไหร่ คุณนอนไม่หลับเมื่อนั้น กลัวเงินจะหาย เกรงใครจะมาปล้น เกรงใครจะมาจี้ เกรงของจะหายเงินจะหาย นี่ไอ้ตัวทุกข์มันตามมาเลย
            หรือบางกลัวเงินไม่พอ เดือนนี้มีเจ้าหน้าหนี้กี่รายไปเซ็นอะไรใครเขามาบ้าง ไอ้ทุกข์มันมีหลายด้านนะ เป็นอันว่าวัตถุก็ดี บุคคลก็ดี ในโลกนี้หาความสุขไม่ได้ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข มันเป็นปัจจัยของความทุกข์อย่างเดียว นี่ขั้นแรกพระพุทธเจ้าสอนในอริยสัจให้หาตัวทุกข์ให้พบ ถ้าหากว่าเราจะปฏิบัติในอริยสัจละก้อ ถ้าเราหาตัวทุกข์ยังไม่พบ นี่อย่าเพิ่งปฏิบัติข้ออื่น นี่พูดกันถึงแนวปฏิบัติจริง ๆนะ
            อันดับแรก พระองค์ทรงสอนให้เห็นทุกอย่างเป็นทุกข์ เราก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ ทีนี้เวลาเรานอนอยู่หรือนั่งอยู่เป็นที่เงียบสงัด ปราศจากสิ่งรบกวน เราก็ใคร่ครวญหาความเป็นจริงว่า ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า โลกเป็นทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีทุกข์อะไรบ้าง ก็นั่งนึกหาความจริงให้มันพบ แล้วก็แปลทุกข์ให้มันออก ต้องนึกไว้เสมอ อะไรบ้างที่ทำให้เราไม่สบายกายไม่สายใจ ภาระทุกอย่างที่เรามีอยู่ นี่สร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจให้แก่เราทั้งหมด หนึ่ง ตื่นต้องกินข้าว ถ้าเราตื่นนอนมา ถ้าไม่มีข้าวจะกิน ความหนักใจมันก็เกิด ทีนี้ถ้ามีข้าวแล้วยังไม่กินสายเกินไปความเสียดแทงมันเกิดมันเป็นทุกข์ ทีนี้เรากินข้าวไปแล้วทำไง อุจจาระปัสสาวะจะมามันก็เป็นทุกข์ นี่เรื่องพูดเก่าแต่หากว่าเป็นร่วมกัน ถ้าเราคุยเสียงดังเกินไปคนข้างห้องเขาบอกว่ารำคาญ แต่เวลานี้ความจริงเขาอยากจะพูดให้เสียงดัง เพราะมันสบายใจ
            ทีนี้คนข้าง ๆ เขาบอกว่าพูดแบบนี้ไม่ได้ ฉันไม่ชอบรำคาญ ไอ้ความไม่สบายใจของเราก็เกิด มันเกิดคับใจเสียแล้วนี่ แหม…จะปล่อยอารมณ์ตามปรารถนาสักหน่อยเป็นไปไม่ได้ นี่ความไม่สบายใจมันก็เกิด ไอ้ตัวไม่สบายใจเกิดมันก็เป็นตัวทุกข์
            ทีนี้ประเดี๋ยวก็ได้ยินข่าวแล้ว เขาบอกว่า พ่อป่วย แม่ป่วย ญาติป่วย ญาติคนนั้นป่วยญาติคนนี้ตาย เอ้า….ความไม่สบายกายไม่สบายใจเกิดขึ้นอีก ดีไม่ดีเขาบอก นี่พื้นที่ของท่านที่มีอยู่ที่โน้นมีคนเขามารุกที่เข้าไปศอกหนึ่งแล้ว แขนหนึ่งแล้ว หรือว่าคืบหนึ่งแล้วเอาอีกแล้ว แล้วก็คิดในใจว่าไอ้ที่นี่มีโฉนดมารุกรานกันยังไง มาอีกแล้ว นอนตาไม่หลับอีกแล้ว มือก่ายหน้าผาก นี่ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สินต่าง ๆ ก็ดี ร่างกายก็ดี มันทุกข์จริง ๆ
            ทีนี้เวลานักปฏิบัติเขาปฏิบัติ เขามองหาทุกข์ของตัวให้พบ แม้แต่ทุกข์เล็กทุกข์น้อยเขาต้องมองให้พบ หาด้วยปัญญาไม่ได้หาด้วยสัญญา ทีนี้เมื่อหาความทุกข์ของเราพบแล้ว ก็หาความทุกข์ของคนอื่น มองดูคนทั้งโลกว่าคนไหนนะมีความสุขจริง ๆ เห็นคนเดินผ่านหน้าเราไป เราก็คิดว่าคนนี้น่ะหิวข้าวบ้างไหม คิดในใจ ปวดอุจจาระปัสสาวะบ้างไหม เขาเคยป่วยไข้ไม่สบายบ้างไหม นี่หาความจริงเหล่านี้ เราก็จะพบว่าคนทุกคนในโลกหาใครสุขไม่ได้เลย มันจะสุขยังไง ก็หิวข้าวเหมือนกัน เราหิวข้าวมีอาการแบบไหน เขาหิวข้าวก็มีอาการแบบนั้น เราปวดอุจจาระปัสสาวะแบบไหน มีความรู้สึกยังไง เขาก็เหมือนกัน เวลาเราป่วยไข้ไม่สบาย เรามีความรู้สึกแบบไหน เขาก็มีความรู้สึกแบบเรา ขณะใดที่ร่างกายมันทรุดโทรมลงไป ความทุกข์มันก็เกิดกับใจเพราะอะไร เพราะใช้กายมันไม่สะดวก เวลาที่เป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มตัวใช้ร่างกายได้สะดวก ทีนี้พอมันชักจะแก่เหลาแหย่อย่างผมนี่ มันใช้อะไรไม่สะดวก ตาน่ะใส่แว่นยังอ่านหนังสือไม่ค่อยจะออกเลย สมัยก่อนหนังสือตัวเล็กขนาดไหน ไม่ต้องใส่แว่นก็อ่านออก มันใช้ไม่ได้สะดวก ทีนี้ความรำคาญมันก็เกิด ไอ้ความรำคาญของการอ่านหนังสือไม่สะดวก หรือไม่ชัดเจนมันก็เป็นทุกข์ อันได้แก่การไม่สบายกายไม่สบายใจ
            เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าให้มองหาความจริงของชาวโลก ความจริงกายก็ดี หรือวัตถุก็ดี มันไม่ทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์จริง ๆน่ะ มันอยู่ที่ใจ ความจริงร่างกายนี่มันไม่ทุกข์ วัตถุมันก็ไม่ทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์ ๆ มันอยู่ที่ใจ คือ เรา
            ที่บอกว่า ความทุกข์มันอยู่ที่ใจคือ เรา คำว่า เรา ก็คือ จิต หรือ อทิสมานกาย ที่ควบคุมร่างกาย ไอ้ร่างกายแท้ ๆน่ะ ถ้าเราถอยออกมาเสียแล้ว มันไม่มีความรู้สึก ตัวอย่างคนตายที่เราเห็นในเมื่ออทิสสมานกายมันเคลื่อนออกไป ทีนี้ร่างกายนั้นใครเขาทำอะไรมันก็ไม่ว่า นี่ความจริงมันไม่ทุกข์ ที่มันทรุดโทรมลงไปก็เป็นกฎธรรมดาของมัน ร่างกายมีอุปมาเหมือนท่อนไม้ มันไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ ความจริงมันไม่ได้มีความรู้สึกอะไร ไอ้ที่มีความรู้สึกทุกข์ต่าง ๆ มันมาจากจิตตัวเดียว
            จิต คือ ความนึกคิดที่มีกำลังเหนือระบบของร่างกายทั้งหมด ที่สามารถสั่งให้ร่างกายทำอะไรต่ออะไรก็ได้
            นี่เราต้องเดินไป เราต้องพูดไป ต้องนอน ต้องยืน ต้องกิน อะไรพวกนี้ มันเรื่องของจิตสั่งตัวเดียว ลำพังของร่างกายมันไม่ได้สั่ง เพราะอะไร เพราะมันไม่ต้องการ จะให้มันทรงอยู่แบบไหนก็ตามใจ จะให้กินหรือไม่กินมันก็ไม่ได้ว่าอะไร ร่างกายมันไม่ได้ทวงแต่ว่าจิตมันทวง เพราะจิตเข้าไปรับทราบถึงความเสื่อมของร่างกาย การขาดอาหารของร่างกาย จิตมันเข้าไปทราบ             ทีนี้ถ้าเราจะพูดว่าคนเรายังไม่ตาย ถ้าจิตออกจากร่างแล้วร่างกายมันไม่ทุกข์ ตรงนี้เราจะต้องไปพิสูจน์กันอีตอนที่ได้มโนมยิทธิ หรือว่าเข้าฌาน 4 แต่ขณะใดถ้าจิตเราทรงอยู่ในฌาน 4 ขณะนั้นจิตมันแยกออกจากกายเด็ดขาด ความจริงมันอยู่ในกาย แต่ว่ามันไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาท นี่ท่านทรงฌาน 4 อยู่น่ะ ยุงกินริ้นกัดจึงไม่มีความรู้สึก แล้วก็ใครเอาเสียงดัง ๆ อย่างเสียงปืนใหญ่ เสียงพลุ เสียงระเบิด มาทำเสียงให้ปรากฏใกล้ ๆ หูก็ไม่ได้ยิน แต่ความจริงประสาทไม่ได้ดับ มันทรงตัวตลอด แต่ว่าจิตไม่ยอมรับทราบ นี่เราจะพิสูจน์ได้ตอนฌาน 4 อย่างหนึ่ง
            ทีนี้ประการหนึ่ง ถ้าเราได้มโนมยิทธิ สามารถถอดกายภายในออก ถอดออกแล้วเราจะไปไหนหรือไม่ไปก็ช่าง จะมายืนดูกายของเราที่เราอาศัยอยู่ ที่มันนั่งอยู่ แล้วก็ดูสิ เวลายุงริ้นกัดร่างกายมันจะเกามันจะไล่ยุงไหม จะไม่มีทางเลย มันจะเฉยทำเหมือนว่าเหมือนหัวหลักหัวตอ นี่แสดงว่าร่างกายนี่มันไม่รับรู้เรื่องจริง ๆ มันไม่ได้ทุกข์ด้วย และอาการที่ทุกข์ก็คือจิต จิตเข้าไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา นี่มาลงสักกายทิฏฐินะ ถ้ายุงมันกินก็เกรงว่าไอ้ไข้ต่าง ๆ ที่มันมาจากยุง ยุงนำมาจะเกิดแก่ร่างกาย หรือ ไม่งั้นร่างกายมันเจ็บ เราเสียเลือด เราต้องไล่ยุง นี่เมื่อจิตมันเกาะอยู่มันรับทราบ ถ้าจิตมันไม่เกาะอยู่มันไม่เอา ร่างกายมันไม่ทำ นี่เป็นอันว่าไอ้ตัวทุกข์จริง ๆ มันอยู่ที่จิต ที่เราเรียกกันว่า อุปาทาน ตัวเข้าไปยึดถือ
            ทีนี้เรื่องทุกข์นี่ บอกแล้วว่าพูดเท่าไหร่ก็ไม่จบ ท่านจะต้องหากันให้พบ ดูคนทุกคนในโลกนี้ให้เห็นว่าทุกคนมีแต่ความทุกข์ และก็ดูสัตว์ทุกประเภทในโลก เห็นว่าสัตว์ทุกตนมีแต่ความทุกข์ ไม่ใช่ไปแช่งเขานะ ไม่ใช่ไปแช่งให้เขามีความทุกข์ หาความจริงว่าเขามีทุกข์ ไอ้ความจริงที่เขามีทุกข์จะมียังไงบ้าง ก็มีตามทีผมพูดมาแล้วนั่นแหละ ผมขี้เกียจย้อนย้อนไปย้อนมาเดี๋ยวรำคาญ เป็นอันว่าหาให้ได้
            ถ้าเรายังมองมุมใดมุมหนึ่งว่าเป็นแดนของความสุข อันนี้เขาถือว่าใช้ไม่ได้ จะชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติที่ดีน่ะใช้ไม่ได้ เขาเรียกว่านักปฏิบัติเหมือนกัน แต่เป็นปฏิบัติที่เลวแสนเลวเพราะอะไร เห็นว่าโลกเป็นสุข มันก็ค้านความเป็นจริง เพราะชื่อว่าจิตเรายังประกอบไปด้วยตัณหา มีกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน ตัวยึดมั่น แล้วมันจะดียังไง มันก็เลว
            กิเลส แปลว่า ความเศร้าหมอง ไอ้วัตถุใด ๆ ก็ตาม ถ้ามันเศร้าหมองไม่แจ่มใส เราก็ถือว่าวัตถุนั้นเลว มันหาตัวดีไม่ได้ ทีนี้หากว่ามันเศร้าหมองแล้วเรายังไปดึงมันเข้าไว้ ก็ดึงเอาความสกปรกเข้ามา แล้วมันจะสะอาดได้ยังไง ก็เลว น่ะซิ อุปาทานตัวเดียวไอ้ตัวทะยานอยาก ตัณหาอยาก อุปาทานดึง ดึงเข้ามาแล้ว อกุศกรรม คือ ทำด้วยความโง่ รักษาของเลวไว้เป็นสมบัติของตน เลยเอาดีไม่ได้
            นี่ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติที่ระบบชั้นเลวสุด ถ้าเราจะไล่ตัวเลวอันดับหนึ่งน่ะมันก็ถึงก่อนตัวที่จะถึงก่อนนี่เขาต้องถือว่า ถ้าจิตของเราเข้าไปเห็นมุมใดมุมหนึ่งของโลก หรือว่าคนใดคนหนึ่งในโลก ไม่ว่าจะทรงร่างกายทรงฐานะระดับไหนก็ตาม เห็นว่าเขามีสุข นั่นเราจะรู้เลยว่าเราโง่เต็มที จัดว่าเป็นคนบรมโง่แล้ว บรมโง่ ปรมะ แปลว่า อย่างยิ่ง บรมโง่ แปลว่าโง่อย่างยิ่ง คือ ยอดของความโง่ หาใครเกินกว่าเราไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะ ความจริงของโลกไม่มีมุมไหนเป็นมุมของความสุข คุณลองบอกผมทีเถอะ คุณเห็นว่าไอ้โลกมุมไหนมันสุขบ้าง
            ถูกล็อตเตอรี่มีความสุขหรือทุกข์ ไม่มีสุข หาสุขไม่ได้ มันจะสุขตรงไหน พอรู้ข่าวถูกล๊อตเตอรี่ดีใจว่าถูกล็อตเตอรี่ ความทุกข์มันตามมาเลย เกรงว่าสลากล็อตเตอรี่จะหาย ใช่ไหม ความจริงตอนซื้อมา 10 บาท อาจจะวางตรงไหนก็ได้ แต่รู้ข่าวว่าถูกรางวัลที่ 1 อีคราวนี้ดีไม่ดีไม่อาบน้ำไม่อาบท่าแล้ว อีใบนี้เก็บกันเต็มที่เลย นี่ทุกข์ตามมาเลย ทีนี้พอไปรับสตางค์ เขาเกิดหักภาษีรายได้ขึ้นมา อารมณ์ของความทุกข์มันก็เกิด เสียดายสตางค์ ใช่ไหม พอได้สตางค์ มาแล้วกลัวสตางค์หาย เสร็จ ดีไม่ดีถูกใครเขาต้มเขาตุ๋น ไปก็เจ๊งไปเลย นี่เป็นอันว่า มุมของโลกหาความสุขไม่ได้
            ในฐานะของคนเหมือนกัน ถ้าจะคิดว่าพระมหากษัตริย์มีความสุข ก็ดูเรื่องของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินก็ลองนึกดูว่า ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านมีทุกอย่าง ต้องการอะไรก็ได้ ต้องการจะขี่เครื่องบินเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องการจะขี่รถยนต์เมื่อไรก็ได้ ต้องการจะเสวยพระกระยาหารแบบไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ลองไปถามท่านซิ เคยปวดอุจจาระปัสสาวะไหม ใช่ไหม เคยปวดหัวมัวตาไหม เฉพาะอย่างยิ่ง พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ ก็ลองถามท่านเคยปวดฟันบ้างหรือเปล่า หือ….ไอ้โรคปวดฟันน่ะ มันทุกข์มาก ถ้าปวดด้านไหนประสาทด้านนั้นทั้งแถบมันไม่ดีเลย นี่เป็นตัวทุกข์ เป็นอันว่ากษัตริย์ก็ทุกข์ มหาเศรษฐีก็ทุกข์ นี่ถ้าเราจะเรียนอริยสัจ ต้องหาทุกข์ให้จบก่อน มันไม่มีอะไร อันนี้มี 2 อย่างเท่านั้น ไม่เห็นมีอะไร ง่ายนิดเดียว
            ที่เรียนมาในขณะที่ปฏิบัติ ท่านบอกว่าต้องมองโลกทั้งหมด ให้เห็นว่าเป็นทุกข์ ให้เห็นด้วยปัญญานะ ไม่ใช่เห็นด้วยสัญญา ไม่ใช่จำวาทะของท่านมาพูด เราต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องคิด เห็นคนที่มีร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์เดินแบบองอาจ เราแน่ใจว่าคนนี้จะมีความสุขหรือความทุกข์ ก็หากฎของความเป็นจริงคือ นิพัทธทุกข์ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย การปวดอุจจาระปัสสาวะ อาการป่วยไข้ไม่สบาย นึกเลยว่าคนนี้เขามีแบบเดียวกับเรา มันทุกข์แล้วดีไม่ดีเข้าไปถามเขา เขาจะบอกอาการทุกข์ประจำเขาปรากฏ คือ โรคที่มีอยู่ในกาย หรือว่าความไม่สบายกาย ไม่สบายใจอย่างหนึ่งที่ประจำอยู่
            เป็นอันว่าคนทั้งโลกไม่มีสุขจริง ๆ มีทุกข์ นี่จิตเราต้องเห็นทุกข์จริง ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะย่องไปถึงสมุทัยนะ ยังไม่ต้องย่องไปถ้าเรายังไม่เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกยังมีทุกข์ ต้องตำหนิใจทันทีว่าใจเรานี่ยังเลวมาก ยังโกหกตัวเอง ยังมีกิเลสเป็นเครื่องบังใจ ไอ้กิเลสน่ะความเศร้าหมองของจิต เหมือนแว่นตา แว่นตาถ้ามันใสมองอะไรก็สะดวกเห็นถนัด ถ้ามันขุ่นมันมีความเศร้าหมองละก้อ มองอะไรเห็นไม่ถนัด กิเลสเหมือนกับแว่นตาที่ถูกฝุ่นละอองมาปะ ถ้าฝุ่นละอองมันมากเราก็ไม่เห็นความเป็นจริง นี่หาทุกข์ให้พบ
            ทีนี้เมื่อหาทุกข์พบแล้ว ความจริงอริยสัจนี่เราเรียนกัน 2 อย่าง ก็หาสมุทัยว่า ไอ้ตัวทุกข์จริง ๆ มันเกิดมาจากไหน สมุทัยในที่นี้แปลว่า เหตุให้เกิดทุกข์นะ ไม่ใช่สมุดที่เป็นเล่ม เขาทำด้วยกระดาษ ไอ้ตัวกระดาษที่มันทำให้เราเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยว่ามันมี 3 อย่าง ความจริงน่ะมันอย่างเดียว แต่แบ่งออกเป็น 3 จุด ไอ้ตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์จริง ๆ ที่มันหาทุกข์มาให้เราก็ได้แก่ ตัณหา คำว่า ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก แน่ะ….. ไอ้อยากเฉย ๆ ท่านไม่ว่าบอกทะยานอยากซะด้วย แหม…ทำไง ทะยาน ทำไง จะว่าความต้องการมันเกิดขึ้น ความดิ้นรนมันปรากฏก็เรียกว่า ทะยานอยาก
            ทีนี้ตัณหาท่านแจงออกเป็น 3 ระดับ ด้วยกัน 3 จุด คือ
            1. กามตัณหา ของสิ่งใดที่เขายังไม่มีอยากให้มีขึ้นเกิดความอยากนี่ เรายังไม่มีรถยนต์ต้องการมีรถยนต์ ตัวอยากมาแล้ว ถ้าไอ้ตัวอยากมีปรากฏ ถ้ามันยังมีขึ้นมาไม่ได้เพียงใด ความสบายกายความสบายใจมันก็มี เพราะเราอยากจะให้มันมี นี่ต้องหาต้องดิ้นรน ต้องทำทุกอย่างเพื่อมีวัตถุสิ่งนั้น
            2. ภวตัณหา เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว อยากต้องการให้มันคงที่ ไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลง จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม
            3. วิภวตัณหา ถ้าสิ่งนั้นมันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปกติก็หาทางฝืน เพราะไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น มันก็แบบเดียวกับกลิ้งครกขึ้นยอดเขา หรือดันน้ำให้มันไหลขึ้นด้านเหนือ ขึ้นด้านสูง มันทำไม่ได้ ทำแล้วก็ได้ความลำบาก ทำไม่สำเร็จผล
            ทีนี้ตัณหา 3 ประการนี้เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์แบบไหน ก็เห็นจะมองง่าย ๆ อย่างพวกเรานี้เพราะอาศัยตัณหา อยากเกิด มันจึงเกิด ถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียวจะเอาใครมาหิว ไอ้คนที่ไม่เกิดมันหิวหรือไม่หิว เปรตหิวนี่คนไปเกิด เปรตไม่หิวเหรอ ไอ้เกิดเป็นเปรตก็ถือว่าเกิดแล้ว ถ้ามันไม่เกิดเป็นเปรตมันก็ไม่หิว ในเกิดเหมือนกัน ไม่ใช่หมายความว่าเกิดเป็นคน ไม่ต้องถือว่าเป็นคนเสมอไปมันเกิดนี่ถ้าไม่มีตัวเกิด จริง ๆ มันก็ไม่หิวละ ถามว่าเทวดาหิวไหม หิวไหม หิว เทวดา หิวอะไร ยังมีความอยากอยู่ อยากจะหิว คือ ยังมีความต้องการอยู่ ความจริงถึงแม้อาหารเขาไม่ต้องการก็จริง แต่เทวดาเขายังมีกิเลส นี่เราจัดเข้าเทวดาประเภทที่มีกิเลส ไม่ใช่พระอริยเจ้านะ เทวดามี 2 พวก พรหมก็มี 2 พวกเหมือนกัน ยังมีตัณหาอยู่ เขายังมีความต้องการ กายไม่หิวแต่ว่าใจหิว ยังอยากได้อย่างโน้นยังอยากได้อย่างนี้ เป็นเทวดาชั้นนี้มีรัศมีกายผ่องใสสู้องค์นั้นไม่ได้ ทำยังไงเราถึงจะมีรัศมีกายเท่าเขาหรือว่าดีกว่าเขา เทวดานี่มีความต้องการที่รัศมีกายเป็นสำคัญ ถ้ามีบุญญาธิการมาก คือ รัศมีกายสว่าง สว่างมาก มีบุญญาธิการน้อยก็มีรัศมีกายสว่างน้อย นี่เขาอายกันแค่รัศมีกาย คือ มันเป็นแสงสว่างออกมา นี่เทวดาเขามีความต้องการไอ้ตัณหา ความต้องการมันเกิดขึ้นมันอยากได้อย่างโน้น อยากได้อย่างนี้ ถ้ามันไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ต้องการให้มันได้ พอได้ขึ้นมาแล้วก็เกิดทุกข์ด้วยการต้องระวังรักษา ใช่ไหม
            ทีนี้พอได้แล้ว กามตัณหา นี่อยากได้ พอได้มาปุ๊บดีใจว่าได้มา ตัวตัณหาอีกตัวก็โผล่ มันรู้วัตถุที่เราได้มานี่มันต้องเก่า มันต้องพัง คนที่เราได้มานี่มันต้องแก่ ต้องทรุดโทรม และก็ตาย สิ่งมีชีวิตคือ สัตว์ทั้งหลายที่เราได้มา มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องแก่ต้องตาย ทีนี้ไอ้ตัว ภวตัณหา มันก็ปรากฏ วัตถุก็ดี บุคคลก็ดี ที่เราได้ตามความต้องการ เราต้องการทรวดทรงแบบนี้ ต้องการสีแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ ไอ้ความต้องการไม่ให้เปลี่ยนแปลงมันก็เกิดขึ้น ว่าต้องการให้มันทรงตัวได้แก่ ภวตัณหา อารมณ์ฝืนมันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นแล้ว ในเมื่อสิ่งนั้นมันไม่ตามใจ มันเคลื่อนไปตามสภาพเก่าไปตามสภาพ ทรุดโทรมไปตามสภาพ ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันก็เกิด เพราะเราไม่ต้องการให้มันเป็นแบบนั้น แต่มันยังเป็น มันฝืน ในเมื่อมันเริ่มเคลื่อนไปแล้ว วิภวตัณหา ก็โผล่ หาทางแก้ซิ หาฤาษีมาชุบเลยคราวนี้ มันก็แก้ไม่ได้
            ทีนี้ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันเก่าลง ๆ ในที่สุดมันก็ทรุดโทรม เพราะว่าสภาพทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง และก็มี อนัตตา เป็นตัวสุดท้าย นี่เป็นกฎของธรรมดา ในเมื่อบังคับไม่ได้แล้วสิ่งนั้นจะพังไป คนจะตายไป สัตว์จะตายไป เกิดทุกข์ใหญ่ นี่เราจะเห็นทุกข์ใหญ่ได้ก็มีอาการเสียใจปรากฎ เมื่อมีอาการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ หรือคนที่รักคนที่ชอบใจ สัตว์ที่เราชอบใจ นี่เป็นอันว่าความทุกข์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยตัณหา
            ทีนี้เราจะตัดทุกข์ เราตัดตรงไหน ก็ตัดตรงตัณหาตัวเดียว ไม่เห็นยาก กิเลสทั้งหมดนี่เราตัดตัณหาตัวเดียวหมด ตัณหาที่เราตัดนี่คือไอ้ตัวละ ต้องอดใจไม่ชื่อว่าตัด อย่างคนเขามารักษาศีลอุโบสถวันหนึ่ง อย่างนี้ชื่อว่าตัดกามตัณหาหมดไปชิ้นหนึ่ง ไม่รู้ว่าชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ก็ช่างมัน ตัดทุกวันมันก็หมดไปทุกวัน อย่างที่พวกเรามาบวชอยู่นี่ ถือเนกขัมมบารมี เราจะคิดว่าเราละกิเลสไม่ได้เลยมันก็ไม่ได้ ถ้าเราตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสจริง ๆ เราก็รักษาศีลอยู่ไม่ได้ เอาละ ถึงจะบวช 2 เดือน 3 เดือน 9 วัน 10 วัน ก็ตาม ถ้าบวชด้วยความรู้สึกจริงมีความเลื่อมใสจริง อดใจไว้ได้จริง เป็นอันว่าตอนนี้นะเราระงับกิเลสไว้ได้ แสดงว่ากิเลสมันเริ่มแพ้เราบ้างแล้ว มันแพ้เสียบ้างเราก็มีโอกาสจะชนะมัน หาจุดอ่อนของมัน
            ทีนี้การที่เราจะตัดตัณหาเขาทำกันยังไง พระพุทธเจ้าบอกว่า ต้องเจริญมรรคทุกขปฏิปทา คือ ต้องปฏิบัติในมรรค มี สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มรรคคือ มี 8 อย่าง ถ้าไล่ทั้ง 8 มันก็เจ๊ง มรรคนี่เขาย่อลงมาจาก 8 เหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็หันเข้าไปหา ศีล สมาธิ ปัญญา 3 ตัวนี่เป็นการทำลายกิเลส
            นี่ศีลเรามีแล้วกิเลสมันก็ยั้งตัวอยู่หน่อย เพราะอะไร ศีลมีอุปมาเหมือนกับกรงเหล็กเข้าไปครอบกิเลสเข้าไว้ แต่ว่ากิเลสเหมือนเสือ เสือร้ายหรือว่าสิงห์ร้าย ถ้ามันติดกรงอยู่มันดิ้นคึ่กคั่ก ๆ แต่มันกัดใครไม่ได้อย่างหมา หมาดิ้นอยู่ถึงแม้เราจะฆ่ามันไม่ตาย แต่เราขังไว้ได้ก็ชื่อว่าเราชนะจุดหนึ่งแล้ว จะขังไว้ได้นานหรือไม่นานนี้ไม่สำคัญ เรื่องเล็ก ชื่อว่าเราขังได้ก็แล้วกัน ถ้าเราเคยขังมันได้สักครั้งหนึ่ง ก็เชื่อว่า โอกาสหน้าเราสามารถจะจับมันขังได้อีก เราขังได้ ใช้เวลาน้อยก็ตามมากก็ตาม ถ้าขังบ่อย ๆ กิเลสมันก็เพลียเหมือนกัน ขังแล้วไม่ให้กินข้าวกินปลา มันก็ดิ้นไปดิ้นมามันชักหมดแรงเหมือนกัน
            นี่เหมือนกับพวกเราที่มาบวช นี่พวกคุณไม่ได้ฆ่ากิเลสตาย คุณรู้ คุณขังกิเลส แต่ก็ยังดีขังได้สัก 3 เดือนก็ดีถมเถไปแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าการขังกิเลสไว้คราวหนึ่งก็ชื่อว่า เราพักไม่ให้กิเลสมันกัดกายเรา มันกัดใจเรา ใจของเราก็มีความสมบูรณ์ บริบูรณ์ แข็งแรงขึ้นมาบ้าง พอมีกำลังที่จะวิ่งหนีอบายภูมิได้ ถึงแม้ว่าจะไม่พ้นอำนาจของกิเลสหรือพ้นอำนาจของอบายภูมิ นี่มันก็ชื่อว่าเป็นของดี ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ
            สำหรับต่อจากนี้ไปถ้าหากว่าเราจะมาพูดกันว่า สำหรับมรรค 8 มี สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น นี่ท่านขึ้นต้นด้วยปัญญาก่อน ความจริงพระพุทธเจ้าสอนน่ะ สอนให้ใช้ปัญญาก่อนนะ ไม่ใช่ขึ้นศีลก่อน คือคนต้องมีปัญญาแล้วจึงจะมีศีล แต่ว่าในมรรค 8 ย่นมาเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ว่าคนที่มีศีลได้นี่ ถ้าไม่มีปัญญาเขาก็จะไม่รักษาศีล คนไม่มีปัญญานี่ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของศีล แต่ว่าปัญญามันยังเล็กเด็กอยู่เท่านั้นเอง ฉะนั้นการศึกษาอะไรก็ตามที่เราจะพอใจในการศึกษา ว่าเราจะบวชเข้ามาด้วยศรัทธา นี่แสดงว่าเราเป็นคนมีปัญญาแล้ว แต่ว่าปัญญาตัวนี้ยังไม่มีกำลังกล้าพอที่จะทำลายกิเลสได้หมด แต่ว่าเป็นปัญญาที่สามารถจะหาทางยับยั้งกิเลสไว้ได้ นี่เป็นปัญญาเล็ก ๆ แต่ว่าปัญญาเล็ก ๆ นี่คุณ อย่าถือว่าไม่มีประโยนช์นะ ความจริงมันเป็นประโยชน์ ไม่ว่าวัตถุสิ่งใดก็ตาม บ้านเรือนโรงต่าง ๆ ที่เขาสร้างมาเป็นหลังใหญ่ ๆ ได้เพราะอาศัยวัตถุเล็ก ๆ เป็นปัจจัย ถ้าไม่มีวัตถุเล็กเป็นเครื่องสนับสนุนเป็นอุปกรณ์ บ้านหลังใหญ่มันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ตัวของเราเองก็เหมือนกัน ที่จะเกิดขึ้นมาได้เป็นตัวใหญ่ขนาดนี้ มันก็มาจากตัวเล็ก ๆ ก่อน ทีแรกเดิมทีเดียวมันก็ไม่เป็นตัว ทีนี้เวลานานวันเข้าการสะสมของร่างกายมันเกิดขึ้น มันก็เป็นตัวเต็มตัว แล้วในที่สุดมันก็เติบโตขนาดนี้ นี่เป็นอันว่าของเล็กมีความสำคัญ ไม่ใช่ของใหญ่มีความสำคัญ
            ทีนี้ก็มาว่ากันถึง มรรค มรรคมีองค์ 8 เราย่นมามันเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เขาบอกว่าในเมื่อมรรคท่านขึ้นด้วยปัญญาก่อนคือ สัมมาทิฏฐิ ตัวนี้เป็นปัญญา สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ แต่คนที่ไม่มีปัญญาจะมีความเห็นชอบไม่ได้ เวลาในกฎถือศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง 3 ประการ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ขึ้นปัญญาก่อน เราก็ต้องตอบเขาว่า คนที่จะมีศีลได้ต้องเป็นคนมีปัญญา แต่ว่าปัญญาตัวนี้ยังกำลังไม่กล้าพอ ยังไม่สามารถจะทำลายตัณหาให้หมดไปได้ เป็นปัญญาตัวยับยั้งกำลังของตัณหา ยับยั้งเล็ก ๆ ไม่ใช่ยับยั้งใหญ่เหมือนกับคอกขังเสือ
            ความจริงตัวมรรคนี่นะ เวลาเราปฏิบัติจริง ๆ นะ และเวลาปฏิบัติจริง ๆ เขาไม่มีกันหรอกนะ หรือไง? ปฏิบัติจริง ๆนี่ เขาพิจารณากันแค่ทุกข์กับสมุทัยเท่านั้น ตัวมรรคกับนิโรธ 2 ตัวนี่ไม่มีหรอก ถ้าเทศน์ละก้อมี นิโรธ แปลว่า ความดับ คือ ดับกิเลสตัณหาทั้งหมด มันเป็นผล ไอ้ตัวมรรคจริง ๆ น่ะ มันมีตั้งแต่เริ่มต้น คือ เราเจริญสมถภาวนาใช่ไหม แล้วเวลาเราเจริญสมถภาวนานี่ เราต้องมีศีลก่อน เพราะอะไร เพราะ ถ้าไม่มีศีล สมาธิมันไม่เกิด มันมีอยู่แล้ว เมื่อศีลมีแล้วเวลาที่เราเจริญสมถภาวนา ก็ต้องมีสมาธิ ถ้าสมาธิไม่มี จริง ๆ มันก็เป็นสมถะไม่ได้ คือ ควบคุมอารมณ์ใจไม่ได้ นี่ตัวสมาธิก็ดี จะมีขึ้นได้เพราะตัวปัญญาเป็นปัจจัย ถ้าปัญญาของเราไม่ดีเราเป็นคนไม่มีปัญญา มันก็ไม่เห็นคุณเห็นประโยชน์ว่าการมีศีลดี มีสมาธิก็ดี คัวศีลก็ดี จะมีขึ้นได้เพราะตัวปัญญาเป็นปัจจัย ถ้าปัญญาของเราไม่ดีเราเป็นคนไม่มีปัญญา มันก็ไม่เห็นคุณประโยชน์ว่าการมีศีลดี มีสมาธิดี นี่เป็นอันว่าเราใช้ปัญญากันมาตั้งแต่ต้น แต่ว่าปัญญาที่องค์สมเด็จพระทศพลเรียงไว้ในด้านศีล สมาธิ ปัญญาเป็นปัญญาตัวสุดท้าย ว่าเป็นปัญญาที่มีกำลังใหญ่ ไม่ใช่ว่าเราในตอนต้นนี่เราไม่มีปัญญา ไม่ใช่อย่างนั้น
            ทีนี้ การตัดตัณหา ท่านบอกว่า ให้เป็นคนมีศีล ไอ้ศีลนี่มันทำร่างกาย วาจาให้สงบ แต่ความจริงมันต้องสงบมาถึงใจ เรียกว่าค่อย ๆ บุกมันลงไป ค่อย ๆ เลาะ ไม่ใช่ตีทีเดียวตายเลยนะ ครั้งแรกมันอยากวิ่งเร็วนัก ตีขาซ้าย ขาซ้ายหัก ไอ้มีขาขวายังตะเกียกตะกายได้ ตีขาขวาให้หักอีก มีมืออีก 2 มือ มันยังตะกายต่อไปได้ เอามือสาวไป ตีมือซ้ายหักมีมือขวายังไปได้ ตีมือขวา ทีนี้ทำไงล่ะ มันก็นอนแหงแก๋ ไปไม่ได้ แต่ปากมันยังด่าได้ หือ…ทำไง ตีปากมันซะอีก ฟันเฟินหักปากพัง เอ๊ะ…นัยน์ตามันยังด่าอีก ตาด่าได้มีไหม นี่เขามองกันไปมองกันมาเดี๋ยวชกกันนี่ มันใช้ตาด่า เห็นไหม ก็ต้องตีตามันอีก
            ก็แบบเดียวกับเราเจริญกฎ 2 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ขั้นแรกเรามีศีลก่อน เมื่อเรามีศีลแล้วเรียกว่าฝึกอดใจ แบบเล็ก ๆ ใช้กำลังน้อย ๆ ควบคุมกำลังใจ พอระยะกฎ 5 ประการ ที่เรียกว่า ศีล 5 ถ้าพระก็มีศีล 227 เณรศีล 10 พระนี่ไปล่อเอาศีล 5 ก็ไม่ได้นะ ตกนรกบอกไม่ถูกเลยนะ ไม่เป็นไรศีล 5 ฉันมีฉันไม่ต้องห่วง อเวจีเป็นที่ไปละไม่ต้อง สบาย ลุงพุฒิลงบัญชีเขียนบัญชีมันเมื่อยมือใช่ไหม พระไปรักษาศีล 5 ไม่ได้ ถ้าองค์ไหนยิ่งไม่มีศีล 5 ด้วยละก้อ ไม่ต้องห่วงแล้ว โลกันต์นั่นแหละเป็นที่ไปเลย เดี๋ยวนี้มีไหมพระไม่มีศีล 5 เดินหลีกไม่พ้นเลยกระมั้ง ทำไมล่ะ ก็พระไม่รักษาสัจจวาจามันก็ขาดศีล 5 ใช่ไหม แล้วพระไปบี้ยุงบี้มดมันก็ขาดศีล 5 ขาดรึเปล่า ไม่ตั้งใจบี้
            เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย การตั้งใจชื่อว่าเป็นตัวกรรม
            ถ้าเราไม่ตั้งใจเราจะไปบีบบี้มันทำไม ใช่ไหม เว้นไว้แต่ว่าอะไรมันมาจับข้างกาย จะลูบดูคลำดูมันไปบังเอิญมันแรงไปนิดมันตายไป ไม่มีเจตนาฆ่า ตอนนี้ไม่ถือว่าขาดศีล 5 นะ นี่เป็นอันว่าถ้าเรารักษาศีลได้ตามปกติ เราก็เป็นการตัดกำลังของกิเลส ตัดมากไม่ได้ไม่เป็นไร เราตัดน้อยเข้าไว้ก่อนเหมือนกะตีแข้งตีขาไว้ก่อน ใช่ไหม ให้มันคลานยากเข้า มันขาดมันวิ่งไม่ได้ มันจะเดินโขยก ก็ยังช้ากว่าวิ่ง ดีไม่ดี เราตัดเสีย 2 ขา ให้เดินโขยกไม่ได้ มันคืบไปก็ยังช้ากว่า วิ่งช้ากว่าเดิน
            นี่อันดับแรก พระพุทธเจ้าให้เป็นผู้ทรงศีลให้บริสุทธิ์เสียก่อน คือ ขึ้นชื่อว่าศีล เราจะต้องรักษาด้วยชีวิต แต่ว่าในตอนต้น ๆ จริง ๆ ท่านก็ไม่ได้บังคับขนาดนั้น บังคับแต่เพียงว่า หรือ แนะนำไว้แต่เพียงว่า ถ้าหากเรารักษา 5 ตัว ถ้าเป็นฆราวาส ถ้าเป็นพระน่ะไม่ได้นะ พระเณรนี่ 10 ตัว ก็ 10, 227 ก็ 227 ใช่ไหม เอามันแค่ 1 ก่อน ถ้า 1 นี่เราบังคับได้แน่นอนแล้ว ก็ขยับไปเป็น 2 ให้อารมณ์มันชินมาเป็น 2 แล้วก็ไปเป็น 3 เป็น 4 เป็น 5 ค่อย ๆ ไป ถ้าเราชนะศีล 1 ตัวได้ เราไม่ละเมิดศีล 1 ตัว ไอ้นี่แสดงว่าเราชนะกิเลสไป 1 จุด ไม่ใช่ว่าเราแพ้กิเลส ค่อย ๆดีเข้าไป สวัสดี


อริยสัจ 4 (ตอนที่ 2)

 เมื่อวานนี้พูดกันไปบ้างแล้ว เมื่อคืนนี้กลับไปที่กุฏิ ตอนหัวค่ำพระท่านมาบอกว่า การสอน ศีล สมาธิ ปัญญา บอกว่า ให้รู้จักเอาศีลขังตัณหา สมาธิกอดคอตัณหา ปัญญาห้ำหั่นตัณหา คือ ฟันเป็นท่อนเป็นตอน ท่านว่าอย่างนั้น นี่ผมก็ต้องเรียนมาเหมือนกันนะ คือ ถ้าเอาตามแบบผมละคุณเรียนไป 100 ปี ไม่ได้อะไรนะ เมื่อคืนนี้ท่านมาว่าอย่างนั้น
            พอตอนเช้ามืดท่านบอกอีกจุดหนึ่ง คนที่เห็นอริยสัจนี่ ถ้าเราพูดตามแบบก็เห็นยาก ให้หาจุดปลายทางจริง ๆ ก็คือ มรณานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ นี่ก็ไป ๆ มา ๆ เราก็ทิ้งสมถะไม่ได้ อริยสัจนี่เป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าหากว่าเราทิ้งสมถะเสียแล้ววิปัสสนาญาณไม่มีผล ผมเคยบอกมาแล้ว สมถะมีความสำคัญมาก เป็นตัวกล่อมจิตให้ทรงตัวอยู่ ให้จิตมีกำลังและก็เป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ
            ฉะนั้น ถ้าบุคคลใดเก่งในสมถะ และมีความคล่องแคล่วในสมถะ สามารถจะเข้าฌานแต่ละระดับได้ตามปกติคำว่าปกติ ก็หมายความว่า คิดจะเข้าฌานเมื่อไรจิตเข้าเป็นฌานทันที ไม่ยอมเสียแม้แต่เวลาครึ่งของวินาที ครึ่งวินาทีนี่อย่านึกว่ามันเร็ว มันช้าไปนะ แม้แต่นิดหนึ่งของวินาที พอคิดว่าเราจะเข้าฌานจิตก็จะเข้าฌานเต็มที่ จะเข้าฌานไหนก็ได้ การทรงฌานจะเป็นการทรงแบบไหนก็ได้ เรียกว่าในกรรมฐาน 40 กอง กองใดกองหนึ่งก็ได้ตามอัธยาศัย นี่ถ้ากำลังจิตเราแบบนี้นะ ถ้าเป็นฌานในส่วนของรูปฌาน แต่นี่ผมมวยหมู่ล่อกรรมฐาน 40 ได้แบบนี้เข้าให้ กรรรมฐาน 40 นี่หมายถึงอรูปฌานด้วย ถ้าหากว่าเราสามารถทรงฌานในกรรมฐาน 40 ก็ได้อรูปฌานด้วย คล่องตามอัธยาศัย ตั้งใจเข้าเมื่อไรได้เมื่อนั้น นี่หากว่าเราใช้อรูปฌาน เป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ
            วิปัสสนาญาณนี่มีตัวเดียว ได้แก่ การพิจารณาขันธ์ 5 นี่เราเรียนกันมาแล้ว เรื่องขันธ์ 5 ก็เรียนกันมา อายตนะนี่ก็คือขันธ์ 5 ใช่ไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกสูกกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส ไอ้ใจนึกพลุ่งพล่านไปตามอารมณ์นี่มันก็ไปเจอะไปชนขันธ์ 5 ทีนี้มาถึงโพชฌงค์ 7 โพชฌงค์ 7 มีสติเป็นต้น ก็ไปชนขันธ์ 5 ไปนึกอะไรก็ไปใคร่ครวญขันธ์ 5 กัน
            ทีนี้มาถึง อริยสัจ ก็มาเล่นกับขันธ์ 5 อีก ไอ้ตัณหาตัวนี้ก็เข้าไปอยากได้ขันธ์ 5 นี่ ผมไม่เห็นมีอะไร ผมว่าง่ายจริง ๆ ไม่มีอะไรยาก มันไม่มีอะไรยากเลย เป็นอันว่า วิปัสสนาญาณมันมีตัวเดียวคือ พิจารณาขันธ์ 5
            ลีลาการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า การสอนของพระพุทธเจ้าทรงมีความฉลาดมาก ใช้ระบบหลาย ๆ วิธี อัธยาศัยของคนนี้ไม่ตรงกับจุดนี้ก็ไปชนกับจุดนั้น เรียกว่าชนกันเป้าหนึ่ง ตั้งเป้าไว้หลาย ๆ เป้า ให้มันติด ๆกัน เรายกปืนขึ้นยิงไม่ถูกเป้านี้มันก็ถูกเป้านั้น เป้าใดเป็นหนึ่ง จะเป็นเป้าใดก็ตาม ตั้งแต่เราศึกษาขันธ์ 5 กันมา ถ้าเราเข้าถึงจริง ๆ เขาเป็นพระอรหันต์กันนับไม่ถ้วนนะขันธ์ 5 นี่ แล้วก็เวลาต่อมาเราก็มาเรียนอายตนะ หรือโพชฌงค์ ตัวโพชฌงค์นี่ก็ตัวบรรลุตัวอายตนะ นี่ก็ตัวบรรลุ
            ทีนี้มา ตัวอริยสัจ ก็ต้องพิจารณาขันธ์ 5 มันหนีกันไม่ได้ ทุกข์อะไรมันทุกข์ล่ะ เพราะเราใคร่ครวญ เราพอใจในขันธ์ 5 มันจึงทุกข์ ตัวทุกข์จริง ๆ มันอยู่ที่ใจ ที่เราทุกข์เพราะเราเอาจิตไปยึดไปถือ ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา แล้วใจเราก็ไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง มันเกิดแล้วมันจะแก่ เราก็ดันไปห้ามแก่ไว้ เกิดแล้วจะป่วยไข้ไม่สบาย จะไปห้ามได้อย่างไรล่ะ ห้ามไม่ได้ไอ้เราทำแบบนั้นมันทุกข์ ใจเราก็ทุกข์ ทุกข์เพราะร่างกายทรุดโทรม เราไม่อยากให้มันทรุดโทรม แล้วเราก็ไม่พยายามศึกษาหาความจริง ว่าร่างกายมันเกิดมาแล้วมันต้องทรุดโทรมเป็นปกติ เคลื่อนไปหาความพังทุกวินาที ความป่วยไข้ไม่สบายมันเกิดขึ้นเป็นปกติ โรคแปลว่า เสียดแทง ไอ้การที่เราไม่สบายกายไม่สบายใจก็ชื่อว่าป่วย เรียกว่าโรค โรคทั้งนั้น ที่พูดว่า ชิคัจฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง อันนี้นาน ๆ หิว เช้ากินอิ่มแล้วมันก็พักเสียดแทงไปชั่วคราว ตอนกลางวันมันจะกินใหม่มันเริ่มหิว มันก็เสียดแทง แต่โรคเจ้าหนี้ทวงมันเสียดแทงทุกเวลา เจ้าหนี้ทวง หรือ ไม่ทวง ก็นึกอยู่เรื่อย กลัวเจ้าหนี้จะมา
            ทีนี้เรามาว่ากันถึงเรื่องทุกข์ ทุกข์เพราะตัณหาคือ ความอยาก นี่เมื่อคืนตอนเช้ามืด ท่านมาบอกว่า ถ้าจะพูดเรื่องอริยสัจ มันก็ไปชนกับขันธ์ 5 กับอายตนะ ชนกับโพชฌงค์ มันหนีกันไม่พ้น แต่ทว่าพูดไปเข้าใจยาก ท่านก็เลยบอกว่า ให้ทุกคนจับมรณานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ แล้วจะมีความรู้สึกง่าย
            มรณานุสสตินี่แปลว่าอะไรเล่า ความจริงตายนี่มันตายทุกวินาทีนะ จิตมันเคลื่อนไป ความเสื่อมโทรมของร่างกายเคลื่อนไป มรณานุสสติกรรมฐานนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ท่านบอกว่า ถ้าเราไปสอน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีในเรา เข้าใจยาก มันยากจริง ๆ ถ้าเรามาคิดกันตัวปลายสุด ไอ้ร่างกายของเรานี่มันตายแน่ นี่มันเห็นชัดดีนะ ก็จริงของท่าน เราก็ตายเขาก็ตาย ในเมื่อตายแล้วมีอะไรบ้างที่เราจะแบกไปได้ นี่เรามานั่งยึดถือว่านี่เป็นของเรา นั่นก็เป็นของเรา สิ่งที่ไม่มีอยากให้มีขึ้น ตัณหา แปลว่า ความอยาก
            กามตัณหานั้นอยากได้ในสิ่งที่ไม่พึงจะมี ไม่มีให้มันมีขึ้น มีอะไร อยากรัก ยังไม่มีเมียอยากมีเมีย ยังไม่มีผัวอยากมีผัว ยังไม่มีลูกอยากมีลูก อีตัวเริ่มอยากมีเมีย ยังไม่มีผัว อยากมีผัว ยังไม่มีลูกอยากมีลูก อีตัวเริ่มอยากเริ่มทุกข์แล้ว กลัวจะไม่สมความปรารถนา พอได้เริ่มทุกข์ เพราะว่างานมันเพิ่มขึ้น พอไอ้แอ๊วโผล่มายิ่งยุ่งใหญ่เลย นอนไม่หลับแล้ว หมอก็หมอเถอะ ไอ้ลูกป่วยขึ้นมานอนไม่หลับเหมือนกัน รักษาไม่ได้ไอ้ลูกอ่อน นี่เป็นหมอแค่ไหนก็ลูกอ่อนเหมือนกัน ดีไม่ดีหมอก็อุ้มลูกไปหาหมออื่นอีก นี่ความจริงเป็นอย่างนั้น นี่เราจะป้องกันความอยากกัน เรื่องอยากนี่เราพูดกันมาตั้งแต่เมื่อวาน
            ทีนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า เราจะต้องกัน เราจะต้องดับตัณหาจริง ๆ ให้หาตัวมรณานุสสติ ไอ้ตัวตายเข้ามาเป็นที่ตั้ง เป็นพื้นฐานว่านี่เราตายแล้ว เราแบกอะไรไปได้บ้าง ก่อนที่เราจะตายมันเต็มไปด้วยความทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์นี่เราก็พูดกันมานานแล้ว ว่าทุกอย่างในโลกมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ทั้งหมด ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข เพราะมันเพิ่มภาระ และก็เพิ่มความห่วงใย อารมณ์จิตเข้าไปหน่วงเหนี่ยว คนก็ดี วัตถุก็ดี สัตว์ก็ดี ที่เป็นที่รักของเรา ถ้าบังเอิญตายไป หรือพังไป ใจเราก็ไม่สบาย เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น นี่มันเป็นอาการของความทุกข์
            ทีนี้ท่านก็เลยบอกว่า ถ้าเราจะตัดตัณหาทุกอย่าง กามตัณหาก็ดี ที่เราคิดว่าของมันไม่มีอยากให้มีขึ้น ภวตัณหา ที่มีแล้วอยากให้มันทรงตัว วิภวตัณหา เมื่อสิ่งเหล่านั้นเคลื่อนไปตามสภาพของมัน ถือเป็นกฎของธรรมดา เราก็หาทางต้านทานว่า ร่างกายเราจงอย่าแก่เลย จงอย่าป่วยเลย จงอย่าไข้ไม่สบายเลย จงอย่าเป็นอย่างนั้นเลย จงอย่าเป็นอย่างนี้เลย มันห้ามไม่ได้ การห้ามไม่ได้มันก็เป็นทุกข์ ทีนี้ก็มานั่งพิจารณาขันธ์ 5 ท่านบอกดูยาก เราก็นั่งนึกถึงตัวตายกัน นี่เราเกอดมาเพื่อตาย เราไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ ไอ้สิ่งที่เราพึงหาโดยชอบธรรม และก็ไม่เป็นโทษ ยังมีถมไป
            ทีนี้ตัณหานี่ถ้าตัวต่ำนะ ท่านบอกให้ยับยั้งไว้อยากได้ในสิ่งที่ไม่มีโทษถือว่ายังมีความเบาอยู่ ใช้ได้ นี่ตัวต่ำ ถ้าตัวสูงขึ้นไปตั้งแต่อนาคามีขึ้นไปไม่ได้เลยอยากได้อะไรทั้งหมดในโลกถือว่าใช้ไม่ได้ อยากได้แล้วก็เกาะ ถ้าอยากได้มาแล้วไม่เกาะไม่เป็นไร อยากได้สิ่งนี้เพื่อความสะดวกในการเป็นอยู่แล้ว ก็คิดไว้ด้วยว่ามันจะได้มาหรือไม่ได้มาก็ช่างหัวมัน ถ้ามีโอกาสจะได้มาก็เอาเราจะใช้ ถ้าโอกาสที่จะพึงได้มาไม่มีก็ตามใจมัน เป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ฝืนความสามารถและไม่ฝืนโอกาสแบบนี้ใจมันสบายตั้งแต่ก่อนจะได้
            ทีนี้พอได้มาแล้วเราก็ทราบเลยว่า ไอ้ตัวเจ้าตัวนี้นะ มันไม่อยู่กับเรานาน มันอาจจะอยู่นาน แต่เราก็ไม่อยู่กับมัน ไม่มันกับเราสักวันหนึ่งจะต้องจากกันและก่อนที่จะจากกันมันจะทรงสภาพอย่างเดิมอยู่ไม่ได้ มันจะมีสภาพเก่า ๆ ทรุดโทรมเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา หาทางพัง มันไม่ได้เปลี่ยนไปหาทางดี เปลี่ยนไปหาทางพัง เมื่ออยากจะพังก็พัง แก้ไขไม่ได้ แก้ไขได้ก็แก้ไข แก้ไขไม่ได้ก็แล้วไป นี่ความสบายมันก็เกิดขึ้น เวลามันพังไม่ถือเป็นเรื่องหนักใจ เรารู้อยู่แล้ว แล้วจิตของเราพร้อมแล้ว ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ นี่อาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ เราต้องมัดความตายเข้ามาเทียบ นี่เป็นสมถภาวนา ถ้าใครเขาบอกว่าสมถะเก่งหรือวิปัสสนาเก่ง ต้องบอกต้องเก่งคู่กัน เก่งคนเดียวใช้ไม่ได้ เก่งสมถะเป็นโลกียฌาน เดี๋ยวเจ๊ง เก่งวิปัสสนาอย่างเดียวไม่มีสมถะ ไม่มีทางจะได้อะไรเลย
            ท่านบอกว่า ให้นึกถึงความตายเป็นปกติ เรารู้อยู่ว่าเราจะตายเสียอย่างเดียว ถ้าเราไม่ลืมความตาย ความเมามันก็น้อย อารมณ์ที่จะเกิดตัณหาคือความอยากมันก็เบา มันอาจจะอยากอยู่บ้าง แต่ว่าอยากพร้อมกับปล่อยอยากได้มาพร้อมกับอารมณ์ปล่อย มันมีอยู่เสมอ จะได้มาหรือไม่ได้มาก็ไม่หนักใจ หรือโอกาสยังมาไม่ถึง เมื่อได้มาแล้วเราก็พร้อมใจรู้อยู่แล้วว่ามันจะพัง มันจะต้องเก่า มันจะต้องทรุดโทรม มันจะพังหรือมันจะไม่พังแต่ขโมยอาจเอาไปเสียก่อนก็ได้ ถ้าอาการอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏเราก็สบายใจ นี่ถือตัวมรณานุสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐาน
            แต่ว่าไอ้ตัวนี้ก่อนที่มันจะเกิด มันแย่เหมือนกันนา กว่าจะหาไอ้ตัวนี้ได้ต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยมีเครื่องมืออันดับแรกหรือทั้ง 3 อันดับก็ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่แล้ว เราจะมานั่งพิจารณาแบบนี้หาความตายเป็นพื้นฐาน เอามาเปรียบเทียบกับอารมณ์ของวัตถุหรือบุคคลว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมดา มันเป็นไปไม่ได้ อยู่ ๆ มันเกิดไม่ได้ มันก็ต้องมีพื้นฐาน คือ เครื่องมือสำหรับใช้ เรียกว่าจะขึ้นบันได จะขึ้นบ้านขึ้นตึกมัน ต้องมีบันได อยู่ ๆ กระโดดขึ้นไปบนหลังคาตึกน่ากลัวจะไม่สำเร็จ อันดับแรกเมื่อเรานึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เมื่อนึกถึงความตายแล้วจิตมันก็ยังดิ้นอยู่ ไอ้ความทะเยอทะยานของจิต อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากให้มันทรงตัว อยากจะฝัน มันก็ทรงตัวอยู่ และคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะตายแล้ว ลูกหลานก็ยังจะได้ใช้
            ทีนี้วิธีที่จะป้องกัน และจะทำลายทิพย์อำนาจของตัณหาอันดับแรก ตามที่พูดเมื่อวานนี้ ใช้ศีลครอบมันเข้าไว้ เอาศีลเข้าไปขังตัณหาคือความอยาก เอาศีลทำลูกกรงครอบตัณหาเข้าไว้ มันอยากได้โน่นอยากได้นี่ ให้มันวิ่งคึ่กคั่ก ๆ เอาไว้ มันโผล่มากัดไม่ได้ อยู่ ๆ เป็นพระอยากจะมีเมียจะไปมีได้ที่ไหนก็ไม่ได้ ศีลมันค้ำอยู่นี่ ตัณหามันเกิดแล้ว แต่ว่าขังตัณหาไว้ด้วยอำนาจของศีล อยากรัก รักก็รักได้ แต่ก็รักแล้วอย่าไปยุ่งกับใครเขา รักแต่อยู่ในใจยุ่งเข้าก็อาบัติกินศีล ศีลบกพร่องไม่ได้ อันดับแรกศีลขังตัณหาเข้าไว้
            ทีนี้พออยากจะรวย อยากไปค้าขายกับเขาบ้าง จะไปรับจ้างเขาบ้าง ศีลของพระมันบังคับนี่ ศีลบังคับให้พระประกอบอาชีพใด ๆ ไม่ได้ ผิด เป็นไง ขังไว้อีกตัวชิ ไอ้ตัณหาอยากรวยถูกขังไว้อีกแล้ว ดิ้นโครม ๆ
            ทีนี้ตัณหาอีกตัวมา อยากจะฆ่าหมอนี่มันพูดไม่ถูกใจ ทำอะไรไม่ถูกใจ ฆ่ามันเสียเถอะ แหม….ฆ่าได้ที่ไหนศีลขาด นี่ศีลขังตัณหาเสียแล้ว ตัณหาคือ อยากฆ่านะ
            ทีนี้ตัณหาตัวหลง ไอ้โน่นก็ดี ไอ้นี่ก็ดี โน่นของกู นี่ก็ของกู ไอ้สิ่งที่ว่าเป็นของกูแบบนี้พระใช้ไม่ได้ ใช้เมื่อไรลงนรกเมื่อนั้น
            พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ อนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง มีสภาพเป็นปัจจัยของความทุกข์ อนัตตา มันสลายตัว ในเมื่อมันจะพัง มันมีอะไรเป็นของเรา ทีนี้ไอ้ตัวความเมาของจิตก็ยังมีอยู่ ก็ดิ้นอยู่ในลูกกรง โผล่มาไม่ได้ก็ช่างมัน เก่งก็เก่งในลูกกรงนะ ไอ้เจ้าศีลตัวนี้ ถ้ามันขังไว้จริง ๆ คือว่าสิกขา 3 อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา นี่ก็บรรดาท่านพุทธบริษัทที่ประกาศตัวเป็นสาวกของพระพุทะเจ้าจริง ๆ ต้องทรงสิกขา 3 ประการให้ครบถ้วน ใช้คำว่า อธิ แปลว่า ยิ่ง คือ เอากันจริง ๆ ไม่ใช่ล้อเล่น หรือว่าหลอกเล่น อธิศีลสิกขา เราจะไม่ยอมให้สิกขาบทของศีลทุกสิกขาบท ถ้าเราเป็นฆราวาสก็ศีล 5 หรือว่าศีล 8 เป็นเณร ศีล 10 เป็นพระศีล 227 ทั้งหมดนี้เราจะรักษาศีลยิ่ง
            คำว่ายิ่ง เขาทำยังไง
            1.เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
            2.จะไม่ยุให้ใครทำลายศีล
            3.จะไม่ยินดีหรือไม่พอใจเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
            นี่รวมความว่า ศีลทั้งหมดที่เรามีอยู่ เราจะไม่ยอมให้มันบกพร่องแม้แต่ข้อเดียว ทำลายศีลเราก็ไม่ทำลาย ยุให้ใครทำลายก็ไม่ยุ ไม่ยินดี เมื่อทำลายแล้วก็ไม่ยินดี อย่างนี้เรียกว่ารักษาศีลยิ่ง ทีนี้ในเมื่อจิตใจของเราอยู่ในขอบเขตของศีล ลองดูซิว่า ไอ้ตัณหา ความอยากมันจะอยากได้สักแค่ไหน คือว่ามันก็จะทรงตัวอยู่ ข้างในดิ้นคึ่กคั่ก ๆ มันก็จะดิ้นอยู่เฉย ๆ มันโดดมาทำร้ายใครเขาไม่ได้ ใช่ไหม มันจะมาอย่างไร รักก็รักได้ ในเมื่อเรามีศีลเขาห้ามก้าวก่ายกับความรัก มันก็นึกได้อย่างเดียว นึกรักแต่แสดงความรักกันจริง ๆ ไม่ได้ ในด้านกามารมณ์
            ทีนี้ความโลภ นึกอยากรวยได้ แต่ทำไม่ได้มันละเมิดศีล ใช่ไหม อยากจะฆ่าเขา นึกได้แต่ทำไม่ได้ ถ้าไปฆ่าเขาเดี๋ยวศีลขาด ไอ้ตัวหลงคือ โมหะ ว่านั่นเป็นของกู นี่เป็นของกู ก็นึกได้เหมือนกัน แต่สะสมจริง ๆ ไม่ได้ เพราะศีลบังคับอยู่
            นี่เป็นอันว่า อธิศีลสิกขา คือว่าสิกขาตัวต้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เรามีศีลเพื่อขังตัณหา เรามีศีลตัวเดียวเราทำลายกิเลสตัณหาไม่ได้ แต่ว่าเราขังความชั่วคือตัณหาไว้ได้
            คำว่า ตัณหา นี่แปลว่า ใฝ่ต่ำ นะ อยากจะไปสวรรค์ ไปพรหม ไปนิพพาน อันนี้ท่านไม่เรียกว่า ตัณหานะ มันตัวอยากเหมือนกัน ท่านเรียกว่า ธรรมฉันทะ มีความพอใจในธรรม
            พวกคุณต้องรู้ไว้ด้วยนะ เดี๋ยวพวกคุณจะไม่เข้าใจถามว่าไอ้คำว่าอยากนี่มันเป็นตัณหา ทีนี้อยากไปสวรรค์ อยากไปพรหม อยากไปนิพพาน เป็นตัณหารึเปล่า ถ้าย่องไปตอบว่าเป็นตัณหาเข้านี่มันผิดจังหวะ ต้องระวังด้วยนะ ต้องว่าอยากดีไม่ใช่อยากเลว เราอยากไปสวรรค์นี่ คนที่อยากไปสวรรค์เป็นเทวดาได้ ต้องอย่าลืมคุณ… ต้องมีหิริและโอตตัปปะ อายความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว นี่มันดีหรือมันเลว อายความชั่วเราก็ไม่ทำชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่วเราก็ไม่ทำชั่ว
            ทีนี้จะถือว่าตัณหาเป็นกิเลสเลวไม่ได้ นี่เป็นตัวดี แต่เป็นตัวดีก้าวที่ 1 อย่าไปนึกว่าแค่สรรค์นี่เป็นกามาวจร ยังมีผัวมีเมีย มีผู้หญิงมีผู้ชาย อย่าลืมว่าสวรรค์เป็นก้าว ก้าวหนึ่งที่จะเข้าถึงพระนิพพาน ดีกว่าเราก้าวลงนรก
            ก้าวที่สอง อยากไปพรหม ถามว่าเป็นตัณหาไหม ก็จะตอบว่าเป็นตัณหามันไม่ถูก พรหมน่ะเขาเป็นคนอยู่คนเดียวนะ เอกายโน อยัง ภิกขเว จริง ๆ คือ มีตัวผู้เดียว พรหมไม่มีคู่ แล้วพรหมก็ไม่มีเพศ นี่เรียกว่า มีสภาพใกล้พระนิพพานเข้าไป อย่างนี้ต้องเรียกว่า ธรรมฉันทะ ถ้าอยากไปนิพพานนี่เราไม่ต้องพูดกันเป็นธรรมดาจริงๆ ธรรมบริสุทธิ์ถึงแม้ว่าเป็นเทวดาก็ต้องบริสุทธิ์เบื้องต้น บริสุทธิ์คือเราไม่ทำความชั่ว คืออยากไปเป็นพรหม จิตเราระงับนิวรณ์ 5 ประการ จัดเป็น เนกขัมมบารมี นี่มันเลวที่ไหน ดีมาก สามารถกดคอกิเลสได้ไม่ให้มันโงไม่ได้ ความจริงเราไม่ได้ฆ่ามัน แต่กดคอมันไว้ แต่พอมันลุกมาได้เมื่อไหร่ มันล่อหงายท้อง หงายไปหลายองค์แล้ว พระได้ฌานสมาบัติทำหน้าทำตา ตั้งท่าหลับตาปี๋ ไม่กี่วันไป ถามใหม่สึกแล้วจะกดคอกิเลส หรือกิเลสมันกดคอเข้าไว้ก็ไม่รู้ ชักสงสัย
            นี่เป็นอันว่า ศีลที่เราทรงไว้ได้ก็ขังตัณหาไว้ได้ นี่เรียกว่าใช้กำลังเบา ๆ มันเป็นกำลังเบาขังไว้ มันอยากจะดิ้นก็เชิญดิ้น มันจะดิ้นก็ดิ้นไป อออกมากัดใครเขาไม่ได้ มันจะเอะอะโวยวาย ก็แต่อยู่ในลูกกรง พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ในขั้นต้นต้องทำอธิศีลสิกขาให้ได้ และก็นึกถึงความตายไว้เป็นปกติพื้นฐาน ถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าเราจะไปนิพพานไม่ได้ แต่เราก็ไม่ไปอบายภูมิ เราไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เท่านี้พอใจรึยัง
            มีศีลชื่อว่าเราขังตัณหาไว้ได้ ความจริงเราขังไว้แล้วมันดิ้น มันดิ้นมันออกไม่ได้ หนัก ๆเข้ามันก็เพลียเหมือนกันนะ มันไม่มีอะไรกิน ปล่อยมันอดอยู่อย่างนั้น ใช่ไหม ใครเขามาก็ชะเง้ออยู่ข้างหน้าต่าง แต่งตัวสวย ๆ รูปร่างหล่อ ๆ มาก็นี่ลูกสาวใครหว่า นี่ตัณหารัก ตัณหาโลภ แหม…เขาขี่รถยนต์สวย ๆ มันโก้จริงนะ โผล่หัวไปไหนไม่ได้ ไอ้ตัณหาโกรธ คิดจะไปฆ่าใคร ไปไงล่ะ ปืนก็ไม่มี มีดก็ไม่มี มีดพับมีก็ต้องหักปลาย ก็ได้แต่ดิ้นอยู่ในลูกกรง ดินไปดิ้นมา ดิ้นมาดิ้นไป มันออกไม่ได้ เพลียหนัก ๆ เข้าดิ้นอะไรดิ้นไปก็ไปไม่ได้ นอนเฉย ๆ ดีกว่า อีตอนนอนบางทีไม่เฉยเหมือนกันนา บางทีนึกว่าดิ้นไม่โผล่หน้าต่าง แต่ใจนึกโผล่อีกทีน่ะซี แหม….ลูกสาวคนนั้นก็สวยดีนะ บ้านนี้ก็รวยดี ทองนี่มันสำคัญ แบ็งค์ก็ปึกใหญ่ ๆ มากท่าจะดีนะ มีความสุขถ้าเรามีได้ นี่เป็นอันว่ามันเป็นอารมณ์ที่มันดิ้นอยู่ข้างใน ถ้ามันดิ้นนาน ๆ มันก็ชักจะเพลียเหมือนกัน
            ทีนี้พอเราขังมันได้แล้วด้วยอำนาจของศีล ขังนะไม่ได้ฆ่า ต่อมาระดับที่สอง ท่านบอกว่า ตัณหาถ้าขังไว้เฉย ๆ ชักไว้ใจไม่ได้เหมือนกัน เพราะมันเป็นพิษร้าย ดีไม่ดีถ้ามันลอดหลุดออกมาเมื่อไร ฟัดไม่เลือกเลย ไอ้แบบพระบวชนาน ๆ นี่สึกไปเมากินเหล้าหัวโงขึ้นไม่ได้ ขังวตัณหาไว้
            มาอีกจุดหนึ่ง ในเมื่อเราขังมันได้ดีแล้ว ต้องขังให้ดีเสียก่อนนะ ถ้าเราขังไม่ดีละก้อเราทำลายไม่ได้ อย่าให้มันหลุดมาได้ มาอีกจุดหนึ่งท่านบอก กดคอตัณหาให้มันจมลง นี่ยังไม่ฆ่านะ เมื่อขังให้มันดิ้น ดิ้นไปดิ้นมา จนมันเพลียใกล้จะหมดแรง ทำท่าจะได้ท่าก็จับมันกดคอลงไปเลย กดคอให้มันนั่งเฉย ๆ เข้าไว้ อีตอนกดคอนี้ ทีเผลอมันก็โผล่มาเหมือนกัน นี่เป็นเรื่องธรรมดา ตอนกดคอตัณหานี่เขาทำอย่างไร ก็ทำสมาธิให้เกิด ตัวสมาธิเป็นการกดคอตัณหา เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่ได้ฆ่ากิเลสเท่านั้น ขั้นสมาธิธรรมดาถ้าไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า ท่านบอกว่าไว้ใจไม่ได้ กิเลสมันจะโผล่ขึ้นมาเมื่อไร ก็ได้เป็นแต่ระงับกิเลสเท่านั้น ถึงว่าจะเป็นการระงับ กดคอแล้วฆ่าไม่ได้ มันก็ยังเป็นคน เพราะจิตของเรานี่สามารถจะมีอารมณ์เป็นทิพย์ได้ มันก็ไม่เลวนะ เราสามารถจะเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสววรค์ ระลึกชาติได้ รู้ใจบุคคลอื่น มันเยอะ นี่กำลังสมาธิแคบ ถ้าเราได้อภิญญาสมาบัติ อภิญญาสมาบัตินี่ก็ได้ ขั้นสมาธิ ขั้นโลกีย์เหาะเหินเดินอากาศ เนรมิตอะไรได้ ไม่เห็นยากเลย ตัวสมาธิที่เราจะสร้างให้มันเกิด เราจะทำแบบไหน นี่เราก็ต้องไปย้อนไปถึงอารมณ์สมถะเดิม ใช่ไหมเห็นจะไม่ต้องอธิบายกันมาก
            ทีนี้มาย้อนถึงสมาธิ ไอ้ตอนที่จะปราบตัณหา ต้องปราบเป็นขั้น ๆ พระพุทะเจ้าท่าเทศน์ย้อนมาแบบนี้เราก็ต้องย้อนไป จะไปตัดของท่านเลยไปไม่ได้ วิธีทำสมาธิ กดคอตัณหาเขาทำอย่างไร เราก็ต้องไปนั่งคลำว่า ศัตรูของสมาธิเบื้องแรกมัน คือใคร ต้องหาศัตรู ไอ้ตัวไหนที่เราทำจิตเราไม่ให้เข้าถึงฌาน รู้จักหน้าไหม ตัวนิวรณ์ ถ้ามันเข้ามาถึงใจเรามันสร้างความวอน วอนอยู่เรื่อย วอนจะลงนรก ตัวสมาธิที่มันจะเป็นได้ก็ คือ เราต้องระงับนิวรณ์ 5
            เราต้องระงับความพอใจในรูปสวย เสียงเพาะ กลิ่นหอม รสอร่อย การสัมผัสตามความพอใจ และอารมณ์ที่เกลือกกลั้วกับกามารมณ์ นี่เป็นแค่ระงับชั่วคราวนะ ขณะที่เราต้องการจะให้จิตเป็นสมาธิ ต้องตัดมันได้ทันที ปั๊บเวลานี้เจ้านี่โผล่ไม่ได้ ฉันมีกำลังมากกว่าแก แกอย่าโผล่หัวขึ้นมานะ ฉันไม่ให้แกโผล่ มันต้องสงบ ฉันต้องเก่ง เราเป็นคนเก่ง
            ขันธ์ 5 รูป เสียง กลิ่น รส น่ะนะ ไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามารมณ์ กามฉันทะ ตัวนี้เราจะระงับมันได้ด้วย อสุภ 10 และ กายคตานุสสติ ก่อน เข้าใจแล้วใช่ไหม พูดกันมาแล้ว เราจะตัดตัวนี้ได้ก็อาศัยการพิจารณากายคตานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ จนกระทั่งขึ้นใจจิตเป็นยเอกัคคตารมณ์อย่างนี้เราจะระงับกามฉันทะได้อย่างสบาย ๆ แต่อย่าเผลอนะ นี่กดคอกันเข้าไว้นะ ไม่ใช่ฆ่าให้ตาย
            ตอนนี้มาถึงด้านโทสะและความพยาบาท นี่เราก็ต้องดับเสียได้ด้วย พรหมวิหาร 4 ประจำใจ มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร แล้วมีอารมณ์ไม่อิจฉาริษยา มีจิตวางเฉย ยอมรับกฎของกรรม ไอ้คนเราลงรักเสียแล้ว ลงสงสารเสียแล้ว มันจะไปฆ่าใครเขา ใช่ไหม มาอีก 4 อย่างก็คือ กสิณ 4 เขาเรียกว่า วรรณกสิณ ได้แก่ กสิณสีแดง กสิณสีเหลือง สีเขียว สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เป็นฌานถึงฌาน 4 นี่พระพุทะเจ้ากำหนดว่า กสิณ 4 อย่างนี้ระงับโทสะได้ นี่อย่างเราชื่อว่ากดคอตัณหาไว้นะ ยังไม่ได้ตัดนะ แค่ระงับยับยั้งเท่านั้นนะ อีตัวระงับนี่จิตมันถึงปัสสัทธิ ปัสสัทธินี่เป็นตัวฌาน ผมลืมโพชฌงค์ไว้วันนั้น ผมมาใส่เสียวันนี้ ใครจะว่าไงก็ว่า ผมไม่เชื่อใครทั้งหมด เพราะเวลาจิตเข้าถึงฌาน อารมณ์มันสงัด สงัดเขาเรียกว่า ปัสสัทธิ จิตก็สงัด ความรักก็ไม่เกิด เห็นคนไหนเดินมาเน่าหมด เจริญอสุภกรรมฐานนี่ เห็นคนเดินผ่านไปผ่านมาเน่าหมดทุกคนนะ มันเน่าหมด เพราะใจเรามีความรู้สึกตามนั้น
            ถ้าเราพิจารณากายคตานุสสติกรรมฐาน เห็นคนเดินปั๊บมันไม่ติดอยู่แค่ผ้า มันทะลุเข้าไปในท้องเลย เห็นตับ ไต ไส้ พุง ปอด เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ มันเลอะเทอะไปหมด แล้วมันจะเกิดราคะได้อย่างไร ทีนี้ไอ้ตัวตัณหาอยากรักสวยรักงาม มันก็หมดไป แต่ความจริงมันไม่หมด มันไปตั้งท่า เพราะเรากดคอมันเข้าไว้ ทีนี้มาด้านโทสะ เราก็ระงับมันด้วยพรหมวิหาร 4 หรือ กสิณ 4
            ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน นี่ต้องดูร่างกายด้วย ถ้ามันเกิดความง่วง แสดงว่าไม่ใช่ง่วงจริง ร่างกายของเราต้องการพักผ่อน อย่าไปฝืน ถ้าฝืนเป็น อัตตกิลมถานุโยค ไม่เป็นเรื่อง ใช้ไม่ได้ ไม่มีผล ถ้าหากว่าร่างกายเราปกติ ไม่อดหลับไม่อดนอน โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน พิจารณาแล้วทีนี้มันง่วงเฉย ๆ มันง่วงเพราะนิวรณ์เข้าทับ คือ ถีนมิทธะ พระพุทธเจ้าบอก ให้ลืมตากว้าง ๆ ไม่ต้องไปหาแม่แรงมาถ่างนะ ลืมตากว้าง ๆ เอาน้ำล้างหน้า ขยี้ตาหรือว่าเดินไปเดินมาเป็นระงับความง่วง ไอ้นี่เป็นเรื่องธรรมดา ๆ
            ทีนี้ต่อไป อารมณ์ฟุ้งซ่าน นั่งไปแล้วตั้งใจจะจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาอย่างนี้ พิจารณาว่าแบบนี้มันไม่เอาถ่าน มันวิ่งเข้าบ้านเข้าช่องใครเขาไป มันหาที่หยุดไม่ได้ อย่างนี้พระพุทธเจ้าให้ใช้ อานาปานุสสติ คือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก โดยไม่ต้องภาวนา
            ข้อที่ 5 ถ้ามีความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จับจุดสั้น ๆ ว่าที่พระพุทธเจ้าบอกว่า คนเกิดมาแล้วมันแก่จริงไหม ถามใจดู ถ้าจริงบอกว่านี่แกสงสัยทำไม และเมื่อความป่วยไข้ไม่สบายมันปรากฎ ถามจริงไหม ถ้าจริงบอกว่า นี่แกสงสัยทำไม และเมื่อความป่วยไข้ไม่สบาย มันปรากฎ ถามจริงไหม ต่อไปทุกคนต้องตายหมด นี่พระพุทธเจ้าเทศน์แบบนี้ ถ้ามันเกิดความสงสัยก็นึกดูว่า ที่พระพุทธเจ้าเทศน์แบบนี้มันตรงกับความจริงไหม ถ้าตรงกับความจริง เราไปสงสัยทำไม นิวรณ์ 5 ประการนี่ถ้าเราสามารถป้องกันให้ไม่มายุ่งกับใจได้ ก็เป็นอันว่าจิตของเรามีสมาธิ แล้วก็สมาธิจุดนี้ก็ปฐมฌานเท่านั้น ไอ้ฌานชั้นสูง ต่อไปผมไม่พูด นี่ผมพูดมานานแล้ว ผมไม่ได้ม่นั่งสั่งสอนสมถะ นี่แค่ปฐมฌานก็มีกำลังพอที่จะตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหานได้ คนเราถ้าจิตไม่มีสมาธิถึงปฐมฌาน ให้นั่งพิจารณาวิปัสสนาญาณไปกี่แสนกัปก็ไม่เป็นผลเลย กำลังจิตที่พิจารณาวิปัสสนาญาณไปด้วย รวบรวมกับกำลังใจด้านสมาธิไปด้วยพร้อม ๆกัน นี่ว่ากันถึงฝ่ายสุขวิปัสสโก และก็สุขวิปัสสโกเด็ก ๆ จิตต้องเข้าถึงอารมณ์ปฐมฌาน พอจิตเข้าถึงอารมณ์ปฐมฌานแล้ว จิตก็จะมีกำลังใช้กำลังวิปัสสนาญาณห้ำหั่นกิเลสให้เป็นสมุทเฉทปหานได้ ฆ่าให้ตายได้
            นี่เพียงแต่เข้าถึงฌาน เรียกว่าเรากดคอตัณหาเข้าไว้ใช่ไหม แต่กดคอได้ถึงฌาน 4 จะมีกำลังใหญ่ แต่ปฐมฌานกดคอไว้บางทีเผลอ มันก็โผล่พรวดขึ้นมาโผล่ง่าย เพราะกำลังเรายังเด็ก ทางที่ดีใช้กำลังให้ถึงฌาน 4 แล้วก็ทรงฌาน 4 ไว้ให้ได้ จะเข้าฌานเมื่อไรก็ได้ จะกำหนดเวลาเพียงไหน ก็ทรงได้ตามกำหนดของเวลา อย่างนี้กำลังของตัณหาจะตกเพลียไปมาก ดีไม่ดีนึกว่าเราเป็นพระอรหันต์ เพราะอะไร เพราะจะหลับ เราก็ทรงฌาน ทรงฌานจนหลับ ถึงเวลาจะนอนก็นอน ตั้งอารมณ์จับจุดเป็นสมาธิ ทรงถึงระดับฌานหลับไปเลยระหว่างหลับเป็นฌาน เวลาพอตื่นขึ้นมาไม่ต้องไปเตือนมัน มันสตาร์ทเข้าฌานทันที
            ถ้าเราทรงฌานได้ถึงอย่างนี้วันทั้งวัน วันนั้นจะมีอารมณ์เป็นสุข นิวรณ์จะไม่รบกวนจิต จิตจะสะอาดตลอดเวลา นี่ไอ้ทรงฌาน 4 นี่บางคนคิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์กันมาเยอะ ต้องระวังให้ดี ต้องรู้ว่านี่เราทรงจิตขนาดไหนต้องรู้ แต่รู้แบบไหนล่ะ รู้แบบตำรา ตำราเขามีให้แล้วเป็นเครื่องวัด นี่เรียกว่าเรากดคอตัณหาลงไปได้ กดคอจนกระทั่งคล้าย ๆ มันหลับสนิทเลยนะ บางทีเราคิดว่าตาย นี่อย่าเผลอเชียวนะ ถ้าทำได้อย่างนี้จงอย่าเผลอ อย่าคิดว่าเราสำเร็จมรรคผลแล้ว ระมัดระวังให้มาก นี่เอาเสียเยอะแล้ว ทำตั้งท่าเป็นพระอรหันต์เข้าพัก ไป ๆ มา ๆ ที่ไหนได้ สึกเสียแล้วเผลอไปพ่อตัณหาโดดมาขี่คอเสียอีกแล้ว
            อันนี้เมื่อเราทำอธิจิตสิกขาได้แล้ว เอาสมาธิเข้ากดคอตัณหา พอจิตมีอารมณ์ดีตั้งอารมณ์ให้ได้สักเวลาเท่าไหร่ก็ได้ นี่พูดถึงทรงฌาน 4 กันเสียเลย ว่าทรงฌาน 4 ได้แล้ว ตรงนี้เราก็ใช้วิปัสสนาเป็นอารมณ์ ตัดคอตัณหา ฟันมันเป็นท่อนเป็นตอนไปเลย ฟันให้แหลกให้รานไปไม่ยาก แบบไอ้เสือตายฟันตรงไหนก็ได้ เสือไม่ตายเราจับมัด ดิ้นไม่ได้แล้วฟันตรงไหนก็ฟันได้ จะฆ่าให้ตายเมื่อไหร่ก็ได้ นี่กำลังทรงฌาน 4 นะ แล้วก็สามารถทรงฌาน 4 ได้ตามอัธยาศัย พระพุทธเจ้าจึงได้บอกว่า คนที่ทรงฌาน 4 ได้และรู้จักใช้อารมณ์ของฌาน 4 ควบคุมวิปัสสนาญาณได้ ถ้ามีบารมีแก่กล้าจะเป็นพระอรหันต์ภายใน 7 วัน ถ้ามีบารมีอย่างกลางจะเป็นพระอรหันต์ภายใน 7 เดือน ถ้าบารมีอย่างอ่อนจะเป็นพระอรหันต์ภายใน 7 ปี เห็นไหม ภายในนะ ไอ้บารมีผมเคยบอกแล้ว บารมี เขาแปลว่า กำลังใจ มีบารมีแก่กล้า คือ มีกำลังจิตเข้มแข็งนั่นเอง ต่อสู้กับอารมณ์ที่เข้ามาต่อต้าน มีบารมีอย่างกลางอารมณ์มันเข้มข้นเหมือนกัน แต่ว่ามันเข้มบ้างไม่เข้มบ้าง เดี๋ยวก็จริงบ้างเดี๋ยวก็ไม่จริงบ้าง ย่อ ๆหย่อน ๆ ตึงบ้างหย่อนบ้าง เปาะแปะ ๆ ตามอัธยาศัย ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างปล่อยตามอารมณ์ อย่างนี้ไม่เกิน 4 ปี นี่ผมพูดถึงว่าคนที่ทรงฌาน 4 ได้ และก็ฉลาดในการใช้ฌาน 4 ควบวิปัสสนาญาณ ถ้าโง่ละก้อดักดานอยู่นั่นแหละ กี่ชาติก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์
            ทีนี้ต่อมาเมื่อทรงสมาธิได้แล้ว ก็ใช้ปัญญาเป็นเครื่องตัดกิเลส อันนี้ไม่ยาก ง่ายนิดเดียว นี่ง่ายมาก ถ้าทำถึงฌาน 4 ทรงฌาน 4 ได้แล้วของกล้วย ๆ กล้วยสุกไม่ใช่กล้วยดิบ ง่ายบอกไม่ถูก เราจะมีความรู้สึกเลย แหม…ทำถึงปฐมฌานนี่มันยากกว่าตัดกิเลสเป็นไหน ๆ อีตอนนี้ผมเคยพูดแล้วนะว่า ถ้าใครสามารถทรงฌานได้ดี เวลาเจริญวิปัสสนาญาณนี่ มันรู้สึกว่าง่ายบอกไม่ถูก ใช้เวลาไม่ช้านิดหน่อย เพราะกำลังเราดีแล้ว เหมือนกับกิเลสทั้งหมดเราจับมัดเสียหมดแล้ว กระดิกกระเดี้ยไม่ได้ ดิ้นไม่ได้เลย ทีนี้เราจะสับฟันตรงไหนก็ได้ตามอารมณ์
            ตอนนี้เมื่อทรงฌาน 4 แล้วเราก็เข้าฌาน 4 เต็มอารมณ์ เราจะใช้วิปัสสนาญาณ เมื่อเข้าฌาน 4 เต็มอารมณ์แล้ว ก็ถอยหลังมาอุปจารสมาธิ เราจะตัดตัวไหนล่ะ ตัดราคะ ความรัก รักสวยรักงาม เราก็ยกอสุภกรรมฐานขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ ยกกายคตานุสสติกรรมฐานขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ เปรียบเทียบกันว่าไอ้สิ่งทีเรารักน่ะ มันสะอาดหรือมันสกปรก กำลังของฌาน 4 นี่เป็นกำลังที่กล้ามาก และปัญญามันเกิด พอถึงฌาน 4 ปัญญามันเกิดเอง เกิดชัด มีความหลักแหลมมาก คุณยังไม่ถึงยังไม่รู้ ผมพูดไว้เผื่อคุณจะทำถึง ประเดี๋ยวเดียวมันเห็นเหตุเห็นผลชัด พอมันตัดได้แล้วมันโผล่น่ะ เดินเห็นคนเน่าหมด ไม่เน่าอยู่คนเดียวเรา หรือไง แต่ความจริงมันเห็นเราเน่าก่อน มันเบื่อตัวเราก่อนแล้ว ก็ไปเบื่อคนอื่น รู้สภาพเรายอมรับนับถือสภาพความเป็นจริงทั้งหมด เห็นคนปั๊บไม่ต่างอะไรกับส้วมเดินได้ จะเอาเครื่องหุ้มห่อ สีสันวรรณะขนาดไหนก็ตาม มันบังปัญญาของพวกท่านพวกนี้ไม่ได้ นี่ไม่กี่วัน 2-3 วันเห็นชัด เห็นแล้วไม่ตกด้วยนะ
            พิจารณาขันธ์ 5 ว่าขันธ์ 5 เต็มไปด้วยความสกปรก ยกเอาอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติกรรมฐานของสมถะเข้ามาควบ เอามาควบ คนที่ทำได้เขาเก่ง เขาเก่งกันแบบนั้นเขาต้องควบเก่ง
            มาด้านโลภะ ความโลภ ไปนั่งนึกว่าไอ้คนมันเน่าแล้ว ไอ้เราก็ตาย เราก็เน่าจะไปโลภมันทำไม มีก็กิน ไม่มีก็แล้วไป มีเท่านี้ใช้เท่านี้ ใครเขาไม่ให้ต่อเราก็ใช้เท่านี้ หมดก็หมดไป จะตานเราก็เชิญตาย เราเป็นทาสของกิเลสตัณหามานาแล้ว ตายเมื่อไรสบายเมื่อนั้น แต่ฌาน 4 เฉย ๆ ไม่มีวิปัสสนาญาณ ก็ไปนอนตีเขลงเป็นพรหมดีกว่าเป็นคนตั้งเยอะ
            ทีนี้มาว่าถึง โลภะ ตัดราคะได้ โลภะมันก็เจ๊ง ตัดโลภะ ราคะมันก็ไป ความจริงมันตัวเดียวกัน มันไม่ใช่สองตัว ผมพูดแยกเป็นสองส่งเดชไปอย่างนั้น ให้เข้าใจง่าย
            ตอนนี้พอมาตัด โทสะ มาตัดโทสะ ความจริงเราระงับมันได้ กดคอมันได้ตั้งแต่เจริญฌานแล้ว มันก็เป็นของไม่ยาก แล้วก็มาเปรียบเทียบกับขันธ์ 5 ร่างกายนี่มันจะตายอยู่แล้ว มันจะพัง ไปนั่งโกรธมันอยู่มีประโยชน์อะไร ไอ้คนที่มันชอบทำให้คนอื่นโกรธ มันเป็นคนจัญไร มันทำลายความดีตัว ทำลายความสุขของตัว คนประเภทนี้เป็นคนน่าสงสาร ไม่ใช่น่าโกรธ เพราะตัวเขาเองยังหาความสุขใจไม่ได้ ยังมีทุกข์ ตายแล้วก็ไปอบายภูมิ มันก็เกิดเป็น อภัยทาน ความโกรธมันก็หาย เมื่อถึงฌาน 4 แล้วมันกล้วยจริง ๆ วิปัสสนาญาณนี่ผมบอกให้นะ ทำฌาน 4 ก็ไม่ยากเดี๋ยวเดียวเท่านั้นก็ได้ ถ้ามันจะได้เสียอย่าง มันไม่ได้ก็แล้วไป ถ้าเราทำใจสบายเดี๋ยวมันก็ได้ ถ้าเราอยากได้มันจะไม่ได้ เพราะตัณหาเข้าไปขวางใจ
            ทีนี้มา โมหะ ความหลง มันไม่มีอะไร ถ้าตัดได้ตัวเดียว อีกสองตัวมันไม่มีเพื่อนแล้วไป ไอ้โต๊ะ 3 ขานี่หักเสียขาตั้งอยู่ได้ไหม ? พอตัดได้ตัวเดียวตัดราคะกับโลภะก็ตัวเดียวกัน พอตัดเจ้านี่ได้ตัวอีกสองตัวหมดแรงเลย ความจริงเรามัดมันแล้ว เรามัดมันไว้แล้ว แรงมันสู้เราไม่ได้ พอเอามีดฟันเข้ามันก็หมดสิ้นไม่มีทางดิ้น โมหะ ความหลง มันจะมาหลงยังไง คนก็เน่า สัตว์ก็เน่า เป็นของน่าเกลียด ทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่สามารถทรงความสุขให้เกิดแก่เราได้เพราะเป็นปัจจัยของความทุกข์ อารมณ์มันเห็นแล้ว ถ้าเราจะโกรธ เราจะฆ่าเขา มันก็ไม่มีประโยชน์ เป็นการสร้างโทษให้เกิดแก่ตัว เป็นการทำลายความสุข นั่งเฉย ๆ ดีกว่า ไอ้คนที่เราจะฆ่ามัน เราไม่ต้องไปฆ่า ไม่ฆ่ามันก็ตายไม่ฆ่าดีกว่า เหนื่อย เราจะไปแกล้งเขามีความทุกข์มันเรื่องอะไร เราไม่แกล้งเขา เขาก็มีความทุกข์ เมื่อเราแกล้งเขาเขาก็มีความทุกข์ เราไม่ต้องแกล้งดีกว่า มันทุกข์ของมันอยู่แล้ว หมดเรื่อง
            ทีนี้หันเข้ามาหาตัว หันเข้ามาหาตัว อะไรที่เป็นการทรงตัว ที่เป็นเราเป็นของเรามีตรงไหน เรามีบ้าน ชาวบ้านเขาปลูกบ้านอย่างเรา บ้านมันพังไปกี่ร้อยหลัง แล้วเรามีผัว มีเมีย มีลูก มีพี่ มีน้อง มีพ่อ มีแม่ ไอ้คนที่เขามีอย่างเราแล้ว มันตายไปในโลกมีประมาณเท่าไหร่ แล้วเราจะมาถือว่านี่พ่อของเรา แม่ของเรา อย่าอกตัญญูพ่อแม่เข้านะ ความดีของท่านข้ามไม่ได้น่ะ นี่หมายถึงร่างกาย ร่างกายของท่านจะทรงอยู่ตลอดไปมันจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดท่านก็ต้องตาย เมื่อถึงเวลาที่ท่านจะตาย ก่อนที่ท่านจะตายเราก็ต้องทำความดีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แกไม่ต้องไปนั่งรำพันรำพึงว่า พ่อตายเสียแล้วยังไม่ได้สนองคุณ แม่ตายเสียแล้วยังไม่ได้สยองคุณ ไอ้แบบนี้มันคนจัญไร ไม่ใช่คนดี เวลาอยู่ไม่ให้ เวลาตายคิดถึง ใช้ไม่ได้ ยอดของคนเลว เราตั้งใจสนองคุณตามกำลังที่เราพึงสนองได้ ไม่ใช่ต้องไปกอบโกยกู้ยืมเขามา ไม่ใช่อย่างนั้น
            อันนี้เราต้องมานั่งคิด พ่อก็ต้องตาย แม่ก็ต้องตาย ลูกเราก็ต้องตาย เมียก็ต้องตาย ผัวก็ต้องตาย ญาติพี่น้องก็ต้องตาย ไอ้เราก็ต้องตาย เราเห็นตัวเราเองว่าจะตายเสียอย่าง คนอื่นทั้งหมดก็ไม่มีความหมาย ในเมื่อคนเลี้ยงตัวได้ยังต้องตาย ยังต้องพัง ทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้จะทรงตัวอยู่ได้อย่างไร หากว่าเราจะยึดถือว่ามันเป็นเราเป็นของเรา อยู่เราจะเกิดมาอย่างนี้ มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เกิดเป็นเด็กแล้วก็เป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วก็แก่ ก็ตาย แล้วทรงความทุกข์ตลอดเวลา อันนี้จะเกิดประโยชน์อะไรมาจากไหน ใช่ไหมไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ ผลที่สุดก็เห็นว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของเราแม้แต่ร่างกายนี้มันก็ไม่ใช่เรา ถ้ามันเป็นเราจริง ๆ มันจะแก่ เราไม่ให้มันแก่ มันก็ต้องอย่าแก่ซิ เราไม่ให้มันตาย ไม่ให้มันป่วย มันก็ต้องไม่ป่วย เราไม่ให้มันตาย มันก็ต้องไม่ตาย นี่มันเชื่อเรารึเปล่า ร้อนจัด เราต้องการให้มันไม่ร้อน มันก็ร้อน หนาว เราไม่ต้องการให้มันหนาว มันก็หนาว เป็นอันว่าเราบังคับมันไม่ได้ ในที่สุดเราไม่ต้องการให้มันตาย มันก็ตาย เราจะไปนั่งรำพึงรำพันเพื่อประโยชน์อะไร ว่ามันเป็นเราเป็นของเรา และความปรารถนาในความเกิด เราจะต้องการมาเพื่ออะไร เราเกิดมาเพื่อทุกข์ เราทุกข์แค่นี้มันก็เหลือกำลังที่จะทน
            พระพุทธเจ้าบอกว่า ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์ 5 เป็นภาระอันหนัก อันนี้ในเมื่อมันหนัก เรารู้ว่าหนักแล้วเราจะต้องกลับมาแบกมันอีกหรือ เราก็โง่ซิ เราก็เลิก ไม่แบกทำยังไง ตอนนี้เราก็ใช้ ช่างมัน ใช่ไหม มันจะแก่ก็ช่าง ธรรมดาของมัน มันจะป่วยก็ช่าง มันจะตายก็ช่างมัน อีตอนที่มันจะเกิดนี่ไม่ช่างมันแล้วถ้าไม่เกิดอีก เพราะอะไร ข้าบังคับแกไม่ได้ เอ็งนี่มันหัวดื้อหัวด้าน อกตัญญูไม่รู้คุณเลี้ยงเท่าไร ๆ มันไม่จำ อยากจะกินเปรี้ยวหาเปรี้ยวให้ อยากจะกินเค็มหาเค็มให้ อยากกินหวานหาหวานให้ อยากจะแต่งตัวแบบไหนหาให้ อยากจะนั่งรถก็ซื้อให้ มันยังแก่ ยังป่วย ไอ้นี่เลิกคบไม่ได้ เลิกกัน เตสังโว วูปสโม สุโข นึกถึงความดีที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนว่า การเข้าไปสงบกายนั้นชื่อว่าเป็นสุข เป็นอันว่าความปรารถนาในกาย ไม่มีสำหรับเรา นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แล้วก็ใจทรงแบบนั้นเป็นเอกัคคตารมณ์ ความสุขความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้นถือว่าเป็นกฎของกรรมเป็นเรื่องธรรมดาเราจะต้องทนสู้ต่อไป ในระยะไม่ช้าเราก็จะมีความสุข ถ้าร่างกายนี้พัง
            แค่นี้ก็จบแล้ว เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นอารมณ์พระอรหันต์ พระอรหันต์นี่สังคมกับใครได้ทุกชั้น ทำตัวเสมอกัน แต่ถ้าจะให้อารมณ์ของท่านเข้าไปจับเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถือว่าเป็นเราเป็นของเราผูกมัดท่านไม่มีโอกาส เวลานี้มันจบแล้ว ชื่อว่า จบอริยสัจ เพียงแค่นี้นะ สวัสดี


โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน





ไม่มีความคิดเห็น:


แสดงความคิดเห็น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น