วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

วิธีออกจากสังสารวัฎวิธีทำลายกิเลสอวิชชาทำลายตัณหาอุปาทานปฏิจจสมุปบาท แบบ นิโรธวาร ขวา ค้นหาศัพท์ อวิชชา เป็นหัวหน้าในการประกอบอกุศลธรรม อวิชฺชา ปุพฺพงฺคมา อกุสลานํ ธมฺมานัง สมาปตฺติยา วิชชาสูตร ๒๕/๒๒๗ คราวนี้จะขอกล่าวถึงการปฏิบัติโดยอาศัยอ้างอิงในปฏิจจสมุปบาทธรรม กล่าวคือ ดับอวิชชา ผู้ที่จะปฏิบัติดังนี้ ควรมีความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้ง เห็นการดำเนินและเป็นไปตามหลักปัจจยการของปฏิจจสมุปบาทได้อย่างคล่องแคล่วพอสมควร(ปัญญา)จากการปฏิบัติที่ได้สั่งสมไว้ อย่ารีบร้อนที่จะปฏิบัติไม่เกิดประโยชน์อันใด และอาจเกิดโทษได้เนื่องจากปฏิบัติผิดๆโดยไม่รู้ตัว เช่น เกิดการเบื่อหน่ายท้อแท้ในการปฏิบัติ, หลงเข้าใจผิด เช่น ปฏิบัติผิดไปดับหรือกดข่มความคิดความจำอันดีงามที่ใช้ในกิจหรือชีวิต ฯลฯ. ทั้งๆที่ปฏิบัติมาอย่างถูกต้องแนวทางแล้ว ขอให้โยนิโสมนสิการโดยละเอียดและแยบคาย จนเข้าใจกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้ง จนเกิดปัญญาเห็นแล้ว จึงมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนาในวงจร หรืออุปาทานสังขาร(จิตสังขาร เช่น ความคิด ที่เป็นผลที่เกิดในชาติ) รวมทั้งเวทนา(เวทนูปาทานขันธ์)และสังขารขันธ์(สังขารูปาทานขันธ์)ในองค์ธรรมชรา อันวนเวียนปรุงแต่งเป็นวงจรของอุปาทานขันธ์ ๕ ล้วนๆอันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนต่อเนื่อง และเป็นการเห็นและเข้าใจได้อย่างค่อนข้างสมํ่าเสมอหรือต่อเนื่อง(สัมมาสมาธิ) ดังนั้นท่านที่ยังไม่แจ่มแจ้งในปฏิจจสมุปบาทก็อ่านให้เข้าใจเป็นปัญญาเป็นพื้นฐานเสียก่อนก็ได้ แล้วต้องทำการโยนิโสมนสิการในปฏิจจสมุปบาทธรรมจนหมดวิจิกิจฉาเสียก่อนอื่น จนเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นและเป็นไปเยี่ยงนั้นด้วยเหตุด้วยผลจริง ด้วยตนเองในทุกองค์ธรรม เพราะเป็นบาทฐานอันสำคัญยิ่งในการดำเนินไปในการดับอวิชชา ต้องไม่ใช่แค่การท่องจำหรือจดจำได้ อย่างคล่องแคล่วในองค์ธรรมต่างๆ จึงต้องไม่ใช่ด้วยการน้อมเชื่อด้วยอธิโมกธ์ในพระศาสนาหรือองค์พระศาสดา หรือในข้อเขียน แต่อย่างเดียว ต้องเป็นการเห็นด้วยปัญญา(ปัญญาจักษุ)ในการเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ อวิชชา เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของปุถุชนที่มาพร้อมกับการเกิด คือ ย่อมเกิดมาพร้อมด้วยอวิชชาโดยธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อเกิดมาย่อมยังไม่มีวิชชา คือย่อมไม่มีความรู้หรือปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิดเป็นธรรมดาในธรรมหรือสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงอันครอบคลุมถึงความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องแท้จริงอย่างปรมัตถ์ด้วย อวิชชาจึงเป็นสภาพที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับตัวตนหรือชีวิตโดยถ้วนหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นธรรมดา การดับอวิชชา จึงหมายถึงการทำให้มีวิชชาหรือปัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการที่จะมีวิชชาในธรรมต่างๆที่ใช้ในการดับไปแห่งทุกข์นั้น จึงเป็นสิ่งที่เกิดแต่ปัญญาเป็นเหตุปัจจัยหลัก โดยมีสติและสมาธิเป็นบาทฐานเป็นเครื่องสนับสนุนอันสำคัญยิ่ง ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ จึงต้องมีการเรียนรู้,ศึกษา,ปฏิบัติ หรือต้องสังขารปรุงขึ้นด้วยปัญญานั่นเอง จึงจะเกิดขึ้นได้ และเป็นสังขารชนิดที่ควรทำให้เกิด ทำให้มี ทำให้เป็น และควรทำให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปอย่างยิ่งยวด จึงเป็นภาเวตัพพธรรม-ธรรมที่ควรเจริญให้ยิ่งๆขึ้นไป ตามที่ได้สั่งสมกันมาจากความเข้าใจปฏิจจสมุปบาท จนมีปัญญาเข้าใจ แล้วมีสติเห็น(ระลึกรู้เท่าทัน)เวทนา จิตตสังขารต่างๆ ตลอดจนสภาวธรรมหรือหลักธรรมชาติต่างๆ เช่น หลักอิทัปปัจจยตาอันมีเหตุมีผล เข้าใจอันใดเป็นอุปาทานทุกข์ หรืออุปาทานขันธ์๕อันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลน ที่ควรดับ, อันใดเป็นทุกข์ธรรมชาติที่ยังคงมี ขันธ์๕อันไม่เป็นทุกข์ และธรรมต่างๆ เช่น อริยสัจ ๔ พระไตรลักษณ์เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความอยากความยึดลงกันไปบ้างแล้ว เป็นพื้นฐานที่จักเกิดขึ้นในผู้ที่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทธรรม เห็น(หมายถึงเข้าใจ)ว่ามันเป็นไปเช่นนั้นเองอย่างแจ่มแจ้งด้วยเหตุด้วยผลแล้ว ตลอดจนเข้าใจกระบวนธรรมของขันธ์๕ คือ การทำงานอย่างเนื่องสัมพันธ์กันของขันธ์ทั้ง ๕ ที่มีอยู่ อย่างแจ่มแจ้ง ว่าเป็นสภาวธรรมของชีวิตที่ยังคงมีเกิดมีเป็นเช่นนั้นเป็นธรรมดาจนกว่าจะดับขันธ์ไป เมื่อปฏิบัติวิปัสสนาด้วยการปฏิบัติและพิจารณาปฏิจจสมุปบาท จนมีสติปัญญา เห็น(เข้าใจและระลึกรู้เท่าทัน)เวทนา เห็นจิต สังขารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงจรปฏิจจสมุปบาทแจ่มแจ้งพอควรแล้ว บัดนี้ถึงเวลาที่ใช้สติ และสติอย่างต่อเนื่องนั้น(สัมมาสมาธิ) ตลอดจนสัมมาญาณหรือปัญญา เหล่านี้ที่ได้สั่งสมอบรมมาในการปฏิบัติในขั้นสำคัญยิ่ง กล่าวคือ ดับอวิชชา หรือก็คือ การยังให้มีวิชชาเกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์ ยิ่งขึ้นไปนั่นเอง จึงย่อมยังผลให้ดำเนินไปตามหลักเหตุปัจจัยอันเนื่องสัมพันธ์กัน อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวารหรือฝ่ายดับไปแห่งทุกข์นั่นเอง อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตาเช่นกัน ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร แต่เพราะอวิชชานั่นแลดับ จึงดับสังขารได้ เพราะสังขารดับ จึงดับวิญญาณได้ เพราะวิญญาณดับ จึงดับนาม-รูปได้ เพราะนามรูปดับ จึงดับสฬายตนะได้ เพราะสฬายตนะดับ จึงดับผัสสะได้ เพราะผัสสะดับ จึงดับเวทนาได้ เพราะเวทนาดับ จึงดับตัณหาได้ เพราะตัณหาดับ จึงดับอุปาทานได้ เพราะอุปาทานดับ จึงดับภพได้ เพราะภพดับ จึงดับชาติได้ เพราะชาติดับ จึงดับชรา-มรณะ - โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ได้ อย่างนี้เป็นความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น