วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พระอนันตชินพระอานนท์พระพุทธอนุชา ลำดับที่ 9ปกะคิดถึงเพื่อน เขาไม่มีเพื่อนเลยทีเดียวหรือในโลกนี้ คิดทบทวนอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดภาพแห่งนักพรตรูปงามมีสง่าราศีก็ปรากฏขึ้นในห้วงนึก “เขาบอกว่าเขาชื่ออนันตชิน” อุปกะปรารภกับตนเอง “มีลักษณะดี มีแววแห่งความเมตตากรุณา คนอย่างนี้มันไม่ปฏิเสธคำขอร้องของผู้ตกยากบากหน้ามาพึ่งพิง” ประกอบด้วยบูรพูปนิสัยอันแก่กล้า มีบารมีที่แก่เต็มที่แล้วคอยเตือน ในราตรีที่ดึกสงัดได้ยินเสียงน้ำค้างตกสู่ใบไม้ อุปกะตัดสินใจแน่วแน่ที่จะจากหมู่บ้านพรานเนื้อไป...ไปหาสหายซึ่งพบกันเพียงครู่เดียว แต่ลักษณะและวาจาเป็นที่ประทับใจของเขายิ่งนัก เขาชื่อ ‘อนันตชิน’ ในขณะนั้นแรงเร้าแห่งความรักลูกผุดพลุ่งขึ้นมา ทำให้เขาต้องถอนใจ ความอาลัยในลูกมีมากพอที่ช่วยหน่วงเหนี่ยวเขาไว้อีก ทำให้เขาคิด เมื่อคิดถึงลูกน้อย จิตใจของอุปกะรู้สึกอ่อนลง ดูเหมือนจะไม่อาจจากไปได้ แต่บารมีที่เคยบำเพ็ญมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยสูญหายได้มาเตือน และเร่งเร้าให้เขาคิดถึงพระอนันตชินอย่างแรง คืนนั้นเองอุปกะได้จัดแจงห่อของเท่าที่เป็นของตน และพอพาติดตัวไปได้ เตรียมออกจากวังหการชนบท ก่อนออกเดินทางเขาอดที่จะมองลูกด้วยความอาลัยมิได้ ปุตตวิปโยคเป็นความเศร้าอย่างใหญ่หลวงสำหรับบิดา แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจออกจากวังกหารคามตอนดึกสงัดคืนนั้น เวลานี้จิตใจของเขาคำนึงถึงแต่ภาพแห่งนักพรตรูปงามผู้มีนามว่า ‘อนันตชิน’ มีหลายครั้งที่เขาจะหวนกลับมาหาลูกน้องและบิดา (นายพราน) ผู้มีความปรารถนาดีต่อเขาตลอดมา แต่ความระอาใจต่อสุชาวดี ทำให้เขาหันหลังกลับมุ่งหน้าไปหาสหายอนันตชิน ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่าเวลานี้อยู่แห่งหนตำบลใด ผู้ที่เคยบำเพ็ญพรตมานาน เป็นผู้สลดใจได้เร็ว และมีอำนาจจิตพิเศษในการต่อต้านซึ่งสิ่งที่ต่อต้านได้ยาก มีพลังจิตเข้มแข็งในการที่จะสละสิ่งที่บุคคลสละได้โดยยาก บารมีธรรมที่สั่งสมอยู่ในดวงจิตเป็นสิ่งที่ไม่เคยสูญหาย มันคอยกระตุ้นเตือนให้บุคคลเบนชีวิตไปตามวิถีทางที่เขาเคยเดินมาแล้วเป็นเวลานาน เขาเดินฝ่าความมืดออกไป มีทางเลี้ยวไปทางไหน เขาก็ไปทางนั้น ไปอย่างไม่มีจุดหมาย เขาคิดว่าพออรุณรุ่งก็พอจะหาทางที่แน่นอนได้ และพยายามสืบถามว่า เวลานี้พระอนันตชินอยู่ที่ใด จนกระทั่งสายตะวันโด่ง เขารู้สึกหิวเพราะเดินทางมาเป็นเวลานาน อาหารก็มิได้ติดตัวมาเลย เขาออกจากบ้านอย่างกะทันหัน ไม่มีแผนการล่วงหน้า ดังนั้น เมื่อมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งจึงเข้าไปขออาหารจากชาวบ้านพอประทังหิวแล้วเดินทางต่อไป ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น เที่ยงวันวันหนึ่งอากาศร้อนอบอ้าว หลังจากได้เดินทางเหน็ดเหนื่อยเหงื่อโซมกายแล้ว เขาแวะเข้าพัก ณ ใต้ร่มพฤกษ์ใหญ่ใบหนาลมโชยมาเบา ๆ ต้องผิวกายชุ่มชื่น เขาเอนตัวลงนอนพัก เอารากไม้แทนหมอน และหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย เขาตื่นขึ้นเมื่อพระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตกมากแล้ว รู้สึกชุ่มชื่นและมีกำลัง เขานั่งตรองถึงชีวิตในอดีต โดยเฉพาะเวลา ๒ ปีที่อยู่ร่วมกับสุชาวดี เป็นระยะเวลาที่เขาลำบากชอกช้ำสุดประมาณได้ ลำดับนั้นสุภาษิตเก่า ๆ ที่โบราณบัณฑิตได้กล่าวไว้ก็แจ่มแจ้งแก่เขา ประดุจคบเพลิงสว่างโร่ขึ้นในมุมมืด สุภาษิตนั้นมีดังนี้ - มีบิดาผู้ซึ่งสะสมหนี้สินไว้มากคือศัตรู มีมารดาผู้ซึ่งมิได้ประพฤติในความบริสุทธิ์คือศัตรู มีภรรยารูปงามคือศัตรู มิตรที่ปราศจากความรู้คือศัตรู - ความรู้เป็นประดุจยาพิษ เพราะมิได้ใช้ความรู้นั้นให้เหมาะสม อาหารก็เปรียบเหมือนยาพิษ เพราะไม่ย่อย พระราชวังเป็นประดุจยาพิษสำหรับคนเข็ญใจ ภรรยาสาวก็เปรียบเหมือนยาพิษสำหรับสามีชรา - แสงจันทร์และละอองฝนไม่เป็นที่ยินดีของคนหนาว แสงอาทิตย์ไม่เป็นที่พอใจของคนร้อน สามีชราย่อมไม่เป็นที่ยินดีพอใจของภรรยาสาว - สามีเกศาหงอก ความรักของหญิงสาวผู้ภรรยาจะมีรุนแรงได้อย่างไร ประดุจยาขมหรือไม่ขมก็ตาม ใครจะชอบรับประทานบ้าง เมื่อไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ สตรีจึงเอาใจออกห่างผัวแก่ไปฝักใฝ่ในชายอื่น - ความรักในสมบัติ ความรักชีวิต ย่อมมีอยู่ในบุคคลทั่วไปทุกรูปทุกนาม แต่เมียสาวเป็นที่รักเลิศของผัวเฒ่ายิ่งกว่าหัวใจ - ชายแก่มีสังขารทรุดโทรม แม้หมดกำลังเพื่อความสนุกรื่นรมย์ก็ยังมิวายกระเสือกกระสน เหมือนสุนัขถึงฟันหักเหี้ยน หากพบเนื้อติดกระดูกที่ตนไม่สามารถแทะทึ้งได้ ถึงกระนั้นก็ยังขอแต่ให้ได้เลียก็ยังดี บัดนี้เขาตัดใจจากสุชาวดีได้แล้ว เรื่องเดียวที่วนเวียนอยู่ในจิตของเขา คือสหายผู้มีนามว่า ‘อนันตชิน’ เขารอนแรมมาตามลำพังจนกระทั่งถึงเขตสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล ปัจจุสกาล (ใกล้รุ่ง) วันนั้น พระอนันตชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแผ่ข่ายพระญาณออกครอบจักรวาล มองดูอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ที่พระองค์พอจะโปรดได้ อุปกะเข้าไปในข่ายพระญาณแห่งพระองค์ ทรงทราบโดยตลอดว่า เช้าวันนี้อุปกะจะมาถึงเชตวัน จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในเชตวนารามทั้งหมด แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันนี้ถ้ามีอาคันตุกะมาถามหาบุคคลผู้มีนามว่าอนันตชิน ก็ขอให้พาไปหาเราที่คันธกุฎี” ตรัสเท่านี้แล้ว ทรงให้โอวาทภิกษุสงฆ์เป็นกรณีพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องความเคารพในปฏิสันถาร มีอาทิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้เคารพหนักแน่นในพระศาสดา ในพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์ มีความเคารพหนักแน่นในสมาธิ มีความเพียร เครื่องเผาบาป เคารพในไตรสิกขา และเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อม ดำรงอยู่ใกล้พระนิพพาน” ตอนสายวันนั้นเอง อุปกะก็มาถึงบริเวณเชตวนารามอันร่มรื่น เห็นภิกษุทั้งหลายกำลังสาธยายธรรมบ้าง ทำกิจอย่างอื่นเป็นต้นว่านั่งเป็นกลุ่ม ๆ สนทนาธรรมบ้าง เขาเข้าไปหาภิกษุกลุ่มหนึ่ง นมัสการแล้วกล่าวขึ้นว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีสหายผู้หนึ่งนามว่า ‘อนันตชิน’ เขาเป็นนักพรตที่สง่างาม ผิวพรรณผ่องใส ใบหน้าอิ่มเอิบ มีแววแห่งความกรุณาฉายออกมาทางดวงตาทั้งสอง ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างท่านนี้ ท่านพอจะรู้จักผู้ซึ่งข้าพเจ้าเอ่ยนามถึงนี้อยู่บ้างหรือไม่?” ภิกษุกลุ่มนั้นมองตากันแล้วยิ้ม ๆ ด้วยความอัศจรรย์ใจในการทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าของพระศาสดา ก็พระองค์ตรัสสั่งไว้เมื่อเช้านี้เองว่า ถ้ามีคนมาถามหาพระอนันตชิน ให้พาไปเฝ้าพระองค์ ดังนั้นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจึงกล่าวขึ้นว่า “อุบาสก พระอนันตชินเป็นศาสดาแห่งเราทั้งหลาย พวกเราเป็นสาวกของพระองค์ ไฉนเล่าพวกเราจะไม่รู้จักพระผู้มีนามเช่นนั้น มาเถิด ตามข้าพเจ้ามา จะนำไปเฝ้าพระอนันตชินพระองค์นั้น” ว่าแล้วได้ลุกเดินนำอุปกะไป ถึงพระคันธกุฎี พระพุทธองค์ทรงรอคอยอยู่แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระรัศมีซ่านออกจากพระกายทั้ง ๖ สี ดุจเดียวกับวันที่พระองค์ได้พบอุปกะครั้งแรกเมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ อุปกะก้มลงกราบพระมงคลบาทแห่งพระศาสดา มีน้ำตานองหน้ากราบทูลว่า “ข้าแต่พระอนันตชิน ท่านยังจำข้าพเจ้าได้อยู่หรือ? ข้าพเจ้าเคยพบท่านครั้งหนึ่งแขวงเมืองพาราณสีเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว” “ดูก่อนอุปกะ” พระศาสดาตรัสตอบ “เรารอคอยการมาของท่านอยู่ การมาของท่านครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ท่าน” พอได้ยินคำว่า “อุปกะ” เท่านั้น ปีติปราโมชก็แผ่ไปทั่วสรรพางค์ของอุปกะ ชื่อใดเล่าในโลกนี้นี้จะไพเราะอ่อนหวานยิ่งกว่าชื่อของตนเอง ทุกคนจะดีใจเป็นที่ยิ่ง เมื่อทราบว่าผู้อื่นจำชื่อของตนได้อย่างแม่นยำ หลังจากพรากกันไปเป็นเวลานาน “อุปกะ” พระองค์ตรัสต่อไป “หลังจากกันคราวนั้นแล้วท่านไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร พอทนได้อยู่หรือ? เมื่อก่อนนี้ดูท่านทรงเพศเป็นนักบวช บัดนี้ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงไป?” อุปกะได้เล่าความหลังทั้งมวลให้พระศาสดาทราบโดยตลอดแล้วทูลเพิ่มเติมว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เดินหลงทางอยู่เป็นเวลานาน บัดนี้มาพบพระองค์เป็นครั้งที่สอง คงจะดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง พระองค์ผู้อนุเคราะห์โลกโปรดอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด” พระจอมมุนีศรีศากยบุตร ประทับนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสว่า “ดูก่อนอุปกะ การครองเรือนเป็นเรื่องยาก เรือนที่ครองไม่ดีย่อมก่อทุกข์ให้มากหลาย การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง อุปกะเอย เครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย แต่เครื่องจองจำคือ บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัตินี่แล รึงรัดมัดผูกสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในภพ ไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องผูกที่ผูกหย่อน ๆ แต่แก้ได้ยาก คือ บ่วงบุตร ภรรยา และทรัพย์สมบัตินี่เอง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ นั้นเป็นเหยื่อของโลก เมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูป เป็นต้น เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย ไม่มีรูปใดที่จะรัดรึงใจของบุรุษได้มากเท่ารูปแห่งสตรี ดูก่อนอุปกะ ผู้ยังตัดอาลัยในสตรีมิได้ ย่อมจะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ร่ำไป แม้สตรีก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังตัดอาลัยในบุรุษไม่ได้ ย่อมประสบทุกข์บ่อย ๆ กิเลสนั้นมีอำนาจครอบคลุมอยู่โดยทั่ว ไม่เลือกว่าในวัยและเพศใด “ดูก่อนอุปกะ เราจะขอสาธกให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง” นานมาแล้ว มีมานพหนุ่มน้อยลามารดาบิดาไปเรียนศิลปวิทยา ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา เมื่อเรียนจบแล้วจึงลาอาจารย์กลับบ้าน มารดาต้อนรับเขาด้วยความยินดียิ่ง เมื่อสนทนากันไป มารดาถามว่า ลูกได้เรียนอสาตมนต์แล้วหรือ ลูกชายตอบว่า ยังไม่ได้เรียน มารดาจึงขอร้องให้ไปเรียนอสาตมนต์เสียก่อน เขาจึงลามารดาไปหาอาจารย์ กราบเรียนให้อาจารย์ทราบว่ายังมีมนต์สำคัญอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเขายังมิได้เรียนจากอาจารย์ มารดาของเขาขอร้องไห้มาเรียนอสาตมนต์ อาจารย์ได้ทราบดังนั้นยินดียิ่งนัก จึงกล่าวว่า “มานพ เวลานี้เรามาพักอยู่ในป่า ไม่มีใครเลยนอกจากเราและมารดาผู้ชราของเรา เธอจงปฏิบัติบำรุงมารดาของเราสักชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วเราจะบอกอสาตมนต์ให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น