วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

วิธีละความยินดีในโลกียสุขของพระอนาคามีบุคคลอุปาทาน อุปาทาน ความยึดมั่น, ความถือมั่นยึดมั่นด้วยอำนาจของกิเลส หรือความยึดมั่นถือมั่นให้เป็นไปตามอำนาจของตัณหา หรือความยึดมั่นถือมั่นตามความพึงพอใจของตัวของตน มี ๔ ประการ คือ ๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือ ยึดมั่นใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ(สัมผัส) เนื่องด้วยตัณหาความกำหนัดในสิ่งต่างๆเหล่านั้นด้วยอำนาจของกิเลส ไม่รู้ด้วยอวิชชาว่าสังขารเหล่านั้นทั้งหลายทั้งปวงล้วนอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา เป็นธรรมดา จึงควบคุมไม่ได้อย่างแท้จริง (กามุปาทาน - ความยึนมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก) ๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ คือ ยึดมั่นในความเห็น ความเชื่อ ความคิด หรือในทฤษฎีของตัวของตน จึงไม่เชื่อหรือแอบต่อต้านในสิ่งต่างๆที่ขัดแย้งหรือไม่ลงรอยไปกับความคิด ความเห็น ความเชื่อ หรือทฤษฎีของตัวของตนเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจิตจึงไม่ยอมศึกษาหรือพิจารณาอย่างจริงจังในความคิดความเห็นอื่นๆที่ถูกต้องและดีงามแต่ขัดแย้งกับความเชื่อความเห็นเดิมๆของตน เกิดความรู้สึกต่อต้าน ขัดแย้ง ไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ที่ไม่ตรงความเชื่อความเข้าใจของตัวของตนโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา จึงทำให้ไม่สามารถเห็นหรือเข้าใจในสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงที่เป็นไปของธรรมหรือสิ่งนั้นๆได้อย่างปรมัตถ์หรือถูกต้องดีงาม (ทิฏฐุปาทาน - ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก) ๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีล(ข้อสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด) และพรต(ข้อที่พึงถือปฏิบัติ) แต่เป็นการยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลส ดังเช่น ตามความเชื่อหรือตามการปฏิบัติที่ทำตามๆกันต่อมาแต่ไม่ถูกต้องโดยงมงายด้วยอวิชชา เช่น พ้นทุกข์ได้โดยถือศีลแต่ฝ่ายเดียวไม่ต้องปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญา, ปฏิบัติแต่สมาธิแล้วจะบรรลุมรรคผลต่างๆจากสมาธิโดยตรงจึงขาดการวิปัสสนา, อ้อนวอนบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนาๆ, ทรมานตนเพื่อบรรลุธรรม, คล้องพระเพื่อคงกระพัน โชคลาภ, ทำบุญแต่ฝ่ายเดียวเพื่อหวังมรรคผล, ล้างบาปได้ (สีลัพพตุปาทาน - ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่ากระทำสืบๆ กันมา หรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก) ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในคำพูด(วาทุ-วาทะ)ที่ใช้แสดงความเป็นของตัวเป็นของตน จึงเกิดการไปหลงคิดหลงยึดหรือจดจำ(สัญญา)เอาอย่างเป็นจริงเป็นจังว่าเป็นของตัวของตนอย่างแท้จริงโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา กล่าวคือ เกิดความหลงยึดเนื่องจากวาทะการพูดจาเพื่อใช้สื่อสารกันให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันในสิ่งต่างๆในทางโลกโดยไม่รู้ตัวและซึ่งย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างประจำสมํ่าเสมอในการดำรงชีวิต จึงเกิดการซึมซับแล้วซึมซ่านไปย้อมจิตให้หลงไปยึด ไปหลงในคำพูดต่างๆเหล่านั้นว่า เป็นจริงเป็นจังอย่างจริงแท้แน่นอน เช่น คำพูดในการแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น นี่บ้านฉัน นั่นรถฉัน แฟนฉัน สมบัติฉัน นี่ของฉัน จิตจึงไปหลงยึดด้วยอวิชชาความเคยชินในคำพูดที่แสดงความเป็นตัวของตนเหล่านั้น ที่ใช้สื่อสารเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในทางโลกๆเข้าไปโดยไม่รู้ตัวอยู่เป็นประจำด้วยอวิชชา (รายละเอียดเพิ่มเติม) (อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก) สิ่งต่างๆทั้ง๔ เหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เริ่มเป็นไปตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน หรือเป็นไปดังนี้เสียนานจนไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น โดยไม่เคยคิดที่จะหยุดยั้งกระบวนการจิตเหล่านี้เลย เนื่องเพราะความไม่รู้(อวิชชา)นั่นเอง จึงปล่อยให้เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติของปุถุชนหรือสรรพสัตว์ทั่วไป ดังนั้นอุปาทานนี้จึงมีอยู่แล้วตามที่ได้สั่งสมมาแต่ช้านานดังข้างต้น แต่ในสภาพที่นอนเนื่องอยู่ ยังไม่ได้ถูกกระตุ้นเร่งเร้าด้วยเหตุปัจจัยใดๆ จึงอยู่ในสภาพที่เรียกกันทั่วๆไปว่า ดับ อยู่ กล่าวคือ นอนเนื่องอยู่อยู่ในสภาพของอาสวะกิเลส หรือกิเลสที่นอนเนื่องซึมซาบย้อมจิตนั่นเอง เมื่ออุปาทานที่นอนเนื่อง ในรูปของอาสวะกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดการถูกกระตุ้นปลุกเร้า เหตุปัจจัยโดยตรงที่ปลุกเร้าก็คือตัณหา อันเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อเกิดตัณหาความอยากหรือไม่อยากใน เวทนา (ความรู้สึกรับรู้อันเกิดแต่การผัสสะ) อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นในจิตแล้ว สิ่งเหล่านั้นยังเป็นเพียงแค่ความปรารถนาอันเกิดมาแต่เวทนา แต่ยังไม่เกิดขึ้นหรือเป็นเพียงนามธรรมอยู่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล โดยธรรมชาติของจิต จึงต้องเกิดปฏิกริยาต่อตัณหาเหล่านั้นตามอุปาทานที่สั่งสมไว้ดังข้างต้น โดยการตั้งเป้าหมายหรือการที่ต้องยึดมั่น ก็เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายหรือสัมฤทธิ์ผลเป็นตัวเป็นตนขึ้นตามความต้องการ ให้เป็นไปตามตัณหาความปรารถนาของตัวของตนนั้นๆที่เกิดขึ้น ก็เพื่อให้ตัวตนของตนได้รับความพึงพอใจจากการได้รับการตอบสนองอันเป็นไปตามตัณหาความอยากนั่นเอง อันเป็นพื้นฐานโดยธรรมชาติในการดำรงคงชีวิตอย่างหนึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย และในทางธรรมะก็จัดว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมชาติ เพียงแต่เป็นธรรมชาติที่ก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นของสรรพสัตว์โดยถ้วนหน้าด้วยเช่นกัน เมื่ออุปาทานเกิดขึ้น ที่หมายถึง อุปาทานที่สั่งสมนอนเนื่องอยู่ได้ถูกปลุกเร้าให้ผุดขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยตัณหาเป็นปัจจัยแล้ว สิ่งต่างๆที่ดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปต่อจากนั้นในจิต จึงย่อมถูกครอบงำไว้ด้วยกำลังของอุปาทาน ที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความพึงพอใจของตัวของตนเป็นสำคัญโดยไม่รู้ตัว จึงไม่เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเกิดขึ้นและเป็นไปตามความเป็นจริง แต่เห็นและอยากให้เป็นไปตามความพึงพอใจของตัวของตนเป็นสำคัญแต่ฝ่ายเดียวและโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา จึงผูกมัดสัตว์ไว้กับกองทุกข์มาตลอดกาลนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น