พระพุทธเจ้าบอก
ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐาน
โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
พระอรหันต์คือพวกไหน
พระอรหันต์ คือ ท่านผู้ซึ่งไม่ยึดถือ
ในรูปนาม/ขันธ์ ๕ ไม่ยึดถือสิ่งใดอีกแล้ว
.
ทำไมท่านไม่ยึดถือ
เพราะท่านได้เจริญสติปัฏฐาน
ท่านมีสติรู้สึกกาย ท่านมีสติรู้สึกจิตใจอยู่เรื่อยนะ
จนเห็นความจริงเลย ร่างกายไม่ใช่เรา
ความสุข-ความทุกข์ ไม่ใช่เรา กิเลส ไม่ใช่เรา
จิตใจ ก็ไม่ใช่เรา อะไรๆ ก็ไม่ใช่เราไปหมด
เนี่ยท่านก็ภาวนาไปเรื่อย
เบื้องต้นจะเห็นว่า มันไม่ใช่เรานะ ได้พระโสดาบัน
เบื้องปลายจะเห็นเลยว่า
ตัวที่มันไม่ใชเรา มันเป็นอะไร..?
มันเป็นตัวทุกข์
กายนี้ เป็นตัวทุกข์
เวทนา เป็นความสุข-ทุกข์ เป็นตัวทุกข์
สังขาร ก็เช่นกิเลสทั้งหลาย เป็นตัวทุกข์
จิต ที่ไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เป็นตัวทุกข์
ถ้าเห็นได้ถึงขนาดนี้ จิตจะสลัดคืนจิตให้โลก
แล้วก็จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
สิ่งที่เรายึดถือเหนียวแน่นที่สุด ก็คือจิตของเรา
สิ่งที่เราสำคัญมั่นหมายเหนียวแน่นว่า
เป็นตัวเรามากที่สุด ก็คือจิตนี่เอง
จิตนี้เป็นที่ตั้งเลย เป็นตัวใหญ่ เป็นตัวหลักเลย
ถ้าเราไม่เห็นว่า จิตเป็นตัวเรา
ก็จะไม่เห็นว่า สิ่งใดในโลกเป็นตัวเรา
ถ้าเห็นความจริงแล้วว่า จิตเป็นตัวทุกข์
ในโลกนี้จะเป็นตัวทุกข์ทั้งหมดเลย
แล้วจิตตัวเดียวนี้เอง
ถ้าเรารู้แจ่มแจ้ง ความพ้นทุกข์ก็จะเกิดขึ้น
สลัดคืนจิตให้โลกได้เมื่อไหร่นะ
ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นแหละ
.
มันสลัดได้จริงๆนะ
แต่ถ้าพวกเราหัดใหม่ๆ มันยังไม่สลัดคืนจิตให้โลก
มันสลัดอารมณ์ได้
ใครเคยเห็นบ้างว่า
จิตปล่อยอารมณ์ได้ ยกมือให้หลวงพ่อดูซิ
พวกที่ฟังหลวงพ่อมาแล้ว ยกสูงๆหน่อย
ก็พอสมควรนะ
เห็นมั้ย จิตกับอารมณ์
บางทีมันก็เข้าไปจับ ใช่มั้ย
บางทีมันก็ปล่อย บางทีมันก็จับ บางทีมันก็ปล่อย
ใครเห็นแบบนี้บ้าง ยกมือซิ มีมั้ย..?
ก็เยอะแล้วนะ
ไปหัดดูนะ สุดท้ายจะรู้เลย
จิตมันจะเข้าไปจับอารมณ์ มันก็จับได้เอง
จะปล่อยอารมณ์มันก็ปล่อยได้เอง
นี่แค่ปล่อยอารมณ์
สังเกตมั้ย
พอจิตปล่อยอารมณ์ได้ มีความสุขเยอะแยะเลย
สบายขึ้นเยอะเลย
ลองคิดดูสิ ถ้าจิตมันปล่อยขันธ์ได้ มันจะสุขขนาดไหน
นี่แค่ปล่อยอารมณ์นะ
ถ้าจิตมันปล่อยตัวมันเองได้
มันจะสุขมหาศาลขนาดไหน
มันสุข เรียกว่า สุขปางตายเลยนะ
ในขณะที่อริยมรรค อริยผลเกิดขึ้นนั้น
เป็นความสุขที่มหาศาลจริงๆเลย
งั้นพวกเราต้องฝึกนะ
.
สรุปให้ฟัง
เอาง่ายๆ เลยนะ
เบื้องต้น ตั้งใจรักษาศีล ๕ ไว้ก่อน
ศีล ๕ เป็นมาตรฐานขั้นต่ำของมนุษย์
ถ้าเสียศีล ๕ ไป จิตใจจะฟุ้งซ่าน
.
อันที่ ๒
พยายามฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
ทำกรรมฐานขึ้นสักอย่างหนึ่ง
ช่วงไหนที่จิตใจว้าวุ่นมาก
ก็ให้จิตไปจับอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน เรียกว่าทำสมถะ
ช่วงไหน จิตใจสงบพอสมควรแล้ว
ก็ค่อยๆฝึก แยกไปนะ
เห็นว่า ร่างกาย ก็เป็นของที่จิตไปรู้เข้า
อะไรๆ ก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ค่อยๆฝึกไปเรื่อยนะ
จิตใจมันจะเป็นคนดูออกมานะ
ค่อยๆ แยกขันธ์ไปเรื่อย
ฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
ด้วยการรู้ทันว่า จิตมันเคลื่อนไป
เคลื่อนไปคิด เคลื่อนไปเพ่งอารมณ์
ถ้ารู้ทันว่า จิตมันเคลื่อนไป จิตจะตั้งมั่น
.
สรุปนะ อีกที
ข้อ ๑. รักษาศีล ๕ ไว้
ข้อ ๒. ฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว
ใจลอยไปแล้วรู้ ใจลอยไปแล้วรู้ ฝึกอย่างนี้นะ
แต่ถ้าวันไหนจิตมันฟุ้งซ่านมาก
ก็เอาจิตเข้าไปจับอารมณ์ให้นิ่งๆไปเลย พักผ่อน
(ทำสมถกรรมฐาน)
ถ้าวันไหนมีแรง
เอาแค่ว่า ใจลอยแล้วรู้
ใจลอยแล้วรู้ไปเรื่อยนะ
ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งนะ
พุทโธไป หายใจไป แล้วใจลอยไป แล้วรู้
ใจเคลื่อนไปเพ่งลมหายใจ ก็รู้
ใจเคลื่อนไปเพ่งท้อง เพ่งเท้า ก็รู้
เนี่ย รู้อย่างนี้เรื่อยๆ
ในที่สุดจิตใจจะตั้งมั่น จิตใจจะอยู่กับเนื้อกับตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น