วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558
โอวาทพระอานนท์ 3พระอานนท์ก็อาการแช่มชื่นแจ่มใสขึ้น เพราะพระดำรัสประโลมใจของพระศาสดานั้น เย็นวันนั้นเอง พุทธบริษัทแห่งนครโกสัมพีผู้ใคร่ต่อธรรมมีมือถือดอกไม้ธูปเทียน และสุคันธชาติหลากหลายต่างมุ่งหน้าสู่โฆสิตาราม เพื่อฟังธรรมรสจากพระพุทธองค์ เมื่อพุทธบริษัทพรั่งพร้อมนั่งอย่างมีระเบียบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสก (สบง = ผ้าสำหรับนุ่ง) ซึ่งย้อมไว้ด้วยดีแล้ว ทรงคาดพระกายพันธนะ (ประคตเอว = ผ้ารัดเอว) อันเป็นประดุจสายฟ้า ทรงครองสุคตมหาบังสุกุลจีวร อันเป็นประดุจผ้ากัมพลสีเหลืองหม่น เสด็จออกจาพระคันธกุฎีสู่ธรรมสภาด้วยพุทธลีลาอันงามยิ่งหาที่เปรียบมิได้ ประดุจวิลาสแห่งพระยาช้างตัวประเสริฐ และประดุจอาการเยื้องกรายแห่งไกรสรสีหราช เสด็จขึ้นสู่บวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ดีแล้วท่ามกลางมณฑลมาล ซึ่งประทับตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา ทรงเปล่งพระฉัพพัณณรังสีประดุจพระอาทิตย์เปล่งแสงอ่อนๆ บนยอดภูเขายุคันธร เมื่อสมเด็จพระจอมมุนีเสด็จมาถึง พุทธบริษัทก็เงียบกริบ พระพุทธองค์ทรงมองดูพุทธบริษัทด้วยพระหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยเมตตา ทรงดำริว่า "ชุมนุมนี้ ช่างงามน่าดูจริง จะหาคนคะนองมือคะนองเท้า หรือมีเสียงไอเสียงจามไม่ได้เลย ชนทั้งหมดนี้มีคารวะต่อเรายิ่งนัก ถ้าเราไม่พูดขึ้นก่อน แม้จะนั่งอยู่นานสักเท่าใดก็จะไม่มีใครพูดอะไรเลย แต่เวลานี้เป็นเวลาแสดงธรรม" พระองค์ทรงดำริเช่นนี้แล้วจึงส่งข่ายแห่งพระญาณของพระองค์ไปสำรวจพุทธบริษัทว่า ใครหนอจะสามารถบรรลุธรรมเบื้องสูงได้บ้างในวันนี้ ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยแห่งภิกษุณีโกกิลาว่า มีญาณแก่กล้าพอจะบรรลุธรรมได้ พระพุทธองค์จึงทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะกังวาน ดังนี้ "ดูก่อนท่านทั้งหลาย! ทางสองสายคือกามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขสายหนึ่ง และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานกายให้ลำบากเปล่าสายหนึ่ง อันผู้หวังความเจริญในธรรมพึงละเว้นเสีย ควรเดินทางสายกลาง คือเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ คือความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดชอบ การทำชอบ การประกอบอาชีพในทางสุจริต ความพยายามในทางที่ชอบ การตั้งสติชอบ และการทำสมาธิชอบ "ดูก่อนท่านทั้งหลาย! ความทุกข์เป็นความจริงประการหนึ่งที่ชีวิตทุกชีวิตจะต้องประสบบ้างไม่มากก็น้อย ความทุกข์ที่กล่าวนี้มีอะไรบ้าง? ท่านทั้งหลาย! ความเกิดเป็นความทุกข์ ความแก่ความเจ็บความตายก็เป็นความทุกข์ ความแห้งใจ หรือความโศกความร่ำไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันไม่เป็นที่พอใจ ปรารถนาอะไรไม่ได้ดังใจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความทุกข์ที่บุคคลต้องประสบทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยสรุปการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ด้วยตัณหาอุปาทานนั่นเองเป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่ "ท่านทั้งหลาย! เราตถาคตกล่าวว่าความทุกข์ทั้งมวลย่อมสืบเนื่องมาจากเหตุ ก็อะไรเล่าเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น เรากล่าวว่าตัณหานั้นเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากดิ้นรน ซึ่งมีลักษณะเป็นสามคือดิ้นรนอยากได้อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนาเรียกกามตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากเป็นนั่นเป็นนี่เรียกภวตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากผลักสิ่งที่มีแล้วเป็นแล้วเรียกวิภวตัณหาอย่างหนึ่ง นี่แลคือสาเหตุแห่งทุกข์ขั้นมูลฐาน "ท่านทั้งหลาย การสละคืนโดยไม่เหลือซึ่งตัณหาประเภทต่างๆ ดับตัณหาคลายตัณหาโดยสิ้นเชิงนั่นแล เราเรียกว่านิโรธคือความดับทุกข์ได้ "ทางที่จะดับทุกข์ดับตัณหานั้นเราตถาคตแสดงไว้แล้ว คืออริยมรรคมีองค์ ๘" "ท่านทั้งหลายจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย เราตถาคตเองเป็นที่พึ่งแก่ท่านทั้งหลายไม่ได้ ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางบอกทางเท่านั้น ส่วนความเพียรพยายามเพื่อเผาบาปอกุศล ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ทางมีอยู่เราชี้แล้วบอกแล้ว ท่านทั้งหลายต้องเดินเอง" พระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันนั้น เหมือนเจาะจงเทศนาแก่ภิกษุณีโกกิลาโดยเฉพาะ นางรู้สึกเหมือนพระองค์ประทับแก้ปัญญาหัวใจของนางให้หลุดร่วง สมแล้วที่ใครๆ พากันชมพระพุทธองค์ ว่าเป็นเหมือนดวงจันทร์ ซึ่งทุกคนรู้สึกเหมือนว่าจงใจจะส่องแสงสีนวลไปให้แก่ตนเพียงคนเดียว โกกิลาภิกษุณีส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาปลดเปลื้องสังโยชน์คือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจทีละชั้น จนสามารถประหารกิเลสทั้งมวลได้สำเร็จมรรคผลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งด้วยประการฉะนี้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น