วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558
พระ พุทธองค์ทรงแสดงโทษของกามแก่ โปตลิยคหบดี ณ นิคมชื่อ อาปณะของชาวอังคุตตราปะ ในแคว้นอังคุตตราปะ เช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในอาปณนิคม เมื่อเสวยเสร็จแล้ว เสด็จประทับพักผ่อนที่ราวป่าแห่งหนึ่ง ประทับนั่งใต้ต้นไม้ ครั้งนั้น โปตลิยคหบดีถือร่ม สวมรองเท้าเดินเข้าไปในแนวป่านั้นเพื่อพักผ่อนเช่นเดียวกัน พระศาสดาทรงทักทายและทรงเชื้อเชิญให้นั่ง แต่ทรงเรียกเขาว่า คหบดี (ผู้มั่งคั่งหรือผู้ครองเรือน) “คหบดี ที่นั่งมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ก็ขอเชิญนั่งเถิด” ตรัสอย่างนี้ โปตลิยะไม่พอใจที่เรียกเขาว่า คหบดี พระศาสดาตรัสถึง 3 ครั้ง เขาจึงทูลว่าที่เรียกเขาว่าคหบดีนั้นไม่สมควร เพราะเขาเลิกการงานหมดแล้ว เลิกโวหารหมดแล้ว พระศาสดาตรัสว่า อาการ เพศ และเครื่องหมาย (เช่น การแต่งกาย ร่ม และรองเท้า) ของท่านล้วนเหมือนคหบดีทั้งสิ้น จึงเรียกท่านเช่นนั้น อนึ่งเล่าที่ท่านกล่าวว่าเลิกการงานทั้งปวงแล้ว ตัดโวหารทั้งปวงแล้วนั้นเป็นอย่างไร คหบดีทูลว่า ข้าพเจ้ามอบทรัพย์สินสมบัติทั้งปวงให้ลูกหมดสิ้นแล้ว เลิกว่ากล่าวสั่งสอนเขาโดยประการทั้งปวง ที่เรียกว่าเลิกการงานและเลิกโวหารหมดแล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่า การเลิกโวหารของท่านเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนการเลิกโวหารของในอริยวินัย (ธรรมเนียมของอริยเจ้า) เป็นอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน คหบดีทูลขอให้ทรงแสดงการเลิกโวหารในอริยวินัย จึงทรงแสดงโดยย่อดังนี้ ๑. เลิกปาณาติบาต ๒. เลิกอทินนาทาน ๓. เลิกพูดเท็จ ๔. เลิกพูดส่อเสียด ๕. เลิกติดใจแม้ในของๆตน (คิทธิโลภะ) ๖. เลิกโกรธเลิกนินทา ๗. เลิกคับแค้นเพราะโกรธ ๘. เลิกดูหมิ่นผู้อื่น เมื่อเลิกได้อย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ต้องร้อนใจเพราะกิเลสเหล่านั้น การที่จะต้องถูกติเตียนจากวิญญูชนก็ไม่มี ตนเองก็ไม่ต้องติเตียนตนเอง ไม่ต้องไปทุคติเมื่อสิ้นชีพแล้ว นี่คืออานิสงส์แห่งการเลิกปาณาติบาต เป็นต้น เพียงเท่านี้ยังไม่เรียกว่า การเลิกโวหารในวินัยของพระอริยะเสียทีเดียว คหบดีขอให้ทรงแสดงต่อไปว่า อย่างไรเรียกว่าเลิกโวหารอย่างเด็ดขาดในวินัยของพระอริยะ พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นโทษของกามว่า ๑. กามทั้งหลายไม่ทำให้บุคคลอิ่มในกามได้เลย เหมือนกระดูกสัตว์ที่ไม่มีเนื้อติดอยู่ เปื้อนเลือดอยู่เพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้สุนัขตัวที่แทะกระดูกนั้นอิ่มได้ สุนัขนั้นเหนื่อยเปล่า กามทั้งหลายมีรสอร่อยน้อย มีโทษมาก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก เมื่อเห็นโทษของกามอย่างนี้แล้ว ทำจิตใจให้วางเฉยในกาม ไม่ยึดมั่นในเหยื่อของโลก (คือกาม) (อฏฐิกงกลูปมา กามา) ๒. กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่สัตว์แย่งกัน จิกตีกันเพื่อได้เนื้อชิ้นนั้น ถ้าไม่ปล่อยเสียมีหวังถูกตีจนตาย (มํสเปสูปมา กามา) ๓. กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงที่คนเดินถือทวนลม ย่อมทำให้ผู้ถือร้อน อาจไหม้มือพอง ถ้าไม่วางเสีย (ติณุกกูปมา กามา) ๔. กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงลึกท่วมหัวคน เต็มไปด้วยถ่านเพลิงอันร้อนแรง (องคารกาสูปมา กามา) ใครตกลงไปย่อมเดือดร้อนถึงตาย ๕. กามทั้งหลายเปรียบเหมือนสิ่งที่เห็นในฝัน (สุปินกูปมา กามา) ๖. กามทั้งหลายเปรียบเหมือนของที่ยืมเขามา (ยาจิตกูปมา กามา) เป็นของใช้ชั่วคราว ไม่นานต้องคืนเจ้าของไป ๗. กามทั้งหลายเปรียบเหมือนต้นไม้มีผลดก (รุกขผลูปมา กามา) ย่อมถูกทำลายถึงกับถูกโค่นต้นลงด้วยมือของบุรุษผู้โง่เขลา เห็นต้นไม้มีผลดกแต่ขึ้นต้นไม้ไม่เป็น ต้องการผลของมันจึงโค่นทั้งต้น ชายคนแรกที่ขึ้นกินอยู่บนต้นย่อมตกลงมาพร้อมด้วยการโค่นล้มของต้นไม้ อาจถึงตายหรือเจ็บปางตาย เมื่อเห็นโทษของกามอย่างนี้แล้ว ทำจิตให้วางเฉยในกาม ไม่ยึดมั่นในเหยื่อของโลกคือกาม เมื่อสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลแล้ว น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ ย่อมระลึกชาติได้บ้าง รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายบ้าง ย่อมได้เจโตวิมุติและปัญญาวิมุติอันยอดเยี่ยม หากิเลสมิได้ อย่างนี้แลเรียกว่าเป็นการเลิกโวหารโดยประการทั้งปวงในวินัยของพระอริยะ โปตลิยคหบดีเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ทูลสรรเสริญว่า พระพุทธองค์เป็นสมณะที่น่าเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง และขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิตเราเห็นโทษในกามทั้งหลายเราสลัดตนจากกามทั้งปวงเราได้บรรลุความสิ้นอาสวะแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น