วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ถ้ามีความอยากก็จะมีความทุกข์ ถ้าไม่มีความอยากแล้วไม่ทุกข์ จะเห็นอย่างนี้

แต่ละคนนี้เหมือนหมูกระดาษนะ พวกเราเป็นหมูกระดาษคนละตัว แต่บางตัวก็เป็นหมากระดาษ เราปั้นขึ้นมา ถ้าเรารู้ตัวจริง มันไม่ได้มีจริง เราค่อยๆลอกเปลือกมันออก ลอกสิ่งที่เราปรุงแต่งออกไป ลอกออกไปเป็นชั้นๆ ลอกออกไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจะเข้าไปถึงตัวจริงของมัน ตัวจริงของมันไม่มีอะไรเลย มันมาจากความว่างเปล่า แล้วก็สร้างขึ้นมาจนเป็นตัวเป็นตน แต่ถ้าเมื่อไหร่เราลอกเปลือกตัวเองไปเรื่อย ลอกความปรุงแต่งไปเรื่อย จนถึงสุดท้าย ลอกชั้นในสุดออกไป ภายในมันก็เป็นความว่างๆใช่ไหม อาจจะขังอากาศอยู่ พอเปลือกกระดาษหลุดออกไปแล้ว อากาศนั้นกระจายรวมเข้ากับอากาศข้างนอกนั่นเอง


ฉะนั้นการภาวนานี้ก็เหมือนกันนะ ถ้าจิตพ้นจากความห่อหุ้มแล้ว จิตไม่มีเปลือกห่อหุ้ม ไม่ได้สร้างภพใดๆมาห่อหุ้มมันแล้ว มันจะกลืนเข้ากับอากาศข้างนอกนั่น จะกลืนเข้ากับโลก ฉะนั้นเราภาวนาจนถึงจุดสุดท้าย จิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ จะกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน

หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อ บอกว่า ถ้าวันใดเธอเห็นจิตกับสิ่งที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกันนะ เธอจะแจ่มแจ้งฉับพลันนั้นเลย เราฟังเราก็นึกว่าเป็นวิธีปฏิบัตินะ แต่ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ก็ดูจิตของเราไปเรื่อย ดูไป จนกระทั่งวันหนึ่ง พอเราไม่ยึดถือจิตซะอย่างเดียว เราสลัดคืนจิต จิตกับโลกนี้กลืนเข้าด้วยกัน เป็นอันเดียวกัน คนไหนเป็นนักดูจิตคนอื่น ไม่ใช่นักดูจิตตัวเอง นักดูจิตคนอื่นที่ชำนาญ พอไปเจอท่านที่ภาวนาที่ปล่อยวางจิตแล้ว จะพบว่าจิตของท่านเหล่านี้กลมกลืนเข้ากับโลก กลมกลืนเป็นอันเดียวกันกับโลก แต่อันนี้เขาไม่สามารถเห็นจิตที่พ้นโลกได้ เขาเห็นแต่จิตที่กลมกลืนเข้ากับโลก เหมือนอากาศในหมูกระดาษนี้ที่รวมเข้ากับอากาศ กับโลกข้างนอก เป็นอันเดียวกันนั่นเอง อันนี้เล่าให้ฟังเล่นๆนะ เพื่อยั่วน้ำลาย

วันหนึ่งถ้าพากเพียรไป ดูกายดูใจของเราไป เราปอกเปลือกของตัวเองออกไปจนล้อนจ้อนไม่มีอะไรเหลือเลย เราจะพบตัวจริง ของเราซึ่งไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น เราภาวนาไปแล้วเราจะไม่ได้อะไรมา และเราจะไม่ได้เสียอะไรไป เพราะเราไม่มีอะไรอยู่ตั้งแต่้แรกแล้ว จะไม่มีอะไรเลย

จิตถัดจากนั้นจะเป็นอย่างไร จิตที่ปล่อยวางจิตไปแล้ว จะมีแต่ความสุขล้วนๆ ยืนเดินนั่งนอนมีแต่ความสุขล้วนๆเลย เกิดอะไรขึ้น จิตจะไม่มีกระเพื่อมไหวเลย กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติ ฉะนั้นจิตกับธรรมะก็เป็นอันเดียวกัน หลอมหลวมเข้าด้วยกัน จิตที่หลอมรวมเข้ากับธรรมแล้ว จิตกับธรรมะก็เป็นอันเดียวกัน จิตอันนั้นเรียกว่า “พระสงฆ์” จิตอันนั้นเป็น “พระพุทธ-พุทธะ” พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเดียวกัน เป็นเรื่องที่แปลกนะ เวลาเราภาวนาเืบื้องต้น เราก็รู้ึสึก พระพุทธก็อันนึง พระธรรมก็อันนึง พระสงฆ์ก็อันนึง แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นอันเดียวกัน ในเนื้อแท้แล้วเป็นอันเดียวกัน เป็นความไม่มีอะไรนี่เอง เป็นธรรมะนั่นเอง แต่ไม่ใช่แบบว่างเปล่าสาบสูญ ถ้าสาบสูญเป็นมิจฉาทิฐิ มีแต่ความสุขล้วนๆเลย เวลาที่เรากระทบ เราสัมผัส เราระลึกถึง เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกจนถึงจุดที่ว่าเราปล่อยวางจิตได้แล้ว เวลาที่เรามนสิการถึงนิพพาน นิพพานกับจิตก็สัมผัสกันอยู่ตรงนั้นเลย นิพพานไม่ใช่ต้องเข้าสมาธิก่อนแล้วส่งจิตไปดู ไม่ใช่

ค่อยฝึกนะ เราจะมีความสุขมหาศาลรออยู่ข้างหน้า หัดเบื้องต้นก็มีความสุขเล็กน้อยไปก่อน คนไม่เคยมีสติ พอมีสติขึ้นมาก็มีความสุข คนไม่มีศีล พอมีศีลขึ้นมาก็มีความสุข คนไม่เคยมีสัมมาสมาธิ พอจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น ไม่หลง ไ่ม่เผลอตามอารมณ์ สักว่ารู้ สักว่าเห็น มีความสุข จิตที่มีวิมุติมีปัญญาขึ้นมาก็มีความสุข มีวิมุติขึ้นมาก็มีความสุข

เพราะฉะนั้นเราภาวนาไป จะมีความสุขเป็นลำดับๆไป เบื้องต้นมีความสุขจากการรู้สึกตัวก่อน หัดตัวนี้ให้ได้ก่อน พอเรามีความสุขที่ได้รู้สึกตัว เราจะรู้สึกตัวบ่อย เพราะเราชอบแล้ว เราชอบรู้สึกตัว เราชักไม่ชอบเผลอแล้ว แต่เดิมคิดว่าเผลอๆ เพลินๆ มีความสุข รู้สึกตัวไม่มีความสุขเพราะรู้สึกตัวแล้วเห็นแต่ทุกข์ เห็นกายเป็นทุกข์ เห็นใจเป็นทุกข์ แต่พอเรารู้สึกตัวเป็น รู้สึกไปเรื่อย เราพบว่าทันทีที่รู้สึกตัว มีความสุขขึ้นมา มีความสุขโชยแผ่วๆขึ้นมา สุขอยู่ในตัวเอง แล้วก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เมื่อไหร่ใจหลงเข้าไปแทรกแซง เมื่อนั้นความทุกข์ก็เกิดขึ้น เมื่อไหร่ใจไม่แทรกแซง สักว่ารู้ สักว่าเห็น ก็มีความสุข ตรงนี้เป็นความสุขของกายใจที่ตั้งมั่นและใจที่มีปัญญา แต่ยังไม่ใช่ความสุขถึงที่สุด ความสุขของศาสนาพุทธมันลึกซึ้งเป็นชั้นๆ ไป

คนในโลกใจมันคลุกอยู่กับอารมณ์ อย่างมีความอยากขึ้นมาแล้วก็ได้รับการตอบสนอง สมอยากแล้วมีความสุข ไม่สมอยากถึงจะทุกข์ คนทั่วๆไปเห็นได้แค่นี้ ตื้นที่สุดเลย หมาแมวเหมือนกันนะ แมวจะไปจับนกนะ จับได้แล้วมีความสุข จับไม่ได้แล้วทุกข์ ถ้าสมอยากแล้วมีความสุข ถ้าไม่สมอยากถึงจะทุกข์ พวกเราผู้ภาวนา เราจะเห็นเลย ถ้ามีความอยากก็จะมีความทุกข์ ถ้าไม่มีความอยากแล้วไม่ทุกข์ จะเห็นอย่างนี้ ถ้าถึงจุดสุดท้ายเราจะรู้เลย จะมีความอยากหรือจะไม่มีความอยาก ขันธ์ห้านี่แหล่ะเป็นตัวทุกข์โดยตัวของมันเอง ถ้าเห็นอยู่อย่างนี้เรียกว่า รู้อริยสัจแจ่มแจ้งแล้ว รู้ว่าขันธ์ห้าเป็นตัวทุกข์โดยตัวของมันเอง ความอยากที่จะให้ขันธ์ห้าเป็นสุขจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว เพราะรู้ว่ามันเป็นตัวทุกข์ ทำอย่างไรมันก็ทุกข์ อย่างเรารู้ว่าไฟนี้เป็นของร้อน เราก็ไม่ต้องไปอยากให้มันเย็น อย่างไรมันก็ร้อน เราไม่โง่พอที่จะไปอยากรู้่ว่าไฟวันนี้จะเย็นหรือยัง ลองจับ จะไม่โง่ขนาดนั้น คือจิตที่มันรู้ว่าขันธ์เป็นของร้อนแล้ว มันจะไ่ม่ไปหยิบฉวยขันธ์ขึ้นมาอีกแล้ว ไม่ไปหยิบฉวยจิต ไม่ไปหยิบฉวยขันธ์

สวนสันติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น