วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โอวาทพระอานนท์เถระเวลานั้นบ่ายมากแล้ว ความอบอ้าวลดลงบริเวณอารามซึ่งมีพันธุ์ไม้หลายหลากดูร่มรื่นยิ่งขึ้น นกเล็กๆ บนกิ่งไม้วิ่งไล่เล่นกันอย่างเพลิดเพลิน บางพวกร้องทักทายกันอย่างสนิทสนมและชื่นสุข ดิรัจฉานเป็นสัตว์โลกที่มีความรู้น้อยและความสามารถน้อย มันมีความรู้ความสามารถแต่เพียงหากินและหลบหลีกภัยเฉพาะหน้า แต่ดูเหมือนมันจะมีความสุขยิ่งกว่ามนุษย์ซึ่งถือตนว่าฉลาดและมีความสามารถเหนือสัตว์โลกทั้งมวล เป็นความจริงที่ว่าความสุขนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจ มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหนและภาวะอย่างใด ถ้าสามารถพอใจในภาวะนั้นได้ เขาก็มีความสุข ความยากจนหาเช้ากินค่ำ อาจจะมีความสุขกว่ามหาเศรษฐี หรือมหาราชาผู้เร่าร้อนอยู่เสมอ เพราะความปรารถนาและทะยานอยากอันไม่รู้จักสิ้นสุด มนุษย์เราจะมีสติปัญญาฉลาดปานใดก็ตาม ถ้าไร้เสียแล้วซึ่งปัญญาในการหาความสุขให้แก่ตนโดยทางที่ชอบ เขาผู้นั้นควรจะทะนงตนว่าฉลาดกว่าสัตว์ละหรือ? มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ความอยากความดิ้นรนออกหน้าแล้ววิ่งตาม เหมือนวิ่งตามเงาของตนเองในเวลาบ่าย ยิ่งวิ่งตาม ก็ดูเหมือนเงาจะห่างตัวออกไปทุกที ทุกคนต้องการและมุ่งมั่นในความสุข แต่ความสุขก็เป็นเหมือนเงานั่นเอง ความสุขมิใช่เป็นสิ่งที่เราจะต้องแสวงหาและมุ่งมอง หน้าที่โดยตรงที่มนุษย์ควรทำนั้นคือ การมองทุกข์ให้เห็น พร้อมทั้งตรวจสอบพิจารณาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น แล้วทำลายสาเหตุแห่งทุกข์เสีย โดยนัยนี้ความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง เหมือนผู้ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ประเทศชาติ ถ้าปราบเสี้ยนหนามและเรื่องร้ายในประเทศมิได้ ก็อย่าหวังเลยว่าประเทศชาติจะเจริญและผาสุกหรือเหมือนผู้ปรารถนาสุขแก่ร่างกายถ้ายังกำจัดโรคในร่างกายมิได้ ความสุขกายจะมีได้อย่างไร แต่ถ้าร่างกายปราศจากโรคมีอนามัยดี ความสุขกายก็มีมาเอง ด้วยประการฉะนี้ปรัชญาเถรวาทจึงให้หลักเราไว้ว่า "มองทุกข์ให้เห็นจึงเป็นสุข" อธิบายว่า เมื่อเห็นทุกข์กำหนดรู้ทุกข์และค้นหาสมุฏฐานของทุกข์แล้วทำลายสาเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย เหมือนหมอทำลายเชื้ออันเป็นสาเหตุแห่งโรค ยิ่งทุกข์ลดน้อยลงเท่าใด ความสุขก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ความทุกข์ที่ลดลงนั้นเองคือความสุข เหมือนทัศนะทางวิทยาศาสตร์ที่ถือว่าความเย็นไม่มี มีแต่ความร้อน ความเย็นคือความร้อนที่ลดลง เมื่อความร้อนลดลงถึงที่สุด ก็กลายเป็นความเย็นที่สุด ทำนองเดียวกัน เมื่อความทุกข์ลดลงถึงที่สุดก็กลายเป็นความสุขที่สุด ขั้นแห่งความสุขนั้นมีขึ้นตามแห่งความทุกข์ที่ลดลง คำสอนทางศาสนา เมื่อว่าโดยนัยหนึ่งจึงเป็นเรื่องของ "ศิลปะแห่งการลดทุกข์" นั่นเอง พระอานนท์ได้รับคำบอกเล่าจากสุนันทาภิกษุณีแล้ว ให้รู้สึกเป็นห่วงกังวลถึงโกกิลาภิกษุณียิ่งนัก ท่านคิดว่าหรือจะเป็นเพราะนางหกล้มเมื่อบ่ายนี้กระมัง จึงเป็นเหตุให้นางป่วยลง อนิจจา! โกกิลาเธอรักเรา เราหรือจะไม่รู้ แต่เธอมาหลงรักคนที่ไม่มีหัวใจจะรักเสียแล้ว เหมือนเด็กน้อยผู้ไม่ประสาต่อความตายนั่งร่ำร้องเร่งเร้าขอคำตอบจากมารดาผู้นอนตายสนิทแล้ว ช่างหน้าสงสารสังเวชเสียนี่กระไร ผู้หญิงมีความอ่อนแอทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พระศาสดาจึงกีดกันหนักหนา ในเบื้องแรกที่จะให้สตรีบวชในศาสนา ทั้งนี้เป็นเพราะมหากรุณาของพระองค์ ที่ไม่ต้องการให้สตรีต้องลำบาก มีเรื่องเดียวเท่านั้นที่สตรีทนได้ดีกว่าบุรุษนั้นคือการทนต่อความเจ็บปวด พระอานนท์มีพระรูปหนึ่งเป็นปัจฉาสมณะไปสู่สำนักภิกษุณีเพื่อเยี่ยมไข้ แต่เมื่อเห็นอาการไข้ของโกกิลาภิกษุณีแล้ว ความสงสารและกังวลของท่านก็ค่อยๆ คลายตัวลง ความฉลาดอย่างเลิศล้ำของพระพุทธอนุชาแทงทะลุความรู้สึกและเคลัญญาการของนาง ท่านรู้สึกว่าท่านถูกหลอก ท่านไม่เชื่อเลยว่านางจะเป็นไข้จริง "แต่เอาเถิด" พระอานนท์ปรารภกับตัวท่านเอง "โอกาสนี้ก็เป็นโอกาสดีเหมือนกันที่จะแสดงบางอย่างให้นางทราบ เพื่อนางจะได้ละความพยายาม เลิกรัก เลิกหมกมุ่นในโลกียวิสัยหันมาทำความเพียรเพื่อละสิ่งที่ควรละ และเจริญสิ่งที่ควรทำให้เจริญ ให้เหมาะสมกับเพศภิกษุณีแห่งนาง คงจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่นางไปตลอดกาลนาน คงจะเป็นปฏิการอันประเสริฐสำหรับความรักของนางผู้ภักดีต่อเราตลอดมา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น