วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557
วิธีละความยินดีในโลกียสุขของพระอนาคามีบุคคลธรรมวิโมกข์ อย่าทะนงตน อย่าทะนงตน คิดว่าเราเป็นคนดี ถ้าคิดว่าดีเป็นผู้วิเศษเมื่อไร เมื่อนั้นแหละกรรมใหญ่ อันตรายใหญ่จะมาถึงท่าน ที่เราเรียกกันว่าความประมาท ขอจงพยายามคุมตนไว้ตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ นั่นก็คือทรงอิทธิบาท ๔ ให้ครบถ้วน มีจรณะ ๑๕ ครบถ้วน ผมว่าเท่านี้ก็เหลือกินเหลือใช้ มีบารมี ๑๐ ครบถ้วนเท่านี้ก็เหลือแล้ว ถ้าครบเท่านี้อาการของความโลภไม่มี อาการของความทะเยอทะยานในเรื่องเพศในลักษณะของกามคุณไม่มี อารมณ์ที่จะผังไว้กับความโกรธไม่มี การที่จะยึดถืออะไรเป็นเราเป็นของเราไม่มี ที่ยังมีอยู่ก็เพราะว่าเพียงแต่รับฟังไว้เฉยๆ ดีไม่ดีก็จำไว้ เอาไว้เป็นเครื่องข่มขู่คนอื่น ทะนงตนอวดว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมด้านปริยัติ ถ้าอารมณ์อย่างนี้เขาเรียกว่าปฏิบัติเหลว ไม่มีอะไร แดนที่จะไปก็คือ อเวจีมหานรก หรือว่า โลกันตนรก (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๒-๓) อย่าสนใจร่างกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เธอทั้งหลายจงอย่าสนใจร่างกายของตนเอง จงอย่าสนใจในร่างกายของคนอื่น จงอย่าสนใจในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เพราะว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายถ้าเป็นเราจริงมันก็ทรงสภาพอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย แต่ทว่าร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ทรงสภาพ ในที่สุดมันก็เข้าขั้นสลายตัว เมื่อเราจะต้องตาย ทรัพย์สมบัติของเราทั้งหลายในโลกมันก็ไม่ตามเราไป แม้แต่ร่างกายที่เรารักที่สุดมันก็ไม่ตามเราไป มันคงจมอยู่ในพื้นปฐพีเป็นปรกติ” อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้คิดไว้อยู่เสมอ อย่าเผลอไปในด้านความโลภ อย่าเผลอไปในด้านความทะเยอทะยาน อย่าเผลอให้จิตใจมีความโกรธ ความพยาบาท อย่าเผลอให้ความนึกคิดว่านั่นเป็นเราเป็นของเรา อารมณ์อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงต้องการ ฉะนั้น ขอทุกท่านจงรักษากำลังใจอย่างนี้ไว้เป็นปกติ ถ้าหากว่าใจของท่านกระสับกระส่าย จงรักษาอานาปานสติกรรมฐาน มีกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกให้ทรงตัว ยังไม่ต้องคิดอะไรทั้งหมด กำหนดจิตรู้เฉพาะลม หายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นรู้อยู่ถ้าทำอย่างนี้อารมณ์จิตของท่านจะไม่ฟุ้งซ่าน (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๘) พิจารณาร่างกาย องค์สมเด็จพระจอมไตรได้ทรงแนะนำบรรดาพระภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกขเวดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านปฏิบัติร่างกายของท่าน พิจารณาร่างกายของท่าน ใคร่ครวญขยายออกกระจายออกคือ พิจารณาอันดับแรกเป็นธาตุสี่ ว่าร่างกายของเรานี้เป็นธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุน้ำ มันประกอบเข้ามาเป็นร่างกาย เรามีความเข้าใจว่า ร่างกายเป็นแท่งทึบ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ร่างกายของเราแบ่งออกเป็นอาการสามสิบสอง มีผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น ทั้งหมดนี้รวมเข้าแล้วเป็นร่างกาย แต่ทว่าร่างกายเหล่านี้มันเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มันเต็มไปด้วยความ อนิจจัง คือหาความเที่ยงไม่ได้ มันเต็มไปด้วยทุกขัง คือเต็มไปด้วยความทุกข์ไม่มีความสุข มันเต็มไปด้วยอนัตตา คือมันสลายตัวไปทีละน้อยๆ ทุกเวลาที่เคลื่อนที่ไป เธอทั้งหลายจงอย่าสนใจในร่างกายของเธอ จงอย่าสนใจในร่างกายของคนอื่น จงอย่าสนใจในทรัพย์สินทั้งหลาย จงทำลายความรักในเพศด้วยอำนาจอสุภสัญญา จงทำลายความโลภด้วยการตัดความอยากได้ด้วยการให้ทาน อย่าทะเยอทะยานในทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของดี เป็นปัจจัยในเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร อย่าสนใจในความโกรธ ความพยาบาท ในบุคคลทั้งหลาย ใครเขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เขาจะนินทาว่าร้ายว่าเรา ถ้าบังเอิญเราเป็นคนดีก็ไม่เลวไปตามคำพูด ถ้าเขาสรรเสริญว่าเราดี ถ้าเราเลวเราก็ไม่ดีไปตามคำพูด ความดีและความชั่วอยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติเป็นสำคัญ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ใครจะว่าดีว่าเลวก็ช่าง อย่าสนใจทั้งสองประการ เราปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระพิชิตมารเท่านั้นเป็นพอ” เป็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๘) สังขารุเปกขาญาณ กำลังใจของเราจะทรงได้ดีจริงๆ ต้องน้อมใจของเรานี้ฝึกไปด้วยปัญญาพิจารณาหาความจริง จิตใจตั้งอยู่ในสังขารุเปกขาญาณ นั่นก็คือมีอาการวางเฉยตามสภาวะของสังขาร คือร่างกายและทุกสิ่งทุกอย่างในโบก มีความรู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นอนิจจัง คนเป็นอนิจจัง วัตถุในโลกก็เป็นอนิจจัง คำว่า “อนิจจัง” แปลว่า มันไม่เที่ยง เรารู้ตามความเป็นจริงของมันว่ามันไม่เที่ยง ในเมื่อมันไม่เที่ยง เรายอมรับนับถือความไม่เที่ยงของมัน มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกหาอะไรเที่ยงไม่ได้ แต่ว่าเมื่อมันไม่เที่ยง เราก็ทำใจของเราให้เที่ยง มันเที่ยงตรงไหน เที่ยงตรงที่มันมีความรู้สึกตามกฎของธรรมดาอยู่เสมอว่า ร่างกายก็ วัตถุธาตุก็ดี ที่เกิดมาในโลกนี้มันไม่เที่ยง มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และมีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีความแตกสลายตัวไปในที่สุด (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๙) ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง จงจำไว้ให้ถึงที่สุด เมื่อจำไว้ทุกวัน ลืมตาขึ้นมาเช้ามีความรู้สึกไว้เสมอว่า เราอาจจะไม่ได้กินข้าวเข้า อาจจะตายก่อนก็ได้ ความตายไม่มีนิมิต ความตายไม่มีเครื่องหมาย ถ้าเราตายเลว ก็ดูตัวอย่างสัตว์ในอบายภูมิ มีนรกและเปรตเป็นต้น ก่อนจะตายถ้าเราทำความดี นั่นก็เป็นเรื่องที่เราจะฟังต่อไปข้างหน้าในเรื่องวิมานวัตถุ จะเห็นผลมีความสุข ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยทรัพย์มีความสุข ถ้าเป็นเทวดาก็เป็นเทวดาที่มีความสุขสมบูรณ์ ไม่ต้องเป็นเปรตไปก่อนแล้วจึงเป็นเทวดา (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๒๘) เห็นกระดูกลอยมา ท่านกล่าวว่า สมัยที่ท่านได้อสุภสัญญา เห็นกระดูกลอยมาและก็พิจารณาเห็นคนทั้งหมด สัตว์ทั้งหมดเป็นกระดูก ก็จับกระดูกเป็นภาพนิมิต จนกระทั่งจิตทรงด้วยฌาน ๔ เป็นอันว่าอสุภกรรมฐานที่เขาบอกว่าเป็นกรรมฐานพิจารณา ทรงจิตไว้อย่างสูงแค่ปฐมฌานเขาว่ากันอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติจริง ถ้าเราฉลาดเราก็เอาปฐมฌานมาเป็นฌานเสียอย่างสบายๆถึง ฌาน ๔ อัฏฐิกัง ปฏิกุลัง ท่านผู้เฒ่าท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านจบเอาอสุภทั้งหมด เมื่อได้ “อัฏฐิกัง ปฏิกุลัง” แล้ว ท่านก็ไล่เบี้ยไปเลยตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ จับภาพไปเลยให้จิตทรง มันเน่าแบบไหน มันเหม็นแบบไหน มันเละแบบไหน มันขึ้นแบบไหน มันพองแบบไหน ท่านทำเป็นฌาน๔ ได้หมดทุกอสุภ ๑๐ อย่าง จิตใจทรงตัว เห็นคนเมื่อไหร่ เห็นสัตว์เมื่อไหร่ เน่าหมด เห็นวัตถุธาตุต่างๆ เห็นโครงกระดูกไม่มีความติดในความสวยสดงดงาม แต่ว่าเวลานั้นเป็นเรื่องของสมถภาวนา เวลานั้นความรู้สึกในระหว่างเพศไม่มี เห็นคนเน่าๆ เห็นสัตว์เน่าๆ เห็นคนเป็นกระดูก มีสภาพน่าเกลียด แต่จิตยังไม่น้อม ไปในด้านวิปัสสนาอย่างสูง มัวเล่นแต่สมถภาวนาธรรมดา เห็นว่าเน่า เห็นว่าเหม็น เห็นว่าน่าเกลียด เห็นว่าโสโครก นี่เป็น สมถภาวนา ถ้าเป็นวิปัสสนาต้องพิจารณาเห็นความเสื่อมความโทรมของร่างกาย มีสภาพไม่เที่ยง เสื่อมไปทีละเล็กทีละน้อย แล้วในที่สุดมันก็สลายตัว จิตไม่เข้าไปยึดไปถือ ท่านบอกว่าเวลานั้นอารมณ์วิปัสสนาญาณท่านมีนิดหน่อย เล่นเฉพาะสมถภาวนาให้มันช่ำใจเพราะความเข้าใจผิด ตามบันทึกท่านบอกว่า ถ้าเราคิดควบกับวิปัสสนาเสียเวลานั้น ความจริงท่านบอกว่าหลวงพ่อปานก็สอนวิปัสสนา แต่ว่าท่านเป็นคนใจเดียว ถ้าจะเอาอะไรเอาให้มันฟังไปเป็นด้านๆ ถ้าไม่ได้ยอมตายเสียดีกว่า ขึ้นชื่อว่าไม่สามารถในชีวิตนี้จะไม่มีเป็นอันขาดสำหรับท่าน ท่านรู้สึกว่ามีกำลังใจเด็ดเดี่ยวมาก ในสมัยกำลังเล่นอนุภกรรมฐาน แล้วก็มีวิปัสสนาญาณเจือปนนิดหน่อยกันฌานเสื่อม สิ่งที่เป็นศัตรูกับอารมณ์อย่างนี้มันก็เกิด นั่นก็คือ อิสตรีที่เป็นเพศตรงกันข้าม สตรีก็ระวังบุรุษ ถ้าบุรุษก็ระวังสตรีจะเข้ามาเล้าโลมด้วยเหตุต่างๆ มาติดต่อสร้างความสัมพันธ์ในฐานะที่อยากจะเป็นคนรักด้วย ดีไม่ดี แก่ก็พูดเปิดเผยชวนรักชวนแต่งงาน แต่ต้องระวัง และจงอย่าไปโทษใครเขา เราไปหลงละเมอในคำป้อยอทั้งหลายเหล่านั้น คำชักชวน ความดีของเรามันจะด้วน ฌานจะสลายตัว (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๒๙) การเป็นพระโสดาบัน การเป็นพระโสดาบันก็ดี การเป็นพระสกิทาคา อนาคา อรหันต์ก็ดี เขาศึกษากันตัวเดียวคือ สักกายทิฏฐิ เมื่อตัดสักกายทิฏฐิได้ตัวเดียวก็เป็นพระอรหันต์ แต่ทว่าตอนที่จะตัดสักกายทิฏฐิเธอจงปฏิบัติตามนี้นะ ก่อนที่จะใช้อารมณ์วิปัสสนาญาณ อันดับแรก เข้าฌานให้ถึงที่สุดที่เธอทรงได้ เข้าฌานออกฌานสลับกันมาสลับกันไปให้มันมีความทรงตัว แล้วทำจิตใจให้ทรงในฌานให้แนบสนิททรงตัวมีความสุขที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฮะทั้งหมดได้สมาบัติแปดมาแล้ว แล้วก็ศึกษาด้านอภิญญามาแล้วอย่างนี้เป็นของไม่ยาก ในด้านวิปัสสนาญาณ ใช้กำลังสมาบัติแปดเป็นกำลังใหญ่ ทรงใจห้ทรงตัวแล้วถอยหลังไปถึงอุปจารสมาธิ พิจารณาขันธ์ ๕ มันเป็นภัยสำหรับเรา เป็นวัตถุธราตุที่สร้างด้วยทุกข์สร้างด้วยโทษไม่มีอะไรเป็นปัจจัยของความสุข มองดูขันธ์ ๕ คือร่างกาย เราต้องเลี้ยงมันเท่าไร มันชอบอะไรเราให้มันกินทั้งหมด แต่เราไม่ต้องการจะป่วยมันก็ยังขืนป่วย เราไม่ต้องการจะเพลียมันก็เพลีย เราไม่ต้องการจะแก่อย่างฉันนี่ ฉันไม่เคยต้องการให้มันแก่มันก็แก่ คนที่เขาตายไปก่อนเรา เขาไม่ต้องการตายมันก็ตาย ในเมื่อขันธ์ ๕ มันเลวทรามอย่างนี้จะคนค้าสมาคมกับมันเพื่อประโยชน์อะไร อันดับแรก จับจุดความเป็นพระโสดาบัน ระงับความพอใจในขันธ์ ๕ เสีย คิดว่ามันจะตายเสมอ แล้วทรงศีลให้บริสุทธิ์ ศีลควรทำเป็นศีลานุสสติกรรมฐาน ทรงศีบให้เป็นกำลังฌาน คำว่า เป็นกำลังฌาน ก็คือทรงอารมณ์อยู่ในศีลตลอดวันตลอดคืน ไม่ยอมให้ศีลบกพร่องจากใจ ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งหลับตาปี๋ เดินไปเดินมาเลี้ยงหมูเลี้ยงหมา คุยกับหมาคุยกับแมว ศีลทรงตัวใช้ได้ เจอหน้าคนเขา ด่าคนเขา ว่าเขา นินทาศีลไม่ด่างใช้ได้ น้อมใจเคารพในคุณพระรัตนตรัย ๓ ประการ คือทรงพระกรรมฐาน ๓ อย่าง ให้ฌานคือ พุทธานุสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ให้ทรงตัว ความจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เธอทรงได้หมดแล้วนี่ จะต้องมานั่งสอนอะไรกัน เว้นไว้แต่จิตอย่างเดียว คือ อารมณ์พระนิพพาน เธอยังไม่มั่นใจเท่านั้นเพราะฉะนั้นจงตัดสินใจทรงอุปสมานุสสติให้ทรงตัว (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๕๓) อย่าลืมคุมกำลังใจให้เป็นสมาธิ สำหรับการแนะนำในการเจริญพระกรรมฐานในวันนี้ จะขอนำปฏิปทาท่านผู้เฒ่ามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือการทรงกำลังใจ แต่ทว่าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายหรือว่าพระโยคาวจรทุกท่าน อย่าลืมคุมกำลังใจให้เป็นสมาธิ เรื่องการรักษาอารมณ์ให้เป็นสมาธินี่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอานาปานสติกรรมฐานนี่ให้ทรงตัว แล้วก็จริต ๖ ประการ ใคร่ครวญอยู่เสมอ จงอย่าเป็นผู้ยอมแพ้นิวรณ์ นี่อันดับต้น ถ้าอันดับต้นเรายอมแพ้นิวรณ์ เราก็ไม่อาจจะทรงฌานได้ แล้วก็จงอย่าเป็นผู้ยอมแพ้กิเลส ถ้าเรายอมแพ้กิเลสแล้ว เราก็ไม่สามารถเป็นพระอริยเจ้าได้ คุณธรรมที่เป็นเครื่องบำรุงใจ ดูตัวอย่างท่านมหาบาลที่ผ่านมาแล้ว ใช้กำลังใจส่งนนี้ให้เหมือนท่าน จงคิดว่าท่านเป็นฆราวาส ท่านเป็นกฎุดพี หรือว่าเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มาก ท่านยังสามารถตัดสินใจอย่างนั้นได้ แล้วก็เรา ถ้าจะกล่าวกัน ท่านมีกี่นิ้ว เรามีกี่นิ้ว หรือว่าท่านมีรูปร่างลักษณะอย่างไร มีอาการสามสิบสามหรือสามสิบห้า ความจริงท่านก็มีอาการสามสิบสองเป็นร่างกายเท่ากับเราเราก็มีกาอากรสามสิบสอง ท่านกินข้าว เราก็กินข้าว ท่านเป็นคนเราก็คน ถ้าหากว่าท่านเป็นคนดีได้ เราเป็นคนดีไม่ได้ เรามันก็เลวเกินไป (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๕๖) ถ้าทำไม่ได้ยอมตายเสียดีกว่า ในเมื่อท่านปฏิบัติความดีมีความตายเป็นเดิมพัน ทั้งนี้ก็หมายความว่า ถ้าทำไม่ได้ยอมตายเสียดีกว่า อันนี้เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์บอกไว้ด้วยถึงแม้ว่าเวลานั้นจะไม่ได้อรหันต์ แต่ต้องได้อรหันต์แน่ถ้าท่านคิดอย่างนั้น อะไรบ้างที่ท่านยอมให้บกพร่อง ภารกิจหน้าที่ทั้งหมดที่เป็นคันถธุระทุกอย่างทั้งทางด้านวิชาการและการงานไม่ยอมให้บกพร่อง เพราะถือว่าจะต้องมีอารมณ์จิตเข้มข้น ไม่ใช่จะมานั่งภาวนาอย่างเดียวให้เป็นอรหันตผล อันนี้มันไม่ได้เพราะอารมณ์ใจไม่มีการสัมผัสกับฝ่ายที่เป็นตรงกันข้าม ไม่มีการต่อสู้ ทั้งนี้เพราะว่า รู้ตัวอยู่ว่าคนที่หลีกเลี่ยงจากคันถธุระ หลีกเลี่ยงจากโลกธรรม เวลาอยู่คนเดียวสงบสงัด แต่เวลามาสัมผัสกับโลกธรรมเข้า จิตปลิวหวอย ตั้งสติไม่อยู่ ถ้าเราจะทำบ้างทำอย่างไร เริ่มจับจุดเช้ามืด ทรงอารมณ์สมาธิให้สูงสุดที่มันจะสูงได้ ทรงให้นานเท่าไรได้ก็ยิ่งดี อย่ารีบถอน เวลาคลายมาแล้วจิตตั้งอยู่ในอุปจารหรือปฐมฌานอยู่ตลอดทั้งวัน ถ้าอารมณ์จะซ่านหลบเข้าสู่ที่สงัดนิดหนึ่งทำจิตให้ทรงอารมณ์จุดสูงสุดเท่าที่จะทำได้ จะทำงานทำการอะไรอยู่ก็ตาม ไอ้สมาธิอย่าไปนั่งขัดสมาธินั่งพับเพียบอยู่เสมอ มันไม่มีผล มันต้องการได้ทุกขณะ แม้แต่กิจการงานที่เราทำอยู่ให้จิตมันทรงอยู่ในอารมณ์ของความดีอยู่ในขั้นอุปจารหรือปฐมฌาน วันทั้งวันอย่างนี้ความเป็นพระอรหันต์มันไม่ใช่จะเป็นของยาก ถ้าภายหลังจะบอกว่าง่ายเหลือเกิน เวลาจิตจะคลายจากสมาธิก็จับวิปัสสนาญาณตามที่ศึกษามาแล้ว เราศึกษามาจนท่วมหัวแล้ว ไม่ใช่แค่พอดี ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านอีกที ทิ้งวิปัสสนามาจับอารมณ์สมาธิสลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ ความดีมันก็จะปรากฏ คำว่า “ทุกข์” ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนท่านผู้เฒ่า มันเป็นของไม่ยากสำหรับเราจะเอาดี แต่ว่าน่าสลดใจอยู่นิดนะ บางทีเดินไปเดินมา เห็นพระบางทานเก็บตัวมากเกินไปก็น่าสงสาร คำพยากรณ์ใดๆ จงอย่าคิดว่ามันจะได้ตามคำพยากรณ์นะ ถ้าไม่ปฏิบัติตนอย่างดีมันจะไม่ได้อะไรเลยเพราะเราหมกมุ่นเกินไป (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๗๖) คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า เป็นอันว่าวันนี้ขอย้อนต้นนิดหนึ่ง ท่านบอกว่าในสมัยหนึ่ง มีคนเขามาหาท่านแล้วเขาส่งหนังสือมาให้ เวลานั้นเป็นเวลาค่ำ ท่านบอกว่าค่ำๆอย่างนี้อ่านหนังสือไม่ออก จะต้องจุดไฟ แล้วก็ใช้กระแสไฟอ่าน พอตกเวลากลางคืนก็ปรากฏว่าเวลาที่เจริญพระกรรมฐาน ก็ใช้กำลังของอภิญญายกจิตโดยใช้ มโนมยิทธิ ไม่ใช่ใช้อภิญญาใหญ่ ขึ้นไปนมัสการองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาที่จุฬามณีเจดียสถาน พอไปถึงก็กราบองค์สมเด็จพระพิชิตมาร พอเงยหน้าขึ้นท่านก็บอกว่า “ตามธรรมดาพระนี่ ถึงแม้ว่าไม่มีแสงไฟก็ควรจะอ่านหนังสือออก” ตามบันทึกของท่านก็ถามว่า “ทำอย่างไรจึงจะอ่านออกพระพุทธเจ้าข้า” ท่านบอกว่า “ทิพจักขุญาณของเธอมีแล้ว แต่อาศัยที่เป็นผู้ปรารถนาพุทธภูมิมาเดิม ทิพจักขุญาณจึงไม่แจ่มใสเหมือนพระอริยเจ้า ฉะนั้น เพื่อจะให้ความแจ่มใสเกิดขึ้นเห็นภาพชัด ควรปฏิบัติแบบนี้ ควรใช้คาถานี้ไปภาวนาจนเป็นฌานสมาบัติ” เรื่องฌานนี่มันเรื่องเล็ก ท่านบอกว่า จะคว้าอะไรขึ้นมา มันก็เป็นฌานทันทีเพราะมีการคล่องอยู่แล้ว คาถาก็เห็นจะเป็น มงกุฎพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าอย่างนี้ “อิติปิ โส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตัง โสอิ อิโสตัง พุทธะ ปิติอิ” ท่านกล่าวว่า “คาถานี้ถ้าไปเรียนและภาวนาทำให้เป็นฌาน นิมิตต่างๆจะมีอาการแจ่มใส คนที่ตาไม่ดีก็อ่านหนังสือออกได้ หรือว่าเวลามืดๆ ก็สามารถจะมองเห็นหนังสือได้ และมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าบงได้ตามความประสงค์ ถ้าใช้คาถานี้เป็นฌาน” ท่านว่าอย่างนั้น เป็นอันว่าท่านย้ำมาว่าไอ้มืดๆ มันก็อ่านหนังสือออก และท่านบอกว่าท่านก็มาทำ มาทำมันก็ไม่นานใช้เวลาเพียงครู่เดียว จิตก็เข้าถึงฌาน ๔ ทรงฌาน ๔ สยายๆ ก็เลยว่ากันถึงฌาน ๘ ถึงฌาน ๘ ก็หลบลงมาฌาน ๔ ในรูปฌาน ทำไปทำมาก็เลยลองหลับตาอ่านหนังสือ ก็เห็นอ่านออก แต่ว่าวิธีนี้ท่านบอกว่าจะใช้ทั่วๆไปไม่ได้ เอาไว้แต่เมื่อมันจำเป็น ถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่ต้องหยิบหนังสือมา เป็นแต่เพียงนึกว่าจะอ่านหนังสือ มันก็มีความเข้าใจว่าหนังสือฉบับนั้นเขาว่าอย่างไร วงเล็บของท่านมีไว้บอกว่า ใครอ่านแล้วถ้าทำได้ จงอย่าทำตนเป็นผู้วิเศษ เมื่อเวลาอ่านหนังสือต่อหน้าคน ถ้ามันอ่านไม่ออกจริงๆ ก็ใช้ไฟใช้แว่นส่อง ถ้ามันจำเป็นจริงๆก็เอาจิตจับจากภาพหนังสือนั้นเสีย ใช้ใจอย่างเดียวก็อ่านหนังสือออก นี่เป้นวิธีปฏิบัติของท่าน (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๗๘) คาถา อิติปิ โสฯ ต่อมาท่านกล่าวว่าท่านได้ “เจริญพระพุทธอารมณ์” ต่อมาท่านเจริญพระพุทธคุณทั้งบท พระพุทธคุณทั้งบทก็คือ “อิติปิ โส ภควา” หมดเลย ความจริงท่านว่าทั้งบท ท่านบอกว่าพุทธคุณทั้งบทนี่ก็ไม่ถูกผมค้านะ ท่านบันทึกไว้อย่างนี้ท่านบอกว่า ท่านเล่น “อิติปิ โสฯ” ทั้งบท ท่านว่ามันสบายใจดีจนกระทั่ง จิตเป็นฌาน ๔ รู้สึกว่าเป็นสุข จนกระทั่งถือรูปพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ว่า “อิติปิ โสฯ” ไปด้วย เอาจิตจับรูปพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ไปด้วย แต่ตอนนี้ผมไม่เห็นท่านอธิบายไว้ท่านว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ท่านว่าทำไปคาถาสั้นก็ทำเป็นฌานได้ คาถายาวก็ทำเป็นฌานได้ “อิติปิ โสฯ” ทั้งบทก็ทำเป็นฌานได้ไม่เห็นจะมีอะไรเป็นสำคัญ ถ้าใจมันเป็นฌานเสียแล้ว ฟังของท่านไว้นะ ความรู้ต่างๆ ของท่านเรียนกันมาแล้วนี่ ผมก็ว่าตามแบบแล้วจะเล่าให้ฟัง ตอนไหนที่มันสมควรสำหรับท่าน ท่านก็เอาไปใช้ ตอนไหนที่ไม่สมควรก็ไม่ต้องนำไปใช้ (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๗๘) คาถา อภิญญารวม ท่านกล่าวว่าท่านได้พบองค์สมเด็จพระจอมไตรที่พระจุฬามณีเจดียสถาน องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงตรัสว่า สัมภเกสี สำหรับอภิญญาที่เธอได้ เวลาที่เธอจะใช้ก็ต้องจับกสิณนั้น กสิณนี้ ใช้จิตอย่างนี้ช้าไปหน่อย แต่ความจริงเขาใช้อภิญญากันจริงๆ เขาใช้อารมณ์เรียกว่า เขาจับอภิญญารวม คำว่า อภิญญารวมนี่นึกถึงอภิญญาสมาบัติ คือนึกถึงอารมณ์กสิณทั้งหมดว่าเราต้องการอะไร แล้วก็ให้ภาวนา ภาวนาย่อๆว่า โสตัตตะภิญญา ใช้คำเพียงเท่านี้ เวลาภาวนาให้กำหนดลมหายใจเข้าออก แล้วก็ทิ้งนิมิตเสีย ไม่ต้องไปใช้นิมิตในกสิณใช้โสตัตตะภิญญา อย่างเดียว คือจับกำหนดลมหายใจเข้าออกให้ถึงที่สุดเป็นฌาน ๔ เท่านั้น อภิญญาทุกอย่างก็จะรวมตัวเราจะใช้ได้ทันทีทันใดโดยไม่ต้องเลือกกสิณอะไรทั้งหมด ตามบันทึกของท่านๆก็มาทำๆ แล้วสบายใจอภิญญาทุกอย่างมันก็รวมตัว เวลาจะใช้อภิญญาก็ใช้ โสตัตตะภิญญา เห็นคำภาวนาเท่านี้ ตามบันทึกของท่านนี้ผมไม่เห็นท่านบอกว่าสงวนสิทธิ์ ในเมื่อท่านไม่สงวนสิทธิ์ ท่านก็สามารถจะทำได้ทุกคน แต่ว่าอย่าลืมว่า ท่านเจ้าของท่านทรงสมาบัติ ๘ ในเมื่อจิตทรงฌาน ๘ จะคว้าอะไรมันก็ได้ทันที ไม่เสียเวลาแม้แต่หนึ่งนาที ถ้าเรามีฌานไม่ถึงสมาบัติ ๘ เราก็ทำตามกำลังของเรา จะทำได้ไม่เท่าท่าน แต่ทำได้ใกล้ท่าน ค่อยๆทำไปก็ใกล้เข้าไปทุกที มันก็ใช้ได้เหมือนกัน ของสิ่งนี้รู้สึกว่าใครคนใดคนหนึ่งนำไปใช้แกบอกว่ามีผลดีมาก (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๗๘) นิมิตจิตติ นิมิตจิตตา นิพพานจิตติ นิพพานจิตตา ท่านเขียนว่า พระนิพพานนิมิต ตอนที่ท่านกล่าวว่าเมื่อท่านเข้าไปในพระจุฬามณีเจดียสถาน พบองค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสว่า เธอนี่ควรจะเอาจิตจับพระนิพพานได้แล้ว และควรจะถือ “นิพพานนิมิต” เป็นสำคัญ นี่ความจริงควรย้อนต้นมานิดหนึ่ง ตอนก่อนผมพูดเฉพาะสิ่งที่เป็นอริยสัจเห็นว่ามีความสำคัญก็เลยเล่าสู่กันฟัง ท่านบอกว่าใช้นิพพานนิมิตท่านให้ภาวนาอย่างนี้ “นิมิตจิตติ นิมิตจิตตา นิพพานจิตติ นิพพานจิตตา” ให้ภาวนาถือนิพพานเป็นอารมณ์อย่างนี้ จิตจะมีการผูกพันพระนิพพานเป็นอารมณ์มากขึ้น แล้วก็กำลังใจของเธอไม่คลาดจากนิพพาน เมื่อกำลังใจของเธอไม่คลาดจากนิพพาน เมื่อเธอตัดพุทธภูมิมาแล้วต้องการเป็นพระสาวก ความสำเร็จของเธอจะไม่ก้าวล่วงปีนี้ไป จงกลับไปจับเอาอารมณ์นี้ให้เป็นฌานสมาบัติ ความจริงท่านวงเล็บไว้บอกว่าไม่เห็นจะยากเมื่อจำคาถามาแล้ว ในขณะนั้นก็ตั้งจิตภาวนาคือทำอารมณ์ไว้ตั้งแต่ยังไม่เอาจิตเข้าร่าง เมื่ออทิสมานกายมันยังลอยไปสู่ภพต่างๆก็ใช้อารมณ์เรื่อยไป จิตใจก็จับพระนิพพานเห็นภาพพระนิพพานใสแจ๋ว มีความมั่นใจว่านั่นแล้วคือพระนิพพาน อย่างไรๆเราตายชาตินี้เราต้องไปให้ได้ เรื่องร่างกายเรื่องทรัพย์สินไม่มีความหมายกับเรา นี่เป็นอารมณ์ (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๗๙) คาถาปราโมทย์ ต่อมา ตามบันทึกของท่านก็ว่ามาอีกว่า องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ให้คาถา “ปราโมทย์” โดยทรงปรารภว่า “ต่อไปเมื่อเธอภาวนาคาถา “ปราโมทย์” นี่แล้ว อะไรทุกอย่างจะเห็นชัดเจนแจ่มใส ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเธอในเวลานี้ดูนิมิตอะไรก็ตาม เห็นอะไรก็ตามมันคลุมเครือไปหมด ถ้าใช้คาถาบทนี้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะสว่างแจ่มใสเหมือนกับพระอาทิตย์ในเวลาเที่ยง” แต่ความจริงอารมณ์แจ่มใสประเภทนี้ตามแบบจะต้องมีสำหรับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ทว่าในตอนนี้พระพุทธเจ้าท่านสอนท่านมาอย่างนั้น ท่านไปเฝ้ามานี่ เราก็ว่ากันตามบันทึกของท่านนะ จะมาโมเมโปเปตานาอะไรกับผมไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าใครทำได้ก็ได้ ไม่ได้ก็แล้วไป ใครได้มโนมยิทธิก็ลองสอบกันเอา เพราะมโนมยิทธิเป็นเครื่องสอบความรู้ทางพระพุทธศาสนา แล้วก็การปฏิบัตินี่ความจริงมันก็เรื่องของใครของมันเหมือนกัน จะทำเหมือนกันทุกอย่างนั้นมันไม่ได้ ก็ว่ากันต่อไปดีกว่า ว่าคาถา ปราโมทย์ ที่ทำให้สมาธิจิตมีทิพจักขุญาณแจ่มใส จะจำภาพเห็นภาพนิมิตทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยแจ่มใสเหมือนกลางวัน คือพระอาทิตย์เที่ยงวัน ท่านว่าโดยนิมิตเปรียบเทียบปรากฏผลว่า ภาพนิมิตและการตรวจสอบใดๆจะชัดเจนขึ้น จะมีภาพแจ่มใส ท่านว่าอย่างนั้น สำหรับคาถาภานานี่ให้คำภาวนาว่า “ปราโมทย์” เฉยๆ จับลมหายใจเข้าออกเหมือนกัน แล้วก็ภาวนาว่า “ปราโมทย์ ปราโมทย์” (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๘๐) เจริญอริยสัจ ๔ และหลังจากนั้นมา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงสอนให้เจริญใน อริยสัจ ตามที่อธิบายมาแล้ว ผมจะเล่าตะลุย ดีไม่ดีขืนอธิบายไป ชาวบ้านชาวเมืองเสียสตางค์กันมาก อยากจะเรื่องราวของพระองค์นี้ก็ฟังคำอธิบายเสียจนเบื่อ เสียสตางค์หลายคาสเซ็ทนี่ผมไม่ชอบเหมือนกัน ไม่อยากให้ชาวบ้านเสียสตางค์มาก (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๘๐) เจริญพรหมวิหาร ๔ ทีนี้ก็มาว่ากันต่อ หลังจากอริยสัจ ท่านก็บอกในกาลต่อมาอีก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญ “พรหมวิหาร ๔” เอาละซิ โดยแจ้งว่าจะทำให้การรู้การเห็นต่างๆชัดเจนดีขึ้น นี่จำได้ดีนะ ว่าท่านที่ได้ทิพจักขุญาณแล้วก็ดี ท่านที่ได้มโนมยิทธิแล้วก็ดี ที่มีอารมณ์ไม่แจ่มใสเห็นอะไรไม่ชัดเจน ว่ากันตามลำดับมา ท่านก็บอกว่าถ้าใช้พรหมวิหาร ๔ แล้วก็นิมิตต่างๆ ถ้าจิตเราทรงพรหมวิหาร ๔ นี่เป็นอารมณ์เยือกเย็นทำอารมณ์ให้ผ่องใสได้ง่ายจริงๆเป็นของไม่ยาก การเจริญเมตตา แล้วก็ท่านบอกว่าเวลานั้นท่านตั้งกระทู้ถาม คือพระพุทธเจ้าเองท่านตั้งกระทู้ถามคือสอนแบบถามว่า “การเจริญเมตตานั้น เขาทำกันอย่างไร” แล้วท่านก็แก้ของท่านเองว่า “การเจริญเมตตาต้อง ๑. ไม่โกรธ และ ๒. ไม่ผูกโกรธ” ภายหลังต่อมาอีก ท่านสอนให้เจริญอสุภกรรมฐาน และมรณานุสสติกรรมฐาน ว่าเมื่อจิตทรงพรหมวิหาร ๔ แล้วก็ต้องเจริญอสุภกรรมฐาน เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรสวย แล้วก็เจริญมรณานุสสติกรรม,น หมายความว่ารู้สึกนำถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาทในความตาย (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๘๐) กรรมฐานนิมิตอันแรกให้ผล ตอนนี้ท่านหมายเหตุไว้นิดหนึ่ง ท่านหมายเหตุไว้บอกว่า กรรมฐานนิมิตองค์แรกให้ผลได้ดี องค์แรกที่ท่านวงเล็บไว้บอกว่า “อิติปิ โส วิเสเสอิ ฯ” นี่แหละกรรมฐานนิมิตอันแรกให้ผลได้ดี เป็นเหตุให้ได้ ๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๒. จุตูปปาตญาณ ๓. อตีตังสญาณ ๔. อนาคตังสญาณ ๕. ปัจจุปปันนังสญาณ และ ๖. ยถากัมมุตาญาณ คือว่า ทิพจักขุญาณ ท่านมีแล้วอีตอนนี้ท่านไม่คล่องท่านว่าอย่างนั้น ท่านมีแล้วไม่คล่อง พอเกิดคล่องขึ้นมา คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ก็ได้แก่การระลึกชาติถอยหลังไปได้ไม่จำกัดระดับ เมื่อสมัยก่อนเวลาที่ระลึกชาตินี่ รู้สึกว่าทำได้ยากจริงๆมีนเหนื่อยมันหนัก แต่ว่าพอว่า “อิติปิ โส วิเสเสอิฯ” จนคล่องตัวแล้ว การระลึกชาติปั๊บเมื่อไรก็ได้ เอาชาติไหนก็ได้ จุตูปปาตญาณ รู้จักคนตายแล้วเกิดคนตายแล้วไปไหน นึกปั๊บรู้ได้ทันที เห็นคนและสัตว์ที่ปรากฏเฉพาะหน้าคิดว่า เดิมทีเขามาจากไหนมันรู้ได้ทันที ภาพปรากฏ อตีตังสญาณ รู้เรื่องราวในอดีตของคนและสัตว์ อนาคตังสญาณ รู้เรื่องราวในอนาคตต่อไปของคนและสัตว์ ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เรื่องราวในปัจจุบันของคนและสัตว์และพื้นที่เหมือนกัน ยถากัมมุตาญาณ รู้กฎของกรรมของคนและสัตว์ที่ได้รับความสุขความทุกข์ เพราะอาศัยกรรมอะไรเป็นปัจจัย ท่านบอกว่ามันแจ่มใสแล้วก็คล่องแคล่วว่องไวดีมาก แต่ไอ้กำลังใจของท่านบอกว่ามันแจ่มไม่พอ นี่เล่นกับคนไม่พอนี่ก็ยากเหมือนกัน ไม่ยอมเชื่อตัวเองอยู่เสมอ สร้างความสงสัยคือสอบสวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา คือว่าตลอดชาติในชีวิตของท่านนี่ ท่านไม่ยอมจะมีความรู้สึกว่าตัวของท่านเป็นคนดี แล้วสิ่งใดที่ได้มาแล้วนี้ท่านต้องพิจารณาเสมอว่ามันเป็นอุปาทานหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าอยู่ๆก็จะไปคุยว่าฉันได้ทิพจักขุญาณจ๊ะ ฉันได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณจ๊ะ แล้วก็มามัวเมากับโลภโมโทสัน มีความรัก ความโกรธ อิจฉาริษยา ไม่ใช่อย่างนั้น องค์นี้มีหน้าที่อย่างเดียวตั้งหน้าตั้งตาสงสัยตัวเองไว้เสมอ เกรงว่าจะคบกับความชั่วเข้ามาไว้ ฉะนั้นเวลาได้อะไร ท่านไม่ยอมเชื่อตัวของท่าน ท่านต้องสอบสวนตลอดเวลา ต่อมาท่านบันทึกไว้ว่า ในกาลต่อมากรรมฐานนิมิตที่ได้ไว้ ที่ได้ต่อมาก็ทำให้จ่มใสชัดเจนมากขึ้น นี่ต้องพิสูจน์กัน ท่านบอกว่าอยู่ๆเราจะมานั่งเชื่อตัวเองอย่างนี้น่ะมันใช้ไม่ได้ มันต้องตรวจสอบกันอยู่เสมอเอากันทุกวัน ทุกวันเวลา เวลาใดที่มีเวลาว่างต้องตรวจสอบ (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๘๐-๘๑) อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังนี่เป็นของ ไม่เที่ยง จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมดในโลกนี้ ถ้าไม่เที่ยงเราไปยึดมันเข้าแล้วมันเป็นทุกข์ต้องปล่อยตามมันๆจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน แล้วในที่สุดมันก็เป็นอนัตตา พังสลายตัวหมดอย่าไปยึดไปถือมัน อย่าไปยึดว่าจะมีอะไรเป็นเราเป็นของเราอยู่ต่อไป แม้แต่ร่างกายเรายังพัง ในเมื่อร่างกายเรายังฟังแล้วจะมีอะไรทรงอยู่อะไรมันทรงอยู่แล้วก็ตาม ถ้าหากร่างกายเราพังแล้ว เราก็ไม่มีสิทธิ์จะมายึดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา ท่านบอกว่าต้องทำอย่างนี้จริงๆจังๆปล่อยไม่ได้ แล้วก็ต่อมา จงปล่อยความยึดมั่นจากรูปที่เห็นทางตา จงอย่ายึดว่ารูปนั้นเป็นเราเป็นของเรา ปล่อยเสียงที่ได้ยินทางหู ปล่อยกลิ่นที่ได้รับทราบทางจมูก ปล่อยรสที่รับทราบทางลิ้น ปล่อยสัมผัสที่รับทราบทางกาย ปล่อยอารมณ์ใจที่เป็นกุศล อย่าเอาเข้ามายุ่ง ฟังแล้วก็จำนะ นี่เราเรียนกันมาแล้ว นี่ท่านย่อมา ผมเห็นว่าไม่ยาก ผมก็ย่อไป ท่านก็บอกว่าปล่อยใจว่าเป็นเชื้อของเดิมมาเพราะอารมณ์ทั้งหมดเนื่องจากรูป ท่านบอกว่า ที่ต้องมาเกิดอย่างนี้ ต้องมาเป็นทุกข์อย่างนี้ เชื้อเดิมมา เพราะอาศัยรูปเป็นสำคัญ คือ อาศัยรูปทางตา อาศัยเสียงทางหู อาศัยกลิ่นทางจมูก อาศัยรสทางลิ้น อาศัยสัมผัสทางกาย อาศัยอารมณ์ใจที่เกลือกกลั้วในกามารมณ์ นี่ที่ต้องมาเกิดมาเป็นอย่างนี้ อาศัยตัณหาเป็นเจ้าเรือน ตัณหาก็คือความอยาก อยากได้รูปสวยๆ อยากได้เสียงหวานๆ อยากได้กลิ่นหอมๆ อยากได้รสอร่อยๆ อยากได้รับการสัมผัสที่พอใจ อยากได้อารมณ์ที่พึงปรารถนา ท่านบอกว่า นี่พวกนี้เป็นเจ้าเรือน ต้องทำลายไปเสียให้หมด ต้องทำให้ได้ แล้วจะรู้ผลภายในสิบวัน จำไว้นะ ใครอยากจะได้บรรลุมรรคผลเร็วๆ ละก็ปล่อยตามที่ท่านบอก จะรู้ผลภายในสิบวัน ดูซิท่านผู้เฒ่าจะทำได้ไหม ท่านบอกว่า ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมได้ผลแก่ผู้ขยัน แล้วก็ไม่มีใครอาจจะกำหนดพยากรณ์เวลาที่จะสำเร็จมรรคผลได้ ท่านมั่นใจขนาดนี้ ขยันนี่ต้องขยันถูกด้วยไม่ใช่ขยันผิด ขยันตามท่านว่านี้ ถ้าขยันจริงๆ เวลาจะทำ ทรงสมาธิให้เต็มที่ ให้จิตมันทรงตัว แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณา เห็นรูปทางตาไม่เป็นเรื่อง เสียงทางหูไม่ได้ความ กลิ่นทางจมูกไม่เป็นรส ว่ากันจิปาถะไปก็แล้วกัน ว่าให้เห็นว่ามันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่ยึดถือปล่อยมันเสียให้หมด เสียงดีหรือเสียงเลวก็ช่าง รูปดีรูปเลวก็ช่าง กลิ่นดีกลิ่นเลวก็ช่าง รสดีรสเลวก็ช่าง สัมผัสดีสัมผัสเลวก็ช่าง อารมณ์ใจทรงไว้เฉพาะในด้านอารมณ์ที่เป็นกุศลเพียงอย่างเดียว คือตั้งไว้ในด้านสักกายทิฏฐิทำลายอสมิมานะที่ถือตัวตนว่าเป็นเราเป็นของเรา อย่างนี้สิบวันได้แน่ (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๙๐-๙๑) อภิญญาผลสมาบัติ ท่านบอกว่าวันนี้วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๐๖ ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เข้าเจริญสมณะธรรมตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น. ตรง วันนี้มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษตั้งแต่เริ่มจับอารมณ์ปั๊บ อารมณ์ก็ใสสว่าง ซึ่งไม่เคยมีมาในกาลก่อน แล้วท่านพยายามทำไปตามลำดับ ผมจะพูดให้ฟังว่าการเจริญพระกรรมฐานนี่ โดยมากก่อนที่จะทำจุดปลายเขามักจะทำจุดต้น จับจุดต้นดูซิว่าจิตอารมณ์ของเราไปพร่องอยู่ตรงไหน คือ อันดับแรกท่านก็จับอานาปานสติควยกับพุทธานุสสติกรรมฐาน จิตเป็นสุขถึงที่สุดถึงฌาน ๔ ทิ้งฌาน ๔ วิ่งเข้าไปฌาน ๘ ถอยหลังลงมาจับอริยสัจ ๔ จิตสะอาดผ่องใสถอยลงมาถึงอุปจารสมาธิ จับเมตตาพรหมวิหาร ๔ จิตเข้าถึงที่สุดทันที ถอยลงมาอุปจารสมาธิ จิตจับอสุภกรรมฐาน จนกระทั่งมีความรู้สึกเป็นสุข ไม่มีความติดพันในภาพพจน์ใดๆ ถอยลงมาถึงอุปจารสมาธิเข้ามรณังสติกรรมฐาน เมื่ออารมณ์ถึงที่สุด ถอยลงมาอุปจารสมาธิจับบารมี ๑๐ ประการ แล้วถอยลงมาตัดอสมิมานะ ความถือตัวถือตน แล้วถอยลงมาจับสักกายทิฏฐิ จนกระทั่งเข้าจุดถึงขีณาสวานิยตา นี่วิธีทำเขาทำกันแบบนี้ คือไล่ตั้งแต่ต้นลงมา ว่าต้นที่ละได้แล้วมันยังเกาะจิต ถ้ายังต้องใช้เวลามากถึงข้อละสองนาทีใช้ไม่ได้ จับอารมณ์ของจุดไหนอารมณ์จิตมันโปร่งไปหมด ไม่มีอารมณ์เกาะอันนั้นใช้ได้ หรือว่าเป็นฌานทันทีใช้ได้ แล้วจึงจะจับตัวปลาย ถ้าตัวต้นยังไม่คล่องไม่ผ่องใส ยังไม่จับตัวปลาย ต้องไล่เรียงลำดับอย่างนั้นลงมา จับตามลำดับอย่างนั้นลงมาจะถึง ขีณาสวานิยตา อารมณ์ปักแน่น แล้วก็เลยแสวงหานิพพานสุขังต่อไป อารมณ์ปักแน่นก็เป็นฌานสูงสุด อารมณ์เป็นสุขจับหานิพพาน ภาวนานิพพานสุขังต่อไป ท่านบอกว่าแล้วตรวจดุอารมณ์ คราวนี้จิตท่านเป็นทิพย์นี่ ท่านก็ดูใจของท่านเองได้ ท่านก็ตรวจดูอารมณ์เห็นจิตผ่องใสเหมือนกับแก้วสะอาด แต่ว่ายังมีคลื่นนิดๆ หน่อยๆ คือยังมีไหวตัวกระเพื่อมๆ จึงรู้สึกว่าจิตนี่ยังดีไม่พอ จึงได้ถอนจิตจากนิพพานสุขขัง เอาอารมณ์เข้ามาจับจิตขีณาสวานิยตาใหม่ คราวนี้อารมณ์แจ่มใสมากแล้วกันหันเข้ามาจับนิพพานสุขัง จิตทรงตัว ตอนนี้ท่านบอกว่า มีความรู้สึกว่าเวลานี้จิตเป็นอภิญญาผลสมาบัติ อภิญญาหมายความว่า รู้ยิ่ง จิตมีอารมณ์ประเสริฐเพราะท่านเป็นผู้ได้อภิญญา ผล คือ ผลที่ตนได้มา สมาบัติ คือ เข้าถึงๆผลที่ตนฝึกอภิญญามาแล้วควบกับวิปัสสนาญาณทรงตัว เล่นแบบนี้สนุกจะตาย เพลินดีนะ ถอยหน้า ถอยหลังๆ ถอยหน้าอยู่คนเดียว อารมณ์เป็นสุข ตามบันทึกของท่าน เราตั้งใจไว้ว่าจะถอนเวลา ๑๑ น. เริ่มตั้งแต่ ๙ น. ตรง จะถอนเวลา ๑๑ น. ตรงเพื่อกินข้าวละซิ ท่านว่าตอนนี้ชักจะถอนเกือบไม่ออก ดึงเท่าไรก็ไม่ออกจิตมันปักแน่น มันก็ไม่ยอมคลายสมาธิ จิตอารมณ์เป็นทิพย์ ก็รู้สึกว่าดีใจมาก ว่ากำลังใจของเรานี่ดีพอแล้ว มีกำลังใจใหญ่พอจะสู้กับกิเลสได้ สามารถจะห้ำหั่นให้กิเลสทั้งหลายมันสลายตัวไปได้ ว่าอย่างนั้นตามที่ตนปรารถนาไว้แห่งการไม่เกิดอีก ท่านพิจารณาว่าการที่เราจะไม่ต้องเกิดอีกมันใกล้เข้ามา จำให้ดีนะ ขณะนี้ท่านมีความรู้สึกตัว ท่านว่าการที่จะไม่ต้องเกิดอีกใกล้เข้ามาแล้ว มันยังไม่ถึงจุดนั้น มันใกล้ๆ ขณะนั้นเอง ท่านบอกว่าจิตท่านเป็นทิพย์ พบหน้ากิเลสตัณหา กิเลสตัณหามันยื่นหน้าเข้ามาตั้งแต่วันวานนี้วันที่ ๑๙ วันนี้ก็พบมันอีก แต่วันนี้พบชัดมากเพราะจิตมันใสมาก เจ้ากิเลสและตัณหามันสงบนิ่งนอนเฉย นี่แสดงว่ากิเลสมันหลบไปนอนเสีย มันไม่ฟูขึ้นมาด้วยอำนาจกำลังของฌาน แต่ความจริงกิเลสนอนนี่กิเลสยังไม่หมด ถ้าเผลอเมื่อไรมันเข้ามาเมื่อนั้น เป็นอันว่าท่านมีความมั่นคงในกำลังฌานมากกว่าในวิปัสสนาญาณ พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงรับรองว่าเป็นพระโสดาบัน นี้ต้องระวังให้ดีนะ จิตสงบสบายแล้วก็อย่าพึ่งไปนึกว่าเราเป็นพระอริยเจ้า ให้มันถึงจริงๆเสียก่อน ใช้วิธีตรวจอารมณ์อยู่เสมอ จับหาความผิด จับหาความชั่วในอารมณ์ของจิตของตัวแล้วท่านบอกว่าให้กิเลสมันเลี่ยงไป บอกเอ็งถอยไป ไม่ใช่เรื่องของเอ็งจะมายุ่งกับฉัน ฉันไม่ต้องการ ท่านว่ามึงจงหลีกไป ท่านว่าอย่างนั้น มึงจงอย่ามายุ่งกับกู กูไม่พึงต้องการมึงอีก มึงเป็นเจ้านายบังคับกูทรมานกูมากหลายแสนหลายกัปแล้ว หลายแสนอสงขัยกัปแล้ว ต่อแต่นี้มึงกับกูไม่มีทางแล้วที่จะมาบังคับกูได้ เป็นอันว่ากูจะต้องหลีกไปหรือทำลายมึงให้พินาศไปเพื่อการเข้าพระนิพพานของกู นี่เขาใช้กันอย่างนี้ใช้กับแบบพูดกับศัตรูที่เป็นตัวสำคัญ ท่านบันทึกต่อไปว่า เราจะเข้าอภิญญาผลสมาบัติอย่างนี้ทุกวันและทุกคืน จะไม่ยอมให้จิตดวงนี้คลาดจากอภิญญาผลสมาบัติ เพื่อประโยชน์ของมหาชนทั่วไป ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่ง จำให้ดีนา นี่เรื่องเล่าให้ฟัง ถ้าชอบใจก็เอาไปปฏิบัติได้ ไม่ชอบใจก็แล้วไป ไม่ได้ว่าอะไร ทำไปตามอัธยาศัยของตนนั่นแหละดี ชอบใจตอนไหนทำตอนนั้น นี่มันเรื่องเล่าให้ฟังแต่ละบุคคล (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๙๔-๙๖) นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย เวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว แล้วก็สมาทานศีลแล้ว ก่อนจะฟังปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า ก็อย่าลืมรวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิพยายามคิดอยู่ว่าอะไรมันเป็นนิวรณ์ นิวรณ์ ๕ ประการ รูปร่างหน้าตามันเป็นอย่างไร ขจัดมันเสียให้หมด ทรงจิตคิดไว้เสมอว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอทำผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน สำหรับอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายก็ตั้งใจว่า เราปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน พยายามทรงอิทธิบา ๔ ให้ครบถ้วน และทรงจรณะ ๑๕ ให้ครบถ้วน อย่างนี้ไม่มีใครเขาจะใช้คำว่า ไม่สำเร็จ ถ้าอามรณ์ของท่านทรงอย่างนี้แล้ว อะไรก็ได้ เป็นของไม่หนัก แล้วก็กรรมฐานส่วนใดที่ท่านคล่องอยู่ทำอยู่ก็ทำไปตามนั้น สำหรับปฏิปทาของท่านผู้เฒ่านี้ก็เล่าสู่กันฟังถึงว่าท่านผู้หนึ่งปฏิบัติมาแล้วเท่านั้น ท่านชอบใจตรงไหนเอาตรงนั้นไปใช้ หรือไม่ขอบใจเลย ชอบตำรับตำราที่สอนมาแล้วตรงไหนก็ใช้ตรงนั้นให้เป็นไปตามอัธยาศัยของท่าน (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๑๐๔) อิติ สัมมา สัมพุทธัสสะ มะมะจิตตัง วันนี้ท่านพาดหัวจ้อว่า คาถาเรียกจิต คำว่า คาถาเรียกจิต ไม่ใช่คาถาหนุ่มเรียกสาว สาวเรียกหนุ่ม ไม่ใช่อย่างนั้น เรียกจิตของตนเอง ตามบันทึกของท่านๆบันทึกย่อ ผมจะอ่านไปว่า “อิติ สัมมา สัมพุทธัสสะ มะมะจิตตัง”ท่านกล่าวว่า พระคุณท่านได้โปรดเมื่อเวลา ๒๐.๓๐น. คำว่า พระคุณท่าน ก็หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราก็รู้แล้วท่านบอกไว้แล้ว่า เวลาทุกขณะจิตท่านทรงอยู่อภิญญาผลสมาบัติอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น การเอาจิตเข้าไปเห็นใครพบกับใครมันเป็นของไม่ยาก เหมือนกับที่เรามีอาหารอยู่ในปากจะกลืนกันเมื่อไรก็ได้ อภิญญาผลสมาบัตินั้น ไม่ใช่สตางค์อยู่ในกระเป๋า ถ้าเรามีสตางค์อยู่ในกระเป๋าเราจะใช้เมื่อไรก็ได้ บางทีสตางค์ในกระเป๋าเราไม่มีที่จะซื้อกันมันก็กินไม่ได้ สำหรับท่านที่ทรงอยู่ในอภิญญาผลสมาบัติเหมือนกับอาหารที่อยู่ในปาก เคี้ยวไว้เรียบร้อยแล้ว จะกลืนเมื่อไหร่ก็ได้มันง่ายกว่ากันเยอะอย่างนี้ แล้วเวลาที่เจริญพระกรรมฐานในคืนวันที่ ๒๔ ท่านจึงได้มาโปรดเมตตาบอก ท่านบอกว่า ให้ทำให้แจ้ง ทำทุกขณะจิตที่จิตพล่าน หมายความว่าคาถาบทเมื่อกี้นี้ คาถาที่บอกว่า “อิติ สัมมา สัมพุทธัสสะ มะมะจิตตัง” ถ้าเวลาใดที่จิตเกิดอาการฟุ้งซ่านขึ้นมา ให้ทิ้งคำภาวนาอย่างอื่นเสียให้หมด กำหนดลมหายใจเข้าออก คาถานี้ตามสบายๆ กำลังของสมาธิจะรวมตัวได้รวดเร็ว จำเข้าไว้ให้ดีก็แล้วกันนะ ผมขอว่าซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “อิติ สัมมา สัมพุทธัสสะ มะมะจิตตัง” แล้วอย่าย่องเอาคาถานี้ไปเรียกผู้หญิงผู้ชายเข้านะ เขาไม่มาหรอก เรียกจิตของเรา ท่านบอกว่าที่จิตมันพล่านนี่ไม่ใช่เพราะผู้หญิงเข้ามายั่ว มันพล่านเพราะโรคทางกระเพาะมันกำเริบ ร่างกายถ้าหากว่า มีโรคเบียดเบียน ประสาทมันก็ไม่ทรงตัว จิตมันพล่านได้ จงอย่าสงสัยในตัวเอง คิดว่าไปหลงใหลใฝ่ฝันในบรรดาสตรีทั้งหลายเหล่านั้น เธอมายั่วมาเย้าเป็นจริยาของมาร แต่คำว่ามารในที่นี้จงอย่าคิดว่าพวกนั้นเป็นพวกมาร ความจริงพวกนั้นเขามาตามหน้าที่ แต่ถ้าอารมณ์ของเราไม่ทรงตัวก็จงคิดว่าจิตของเรานี่แหละเป็นมาร มันมีสันดานหยาบ รู้อะไรไม่ดีทำไมจึงไปหลงใหลใฝ่ฝัน นี่ท่านว่าอย่างนั้น ท่านว่าอย่างนี้ก็ฟังของท่านไว้นะว่าผลจะเป็นอย่างไร จำไว้ให้ดี ตอนนี้ท่านบันทึกว่า “พระ” หมายถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว ก็ทรงสั่งว่า “คืนนี้ใจมันแย่งกันนะ” คำว่า “ใจมันแย่งกัน” ก็หมายความว่าการเจริญกรรมฐาน เดี๋ยวจะภาวนาบทนั้นเดี๋ยวจะภาวนาบทนี้ เดี๋ยวจะพิจาณาอย่างนี้ ถ้าอารมณ์มันแย่งกันอย่างนี้แล้ว การบรรลุมรรคผลมันจะช้า ทำให้มันทรงตัวเรียงลำดับ การเรียงลำดับก็นับกันมาตั้งแต่ ๑. จับอานาปานสติกรรมฐานควบกับพุทธานุสสติกรรมฐาน ๒. หลังจากนั้นก็เอาจิตทรงพรหมวิหาร ๔ ๓. จับกายคตาสติ ๔. จับมรณัสสติ ๕. จับอุปสมานุสติ ๖. จับอริยสัจ ว่ากันมาตามลำดับให้จิตมันทรงตัว ท่านเรียกไว้ว่า ท่านสั่งว่าให้ทำไปตามลำดับเพราะจิตเรามันยุ่งองค์ภาวนาผ่านลำดับไม่เป็นเรื่อง แล้วก็เพ่งสังโยชน์เช้า เมื่อองค์ภาวนาผ่านลำดับมาแล้วจิตหยุด ให้เพ่งสังโยชน์ ๑๐ คือจับ สังโยชน์ ๑๐ วัดดูว่าเวลานี้สังโยชน์ ๑๐ ประการเราตัดตัวไหนไปได้แล้วบ้าง ที่ตัดได้แล้วมันทรงตัวได้ไหม ถ้ามันไม่ทรงตัวแสดงว่า เราตัดไม่ได้จริง ถ้าส่วนใดที่ทรงตัวอยู่แสดงว่าอันนั้นได้จริง นี่ท่านว่าอย่างนี้นะ จำไว้ให้ดีนะ ว่าสังโยชน์ ๑๐ นี่ต้องกำหนดไว้เสมอๆพิจารณาไว้เสมอว่า จิตของเราสามารถเอาชนะจุดไหนได้แล้ว ท่านเขียนไว้ว่าเวลาเช้ามืดนี่เป็นอันว่า ๒๔ น. ผ่านไป นี่ท่านไปเลิกเวลาไหนก็ไม่ทราบ เช้ามืดเวลา ๓ น. ก็โงเงๆ ขึ้นมาอีก เลยเป็นอันว่าคงจะนอนสัก ๑ ชั่วโมง แต่การนอนด้วยอภิญญาผลสมาบัติหรือการนอนด้วยการทรงสมาธิใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียว ก็ดีกว่านอนธรรมดาแปดชั่วโมง ตื่นมาก็มีความอิ่ม ขึ้นมาก็ไม่รอแล้ว เรื่องล้างหน้าไม่มี มันเสียเวลา นอกจากจะปวดอุจจาระปัสสาวะนั่นถึงจะไป ตื่นขึ้นมาปั๊บใจมันจับคำภาวนาพิจารณาอารมณ์ตัดสังโยชน์ เมื่อตื่นขึ้นมารู้สึกว่าใจยังพิจารณาสังโยชน์อยู่นี่การนอนหลับไปด้วยกำลังของสมาธิเป็นอย่างนี้เวลาหลับมันทำของมันเองด้วยแต่เราไม่รู้สึก พอตื่นมาครึ่งหลับครึ่งตื่น รู้สึกตื่นไม่เต็มตัว จิตมันพิจารณาสังโยชน์ก็ทำต่อไป (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๙๐-๙๑) จงกำหนดในความไม่มีของขันธ์ห้า จงกำหนดในความไม่มีของขันธ์ห้า ให้ถือว่าขันธ์ห้ามันไม่มี มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันมีแล้วก็เหมือนกับว่าไม่มี คือไม่สนใจในมันเสียเลย แล้วก็ทุกสิ่งทั้งหมดให้เป็น “เอกัคคตารมณ์” หมายความว่า ขันธ์ห้าก็ดี ธาตุทั้งหลายอย่างอื่นก็ดี มีความรู้สึกว่ามันไม่มีสำหรับเรา คำว่าให้เป็น “เอกัคคตารมณ์” คือ ให้ทรงอารมณ์นี้เป็นหนึ่ง ไม่มีอารมณ์ที่สอง มีอารมณ์ที่เข้าใจว่ามีนะไม่มีอีกแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีสำหรับเรา คือขันธ์ห้า ได้แก่ ร่างกายของเราก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกก็ดี ไม่มีสำหรับเรา อารมณ์ทรงอยู่อย่างนี้ ให้เป็นปรกติ เรียกว่าเป็น “เอกัคคตารมณ์” ถ้าจะหันไปดูจริงในมหาสติปัฏฐานที่เราฟังกันมาแล้วก็เหมือนกัน คือท่านไม่ได้สอนเกินอะไรกันไปเลย เว้นไว้แต่ว่าเราจะใช้อารมณ์ถูกหรือไม่ถูกเท่านั้น เป็นอันว่าวิชาความรู้ของพวกเรานี่เลยเถิด เรียกว่าท่วมเลยศีรษะไปแล้วไหนๆ แต่ว่าจะรู้จักใช้เท่านั้น บางทีก็ยังเมาอยู่ในยศฐาบรรดาศักดิ์ เมาในลาภ เมาในรูปเสียงกลิ่นรส เมาในความโกรธ เมาในขันธ์ห้า นี่เป็นอันว่าถ้ายังเมาอยู่อย่างนี้ แสดงว่าพวกเรายังเลวอยู่ขนาดหนัก ไม่ใช่ขนาดเบา แล้วก็ท่านบอกว่าให้เพ่งอารมณ์อันจะพึงเกิดจากรูป จากกลิ่น จากเสียง จากรส จากสัมผัส จากอะไรทุกอย่างทั้งหมด ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้สัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสอารมณ์ใจ ท่านบอกว่าทั้งหมดว่าเป็นรูป ท่านย่อไว้แบบนี้ ผมอ่านไม่เข้าใจเหมือนกัน ท่านว่าทั้งหมดเป็นรูป แล้วก็ละ ว่าเป็นรูปเป็นเสียงของสภาพที่ไม่มี ท่านบอกว่าสิ่งที่เป็นรูปที่ท่านละไว้ ผมขอขยายหน่อย เป็นรูปที่มันไม่มี เสียงก็เป็นเสียงที่มันไม่มี กลิ่นก็เป็นกลิ่นที่ไม่มี รสก็เป็นรสที่ไม่มี สัมผัสก็เป็นสัมผัสที่ไม่มี มันไม่มีตรงไหน ไม่มีตรงที่มันสลายไป รูปเห็นแล้วก็ผ่านไป เสียงได้ยินแล้วก็ผ่านไปทั้งหมด อย่าเอามันเข้ามาขังไว้ในใจ มันสัมผัสประสาทแล้วก็ผ่านไป มันมีสภาพไม่มี อย่าเอาใจไปนึกว่ามันมี นี่ผมขยายความนะ ท่านบอกต่อไป นี่พระมหาโมคคัลลาน์มาสอนแทนนะ ว่า “จงไม่ยึดถือ” คือปล่อยไปเสีย ไม่ให้เกาะมันอยู่ ไม่ยินดีกับมันด้วย แล้วก็ไม่ยินร้ายกับมันด้วย ยินดีคือชอบใจ ยินร้ายคือไม่ชอบใจ มันจะไปมาอย่างไรก็ช่าง นี่อารมณ์พระอรหันต์นะ ฟังกันไว้ให้ดี ฟังแล้วก็จำ ท่านที่บันทึกไว้ฟังให้มากจุดนี้ ฟังให้มาก ฟังให้มากแล้วก็ทำให้ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องการกัน ทำให้เป็น เอกัคคตารมณ์ คือทำให้อารมณ์ทรงอยู่อย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะมีอารมณ์ชิน แล้วก็ตั้ง “อุเปกขาญาณ” ไว้ว่า คำว่า “อุเปกขาญาณ” แปลว่า วางเฉย มีความรู้สึกไว้ว่าเราจะวางอารมณ์ความเฉยไว้อยู่เสมอว่า เราจะไม่ยึดถือสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เราจะเฉยโดยไม่ยึดถืออารมณ์อย่างนี้ไว้ แล้วทรงใจให้ผ่องใสในพรหมวิหาร ๔ โดยถือว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดควรได้รับความเมตตา ควรได้รับการสงสาร ให้ต้องใจให้ดีโดยไม่เกียจคร้าน หากไม่มีความประมาท จิตจะพ้นอาสาวะ (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๑๑๓-๑๑๔) กำหนดใจลงในความไม่มีของปัญจขันธ์ พระมหาโมคคัลลาน์สั่งว่าให้กำหนดใจลงในความไม่มีของ “ปัญจขันธ์” “ปัญจขันธ์” ก็ได้แก่ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่มี มันมีก็เหมือนว่ามันไม่มี คือมันไม่มีการทรงตัว หาอะไรทรงตัวไม่ได้ มีแล้วเดี๋ยวก็พัง มีความเกิดในเบื้องต้น มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง แล้วมีความสลายตัวไปในที่สุด รูปมันก็ปรากฏขึ้นเดี๋ยวเดียว ท่านบอกว่า ชีวิตเหมือนความฝัน รูปโฉมโนมพรรณเหมือนดอกไม้ ชีวิตของเราที่ทรงอยู่นี้มันก็เหมือนความฝัน มันมีอยู่แล้วไม่ช้ามันก็สลายตัวไป รูปโฉมโนมพรรณเหมือนดอกไม้ ดอกไม้เมื่อแรกยังตูม ต่อมามันก็แย้มที่ละน้อยๆ ในที่สุดก็พังไป สภาวะของรูปมันก็เป็นเช่นเดียวกัน เสียง กลิ่น รส และสัมผัสมันก็เหมือนกัน ท่านบอกว่าทุกสิ่งทั้งหมดนี้จงรักษาอารมณ์ให้เป็น “เอกัคคตารมณ์” ว่ามันไม่มี คำว่า “ไม่มี” ความจริงมันมีแล้ว มันก็ไม่มี เพราะต่อไปมันจะพัง รูปมันทรงอยู่ได้ไม่นาน มันก็พัง เสียงที่เรามีความพอใจฟังแล้วก็หายไป กลิ่นที่สัมผัสจมูกมันกระทบแล้วก็หายไป การสัมผัสที่พึงพอใจ สัมผัสแล้วเลิกสัมผัสก็หายไป รสที่สร้างความซาบซ่านจากปลายลิ้น กลางลิ้น โคนลิ้นแล้วรสก็หายไป อย่าไปสนใจมันผ่านไปแล้วก็หมดไป ไม่ช้าร่างกายมันก็สบายตัว ท่านบอกว่าจงรักษาอารมณ์ให้เป็น “เอกัคคตารมณ์” มีความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มี อันนี้ก็เห็นจะได้แก่ “อากาสานัญจายตนะ” ก็เห็นจะได้ถ้าเทียบกัน อารมณ์พระนิพพาน นี่เป็นอารมณ์พระอรหันต์ตัดกิเลส “อากาสานัญจายตนะ” ที่ท่านเจริญกัน ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องสลายหายไปเหมือนกับอากาศ หรือว่า “อากิญจัญญายตนะ” ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี่ มันไม่มีอะไรเหลือหมด มันไม่มี ไปลงกันตรงนั้น มันเข้าไป “เนวสัญญายตนะ” อารมณ์นี้มาใช้มันมีก็ทำความรู้สึกว่าเหมือนว่าไม่มี ตอนนี้ถ้าหากว่าท่านสนใจอรูปฌาน จะรู้สึกว่าง่าย เห็นทรงตัวได้ชัด (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๑๑๓-๑๑๔) โคตรภูของอรหัตมรรค คำว่า “โคตรภูของอรหัตมรรค” ก็หมายความว่าท่านผู้ใดที่ได้อนาคามีแล้ว กำลังปฏิบัติเพื่อเข้าถึงอรหัตมรรค ในช่วงนี้เขาเรียกว่า “โคตรภูของอรหัตมรรค” เพราะช่วงนั้นเป็นการไปสู่โคตรภูของอรหัตมรรค ที่นี้คำว่า “โคตรภูของอรหัตมรรค” จริง ๆ นั้น จะต้องเหลือตัวอวิชชาตัวเดียว อวิชชาตัวนี้ก็แนบนิ่งสนิทเกือบจะไม่มีแรง กำลังจะก้าวเข้าไปสู่ทางของอรหัตมรรคเหมือนกับคนหนึ่งยืนอยู่คร่อมลำรางเล็กๆ ขานี้ยังอยู่ฝั่งนี้ ขาโน้นเหยียบฝั่งโน้น ยังไม่ทันยกขา เป็นอันว่าเป็นโคตรภูของอรหัตมรรคยกเมื่อไรเป็นอรหัตมรรคเมื่อนั้น ท่านบอกว่าให้พิจารณาว่า ทุกสิ่งไม่มีอะไรเป็นของจริง เป็นของสมมุติทั้งหมด นี่ความจริงแล้วก็ควรจะประมวลความจำไว้ให้ดีนะ ว่าแต่ละชั้นท่านสอนอะไรแบบไหน ท่านบอกว่าให้พิจารณาว่า ทุกสิ่งเป็นของไม่มีอะไรจริง เป็นของสมมุติทั้งหมด ไม่มีอะไรแน่นอน ย่อมสบายตัวไปหมด ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ต้องพลัดพรากจากกันหมด ฟังแล้วก็คิดดูว่าร่างกายของเราเป็นนาย ก. นาย ข. ชื่อของเราเป็นนาย ก. นาย ข. มันก็สมมุติ ร่างกายของเราเป็นชายเป็นหญิง เราก็สมมุติมันมา ร่างกายมนทรงขึ้นมาแล้วมันก็ฟัง ไม่มีอะไรจะเหลือ สลายตัวหมดแล้วทุกสิ่ง ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ทรัพย์สินทั้งหลายในโลกก็ดี มันไม่ใช่ที่พึ่งของเรา ในที่สุดเราคือจิต ก็ต้องพลัดพรากจากมันไป ...มาฟังท่านต่อไป แล้วท่านโมคคัลลาน์ก็อธิบายว่า ให้วิจัยถึงเหตุ นี่ฟังของท่านให้ดีนะ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวอย่างนั้น ท่านสอนเพิ่มเติม ให้วิจัยถึงเหตุ เมื่อเห็นของที่เป็นรูป ให้วิจัยว่า รูปนั้นมาจากอะไร รูปตัวนี้มันมาจากอะไร รูปที่มีชีวิตมันมาจากธาตุ ๔ ธาตุ ๔ มันทำอย่างไรมันถึงจะเกิด เรามานั่งนึกว่าธาตุ ๔ นี่มันทรงตัวไหม มันทรงตัวมันเป็น นิจจังหรืออนิจจัง เป็นทุกขังหรือเปล่า ถ้าเราไปยุ่งกับมัน ร่างกายเป็นธาตุ ๔ สำหรับเรา แล้วมันก็เป็นอนัตตา ธาตุ ๔ มันสะอาดหรือสกปรก นี่ผมขยายนะ ท่านบอกว่า “คน” คนมาจากอะไร แล้วมันเป็นคนอยู่ตลอดไปไหม ธาตุ ๔ มันทรงตัวตลอดไหม คนมาจากอะไร คนมาจากคน แล้วคนที่จะเกิดเป็นคนได้ก็มาจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม มันมาจากความชั่ว การที่จะเกิดเป็นคนได้เพราะอาศัยเราคบความชั่ว กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม จึงมาเกิดเป็นคน แล้วก็อย่าไปสนใจกับความเป็นคนต่อไปเพื่อประโยชน์อะไร ทำลายความชั่วมันเสียซิ ท่านว่าบ้านเรือนโรงมาจากอะไร ท่านบอกว่าบ้านเรือนโรงมาจากวัตถุธาตุ เป็นชิ้นเป็นอันประกอบกันเข้าเป็นบ้านเรือนโรง คนก็เหมือนกัน มาจากอาการ ๓๒ ธาตุ ๔ นี่ ก็เหมือนกัน ก็มาจากส่วนที่สิ่งที่ผสมกัน แล้วก็พิจารณาหาสภาพความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี่มันไม่มีอะไรทรงตัว มันแตกสลายหมด ฟังแล้วก็คิด คิดแล้วก็ทำ ฟังให้มากคิดให้มาก (ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า หน้า ๑๓๒-๑๓๓)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น