มนสิการถึงความว่างในจักรวาลอันนี้
แล้วสัมผัสได้ถึงธรรมชาติแห่งความว่าง สว่าง บริสุทธิ์นั้น
สิ่งนี้ตรงกับพระสูตรที่ท่านกล่าวถึง
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ...
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ...
เมื่อรู้ถึงสุญญตธรรมนั้นแล้ว
หากจิตรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาตินั้น
จะเกิดภาวะแห่งเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ที่เบิกบานผ่องใส และไร้ขอบเขต
ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดบรรจุลงในภาวะนั้นได้เลยแม้แต่น้อยหนึ่ง
แต่พระศาสดาผู้ทรงพระคุณสูงสุด ทรงสอนต่อไปว่า
จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้แล
ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้
ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น
ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น
แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
สุญญตสมาบัติหรือเจโตสมาธิอันบริสุทธิ์นี้
ละเอียดเสียจนผู้เข้าถึงหลงผิดว่าตนจบพรหมจรรย์และถึงนิพพานแล้วได้
พระศาสดาจึงทรงสอนให้รู้ทันต่อไปอีกว่า
สภาวะอันนี้ยังเอาเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้ ยังมีการเข้าการออก
มีปัจจัยปรุงแต่ง มีความแปรปรวน
พูดง่ายๆ ก็คือยังเป็นภพอันหนึ่ง
ผู้ปฏิบัติที่ปัญญาถึงพร้อมแล้ว
ก็จะปล่อยวางเจโตสมาธิอันบริสุทธิ์นี้อีกชั้นหนึ่ง
จิตจึงถึงความหลุดพ้นจากอาสวะอย่างแท้จริง
ที่หลุดพ้นนั้นก็เพราะไม่ยึดทั้งจิต ไม่ยึดทั้งนิพพาน
พระศาสดาทรงสอนต่อไปว่า เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว
ในญาณนี้ หรือในสัญญาคือธรรมชาติที่หมายรู้อารมณ์นี้
(ท่านไม่มีความเห็นว่าเป็นสัตว์บุคคลใดๆ แล้ว
ชีวิตนี้ก็เพียงแต่เป็นธรรมชาติที่หยั่งรู้อารมณ์ได้ จำอารมณ์ได้เท่านั้น)
ไม่มีความกระวนกระวาย เพราะกิเลส และว่างจากกิเลส
แต่ยังมีความกระวนกระวายและไม่ว่างจากความเกิดแห่งอายตนะ 6
เพราะว่ายังมีร่างกายและชีวิตอยู่
ก็ต้องผจญกับการกระทบและการกระเทือนทางอายตนะ 6 อยู่
จนถึงวันที่ดับขันธ์ปรินิพพานอย่างแท้จริง
แล้วท่านก็สรุปลงว่า
ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้น
ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย
และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี
ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง
ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ
จะเห็นได้ว่า ความว่างที่พระองค์กล่าวถึง คือความว่างจากอาสวกิเลส
และการยอมรับความมีอยู่ ของสิ่งที่ยังต้องมีอยู่
การบรรลุมรรคผลนั้น ต้องอาศัยทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติประกอบกัน
ดังนั้นจึงไม่ปรากฏเลยว่าพระศาสดาทรงสรรเสริญความคลุกคลี
จากนั้นพระองค์ก็ทรงเล่าให้ท่านพระอานนท์ฟังต่อไปว่า
ดูกรอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล คือ ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่ ดูกรอานนท ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้นๆ
ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง จะเป็นผู้ทำการเจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้ ใจความที่ทรงเล่าให้ท่านพระอานนท์สดับก็คือ
พระองค์เองมีวิหารธรรม คือ สุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง อาศัยเครื่องอยู่คือวิหารธรรมอันนี้ พระองค์ทรงพบปะผู้คนจำนวนมาก ด้วยจิตที่สงบวิเวก และชักชวนผู้อื่นให้วิเวกและหลีกออกจากเครื่องร้อยรัดด้วย ขอเรียนว่า มหาสุญญตสูตร ไม่ได้กล่าวถึงมหาสุญญตาตามแบบเซ็น
แต่กล่าวถึงสุญญตสมาบัติ ซึ่งมีทั้งแบบภายใน ภายนอก ภายในและภายนอก ซึ่งสุญญตสมาบัตินั้น พระไตรปิฎกเล่มที่ 31 ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามัคค์ อันเป็นยอดอภิธรรมที่ปรากฏในพระสูตร ได้อธิบายว่า
พิจารณาเห็นความถือมั่นว่าตนโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างจากตน เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างจากตนแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ
พิจารณาเห็นความถือมั่นว่ารูปโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างเปล่า เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างเปล่าแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ
พิจารณาความถือมั่นและมรณะโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างเปล่า เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างเปล่าแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น