สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส
กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า มีอสรพิษ ๔ จำพวก ซึ่ง
มีฤทธิ์เดชแรงกล้า ถ้ามีบุรุษรักชีวิต ผู้ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ชน
ทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรท่าน อสรพิษ ๔ จำพวกนี้ มีฤทธิ์เดชแรง
กล้า ท่านพึงปลุกให้ลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินอาหารตามเวลา ให้
เข้าสู่ที่อยู่ตามเวลา เวลาใดอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนี้ ตัวใดตัวหนึ่งโกรธขึ้น เวลา
นั้น ท่านก็จะพึงถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบปางตาย กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำ
กิจนั้นเสีย ฯ
[๓๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนั้น
จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรท่าน มีเพชฌฆาตผู้
เป็นข้าศึกอยู่ ๕ คน ได้ติดตามมาข้างหลังท่าน พบท่านในที่ใด ก็จะฆ่าท่านเสีย
ในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ
[๓๑๑] ครั้งนั้นแล บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวก และกลัว
เพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ คนนั้น จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขา
อย่างนี้ว่า ดูกรท่าน มีเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ เงื้อดาบติดตาม
มาข้างหลังท่าน พบท่านในที่ใด ก็จะตัดศีรษะของท่านเสียในที่นั้น กิจใดที่ท่าน
ควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ
[๓๑๒] ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกซึ่งมีฤทธิ์เดชแรงกล้า
กลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ และกลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ
เงื้อดาบอยู่ จึงหนีไปในที่อื่น เขาพบบ้านร้างเข้า จึงเข้าไปสู่เรือนร้างว่างเปล่า
หลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
ดูกรท่าน มีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาสู่บ้านร้างนี้เสมอ กิจใดที่ท่านควรทำ
ก็จงทำกิจนั้นเสีย ฯ
[๓๑๓] ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ กลัวเพชฌฆาตทั้ง ๕ กลัว
เพชฌฆาตคนที่ ๖ และกลัวโจรผู้คอยฆ่าชาวบ้าน จึงหนีไปในที่อื่น เขาไปพบ
ห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้น
เป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นไม่มี ฯ
[๓๑๔] ครั้งนั้น บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่นัก ฝั่งข้าง
นี้เป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัยเรือ
แพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี ผิฉะนั้น
#เราควรจะมัดหญ้ากิ่งไม้และใบไม้ ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้น พยายามไปด้วยมือและด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้น
ได้โดยความสวัสดี ครั้นแล้ว บุรุษนั้นทำตามความคิดของตน ก็ว่ายข้ามฟากถึง
ฝั่งข้างโน้นแล้ว เป็นพราหมณ์ขึ้นบกไป ฯ
[๓๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปมานี้ เราสมมติขึ้นเพื่อจะให้รู้เนื้อความ
โดยง่าย ในข้อนั้นมีเนื้อความดังนี้ คำว่า อสรพิษที่มีฤทธิ์แรงกล้าทั้ง ๔ จำพวก
นั้น เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คำว่า
เพชฌฆาตทั้ง ๕ คนที่เป็นข้าศึกนั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คำว่า เพชฌฆาตคนที่ ๖
ซึ่งเที่ยวไปในอากาศเงื้อดาบอยู่นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ คำว่า บ้านร้างนั้น
เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ ฯ
[๓๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
#ถ้าแม้บัณฑิตผู้ฉลาดมีปัญญาใคร่ครวญ
#อายตนะภายใน ๖นั้นทางตาหูจมูกลิ้นกาย ใจก็จะปรากฏว่าเป็นของว่างเปล่าสูญทั้งนั้น ฯ
คำว่า โจรผู้ฆ่าชาวบ้านนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ ตาย่อม
เดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจและไม่พอใจ หูย่อมเดือดร้อน เพราะเสียงเป็นที่
พอใจและไม่พอใจ จมูกย่อมเดือดร้อนเพราะกลิ่นเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ลิ้น
ย่อมเดือดร้อนเพราะรสเป็นที่พอใจและไม่พอใจ กายย่อมเดือดร้อนเพราะโผฏ-
*ฐัพพะเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ใจย่อมเดือดร้อนเพราะธรรมารมณ์เป็นที่พอใจและ
ไม่พอใจ คำว่า ห้วงน้ำใหญ่นั้น เป็นชื่อแห่งโอฆะทั้ง ๔ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ
ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ คำว่า ฝั่งข้างนี้อันเป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย
นั้น เป็นชื่อแห่งร่างกายของตน คำว่า ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษม ปลอดภัยนั้น
เป็นชื่อแห่งนิพพาน คำว่า แพนั้น เป็นชื่อแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ
สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ คำว่า พยายามข้ามไปด้วยมือและเท้า เป็นชื่อแห่ง
วิริยารัมภะ คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้วขึ้นบกไป เป็นชื่อ
แห่งพระอรหันต์ ฯ
จบสูตรที่ ๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น