วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้น แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ...

เจริญเมตตาไป นึกไปเรื่อยๆ เบื้องต้นนึกเอาก่อน

สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขเป็นสุขเถิด
นึกๆ ไปแค่นี้ ต่อไปใจจะค่อยๆ น้อมไป
แล้วถ้าเมื่อไหร่ใจเห็นสัตว์ทั้งหลายน่าสงสาร
ความเมตตาจะมหาศาล
จะเห็นสัตว์ทั้งหลายมนุษย์ทั้งหลายเต็มไปด้วยความทุกข์
คือทุกคนที่ไม่รู้จักเมตตาคนอื่นนะ
เห็นแต่ตัวเองทุกข์ ไม่เห็นคนอื่นเขาก็ทุกข์
ถ้าเมื่อไหร่เราเห็นว่าคนอื่นเขาก็ทุกข์
ทุกข์น่าสงสารมาก
เมตตาจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ
จากธรรมเทศนา พระอาจารย์ปราโมทย์
คนทั้งหลาย ล้วนแต่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางของโลก
เราก็คอยรู้สึกนะ หันกลับมาคอยรู้สึกอยู่ในกายในใจของเรา ในกายก็ประกอบด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย ในใจก็คือความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ตัวความรับรู้ทั้งหลาย สิ่งที่เรียกว่าใจในที่นี้จะครอบคลุมไปถึง ตัวเวทนาหรือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์ ตัวสัญญาความจำได้-หมายรู้ จำได้อันหนึ่งนะ หมายรู้อันหนึ่งนะ แล้วก็ตัวปรุงดีปรุงชั่ว แล้วก็ตัวจิตที่เกิดทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเรียกว่าวิญญาณ วิญญาณจิต

จิตกับวิญญาณนั้นอันเดียวกัน ถ้าทำหน้าที่ไปรับรู้อารมณ์ทางอายตนะ ก็เรียกว่าวิญญาณ ถ้าทำหน้าที่อื่นๆ ไปเสพอารมณ์อะไรอย่างนี้ ก็เรียกว่าจิต มีคำว่าใจอีกคำหนึ่ง ใจเป็นตัวรู้ธรรมารมณ์นะ รู้อารมณ์ทางใจ เรียกว่าใจ จิต วิญญาณ ใจ อันเดียวกัน คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์

ทีนี้เราจะมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้นะ เรียนรู้อยู่ในกายในใจของเรา ทีนี้จะมาเรียนรู้ทั้งกายทั้งใจเนี่ย เรียนรู้เพื่ออะไร เรียนรู้เพื่อให้เห็นความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา เป็นการเรียนรู้ในเบื้องต้น ปัญญาเบื้องต้นจะเห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ความทุกข์มีอยู่ การกระทำมีอยู่ มีการกระทำ มีความทุกข์ แต่ไม่มีผู้กระทำ ไม่มีผู้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นมีการกระทำนะแต่ไม่มีผู้กระทำ ใครเป็นคนทำ ก็ขันธ์มันทำ ไม่ใช่เราทำ

เบื้องต้นปัญญาเบื้องต้นก็จะเห็นว่าไม่มีเรา ปัญญาเบื้องปลายจะเห็นว่า สิ่งที่มีอยู่นั้นมีแต่ทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ถ้าเห็นอย่างนี้นะ ความเพลิดเพลินพอใจในโลกในอะไรเหล่านี้จะสิ้นสุดลง เพราะโลกนี้มีอะไรเป็นศูนย์กลาง ก็มันมีตัวเราเป็นศูนย์กลางของโลก ทุกคนเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกกันทั้งหมดเลย แม้กระทั่งศูนย์กลางของโลกคือกายนี้ใจนี้ เรายังเห็นความจริงเลยว่า หาสาระไม่ได้เลย จะเกิดขึ้นมาแต่ตัวทุกข์ หาตัวดีไม่ได้เลย ไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่าพอใจ เมื่อปล่อยศูนย์กลางของโลกได้แล้วนะ โลกนี้ไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาสาหัสอะไรเลย จิตจะปล่อยอัตโนมัติเลย

เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาฝึกปฏิบัติ ฝึกเรียนรู้ความจริง ให้เรียนรู้เข้ามาถึงกายถึงใจ ซึ่งมันถูกสำคัญมั่นหมายว่าเป็นศูนย์กลางของโลกศูนย์กลางของจักรวาล พอปล่อยวางตัวนี้ได้เพราะเห็นความจริงว่าเป็นตัวทุกข์แท้ๆเลย จะปล่อยทั้งตัวเองและปล่อยทั้งสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วย มันจะเสมอไปหมดเลย ตรงที่จิตเข้าสู่ความเป็นกลางต่อความปรุงแ­­ต่งทั้งปวง สุขกับทุกข์ก็เสมอกัน ดีกับชั่วก็เสมอกัน เข้าไปถึงความเป็นกลางด้วยปัญญาเห็นว่าทุก­­สิ่งชั่วคราว ถ้าเป็นกลางแบบนี้เรียกว่ามีปัญญาที่เรียก­­ว่า สังขารุเบกขาญาณ จิตจะเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่างสุขกับทุก­­ข์ ดีกับชั่วจะเสมอภาคกัน ไม่ใช่รักอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่ง พวกเรารู้สึกไหม ใจเรายังรักอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่งอยู่ตลอดเวลา นั่นละ ปัญญายังไม่พอ ให้รู้ลงไปอีก จนกระทั่งเห็นว่าทุกอย่างก็ชั่วคราวทั้งหม­­ดเลย ทั้งสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราเกลียด พอเห็นซ้ำลงไปจนทุกอย่างชั่วคราวหมด จิตจะเป็นกลาง เมื่อจิตเป็นกลางคือจุดสูงสุดที่เราจะภาวน­­าได้ละ คือจุดสุดท้ายถัดจากนี้ก็คือ มรรคผลจะเกิดขึ้น แต่บางคนจะไม่เกิดมรรคผล บางคนเมื่อภาวนาไป จนเป็นกลางต่อสรรพสิ่งนั้น จิตใจน้อมไปสู่มหากรุณา เห็นอกเห็นใจสรรพสัตว์ทั้งหลาย อยากช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลาย จิตจะน้อมไปสู่พุทธภูมิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น