ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนทุกคนมีความดี ที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ทุกคน และยังตรัสอีกว่า “การที่จะไปนิพพานได้ ไปได้หมด คือ พรหมก็ไปนิพพานได้ เทวดาก็ไปนิพพานได้ มนุษย์ก็ไปนิพพานได้ แม้แต่สัตว์ก็ไปนิพพานได้”
คำว่า “สัตว์ก็ไปนิพพานได้” ในที่นี้พระพุทธเจ้าหมายความว่า สัตว์ทุกตัวที่เกิดเป็นสัตว์ ตั้งแต่สัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็กตามที นั่นคือ คน
คนที่สร้างกรรมที่เป็นอกุศล สร้างความชั่ว ถ้ากำลังของกรรมหนักจริงๆ พาคนลงนรกไปก่อน เป็นสัตว์นรกก่อน เมื่อกรรมเบาขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ผ่านจากนรกก็มาเป็นเปรต จิตใจก็ยังมีความรู้สึกอย่างคน เมื่อกรรมเบาขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง พ้นจากความเป็นเปรต มาเป็นอสุรกาย ความรู้สึกของจิตใจก็ยังเหมือนคน เพราะใจมันใจคน จากอสุรกายมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน จากสัตว์เล็กถึงสัตว์ใหญ่ แต่ความรู้สึก ความต้องการของใจก็เท่าคน คือจิตเป็นคน
ดังนั้น ขึ้นชื่อว่า สัตว์ เราจะคิดว่าเป็นสัตว์ต่ำทราม เสมอไปน่ะไม่ได้ คือ ด้วยมีจิตใจเป็นคน การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า แม้แต่สัตว์ก็สามารถจะไปนิพพานได้ ก็เพราะว่า ถ้าสัตว์ทั้งหมด เขาชำระกฎของกรรมเดิมหมดสิ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้ก็กลับมาเกิดเป็นคน สามารถบำเพ็ญกุศลเข้าถึงนิพพานได้
วิธีการเข้าถึงพระนิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสไว้มี 4 แบบ
แบบที่ 1 สุกขวิปัสสโก
แบบที่ 2 เตวิชโช
แบบที่ 3 ฉฬภิญโญ
แบบที่ 4 ปฏิสัมภิทัปปัตโต
สำหรับแบบที่ 1สุกขวิปัสสโก ได้ชื่อว่า ง่าย แต่ทำยาก คือปฏิบัติแล้ว ไม่เห็นอะไร เหมือนคนเอาผ้าดำผูกตาเดิน ซึ่งเหมือนกับพุทธบริษัททั้งหลายส่วนใหญ่ ที่ทำกันอยู่ในวลานี้ ถ้าไม่เลิกปฏิบัติก็ถึงนิพพานเหมือนกัน ก็ได้แก่ปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา
ทาน การให้ การถวายสิ่งของกับพระก็ดี ให้แก่คนยากจนก็ดี ให้แก่คนที่ลำบากก็ดี ให้แก่สัตว์เดรัจฉานก็ดี ก็ชื่อว่าเป็นทาน และการให้ทาน ถ้ามีความมุ่งหมายอย่างอื่น ก็จะพลาดจากนิพพานไปได้ ฉะนั้นการให้ ทานจึงควรตั้งใจ โดยเฉพาะ เพื่อตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ให้คิดว่า ทาน นี้ เราให้เพื่อตัด โลภะ ความโลภที่อยู่ในจิตใจของเรา มันเป็นสิ่งสกปรก เราต้องให้ไปไม่หวังผลตอบแทนใดๆในชาติปัจจุบัน สำหรับผู้รับไป เขาจะนำไปใช้ เขาจะไปให้คนอื่นต่อ เขาจะนำไปทิ้ง ก็เรื่องของเขา แต่กำลังใจของเราตัดเยื่อใยในความผูกพันในทรัพย์สมบัติ สิ่งของที่เราให้ไปหมดสิ้นแล้ว อย่างนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นการชนะความโลภ เป็นการตัดกิเลสตัวสำคัญ ตัดรากเหง้ากิเลสได้รากหนึ่ง
สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล การรักษาศีลตามประเพณีมีประโยชน์น้อยเต็มที สักแต่ว่าสมาทานศีลก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร จะให้เกิดประโยชน์ต้องรู้พื้นฐานของศีล จะทำให้ ศีลเป็นตัวตัดโทสะ ความโกรธ รากเหง้ากิเลสตัวที่ 2 ได้
จงจำไว้ว่า ศีล จะมีขึ้นกับใจ ต้องอาศัยเหตุ 3 ประการ คือ
1.เมตตา ความรัก จิตคิดไว้เสมอว่า เราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั่วโลก จะไม่เป็นเวรเป็นภัยกับใครจะไม่เป็นศัตรูกับใคร จะคบหากับบุคคลอื่นเหมือนคบหาตัวเอง เราจะรักคนอื่นเหมือนกับรักตัวเราเอง
2.จิตคิดสงสาร หวังจะเกื้อกูลให้มีความสุข ให้คิดว่าถ้าเราสงสารตัวเราเองเท่าไร เราก็สงสารเขาเท่านั้น เว้นไว้แต่เรื่องผิดระเบียบวินัยประเพณี ก็ต้องลงโทษกันตามระเบียบประเพณี อย่างพระพุทธเจ้าทรงลงโทษพระ เพราะความเมตตาปรานี เกรงว่าจะเลวไปกว่านั้น แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นความโกรธ
3.สันโดษ ยินดีเฉพาะทรัพย์สิน ที่เรามีอยู่โดยชอบธรรม และยินดีเฉพาะคนรักที่เรามีอยู่โดยชอบธรรม ไม่ล่วงเกินคนรักของบุคคลอื่น การรักษาศีลให้ดี พระพุทธเจ้าตรัสว่า ค่อยๆรักษาไปเรื่อยๆ ทำใจสบาย กิเลสคือความโกรธ ก็ค่อยๆลดไป ในที่สุดมันก็จะหมดไปเอง เป็นการปฏิบัติด้านสุกขวิปัสสโก
ภาวนามัย พระพุทธองค์ตรัสว่า เรื่องการภาวนาด้าน สุขวิปัสสโกนี้ มีฌานเบื้องต้น ไม่สูง โดยเริ่มต้นใช้อารมณ์ พิจารณาตั้งแต่ ขณิกสมาธิ คือยามปกติ เมื่อเราให้ทานก็ให้ คิดว่า คนที่เราให้ทาน ทุกคนเมื่อเขารับทานที่ให้มาแล้ว เขาก็มีความสุขในการบริโภคทาน แต่ว่าเราผู้ให้ทานก็ดี ผู้มารับทานก็ดี คนทั้งหลายทั้งหมดนี้ ไม่มีชีวิตอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย เกิดขี้นมาเมื่อไรก็ค่อยๆเสื่อมไปทุกวันๆ ในที่สุดก็ตายเหมือนกันหมดทุกคน ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์เป็นวัตถุก็ดี ในโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ นี่เป็นด้านวิปัสสนาญาณควบสมถะของสุกขวิปัสสโก ตราบใดเรายังหวังความเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี เราต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ หาที่สิ้นสุดไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สถานที่พระนิพพานเป็นแดนที่มั่นคง เป็นแดนอมตะ เรายอมเชื่อพระพุทธเจ้า ทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ทำลายความโลภด้วยการให้ทาน ทำลายความโกรธด้วยศีล คือมีความเมตตาปรานีเป็นที่ตั้ง ทำลายความหลงด้วยปัญญา ให้เห็นความจริงว่า โลกนี้ไม่เที่ยง ผู้ที่เกิดมาแล้วก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในที่สุด ในที่สุด กระทั่งจิตของเรา ก็ปลอดปราศจากกิเลส ทั้ง 3 ประการ คือความโลภไม่มี ความโกรธไม่มี ความหลงไม่มี อย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็น “นิพพานัง ปรมัง สูญญัง” นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง
ในเมื่อเชื้อสายความเร่าร้อนไม่มี จิตก็เป็นสุข อย่างนี้ท่านเรียกว่านิพพานตัดกิเลส มีเบญจขันธ์เหลือ
ต่อจากนี้ก็เป็นรายละเอียดในด้าน เตวิชโช หรือด้านวิชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่เข้าถึงพระนิพพานได้รวดเร็วและได้มากกว่า มีกำลังดีกว่า ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สวรรค์มีจริง เราเจอะสวรรค์แล้ว พรหมโลกมีจริง เราเจอะพรหมโลกแล้ว พระนิพพานมีจริง เราเจอะพระนิพพานแล้ว นรก เปรต อสุรกาย มีจริง เราพบแล้ว ทั้งหมด เป็นอันว่าทุกคนไม่สงสัยคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าบุคคลใดไม่สงสัยคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง มีศีล 5 บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง มีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง อย่างนี้ท่านเรียกว่า พระโสดาบันหรือ สกิทาคามี และเมื่อทำให้จิตว่างจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ตายเมื่อใดก็ถึงนิพพานเมื่อนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น