วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทำไมมีเราด้วยเราโดยสมมุติโวหารการปฏิบัติธรรมมี ๒ ขั้นตอนคือขั้นการทำลายความเห็นผิดว่ากายและจิตนี้เป็นตัวเรา กับขั้นการทำลายความยึดถือกายและจิต เมื่อไม่เห็นผิดว่ากายและจิตเป็นตัวเรา ก็ได้ต้นทางที่จะปล่อยวางความยึดถือกายและจิตในอนาคต เมื่อปล่อยวางความยึดถือกายและจิตได้แล้ว ก็ไม่มีตัวตนที่จะรองรับความทุกข์อีกต่อไป แม้การปฏิบัติจะมี ๒ ขั้นตอน แต่วิธีปฏิบัติมีเพียงอย่างเดียว คือการมีความรู้สึกตัวแล้วรู้กายและจิตตามความเป็นจริง เมื่อเห็นความจริงแล้วย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายความกำหนัดยินดีในกายและจิต เมื่อหมดความกำหนัดยินดีย่อมหลุดพ้นจากความยึดถือกายและจิต เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความพ้นทุกข์อย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว นี้เองเป็นที่สุดแห่งทุกข์ หลวงพ่อ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายย่อมรวมลงในรอยเท้าช้างได้ฉันใด ธรรมทั้งปวงย่อมรวมลงได้ในอริยสัจจ์ฉันนั้น อริยสัจจ์จึงเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ลึกซึ้งอย่างถึงที่สุด มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ได้ เพราะความรู้แจ้งอริยสัจจ์คือวิชชา ส่วนความไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์คืออวิชชา อริยสัจจ์ข้อแรกคือทุกข์ ทุกข์คืออะไร - ทุกข์คือรูปนามขันธ์ ๕ หรือกายใจนี้เอง กิจต่อทุกข์มีอย่างไร - กิจต่อทุกข์คือให้รู้ทุกข์ การรู้ทุกข์นั้นทำอย่างไร - เมื่อเราตื่นออกจากโลกของความคิดและเกิดความรู้สึกตัว เราจะรู้กายตามความเป็นจริง และรู้ใจตามความเป็นจริงได้ เมื่อรู้มากเข้าเราจะเข้าใจความเป็นจริงของกายและใจ ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงคือมีแล้วไม่มี เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตาคือเป็นของโลกไม่ใช่ของเรา การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงอย่างนี้แหละคือวิธีรู้ทุกข์ อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ คือสมุทัย สมุทัยคืออะไร – สมุทัยคือตัณหาหรือความทะยานอยากดิ้นรนของจิต ที่จะแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ ด้วยวิธีการต่างๆ นานา ได้แก่ (๑) ความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ด้วยการเที่ยวแสวงหาอารมณ์มาตอบสนองกิเลส (๒) ความปรุงแต่งฝ่ายดี ด้วยการควบคุมกายควบคุมใจให้ดี และ (๓) ความปรุงแต่งสภาพธรรมที่พ้นจากการกระทบอารมณ์ชั่วคราว กิจต่อสมุทัยมีอย่างไร – กิจต่อสมุทัยคือให้ละสมุทัย การละสมุทัยนั้นทำอย่างไร – เมื่อเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งจนละความเห็นผิดและความยึดถือว่ารูปนามกายใจเป็นตัวเราแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนแสวงหาความสุขมาให้ตัวเรา หรือดิ้นรนพาตัวเราให้พ้นจากความทุกข์อีกต่อไป การรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งนั่นแหละเป็นทางละสมุทัยโดยอัตโนมัติ อริยสัจจ์ข้อที่ ๓ คือนิโรธ นิโรธคืออะไร – นิโรธคือนิพพานได้แก่ความสงบสันติอันเนื่องมาจากความสิ้นตัณหาหรือความดิ้นรนของจิต กิจต่อนิโรธมีอย่างไร – กิจต่อนิโรธคือการทำให้แจ้ง ทำให้เข้าไปสัมผัสถึง การทำนิโรธให้แจ้งนั้นทำอย่างไร – เมื่อรู้ทุกข์จนสิ้นสมุทัยแล้ว นิโรธก็เป็นอันถูกทำให้แจ้งโดยอัตโนมัติ อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ คือมรรค มรรคคืออะไร – มรรคคือวิธีการรู้ทุกข์จนละสมุทัยและทำนิโรธให้แจ้งได้ กิจต่อมรรคคืออะไร – กิจต่อมรรคคือการทำให้เจริญ ทำให้มาก การเจริญมรรคนั้นทำอย่างไร – ทำ(สัมมา)สติให้เกิดเนืองๆ แล้วองค์มรรคที่เหลือจะเกิดตามมาเอง สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ แต่ถ้ามีเหตุ ถึงไม่สั่ง สติก็เกิดขึ้นได้เอง เหตุของสติคือการที่จิตจดจำสภาวธรรมคือรูปนามได้แม่นยำ จิตจะจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ถ้าจิตเคยเห็นสภาวธรรมบ่อยๆ ดังนั้นพึงหัดทำความรู้จักสภาวธรรมให้มากเข้าไว้ เบื้องต้นทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งที่ถนัด เช่นบริกรรมพุทโธ หรือระลึกรู้ลมหายใจ หรือระลึกรู้ท้องพองยุบ หรือระลึกรู้เท้า หรือระลึกรู้มือ หรือระลึกรู้กายทั้งกาย แล้วตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเลย เช่นเผลอไปจากอารมณ์กรรมฐานนั้นก็รู้ เพ่งอารมณ์กรรมฐานนั้นก็รู้ เป็นสุขก็รู้ เป็นทุกข์ก็รู้ เกิดกุศลก็รู้ เกิดอกุศลก็รู้ ไม่นานสติจะเกิดถี่ยิบขึ้นได้เพราะจิตรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้อย่างแม่นยำ นี้เป็นทางดำเนินของพระอริยเจ้า เรียกว่าอริยสัจจ์ ๔ อันมีวนรอบ ๓ คือสัจจญาณได้แก่ความรู้จักตัวอริยสัจจ์ กิจญาณคือความรู้หน้าที่หรือกิจต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อ และกตญาณคือการได้ทำกิจต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อนั้นเรียบร้อยแล้ว รวมมีปริวัติ ๑๒ เพราะมีอริยสัจจ์ ๔ ข้อ แต่ละข้อมีญาณ ๓ อย่าง พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า ตราบใดที่พระองค์ท่านยังทรงไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ อันมีวนรอบ ๓ และมีปริวัติ ๑๒ นี้ พระองค์จะไม่ปฏิญาณพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเลย ต่อเมื่อทรงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ ๔ อันมีวนรอบ ๓ และมีปริวัติ ๑๒ นี้แล้ว จึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นพระพุทธเจ้า อริยสัจจ์ ๔ สำคัญถึงขนาดนี้ แม้พระอรหันตสาวกก็ต้องรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ ตราบนั้นยังไม่ใช่พระอรหันต์ การทำความเข้าใจความทุกข์ให้แจ่มแจ้งเป็นทางพ้นทุกข์ แต่ยากนักที่คนเราจะเข้าใจความทุกข์ให้แจ่มแจ้งได้ เพราะคนเรารู้จักความทุกข์เพียงบางอย่าง ได้แก่ทุกขเวทนาทางร่างกายเมื่อยามหิวกระหาย หนาวร้อน ต้องการขับถ่ายและเจ็บป่วย เป็นต้น กับโทมนัสเวทนาทางใจเมื่อประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ทุกข์ชนิดนี้เรียกว่าทุกขทุกข์ ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ หรือจิตใจได้รับอารมณ์ที่ดี ก็รู้สึกว่ามีความสุขทางกายหรือโสมนัสเวทนาทางใจ ตราบใดที่ยังรู้สึกว่ากายนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง และใจนี้มีโสมนัสบ้างมีโทมนัสบ้าง ตราบนั้นความดิ้นรนที่จะแสวงหาความสุขโสมนัส และความดิ้นรนที่จะหลีกหนีทุกข์โทมนัสจะไม่หมดไป ตราบใดที่ยังไม่หมดความดิ้นรน ตราบนั้นความทุกข์ก็จะยังมีอยู่ร่ำไป เพราะความดิ้นรนของจิตใจหรือตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อีกชนิดหนึ่งนอกเหนือจากความทุกข์ที่มีอยู่แล้ว ทุกข์ชนิดนี้เรียกว่าทุกขสัจจ์ ยังมีความทุกข์อีกชนิดหนึ่งได้แก่สภาพที่ทนได้ยาก เรียกว่าทุกขลักษณะ เป็นสภาวะที่เกิดกับสังขารทั้งปวงที่จะทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้ เราก็ดูกายดูใจของเราต่อไป จิตมันจะค่อยเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นๆ มันจะเห็นเลยว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว โลภโกรธหลงก็ชั่วคราว ฟุ้งซ่านหดหู่ดีใจเสียใจทั้งหมดนี้ชั่วครา­­วหมดเลย จะเห็นว่าสิ่งใดเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างชั่วคราวหมดเลยพอจิตมันยอมรับความจริงว่าทุกอย่างเป็นของ­­ชั่วคราว จิตจะหมดแรงดิ้น จิตจะหมดการดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาอารม­­ณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ หมดแรงดิ้นรนค้นคว้าที่จะหลีกหนีอารมณ์ที่­­ไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางที่แท้จริง ความเป็นกลางเพราะปัญญานี่แหละเป็นความเป็­­นกลางที่สำคัญมาก ปัญญาตัวนี้เรียกว่า “ สังขารุเปกขาญาณ ”เห็นสุขกับทุกข์มันเท่ากัน นรกกับสวรรค์มันก็เท่ากัน ไม่กลัวนะ หมดความดิ้นรน จิตมันรู้ตื่นแล้วก็เป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกัน สุขกับทุกข์เท่ากัน มีความสุขเกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห็น­­ได้ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็สักว่ารู้สักว่าเห­­็นได้ เมื่อสักว่า สักว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะหมดการดิ้นรนของจิต หมดความปรุงแต่งของจิต จิตจะค่อยๆ ปรุงน้อยลงๆ ถึงจุดหนึ่งหยุดปั๊บลงไปตรงหยุดปั๊บลงไปนี่จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธ­­ิโดยสมาธิโดยอัตโนมัติเลย เมื่อรวมเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ตรงนี้จะไม่คิดไม่นึกอะไรแล้ว จะเห็นสภาวธรรม (รูปธรรม นามธรรม) เกิดดับขึ้นภายใน ๒-๓ ขณะ ใจนี้สักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีกระทั่งความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ สักนิดเดียวเลย ถัดจากนั้น จิตจะวางการรู้สภาวะทบทวนกระแสเข้าหาธาตุร­­ู้ พอทวนกระแสเข้าถึงธาตุรู้แล้วอริยมรรคจะแห­­วกอาสวะกิเลสทั้งหลายหรือสังโยชน์ทั้งหลา­ย อาสวะที่ห่อหุ้มจิตอยู่ สังโยชน์ที่แทรกอยู่ในจิตจะถูกทำลายออกไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น